ต้องเกริ่นก่อนว่ายาคุมฉุกเฉินเดิมที่เรียกว่า ยาคุมหลังเพศสัมพันธ์ (Post Coital Pill) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นยาคุมฉุกเฉิน (Emergency Contraceptive Pills) ทำขึ้นเพื่อให้ใช้เฉพาะเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อาทิ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้คาดการณ์ ถูกข่มขืน ลืมกินยาคุม ถุงยางอนามัยรั่วหรือแตก ยาฝังยาฉีดหมดอายุ เป็นต้น
เนื่องด้วยประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดนั้นด้อยกว่าการคุมกำเนิดมาตรฐานทั่วไป ชนิดกิน ฉีด ฝัง ซึ่งคุมกำเนิดได้ 99% (ตามทฤษฎี) ส่วนยาคุมฉุกเฉินนั้น สามารถคุมกำเนิดได้ราว 75-85% เท่านั้น โดยประสิทธิภาพการคุมกำเนิดของยาคุมฉุกเฉิน ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีก 3 ประการดังนี้ค่ะ
- น้ำหนักตัว งานวิจัยพบว่า ในคนที่น้ำหนักตัวมากกว่า 80 กิโลกรัม โอกาสตั้งครรภ์ ไม่ต่างจากคนที่ไม่ได้คุมกำเนิด ดังนั้นยาคุมฉุกเฉินแนะนำให้ใช้ในคนที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 75 กิโลกรัม
- ระยะเวลาหลังมีเพศสัมพันธ์ แม้ตามทฤษฎีจะสามารถคุมกำเนิดได้ 72-120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ แต่จะได้ผลดีกว่า ถ้ากินทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ จึงแนะนำให้พกยาคุมกำเนิดฉุกเฉินติดกระเป๋าในคนที่มีความเสี่ยง จะได้กินหลังเพศสัมพันธ์ทันทีไม่ต้องรอเวลา
- มีโอกาสตั้งครรภ์สูงขึ้น หากมีเพศสัมพันธ์ซ้ำ แม้ยังอยู่ในฤทธิ์ยาคุมฉุกเฉิน คือกินภายใน 72-120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หากมีเพศสัมพันธ์ซ้ำ มีโอกาสตั้งครรภ์สูง คำแนะนำคือให้กินซ้ำอีกครั้ง
ชนิดของยาคุมฉุกเฉินมีอะไรบ้าง
- ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel 1.5 มิลลิกรัม) เป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนขนาดสูง หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป มีหลายยี่ห้อ เช่น โพสตินอร์ (Postinor) หรือมาดอนนา (Madonna) ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด
- ยูลิพริสตอล (Ulipristal) และ ไมเฟพริสโตน (Mifepristone) เป็นยาต้านฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน แต่ไม่มีจำหน่ายในเมืองไทย
- ยาคุมกำเนิดชนิดแผงยี่ห้อใดก็ได้ จำนวน 4-6 เม็ด เพื่อให้ได้ฮอร์โมนเพศหญิง Ethinyl Estradiol 200 ไมโครกรัม และฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเตรล 1 มิลลิกรัม
โดยยาคุมฉุกเฉินทั้ง 3 ชนิดนั้น ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือ ยูลิพริสตอล และไมเฟพริสโตน และลีโวนอร์เจสเตรล ได้ผลรองลงมา ส่วนยาคุมกำเนิดชนิดแผงได้ผลน้อยกว่าค่ะ
กลไกการป้องกันการตั้งครรภ์ของยา
ได้แก่ เปลี่ยนแปลงมูกปากมดลูกให้เหนียวข้น ทำให้อสุจิเดินทางไปผสมกับไข่ได้ยาก เปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูกให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ยาก เปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวท่อนำไข่ และสามารถห้ามการตกไข่ได้บ้าง
ข้อห้ามของยาคุมฉุกเฉิน
ไม่มีข้อห้ามค่ะ ต่างจากฮอร์โมนยาคุมกำเนิดทั่วไปที่มีข้อห้ามเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดอุดตัน สงสัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม หรือผู้ที่มีการทำงานของตับบกพร่องรุนแรงที่ไม่ควรใช้
งานวิจัยยืนยัน ยาคุมฉุกเฉิน ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือก่อให้เกิดมะเร็งทุกชนิดค่ะ
แต่หากกำลังเป็นมะเร็งอวัยวะสืบพันธ์ุสตรี เช่น มะเร็งเต้านม รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก ปากมดลูก หมอแนะนำว่าไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉิน เนื่องจากฮอร์โมนที่รับประทานอาจเพิ่มการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเหล่านั้นได้ค่ะ
อ่านเรื่อง ผู้หญิงไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉินเกินสองครั้งในชีวิตจริงหรือไม่? ได้ที่นี่
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์