×

ปิดตำนานการต่อสู้ 26 ปี ของชุมชนป้อมมหากาฬ สิ้นชุมชน สิ้นประวัติศาสตร์ทางกายภาพ

23.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • 26 ปี นับเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานของชุมชนเล็กๆ อย่างป้อมมหากาฬ เรื่องราวของชุมชนแห่งนี้เต็มไปด้วยสีสัน การต่อสู้ และความขัดแย้งมากมาย ระหว่างชุมชน-ภาครัฐ-นักวิชาการ-องค์กรอิสระ-และประชาชน
  • จุดเริ่มต้นอันนำไปสู่ความตายของชุมชนป้อมมหากาฬนั้นเกิดขึ้นจากแนวคิดของแผนพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ที่เริ่มตั้งแต่ 2502 ที่ต้องการย้อนบรรยากาศกลับไปเป็นเหมือนกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ลดจำนวนของประชากรในพื้นที่ และเพิ่มพื้นที่สีเขียว
  • ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นตัวแทนของรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณชานพระนครที่หลงเหลือเพียงแห่งเดียว หากมีการรื้อถอนบ้านต่างๆ ออกไป สิ่งที่เราจะสูญเสียก็คือ ตัวแทนของรูปแบบการตั้งถิ่นฐานยุคต้นประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ

ก่อนเขียนบทความนี้ ผมได้สัมภาษณ์นักกิจกรรมคนหนึ่งที่ทำงานกับป้อมมหากาฬมานาน ระหว่างการสัมภาษณ์เขาถึงกับหลั่งน้ำตา จะด้วยความรู้สึกผูกพันหรืออะไรก็ตาม แต่เขาไม่ใช่คนป้อมมหากาฬ ไม่ได้คิดว่าชุมชนถูกต้องเสมอไป ไม่โรแมนติกแบบนั้น แต่เขามองว่าชุมชนแห่งนี้มีความสำคัญต่อสังคมและประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้ทุ่มเทแรงกายแรงใจกับการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน และเชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชนแห่งนี้มาโดยตลอด

 

ความรู้สึกนั้นสะท้อนผ่านชัดในคำสัมภาษณ์หนึ่งของชาวบ้านว่า “เราเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ไม่มีกำลังทรัพย์ใดๆ แต่ชุมชนมีกำลังใจ กำลังกายที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสวนสาธารณะป้อมมหากาฬแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เรียนรู้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เราพร้อมและเราขอโอกาสพิสูจน์ตัวเอง” (สัมภาษณ์โดยนักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทและอาจารย์ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี 2559)

 

แต่ทว่าโอกาสนั้นได้หมดสิ้นลงแล้ว กับการต่อสู้อย่างยาวนานถึง 26 ปี

 

 

คนตัวเล็กที่ไร้อำนาจ

26 ปี นับเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานของชุมชนเล็กๆ อย่างป้อมมหากาฬ เรื่องราวของชุมชนแห่งนี้เต็มไปด้วยสีสัน การต่อสู้ และความขัดแย้งมากมาย ระหว่างชุมชน-ภาครัฐ-นักวิชาการ-องค์กรอิสระ-และประชาชน ยิ่งในช่วงปลายสุดของปัญหาด้วยแล้วยังลามไปถึงความขัดแย้งระหว่างคนภายในชุมชนอีกด้วย

 

ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยมาก นับแต่กรอบแนวคิดต่อการมองสถานะชุมชนป้อมมหากาฬของรัฐ แนวคิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ภาวะผู้นำในชุมชน กระทั่งอำนาจทางการเมืองและทหารที่เข้ามาแทรกแซงในชุมชนในระยะหลัง ทั้งหมดนี้ซ้อนทับกันหลายชั้นหลายซ้อนจนนำไปสู่การล่มสลายของชุมชนแห่งนี้

 

 

ดังนั้น จึงไม่ง่ายเลยที่คุณหรือใครก็ตามจะแสดงความคิดเห็นว่า ชุมชนแห่งนี้ควรจะตั้งอยู่ต่อไป หรือสมควรแล้วที่จะต้องถูกรื้อถอน เพราะแต่ละฝ่ายย่อมรับรู้ข้อมูลข่าวสารไม่ตรงกัน ซึ่งส่งผลต่อการตีความ อีกทั้งคุณยังไม่รู้ว่าคุณจะวางตำแหน่งแห่งที่ของคุณลงอย่างไรภายใต้ ‘สงคราม’ ความขัดแย้งนี้ ซึ่งผมได้เฉียดเข้าไปอยู่ช่วงหนึ่ง ข้อเขียนนี้จึงเป็นเพียงทัศนะหนึ่งเท่านั้นบนจุดยืนคนทำงานทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี หรือเป็นประชาชนทั่วไปที่ไร้อำนาจในการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ใช่นักวิชาการที่มักต้องสงวนความเป็นกลาง

 

 

จุดเริ่มต้นของการรื้อถอนบ้าน

ในโลกออนไลน์ มีบางคนแสดงทัศนะว่า ดีแล้วที่ชุมชนป้อมมหากาฬถูกรื้อถอนออกไป เพราะจะได้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนอื่นเข้ามาใช้ หรือบางคนก็มองว่าดีแล้วจะได้เปิดมุมมองให้เห็นโบราณสถานอื่น ดังเช่นกรณีของการรื้อศาลาเฉลิมไทย

 

ความเห็นดังกล่าว ถ้าเราไม่ใช่คนในชุมชนคงฟังแล้วรู้สึกเฉยๆ แต่สำหรับคนในชุมชนแล้ว คงไม่ต้องพูดถึงว่ามันทำให้ชุมชนแห่งนี้ดูไร้ค่าเพียงใด แต่นี่ก็สะท้อนถึงวาทกรรมของภาครัฐที่ครอบงำความคิด จนมองไม่เห็นความซับซ้อนของปัญหาและคุณค่าของประวัติศาสตร์ชุมชน กระทั่งประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร เมืองเทวดาที่มีไพร่เป็นแค่องค์ประกอบของอำนาจ

 

 

จุดเริ่มต้นอันนำไปสู่ความตายของชุมชนป้อมมหากาฬนั้นเกิดขึ้นจากแนวคิดของแผนพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2502 ที่ต้องการ หนึ่ง ย้อนบรรยากาศของพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์กลับไปเป็นเหมือนกับกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5  สอง ลดจำนวนของประชากรในพื้นที่ลงเพื่อไม่ให้เมืองเกิดความหนาแน่น สาม เพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะเพื่อเปิดมุมมองของโบราณสถาน ซึ่งป้อมมหากาฬได้ถูกวางอยู่ในแผนเพื่อให้เป็นสวนสาธารณะขนาดเล็ก

 

 

เจ้าหน้าที่รัฐของกรุงเทพมหานครทำงานภายใต้วาทกรรมชุดนี้ และคนในสังคมจำนวนหนึ่งก็คล้อยตามด้วย โดยไม่ตระหนักว่า แผนดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคของเผด็จการทหาร มันจึงย่อมไม่สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน พื้นที่ที่เปิดในเกาะรัตนโกสินทร์นั้นก็น่าตั้งคำถามว่าทำเพื่อใคร เพื่อนักท่องเที่ยว หรือเพื่อคนที่อยู่อาศัยในเกาะรัตนโกสินทร์จริงๆ เอาเป็นว่า ในเมื่ออุดมคติของการใช้ที่ดินในเขตรัตนโกสินทร์เป็นเช่นนี้ จึงนำไปสู่การคิดจะรื้อถอนชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งที่ดินมีสถานะตามกฎหมายที่ไม่ได้เป็นของชาวบ้าน แต่เป็นของเจ้าของที่ดินหลายเจ้า และพวกเขายังเป็นคนจนไร้อำนาจอีกด้วย

 

ที่ดินในเขตป้อมมหากาฬมีเจ้าของหลายเจ้าเท่าที่ทราบ ได้แก่ ที่ดินของกรุงเทพมหานคร ที่ดินของกระทรวงการคลังที่ต่อมาโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นของกรุงเทพมหานคร ที่ดินของข้าราชบริพาร ที่ดินวัดราชนัดดา และที่ดินของตระกูลนานา ชาวบ้านเดิมอยู่อาศัยกันมาอย่างปกติสุข จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2535 ทางกรุงเทพมหานครต้องการพัฒนาพื้นที่เป็นสวนสาธารณะอย่างจริงจัง เมื่อขอความร่วมมือแล้วชาวบ้านไม่ย้ายออกไป จึงนำไปสู่การออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนปี 2535 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้อย่างยาวนานมาถึง 26 ปี

 

บางท่านที่อ่านถึงตรงนี้คงคิดว่า ก็ถูกต้องแล้วไงที่รัฐจะสั่งให้รื้อถอนออกไป เพราะที่ดินไม่ใช่ของชาวบ้านอย่างแท้จริง กระทั่งอ้างเรื่องบุญคุณที่เจ้าของที่ดินให้อยู่โดยไม่เก็บค่าเช่า (ความจริงมีการเก็บแต่อยู่ในอัตราที่ถูกมาก) เรื่องไม่ใช่เป็นความผิดของเจ้าของที่ดินอย่างแท้จริง หากแต่เป็นวาทกรรมที่กำกับความคิดให้สุดท้ายแล้ว กรุงเทพมหานครต้องการไล่ชาวบ้านออกไป

 

 

สิทธิในท้องถิ่นที่ผ่านการเปลี่ยนมือ แต่ผูกโยงด้วยความสัมพันธ์

กรณีของบ้านชาวชุมชนป้อมมหากาฬนั้น เราต้องแยกให้ออกระหว่างสิทธิในที่ดินของเจ้าของที่ดิน กับ บ้าน-คน-และวัฒนธรรมที่ติดกับพื้นที่ดิน กล่าวคือ ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นชุมชนที่อยู่มาตั้งแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์โดยเป็นเหล่าข้าราชบริพารและชาวบ้านที่อาศัยสืบกันเรื่อยมา ในชุมชนมีเพียงบ้านไม้โบราณบางหลังที่เป็นแบบเรือนยกใต้ถุนที่คาดว่าจะสร้างมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในขณะที่บางหลังเป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยาที่สร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 5-7 และบางหลังที่สร้างขึ้นเมื่อราว 50-60 ปีที่ผ่านมา

 

บ้านต่างๆ เหล่านี้มีการเปลี่ยนมือและสิทธิกันเรื่อยมา ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของชุมชนในเขตเมืองที่มีอัตราการย้ายเข้าออกอย่างสูง แต่อยากให้สังเกตว่า การอยู่อาศัยของชาวบ้านที่ผ่านมาก่อนหน้าปี 2535 นั้น เป็นไปโดยความยินยอมของเจ้าของที่ดินมาโดยตลอด เพราะความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของที่ดิน เจ้าของบ้าน และผู้อยู่อาศัยในบ้านนั้นเป็นระบบความสัมพันธ์ที่มีมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ ระบบความสัมพันธ์จึงเป็นแบบจารีต นั่นหมายความว่า จริงๆ แล้วชาวบ้านนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า สิทธิในท้องถิ่น (Local Rights) ในการที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เพื่อสืบทอดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเอง

 

 

จนกระทั่งแนวคิดในการพัฒนาแบบสนแต่ของ ไม่สนคนเข้ามา และอีกหลายๆ ปัจจัย จึงทำให้ระบบความสัมพันธ์ข้างต้นต้องเปลี่ยนแปลงไป และก็อยากให้สังเกตเช่นกันว่า ความรุนแรงของการรื้อถอนชุมชนแห่งนี้จนต้องตายอย่างสนิทนั้นก็เกิดขึ้นภายใต้ยุคสมัยที่เราอยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบเผด็จการที่คนตัวเล็กไม่มีสิทธิมีเสียงอะไร และถ้าส่งเสียงก็อาจถูกกำราบด้วยอำนาจ  

 

ความจริงก่อนหน้าที่ชุมชนป้อมมหากาฬจะเดินทางมาจนถึงจุดนี้ ได้เคยมีการทำวิจัยชิ้นหนึ่งเพื่อเสนอ “แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์พัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ” โดย ชาตรี ประกิตนนทการ ต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งในตอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี เพราะจะนำไปสู่การอนุรักษ์ชุมชน การพัฒนาพื้นที่ โดยที่ชุมชน โบราณสถาน และสวนสาธารณะสามารถเดินคู่ขนานกันไปได้ และการเสนอการจัดทำพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต นอกจากนี้ ในช่วงที่ปัญหารุนแรงมากขึ้น ยังมีนักวิชาการ ภาคเอกชน และองค์กรอิสระต่างๆ เข้ามาพยายามช่วยอีกมากมายเพื่อชี้เห็นความสำคัญของชุมชนแห่งนี้

 

แต่ทั้งหมดไม่เป็นผล เพราะกรอบแนวคิดในการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์นั้นยังล้าสมัย ไม่เข้ากับบริบทโลกในโลกประชาธิปไตยที่พยายามอนุรักษ์ชุมชนคู่กับโบราณสถาน

 

 

ในช่วงปลายทางของความขัดแย้งเมื่อกลางปีที่แล้ว ตามที่สัมภาษณ์จากนักกิจกรรมในชุมชนได้เล่าว่า มีจัดตั้งกรรมการร่วมกำหนดกรอบการประเมินคุณค่าของสถาปัตยกรรมในพื้นที่ใหม่ ทำให้แบ่งบ้านออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มบ้านสีเทา เป็นที่ไม่มีลวดลายสลักใดๆ ซึ่งก็คือบ้านที่เพิ่งสร้างไม่กี่ปี มีจำนวน 11 หลัง กลุ่มบ้านที่มีการต่อเติมปรับปรุงอยู่ในพื้นที่ระหว่างตรอก และกลุ่มบ้านอนุรักษ์ เพราะมีความงดงามตามสถาปัตยกรรม มีจำนวน 18 หลัง

 

ในทัศนะของนักกิจกรรมให้ความเห็นว่า การแบ่งข้างต้นนี้สัมพันธ์กับแนวคิดในการประเมินว่าบ้านใดมีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่า บ้านกลุ่มสีเทาและบ้านกึ่งเก่ากึ่งใหม่ กลายเป็นบ้านที่ถูกประเมินว่าไม่มีคุณค่า เพราะไม่เก่าพอ จึงไม่สมควรที่จะอนุรักษ์ไว้ ในขณะที่บ้านงดงามตามสถาปัตย์นั้นควรเก็บ ผลจากการแบ่งแบบนี้เอง ทำให้คนภายในชุมชนเกิดความรู้สึกของการถูกประเมินคุณค่าของบ้าน เกิดความไม่เท่าเทียม จนนำไปสู่การรื้อบ้านครั้งใหญ่ โดยเริ่มต้นจากกลุ่มบ้านสีเทา และตามมาด้วยบ้านกลุ่มอื่นๆ

 

แต่บ้านที่สำคัญที่สุดที่นำไปสู่การพังทลายของความรู้สึกคือ การรื้อบ้านเลขที่ 99 ของตระกูลอึ้งภากรณ์ ที่เป็นที่ตั้งของห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ และเป็นบ้านอนุรักษ์ตามข้อเสนอของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถึงแม้ว่าบ้านหลังนี้จะรื้อโดยความสมัครใจของเจ้าของบ้านเอง หากแต่การรื้อบ้านหลังนี้มีนัยมาก เพราะมันคือหัวใจของชุมชน

 

Photo: ชุมชนป้อมมหากาฬ / facebook

 

หมดชุมชนก็หมดประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์ของคน เรื่องราวประวัติศาสตร์ของคนในป้อมมหากาฬไม่ได้มีความสำคัญในตัวของตัวเองเท่านั้น หากแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งที่แยกขาดไม่ได้จากประวัติศาสตร์ของกรุงเทพหรือกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้น การสิ้นสุดลงของชุมชนแห่งนี้ก็คือการทำลายประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ เอง

 

ถ้าใครได้อ่านหนังสือ ‘ชีวิต (คน) ป้อมมหากาฬ’ จะได้เห็นว่าชีวิตของคนทุกคนที่รวมอยู่ในป้อมมหากาฬนั้นต่างมีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง เช่น คุณกบ-ธวัชชัย วรมหาคุณ อยู่อาศัยในบ้านที่มีอายุมากถึง 112 ปี โดยต้นตระกูลเป็นนักทำเครื่องดนตรีไทย เริ่มต้นจากสมัยคุณทวดขำ ไม่เสื่อมสุข ก่อนจะส่งต่อให้คุณตาอู๋ ไม่เสื่อมสุข แต่น่าเสียดายที่คุณกบไม่ได้สืบต่อ เพราะคุณตาอู๋เสียชีวิตไปก่อนที่เขาจะได้เข้าพิธีรับขันธ์ครอบครู บ้านหลังนี้ในสมัยก่อนจึงเป็นศูนย์กลางความรู้เกี่ยวกับการทำเครื่องดนตรีไทย

 

คุณติ่ง-ไพบูลย์ จุฬาลักษณ์ อายุ 69 ปี มีฝีมือในการซ่อมกรงนกเขาโดยเรียนรู้จากชาวอิสลามแถบนั้น ได้เล่าว่า ในสมัยก่อนนั้นเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า หากใครต้องการซื้อขายนกเขาก็ต้องมาที่ชุมชนป้อมมหากาฬ คนจากที่ต่างๆ ไม่ว่าจากเขตป้อมปราบหรือมหานาค ก็จะมาฟังเสียงนกหาซื้อนกกันที่นี่ นายติ่งเองตอนหลังมาเริ่มกิจการขายอาหารนกจนมีชื่อเสียง เพราะขายอาหารนกมีคุณภาพ บางคนถึงกับมาซื้อจากนครสวรรค์ แต่แล้วตลาดนกบริเวณป้อมมหากาฬก็ต้องมีอันสิ้นสุดลงเมื่อมีการไล่รื้อไปโดยกรุงเทพมหานคร

 

นายติ่งเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อชุดแรกๆ ซึ่งได้รับเงินค่าชดเชยไปบางส่วน จากนั้นได้ผ่อนบ้านที่ทางกรุงเทพมหานครจัดหาให้ แต่พบว่าไม่ได้สะดวกสบายอย่างที่กรุงเทพฯ เคยให้สัญญาไว้ โดยบ้านตั้งอยู่ในท้องนา “รถก็ไม่มี น้ำไฟไม่มี”

 

Photo: ชุมชนป้อมมหากาฬ / facebook

 

ยังไม่นับรวมประวัติศาสตร์เรื่องอื่นในชุมชนป้อมมหากาฬที่สามารถสืบย้อนกลับไปได้อีก เช่น ชุมชนป้อมมหากาฬยังเป็นที่ตั้งของตรอกพระยาเพชรฯ ซึ่งตั้งชื่อตามนิวาสสถานของพระยาเพชรปาณี ข้าราชการกระทรวงวังที่เป็นชาวปี่พาทย์ และยังเป็นแหล่งกำเนิดของลิเกทรงเครื่อง โดยนำลิเกแบบมลายูมาผสมกับละครนอกของชาวบ้าน เมื่อราว พ.ศ. 2440 ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงบันทึกเอาไว้

 

เรื่องนี้จึงเป็นร่องรอยชัดว่า เพราะเหตุใดในบ้านของคุณกบ ธวัชชัย ซึ่งเป็นประธานชุมชนนั้น ต้นตระกูลจึงได้ทำเครื่องดนตรีมาตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้ว หรือกระทั่งการเลี้ยงนกเขาก็เป็นวัฒนธรรมของชาวมลายูที่ทิ้งร่องรอยไว้เช่นกัน

ชุมชนแห่งนี้ คนที่อยู่ในชุมชนนี้ จึงไม่ใช่คนที่ปราศจากรากเหง้าทางประวัติศาสตร์อย่างที่ข้าราชการบางคนมักอ้างกัน

 

แน่นอนว่า ประวัติศาสตร์จากคนตัวเล็กข้างต้นมีเป้าหมายของมันคือการใช้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการต่อสู้ทางเดียวของคนที่ไร้อำนาจจะพอต่อกรกับรัฐได้ แต่ก็ไม่มีประวัติศาสตร์เล่มใดที่ไม่เคยมีเป้าหมายทางการเมือง กระทั่งพงศาวดาร แต่เรื่องราวของคนตัวเล็กนี้มันกำลังสะท้อนให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ของชุมชนที่ใดที่หนึ่งนั้นมาจากคน ไม่ใช่มาจากกระดาษ แถมยังมีสีสันและมิติของชีวิตที่อัดแน่นไปด้วยความทรงจำ ความรู้สึก และบรรยากาศ

 

มันจึงนับเป็นชุดความรู้ที่มีคุณค่าอย่างมหาศาลที่บอกเล่าเรื่องราวของกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยมิติของชีวิตคน ซึ่งเราไม่อาจสามารถหาอ่านได้จากประวัติศาสตร์ทางการ ที่เป็นประวัติศาสตร์ที่เน้นมิติของตัวหนังสือมากกว่าความรู้สึกที่กระดาษไม่สามารถทำหน้าที่นั้นได้

 

 

รื้อชุมชนเท่ากับการลดคุณค่าของ ‘ป้อมมหากาฬ’

คุณค่าของโบราณสถานไม่ได้อยู่เฉพาะก้อนอิฐ แต่ยังประกอบรวมถึงชุมชนและคนที่อาศัยร่วมกับโบราณสถานอีกด้วย

 

จะเห็นได้ว่า พื้นที่ตั้งชุมชนป้อมมหากาฬ เรียกว่า ‘ชานพระนคร’ ซึ่งถือเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างคลองรอบกรุงกับกำแพงเมืองนั้น จึงเกิดท่าเรือและชุมชนร้านค้าอย่างหนาแน่น รูปแบบการตั้งถิ่นฐานเช่นนี้พบได้ทั่วไปตามเมืองโบราณต่างๆ เช่น กรุงศรีอยุธยา

 

ชุมชนป้อมมหากาฬจึงเป็นตัวแทนของรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณชานพระนครที่หลงเหลือเพียงแห่งเดียว หากมีการรื้อถอนบ้านต่างๆ ออกไป สิ่งที่เราจะสูญเสียก็คือ ตัวแทนของรูปแบบการตั้งถิ่นฐานยุคต้นประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ

 

 

ผมพบว่าในโลกออนไลน์ แว่นในการประเมินคุณค่าของโบราณสถานหรือชุมชนของคนไทยในโลกออนไลน์ค่อนข้างมีจำกัด คือเรามักจะให้คุณค่ากับโบราณสถานประเภทวัด วัง บ้านขุนนาง บ้างไปแขวนกับบ้านในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะเราติดกับดักของความเป็นยุคทองทางประวัติศาสตร์ภายใต้กระแสการโหยหาอดีต แต่เรากลับไม่สนใจบ้านของสามัญชนมากนัก  

 

“ป้อมมหากาฬพร้อมด้วยปราการ” ได้รับการประกาศทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาเป็นโบราณสถานนับตั้งแต่ พ.ศ. 2492 ป้อมมหากาฬและกำแพงเมืองที่เหลืออยู่ไม่มากนี้ได้รับการประกาศให้เป็นโบราณสถาน แต่ไม่ได้ประกาศให้ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นชุมชนอนุรักษ์ เพราะแนวคิดดังกล่าวนั้นยังไม่เกิดในสมัยนั้น

 

ถ้าใครเคยไปเที่ยวญี่ปุ่น หรือ อังกฤษ (ซึ่งเป็นประเทศที่ข้าราชการไทยชอบไปดูงานกัน) จะเห็นได้ว่า ทางการจะมีแนวคิดในการจัดการให้ชุมชนดั้งเดิมอยู่คู่กับโบราณสถาน หน้าที่ของทางการคือ การเข้าไปช่วยจัดการให้เกิดระเบียบ เหมาะกับการท่องเที่ยว หากจะมีการรื้อถอนก็จะเกิดขึ้นในกรณีที่ชุมชนแห่งนั้นได้เข้าไปบุกรุกทำลายโบราณสถาน

 

ดังนั้น ชุมชนปัจจุบันจึงสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้ และถ้าพิจารณาว่าชุมชนป้อมมหากาฬคือตัวแทนของรูปแบบการตั้งถิ่นแบบดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับป้อมมหากาฬด้วยแล้ว ชุมชนแห่งนี้คือสิ่งที่ช่วยเติมเต็มให้ประวัติศาสตร์ของตัวป้อมมหากาฬเองนั้นมีชีวิต

 

 

ทางเลือกใหม่

ถ้าเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้คือประวัติศาสตร์ ผมไม่แน่ใจนักว่าในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่กรุงเทพมหานครจะทำขึ้นในพื้นที่ป้อมมหากาฬนั้นจะบรรจุไปด้วยเรื่องราวอะไรบ้าง จะมีเรื่องปัญหาการต่อสู้ของชุมชนป้อมมหากาฬมาตลอด 26 ปีหรือไม่ คงต้องรอติดตาม

 

แต่ ณ ตอนนี้ ผมคิดว่า ในเมื่อชุมชนป้อมมหากาฬไม่อาจจะหลงเหลือพื้นที่เชิงกายภาพอีกแล้ว ทางเลือกหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ก็คือ การใช้ชุมชนเสมือนจริง หรือ ชุมชนในโลกออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ต่อการรวมกลุ่มกันของชุมชน ดังเช่น เฟซบุ๊ก ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ ที่มีอยู่

 

 

ถึงจะฟังดูน่าเศร้าที่บ้านอันเป็นที่เกิดที่อาศัยไม่ได้มีอยู่จริงแล้ว แต่ชุมชนเสมือนจริงนี้อาจจะทรงพลังมากกว่า เพราะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนอีกต่อไป หากแต่ยังหมายถึงคนที่เคยอาศัยอยู่ในชุมชน เป็นลูกหลานหน่อเนื้อเชื้อไขของคนในชุมชน หรือคนภายนอกที่ได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน พื้นที่บนโลกออนไลน์นี้อาจทำให้ลมหายใจของชุมชนนี้ยังมีชีวิตต่อไป และเป็นบทเรียนให้กับแนวทางการพัฒนาเมืองของสังคมไทยในอนาคต

 

ต้องเข้าใจว่าไม่มีใครปฏิเสธพื้นที่สีเขียว ไม่มีใครไม่อยากได้สวนสาธารณะ แต่ทั้งหมดนี้ควรได้มาด้วยกระบวนการที่เข้าใจคนที่อาศัยภายในชุมชน ผมคงรู้สึกไม่ดีนักที่จะเข้าไปเดินในสวนสาธารณะที่ครั้งหนึ่งเคยเต็มไปด้วยคราบน้ำตา

 

– อำลา มหากาฬ –

 

เขียนเสร็จวันที่ 21 เมษายน 2561

ที่ลอนดอน

 

อ้างอิง:

  • ชาตรี ประกิตนนทการ. 2549. “แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์พัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ,” บทความนำเสนอในงานประชุมวิชาการนานาชาติ การอนุรักษ์และพัฒนามรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ในแนวทางบูรณาการข้ามศาสตร์. Available at: www.slideshare.net/TumMeng/executive-summary-61026019. [Accessed on: 21/4/2018]
  • นักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทและอาจารย์ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ชีวิต (คน) ป้อมมหากาฬ Mahakan Life. 2559. www.slideshare.net/TumMeng/mahakan-life [Accessed on: 21/4/2018]
  • มติชน. “กทม.ขีดเส้นตายรอบใหม่ ต้นกุมภาฯ 60 รื้อบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬ,” Available at: www.matichon.co.th/news/399474. [Accessed on: 21/4/2018]
  • วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. “ความเจ็บปวดที่ชุมชนป้อมมหากาฬ “เมืองประวัติศาสตร์ต้องมีชุมชน”,” มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. Available at: lek-prapai.org/home/view.php?id=5133. [Accessed on: 21/4/2018]
  • Facebook: ชุมชนป้อมมหากาฬ [Accessed on: 21/4/2018]
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising