×

ใครได้รับเชิญ-ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพระราชพิธีพระบรมศพควีนเอลิซาเบธที่ 2 บ้าง?

14.09.2022
  • LOADING...

พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ จะจัดขึ้นในวันที่ 19 กันยายนนี้ ตามเวลาท้องถิ่น นับเป็นพิธีที่คาดว่าจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เป็นพิธีที่จะมีการรวมตัวกันของบรรดาสมาชิกราชวงศ์ รวมถึงผู้นำประเทศและนักการเมืองคนสำคัญ มากที่สุดในรอบหลายทศวรรษของสหราชอาณาจักร

 

นอกจากบรรดาสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ นายกรัฐมนตรี และผู้แทนคนสำคัญของสหราชอาณาจักรแล้ว คาดการณ์ว่าจะมีผู้นำประเทศและผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่างๆ มากกว่า 500 คนเข้าร่วม โดยพระราชพิธีพระบรมศพในครั้งนี้จะจัดขึ้นที่โบสถ์เวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน เมืองหลวงของสหราชอาณาจักร สามารถจุคนได้ราว 2,200 คน

 

แฟ้มภาพ: Liam McBurney / Pool / AFP

 


สมาชิกราชวงศ์ต่างๆ ทั่วยุโรป

BBC เผยว่า บรรดาสมาชิกราชวงศ์ต่างๆ ทั่วยุโรปต่างได้รับคำทูลเชิญให้เข้าร่วมพระราชพิธีพระบรมศพในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิปแห่งเบลเยียม, สมเด็จพระราชินีมาตีลด์แห่งเบลเยียม รวมถึงสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์ และสมเด็จพระราชินีมักซิมาแห่งเนเธอร์แลนด์ ทรงตอบรับคำทูลเชิญดังกล่าวแล้ว ยังไม่นับรวมบรรดากษัตริย์ พระราชินี และสมาชิกราชวงศ์ระดับสูงจากสเปน, โมนาโก, นอร์เวย์, สวีเดน และเดนมาร์ก 

 

แฟ้มภาพ: Daniel Leal / AFP


ผู้นำสหรัฐอเมริกา

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และ จิลล์ ไบเดน สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ อยู่ในลิสต์รายชื่อผู้ที่ได้รับเชิญอันดับต้นๆ โดยทำเนียบขาวสหรัฐฯ ยืนยันแล้วว่า โจและจิลล์ ไบเดน จะเดินทางเข้าร่วมพระราชพิธีพระบรมศพของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในวันที่ 19 กันยายนที่จะถึงนี้ ทั้งยังคาดการณ์ว่า บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมด้วย มิเชล โอบามา อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ อาจได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษ

 

แฟ้มภาพ: Mandel Ngan / AFP


ผู้นำประเทศในเครือจักรภพ

บรรดาประมุข ผู้นำประเทศ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเครือจักรภพ ที่ครั้งหนึ่งเคยมีประวัติศาสตร์ชาติเกี่ยวพันกับสหราชอาณาจักร ต่างได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ โดยมีผู้นำประเทศที่เริ่มทยอยตอบรับคำเชิญแล้ว เช่น แอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย, จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา, จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์, รานิล วิกรมสิงเห ประธานาธิบดีศรีลังกา และคาดว่า นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ก็จะตอบรับคำเชิญด้วยเช่นกัน

 

แฟ้มภาพ: Mark Baker / AFP


ผู้นำประเทศอื่นๆ ในประชาคมโลก

นอกจากบรรดาผู้นำประเทศที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ผู้นำและผู้แทนประเทศอื่นๆ ในประชาคมโลกที่มีความสัมพันธ์อันดีกับสหราชอาณาจักรและราชวงศ์อังกฤษก็ล้วนได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ โดยมีผู้นำประเทศที่เริ่มทยอยตอบรับคำเชิญแล้ว เช่น เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส, แซร์โจ มัตตาเรลลา ประธานาธิบดีอิตาลี, ยุนซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้, ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล และ อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป

 

ขณะที่ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ที่กำลังอยู่ในระหว่างทริปเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกนับตั้งแต่โควิดแพร่ระบาด เบื้องต้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่า สีจิ้นผิง จะตอบตกลงเข้าร่วมพิธีดังกล่าว ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้หรือไม่ 

 

ส่วนผู้นำของอิหร่านที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์กับชาติตะวันตกมาอย่างยาวนาน คาดว่าอาจส่งผู้แทนในระดับเอกอัครราชทูตเข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ ตามแหล่งข่าวของทำเนียบขาวสหรัฐฯ 

 

แฟ้มภาพ: Ludovic Marin / AFP


ผู้ที่ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม

BBC เผยว่า ไม่มีรายชื่อของผู้นำประเทศหรือผู้แทนของรัสเซีย เบลารุส และเมียนมา ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีดังกล่าว โดยความสัมพันธ์ทางการทูตของสหราชอาณาจักรและรัสเซียค่อยๆ ตกต่ำลง ภายหลังจากที่รัสเซียตัดสินใจเปิดฉากทำสงครามรุกรานประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้กำลังเดินทางเข้าสู่เดือนที่ 7 แล้ว ขอบเขตความสูญเสียและเสียหายยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่ อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดของรัสเซีย ก็ไม่มีรายชื่ออยู่ในลิสต์ผู้ที่ได้รับคำเชิญในครั้งนี้ รวมถึง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีเมียนมาคนปัจจุบัน ที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจจากการก่อรัฐประหารยึดอำนาจของรัฐบาลพลเรือนเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สหราชอาณาจักรลดบทบาทและยุติการสนับสนุนรัฐบาลทหารของเมียนมาในช่วงเวลานี้

 

แฟ้มภาพ: Valery Sharifulin / AFP

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X