×

ETDA เร่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์ สร้างความตระหนัก เติมความรู้เท่าทันโลกออนไลน์ ผ่านหลักสูตร ‘Digital Citizen’ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
03.09.2021
  • LOADING...
Digital Citizen

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวง DES เป็นหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาธุรกรรมออนไลน์ของประเทศ ให้มีความมั่นคงปลอดภัย และน่าเชื่อถือ สู่การยกระดับชีวิตด้วยดิจิทัล
  • ETDA พุ่งเป้าสร้างความเข้าใจ ตระหนัก และรู้เท่าทันเทคโนโลยีแก่คนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เด็กและผู้สูงอายุ ที่อาจถูกหลอกลวงหรือถูกคุกคามทางออนไลน์ได้ง่าย ผ่านหลักสูตร ‘การสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต (Digital Citizen)’ ที่อิงตามกรอบ DQ Framework ของ DQ Institute โดยนำมาปรับให้สอดคล้องกับพฤติกรรม วัฒนธรรม และสถานการณ์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของคนไทย สู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลคุณภาพ

วันที่โลกดิจิทัลเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาใช้พื้นที่สาธารณะได้อย่างอิสระ ความรู้จากทุกมุมโลกกลายเป็นของฟรี การติดต่อสื่อสารกับคนอีกซีกโลกเป็นเรื่องง่าย จะมองว่าเป็นข้อดีก็ถูก แต่อย่าลืมว่ายังมีสิ่งที่ต้องพึงระวังและอันตรายอีกมากในโลกไร้พรมแดนที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกคนต้องรู้ ทั้งระดับปัจเจกชนไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มคนเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ ที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อบนโลกออนไลน์ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ

 

จากประเด็นที่ว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่สำหรับลูกหลานของพวกเรา นี่เป็นประเด็นที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ตั้งคำถาม และถือเป็นประเด็นระดับโลกที่ทุกประเทศกำลังเร่งหาแนวทางแก้ไข เครือข่ายงานวิจัยระดับนานาชาติ สถาบันวิจัย DQ (Digital Intelligence Quotient) ก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการศึกษาวิจัย วิเคราะห์ และกำหนดแนวทางการพัฒนาประชากรโลกให้พร้อมสู่การเป็น Digital Citizenship ที่มีคุณภาพ เริ่มเก็บข้อมูลและวิจัยตั้งแต่ปี 2018 เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตและการเข้าใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของเด็กและเยาวชนกว่า 6 แสนคนทั่วโลก น่าใจหายที่ประเทศไทยครองตำแหน่งประเทศที่มีความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับเด็กและเยาวชนต่ำที่สุด และมีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามในโลกออนไลน์สูงกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 60 

 

Digital Citizen

 

ด้วยเหตุนี้เอง ในปี 2021 เพื่อรองรับการขยายตัวของสังคมดิจิทัลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เพียงปลายนิ้ว สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA จึงเร่งส่งเสริม พัฒนาความรู้และทักษะ สร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ผ่านหลักสูตร ‘การสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต (Digital Citizen)’

 

ETDA คือใคร มีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อการขับเคลื่อนการสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ

ETDA เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนอกจากจะมีหน้าที่ในการดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล ส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกรรมออนไลน์ที่น่าเชื่อถือแล้ว ยังมีภารกิจในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล โดยการยกระดับความสามารถด้านดิจิทัลของประชาชน เพื่อให้เกิดความรู้ ทักษะ และสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางออนไลน์อย่างมั่นคงและปลอดภัยด้วย อาทิ การให้ความรู้ด้านความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งการฉ้อโกง การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล หรือถูกโจรกรรมข้อมูลสำคัญ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการคุกคามและละเมิดทางออนไลน์อีกหลายรูปแบบ ทั้งข่าวปลอม (Fake News) การสะกดรอยทางไซเบอร์ (Cyberstalking) การหลอกลวง (Scam) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคต่อความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมออนไลน์และส่งผลต่อการเติบโตของของเศรษฐกิจดิจิทัล 

 

Digital Citizen

 

ติดอาวุธทางปัญญา เกราะป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์

การดูแลและส่งเสริมเพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สามารถใช้งานธุรกรรมออนไลน์ได้อย่างมั่นคงและปลอดภัยผ่านนโยบายเพียงอย่างเดียวอาจช่วยได้เพียงปลายทาง แต่หากต้องการพัฒนาพลเมืองทั้งประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ให้เดินหน้าสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลคุณภาพ มีความตระหนักและรู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยี คงต้องติดอาวุธทางปัญญา สร้างฐานความรู้ ทักษะด้านดิจิทัล เพิ่มด้วย

 

Digital Citizen

 

ดังนั้น ETDA จึงจับมือหน่วยงานเครือข่าย เดินหน้าสร้างเกราะป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการให้ความรู้แก่บุคคลทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เนื่องจากยังขาดประสบการณ์และมักเปิดรับสื่อไม่ปลอดภัย รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุที่เริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ต เริ่มสนใจที่จะทำธุรกรรมทางการเงินผ่านทางออนไลน์มากขึ้น แต่ยังไม่มีความชำนาญในการใช้งานอุปกรณ์ ทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง หรือ Fake News อยู่บ่อยครั้ง เพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน

  

ดูเหมือนว่าช่วงปีที่ผ่านมา ETDA ให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น เพราะตัวเลขที่น่ากังวลที่กล่าวไปข้างต้นก็ดี หรือเพราะแผนการพัฒนากำลังคนดิจิทัล (Workforce) ของประเทศไทยก็ตาม ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินหน้าที่ดีทั้งนั้น 

 

Digital Citizen

 

สร้างพลเมืองดิจิทัลคุณภาพผ่าน ‘หลักสูตรการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต (Digital Citizen)’  

การสร้างพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) ที่มีคุณภาพ จะต้องเป็นพลเมืองที่มีความสามารถในการปฏิบัติตามกฎ มีความรับผิดชอบในการใช้เทคโนโลยี และรับรู้ถึงอันตรายที่แฝงอยู่ในโลกออนไลน์ได้ ล่าสุด ETDA จึงนำมาตรฐานความฉลาดทางดิจิทัล (DQ Digital Intelligence) ของ DQ Institute ซึ่งเป็นสถาบันที่มีการพัฒนามาตรฐานระดับสากลเกี่ยวกับการให้ความรู้ด้านความฉลาดทางดิจิทัลมาวิเคราะห์ ปรับใช้ให้สอดคล้องกับพฤติกรรม วัฒนธรรม และสถานการณ์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของคนไทย จนได้ออกมาเป็น ‘หลักสูตรการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต (Digital Citizen)’ ภายใต้กรอบทักษะ 5 ด้าน เพื่อเป็นต้นแบบถ่ายทอดความรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ รู้เท่าทันโลกออนไลน์ ยกระดับทักษะของเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ สู่พลเมืองดิจิทัลคุณภาพ ด้วยรูปแบบการอบรมที่เข้าถึงง่าย พร้อมสร้างสรรค์คู่มือเนื้อหาที่เลือกใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายเช่นกัน 

 

  • ด้านอัตลักษณ์ดิจิทัล (Digital Identity) ต้องเริ่มจากสร้างความรู้และความเข้าใจในการบริหารจัดการอัตลักษณ์ที่ดีของตัวเอง อาทิ การสร้างภาพลักษณ์ออนไลน์ของตัวเองในแง่บวก (Identity) และจัดการสิทธิ์ (Rights) ไปจนถึงความเป็นส่วนตัว (Privacy) โดยเนื้อหาในการจัดอบรมในกลุ่มเด็กและเยาวชนจะเน้นไปที่การสร้างและกำหนดอัตลักษณ์ดิจิทัล ทั้งข้อมูลส่วนตัวและกิจกรรมบนโลดิจิทัล ให้มีความรอบคอบ ระมัดระวังการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวที่เสี่ยงต่ออันตราย ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จะใช้งานดิจิทัลเฉพาะเวลาว่างหรือมีธุระจำเป็น จึงออกแบบเนื้อหาไปที่การเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างของกิจกรรมต่างๆ ในโลกดิจิทัลกับโลกความจริง 

 

  • ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม (Digital Use) ความเหมาะสมในโลกดิจิทัล ครอบคลุมเรื่องของเวลา ผลกระทบต่อสุขภาพ อารมณ์และจิตใจที่อาจจะเกิดขึ้น เนื้อหาโดยรวมหากเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนระดับ ป.4-ม.3 ที่ต้องใช้ดิจิทัลเพื่อเรียนออนไลน์ จะสร้างความตระหนักถึงอันตรายจากการใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไป และผลเสียจากการเสพติดสื่อดิจิทัล รวมทั้งสอดแทรกประเด็นเรื่องความเห็นอกเห็นใจบุคคลอื่นในโลกดิจิทัลเข้าไปด้วย ด้านกลุ่มผู้สูงอายุอย่างกลุ่ม Baby Boomer (อายุ 56-74 ปี) ข้อมูลจาก ETDA ปีพศ. 2563 พบว่า มีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 8 ชั่วโมง 41 นาที ต่อวัน ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ การลงพื้นที่อบรมนอกจากจะให้ความรู้ถึงผลเสียที่ได้รับจากการใช้งานนานเกินในแต่ละวัน ยังให้คนกลุ่มนี้ทำกิจกรรมยืดเส้น ออกกำลังกาย และสอนท่าทางที่เหมาะสมหากต้องใช้งานดิจิทัล 

 

  • ด้านการจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล (Digital Security) อันตรายต่างๆ ที่พบเห็นในโลกไซเบอร์มีมากขึ้น ทั้งการถูกละเมิดหรือคุกคาม หลอกลวงทางออนไลน์ที่ส่งผลต่อจิตใจ ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ซึ่งพบเห็นข่าวเหล่านี้บ่อยครั้ง จึงเน้นสร้างความตระหนักรู้ให้กลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้รู้วิธีป้องกันและรับมือที่ถูกต้อง สำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนเน้นเรื่องง่ายใกล้ตัว เช่น การดูแลรักษารหัสลับ (Password) ในการใช้งานดิจิทัลให้ปลอดภัย พร้อมบอกแนวทางการใช้งานที่ไม่คุกคามหรือทำให้ผู้อื่นเสียหาย ไปจนถึงการจัดการหากตนเองถูกล่วงละเมิดทางไซเบอร์ ในขณะที่ผู้สูงอายุซึ่งเสี่ยงถูกละเมิดข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลในบัตรประชาชน เนื้อหาจึงเน้นที่การสร้างความเข้าใจถึงภัยและผลกระทบที่จะได้รับ รวมทั้งการป้องกันการถูกละเมิดข้อมูลส่วนตัว 

 

  • ด้านการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) เพราะข้อมูลในโลกดิจิทัลมีมากมาย ทั้งมากประโยชน์และเต็มไปด้วยโทษ ผู้ใช้งานจึงต้องมีทักษะในการค้นหา วิเคราะห์ ประเมินเนื้อหาในโลกออนไลน์ ในทางกลับกันตัวผู้ใช้งานเองต้องผลิตเนื้อหาอย่างสร้างสรรค์ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มักเป็นผู้สร้างหรือเสพข้อมูลจากโซเชียลเป็นประจำต้องมีทักษะการวิเคราะห์แหล่งข้อมูลที่ดีและสามารถแยกแยะเนื้อหาที่ดี และต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์และจริยธรรมเมื่อนำข้อมูลมาใช้ ด้านผู้สูงอายุ การค้นข้อมูลในโลกดิจิทัลด้วยตัวเองอาจไม่มากนัก แต่จะพบประเด็นเรื่องการเสพข้อมูลจากที่ผู้อื่นส่งมาและส่งต่อในไลน์ เนื้อหาในการอบรมจึงเน้นไปที่การวิเคราะห์ที่มาของข้อมูลว่าเป็นความจริงหรือไม่ ไปจนถึงการแชร์อย่างไรไม่ให้ละเมิดกฎหมายและจริยธรรม 

 

  • ด้านการสื่อสารดิจิทัล (Digital Communication) ทักษะดังกล่าวมุ่งเรื่องการสร้างการสื่อสารทางดิจิทัลที่เกี่ยวกับการหลงเหลือร่องรอยข้อมูล (Digital Footprint) และการมีปฏิสัมพันธ์สร้างความร่วมมือ (Interaction and Collaboration) ตั้งแต่การยกตัวอย่างผลกระทบของร่องรอยดิจิทัล เช่น ข้อมูลการลงทะเบียน ข้อความ รูปภาพ แม้ผู้ใช้งานจะลบไปแล้ว แต่เมื่อข้อมูลถูกส่งเข้าโลกไซเบอร์ จะทิ้งร่องรอยให้ผู้อื่นติดตามได้เสมอ เป็นประเด็นที่เด็กและเยาวชนต้องตระหนักอย่างยิ่ง เพราะอาจส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตในอนาคต ในกลุ่มผู้สูงอายุจะเน้นไปที่ผลกระทบทางลบและทำให้ภาพลักษณ์เสียหาย ขาดความน่าเชื่อถือ หากโพสต์หรือแชร์ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ความเข้าใจถึงบริบทความเป็นส่วนตัวของผู้ที่ต้องการติดต่อ และมารยาททางสังคมเมื่อต้องใช้การสื่อสารดิจิทัล

 

Digital Citizen

 

หากวิเคราะห์กันเฉพาะตัวหลักสูตรและกิจกรรมที่ ETDA ปรับให้สอดคล้องกับ DQ Framework ของ DQ Institute นั้นถือว่าครอบคลุมแนวทางและการแก้ปัญหาในกลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ แต่การสร้างความตระหนักรู้จนเกิดความเข้าใจและนำไปปฏิบัติตามจนเห็นผลคงต้องใช้เวลาอย่างมาก ทั้ง 33 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ที่นำเครื่องมือของ DQ Institute ไปใช้ในการสร้างความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Intelligence: DQ) ก็ต้องหมั่นวัดผล และน่าจะต้องปรับเนื้อหาการอบรมและข้อมูลที่ใช้ตลอดเวลาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกดิจิทัล

 

โดยหลักสูตรการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต (Digital Citizen) ของ ETDA เริ่มลงภาคสนามเปิดอบรมทั้งออฟไลน์และออนไลน์แล้วเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยทั้งก่อนและหลังการอบรมจะมีการทำแบบประเมินเพื่อวิเคราะห์ผลการเรียนรู้ด้วย ซึ่งเมื่อดูผลลัพธ์ที่ได้ในกลุ่มเด็กและเยาวชนพบว่า ทักษะความรู้และการรับมือการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ รวมถึงการคุกคามทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นหลังจากอบรม ทำคะแนนหลังอบรมสูงขึ้นถึง 89.29% ด้านกลุ่มผู้สูงอายุ ประเด็นที่น่ากังวลและต้องเร่งสร้างความตระหนักคือ เรื่องความปลอดภัยในโลกดิจิทัล ข้อมูลส่วนตัว พาสเวิร์ด และเรื่องของข้อมูลที่ต้องตรวจสอบก่อนแชร์ หลังอบรมและทำการประเมินพบว่า คะแนนความรู้ความเข้าใจสูงถึง 78.72% 

 

Digital Citizen

 

ถ้าสามารถรักษามาตรฐานนี้ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดความรู้ต่อเนื่อง แผนที่จะสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพของโลกตามเป้าหมายปี 2030 ของ The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) หรือองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศสมาชิก และให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนายกระดับความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ที่ต้องการส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดี มีเศรษฐกิจมั่นคงและปลอดภัย ด้วยการสร้างความรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล คงไม่ไกลเกินเอื้อม

 

แต่เป้าหมายที่ใกล้กว่านั้นของ ETDA คือการเผยแพร่หลักสูตร Digital Citizen ให้ขยายไปถึงกลุ่มโรงเรียนพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ทั้งในระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น รวมทั้งเครือข่ายชุมชนต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงเนื้อหาและสื่อการเรียนรู้ของโครงการ ซึ่งจะเปิดให้เรียนรู้หลักสูตรแบบ e-Learning ผ่านช่องทางออนไลน์ของ ETDA

 

หวังว่านี่จะเป็นหลักสูตรที่ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงสร้าง ‘ความตระหนัก’ เท่านั้น เพราะถ้าเรา ‘รู้’ แต่ไม่นำไปปรับใช้ ผลที่ได้ก็เท่ากับ ‘ไม่เข้าใจ’ ตัวเลขความเสี่ยงภัยคุกคามบนโลกออนไลน์ของไทยก็คงสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกต่อไป ดังนั้นถ้าไม่อยากให้ลูกหลานหรือผู้สูงอายุที่บ้านต้องเข้าข่ายพลเมืองดิจิทัลที่ใช้ชีวิตท่ามกลางความเสี่ยง ก็สามารถดาวน์โหลดคู่มือเนื้อหาหลักสูตร Digital Citizen ที่จะเผยแพร่ช่วงปลายปีนี้มาศึกษาได้ฟรี ติดตามที่ www.etda.or.th หรือติดตามข่าวสารข้อมูลการอบรมที่น่าสนใจได้ที่ Facebook: ETDA.Thailand และ YouTube: ETDA Channel

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising