×
SCB Omnibus Fund 2024

กองทุน ESG สุดแกร่ง ผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีทะลุ 20% จับตาปี 65 ปัจจัย Fed ลดดอกเบี้ยอาจทำให้ความน่าสนใจลดลง

16.10.2021
  • LOADING...
ESG

HIGHLIGHTS

2 mins. read
  • บลจ.กสิกรไทย เผยปีนี้หุ้นกลุ่ม ESG มีการเติบโตของกำไรและผลตอบแทนที่ดี แต่ในปีหน้าสภาพตลาดโดยรวมอาจไม่ดีเหมือนปีนี้ จากราคาที่เริ่มสูง และ Fed เตรียมถอนคันเร่งนโยบายการเงิน
  • บลจ.ทาลิส มองกองทุน ESG ตั้งแต่ต้นปี ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20% ชี้กองทุนดังกล่าวถือเป็น Global Trends มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลก แนะควรมีในพอร์ต 10-20%
  • มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ระบุการส่งสัญญาณของ Fed ในครั้งนี้ ถือเป็นกลไกทางการตลาดที่อาจจะมีปรับขึ้นลงบ้าง ไม่กระทบกองทุน ESG ปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท

แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed  จะส่งสัญญาณการปรับลดวงเงิน QE ในช่วงสิ้นปีนี้ และเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนไปทั่วโลก แต่กองทุน ESG หรือกองทุนความยั่งยืนที่เน้นลงทุนในหุ้นบริษัททั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านให้ผลตอบแทนที่ดีสวนกระแสเศรษฐกิจโลก

 

นาวิน อินทรสมบัติ Chief Investment Officer (รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) ให้ข้อมูลกับทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่า แม้ Fed จะส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะกระทบเป็นบางเซกเตอร์เท่านั้น เนื่องจากการปรับขึ้นครั้งนี้ไม่ได้มีความรุนแรงและรวดเร็วเหมือนครั้งปี 2016 ซึ่งเป็นการปรับลด QE ครั้งแรก ส่งผลให้พันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยพุ่งแตะ 3% ทำให้นักลงทุนต่างเทขายหุ้นกันทั่วโลก เมื่อเทียบกับปัจจุบันพันธบัตรสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 1.65% เท่านั้น และในรอบนี้คาดการณ์ว่าจะไม่ซ้ำรอยเหมือนครั้งที่แล้ว เนื่องจาก Fed ค่อยๆ ส่งสัญญาณการรับรู้ทำให้ตลาดเริ่มรับสภาพได้  

 

ฉะนั้นแล้วเมื่อย้อนกลับไปดูผลการดำเนินงานกองทุน ESG ตั้งแต่ต้นปีอย่าง กองทุน K-CHANGE-A(A) กองทุนเปิดเค พอสซิทีฟ เชนจ์ หุ้นทุน-A ชนิดสะสมมูลค่า เป็นธีมการลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วโลกซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือมีพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบเชิงบวก (Positive Impact) ต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของพลังงาน สุขภาพ เป็นต้น การลงทุนหลักๆ ของกองทุนประเภทนี้น้ำหนักอยู่ในตลาดหุ้นที่ใหญ่อย่างสหรัฐฯ หรือยุโรป ปีนี้เพอร์ฟอร์แมนซ์ก็ดีด้วย อย่างตลาดสหรัฐฯ ก็บวกอยู่ประมาณ 20% ฝั่งยุโรปก็ใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นผลตอบแทนกองทุนประเภทนี้่ก็เลยค่อนข้างจะโดดเด่นขึ้นมา

 

โดยมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุน K-CHANGE-A(A) กองทุนเปิดเค พอสซิทีฟ เชนจ์ หุ้นทุน-A ชนิดสะสม ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 13.49% (ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2564) ขณะที่ NAV อยู่ที่ 23.08 บาท กระจายการลงทุนใน United States 48.76% Eurozone 12.73% Europe – ex Euro 9.79% Asia – Emerging 7.03% และ Asia – Developed 6.56% ซึ่งกระจายการลงทุนใน 5 เซกเตอร์ ได้แก่ Healthcare 33.20% Consumer Cyclical 16.97% Technology 16.57% Industrials 12.22% และ Financial Services 6.43%

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในปีนี้หุ้นกลุ่มบริษัทแบบยั่งยืนจะมีการเติบโตของกำไรและผลตอบแทนที่ดี แต่ในปีหน้าสภาพตลาดโดยรวมมองว่าคงไม่ดีเหมือนปีนี้ เนื่องจากมีการปรับตัวขึ้นมามาก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ถือว่าค่อนข้างแพงมาก หลังจากที่สหรัฐฯ ลดการอัดฉีดสภาพคล่องในปีนี้ และอัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับขึ้นในปลายปีหน้า เมื่อเทียบกับตลาดยุโรป ECB ยังคงซื้อพันธบัตรในอัตราเท่าเดิม อัตราการขึ้นดอกเบี้ยไม่มีการพูดถึง เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ สภาพคล่องยังมี ขณะที่สหรัฐฯ เงินเฟ้อขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3% กว่าๆ เกินกว่าเป้าหมายที่ Fed บอกไว้ก่อนหน้าแค่ 2%

 

การจัดสรรพอร์ตให้เหมาะสมในช่วงภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากกองทุนประเภทนี้ส่วนใหญ่เน้นลงุนในหุ้นเป็นหลัก ความเสี่ยงค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นความผันผวนหรือว่าการปรับตัวขึ้นลงค่อนข้างที่จะเยอะ นักลงทุนก็ต้องสามารถรับสภาพความผันผวนได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างที่บอกปัจจัยปีหน้า เศรษฐกิจจะโตค่อนข้างต่ำลง ผลตอบแทนก็อาจจะไม่ได้หวือหวา สภาพคล่องจะลดลง ความเสี่ยงจะสูง นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในกองทุนหุ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนประเภทอื่นๆ ที่เน้นลงทุนในหุ้น ก็ต้องเข้าใจว่าอัปไซด์น้อยและความผันผวนสูง

 

ดังนั้นหากนักลงทุนมีเงินลงทุนอยู่ 100% โดยแบ่งเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นไม่เกิน 50% และอีก 30-40% แบ่งมาลงทุนในตราสารหนี้อีก 10% ควรเข้าไปลงทุนกองทุนทางเลือกอย่างทองคำ หรือโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น เนื่องจากในอีก 2 ปีข้างหน้าผลตอบแทนจะไม่สูงมากนัก อาจต่ำกว่า 10% ต้องกระจายความเสี่ยงไปหลายๆ เซกเตอร์

 

ด้าน ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด กล่าวกับทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่า ภาพรวมของกองทุน ESG ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20% ซึ่งกองทุนดังกล่าวเป็น Global Trends มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลก ที่เน้นลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องมีความโปร่งใส

 

สำหรับกองทุน ESG ส่วนใหญ่เน้นหุ้นในบริษัทที่ค่อนข้างมีความมั่นคง ความแข็งแกร่งทางการเงินที่ดี และระบบการบริหารจัดการที่ดี และค่อนข้างเป็นบริษัทที่ยั่งยืน อีกทั้งตัวกองทุนเองไม่มีความผันผวนหรือแกว่งตัวหากเทียบกับกองทุนหุ้นทั่วไป หรือกองทุนหุ้นขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่อาจจะมีความผันผวนสูงกว่า ดังนั้นผู้ลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนจะเป็นผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ที่เน้นลงทุนระยะยาว เพราะการลงทุนในระยะสั้นอาจจะมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนได้

 

โดยนักลงทุนควรจัดสรรพอร์ตประมาณ 10-20% ของเงินทั้งพอร์ต 100% ที่เหลือก็อาจกระจายการลงทุนไปยังกองทุนต่างประเทศ กองทุนตราสารหนี้ มีทองคำ มีหุ้นขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก เป็นต้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างละครึ่ง เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง

 

โดยกองทุนเปิดทาลิส MID-SMALL CAP หุ้นทุน นโยบายเน้นความยั่งยืน ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 47.63% (ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2564) ขณะที่ NAV อยู่ที่ 16.44 บาท กระจายการลงทุนใน Asia – Emerging 100% แบ่งออกเป็น หุ้น 97% เงินสด 4.22% และอื่นๆ อีก 8.73% โดยกระจายการลงทุนใน 5 เซกเตอร์ ได้แก่ Technology 20.77% Financial Services 17.15% Industrials 16.07% Consumer Defensive 13.79% และ Communication Services 12.96%

 

ขณะที่ ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด ระบุถึงกองทุน ESG กับทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่า การส่งสัญญาณของ Fed ในครั้งนี้ถือเป็นกลไกทางการตลาดที่อาจจะมีปรับขึ้นลงบ้าง ซึ่งอาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการพิจารณาการลงทุน แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก เพราะจะกระทบเป็นบางเซกเตอร์ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มพลังงานทดแทนในกองทุนต่างประเทศจะให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี เนื่องจากเป็นเซกเตอร์เฉพาะที่มีปัจจัยบวกขึ้นแรงบ้างหรือลงไปบ้างถ้าเทียบกับการกองทุนทั่วๆ ไป แต่นักลงทุนจะมีการพิจารณาอีกชั้นในเรื่องของความยั่งยืนที่มีผลต่อราคาได้

 

ปัจจุบันกองทุน ESG มีมูลค่ารวมกันประมาณอยู่ที่ 5 หมื่นกว่าล้านบาท มีนโยบายการลงทุนที่เพิ่มเติมในเรื่องของความยั่งยืน หากเทียบกับกองทุนหุ้นทั่วไปที่จะเน้นแค่ต้องการสร้างผลตอบแทน การเติบโต หรือผลกำไร โดยในช่วงไตรมาสที่ผ่านมากองทุนประเภทนี้มีการทยอยเปิดออกมาค่อนข้างมาก เนื่องจากนักลงทุนไทยให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น ถ้าเทียบกับในช่วงแรกๆ ของธีมการลงทุนประเภทนี้ ปีนี้การเติบโตค่อนข้างเยอะหากเทียบกับปีที่แล้ว

 

กองทุนนี้เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการบริหารจัดการความเสี่ยง เนื่องจากกองทุนนี้เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอียูประมาณ 70-80% จึงอาจจะมีความเสี่ยงสูง โดย Morningstar Thailand มีวิเคราะห์จัดอันดับความเสี่ยง ESG ของบริษัทซึ่งใช้ในการคำนวณ Morningstar’s Sustainability Score (แบบลูกโลกระดับ 1-5 ระดับ) หากกองทุน ESG กองทุนใดได้ 5 ลูกโลก กองทุนนั้่นๆ มีนโยบายการลงทุนในบริษัทที่มีความเสี่ยง ESG อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสริมในการพิจารณาเข้ามาลงทุนได้

 

อย่างไรก็ตาม กองทุน ESG เป็นอีกหนึ่งกองทุนที่น่าสนใจแก่นักลงทุน แต่ในปี 2565 ยังคงต้องจับตาดูว่าเมื่อ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ความหวือหวาของกองทุนจะลดน้อยลงไปมากน้อยเพียงใด  

 

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising