กระแส Disruption ที่เกิดจากเทคโนโลยียุคอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และโซเชียลมีเดียที่เติบโตเร็วแบบก้าวกระโดดส่งผลให้โลกธุรกิจและรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเราทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ธุรกิจในยุคก่อนต้องล้มหายตายจากไป ไม่เว้นแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกหลายแห่งที่ปรับเปลี่ยนองค์กรไม่ทันจนต้องปิดตัวไปอย่างน่าใจหาย…แล้ววงการรถยนต์จะมีผลกระทบกับความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่นี้อย่างไร?
สำหรับวงการรถยนต์นั้นแน่นอนว่าในอดีตที่ผ่านมาทุกค่ายรถจำเป็นต้องเสาะแสวงหาพลังงานทดแทนใหม่ๆ ที่จะมาทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงที่กำลังจะหมดไป รวมทั้งการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืนที่เกิดขึ้นจากไอเสียของรถยนต์ทั่วโลก บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกต่างต้องการที่จะเป็นผู้กำหนดเทรนด์ให้ทุกคนใช้ตามให้มากที่สุด ตั้งแต่ก๊าซ LPG, NGV, เอทานอล, ดีเซล, ไบโอดีเซล, ระบบไฮบริด, ปลั๊กอินไฮบริด ไปจนถึงไฮโดรเจน Fuel Cell ตามลำดับ
แต่คำตอบสุดท้ายหลังจากที่ได้ทดลองกับพลังงานอื่นๆ กันมานานนับร้อยปีก็พบว่า พลังงาน ‘ไฟฟ้า’ คือคำตอบสุดท้ายที่จะเป็นจริงได้มากที่สุดในยุคนี้!
ผมยังจำได้ดีว่าครั้งที่ผมยังเรียนด้านออกแบบรถยนต์อยู่ที่สหรัฐอเมริกาในปี 1989 ผมได้รับโจทย์ให้ออกแบบรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กขนาด 1 ที่นั่งสำหรับอนาคต (หรือในปี 2000) เพราะกฎหมายของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นมีการสนับสนุนให้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่โดยตั้งเป้าเอาไว้ว่า จะให้มีสัดส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าบนถนนของรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อมาแทนที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันให้มากขึ้น (ซึ่งเมื่อ 28 ปีที่แล้ว คำว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นเป็นอะไรที่ใหม่และไกลตัวผมมากๆ เพราะมันยังไม่เคยเกิดขึ้นจริงให้เห็น ในเวลานั้นเรียกได้ว่าผมต้องใช้จินตนาการล้วนๆ เพื่อออกแบบล่วงหน้าไปอีก 10 ปี)
การถือกำเนิดของรถยนต์ไฟฟ้าที่คนธรรมดาได้ใช้จริง
ระหว่างนั้นบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่หลายบริษัทได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างจริงจัง เริ่มจากในปี 1996-1999 บริษัท General Motors ได้ทดลองผลิตรุ่น EV1 รถยนต์ไฟฟ้าแบบ 2 ที่นั่งจำนวน 1,117 คันขึ้นมา (ไม่ได้เอามาขายขาดแต่เอามาให้เช่าใช้โดยกำหนดพื้นที่เพียงแค่ 3 รัฐเท่านั้นที่มีสิทธิ์) ซึ่งโครงการนี้ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จในการใช้งานจริงมากนัก แต่ก็นับเป็นก้าวแรกของรถยนต์ไฟฟ้าที่คนธรรมดามีโอกาสได้ใช้จริง
ในปี 2010 Nissan บริษัทรถยนต์ที่ถือว่าเอาจริงในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเป็นเจ้าแรกๆ ของโลกได้วางตลาดรุ่น Leaf เจเนอเรชันที่ 1 รถแบบ 5 ประตูซึ่งนับเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของโลกที่ผลิต ‘ขายจริง’ เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องด้วยเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ยังเก็บไฟฟ้าได้น้อยจึงมีระยะการวิ่งที่ไม่ไกลนัก แต่ก็ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2017 จนสามารถทำยอดขายทั่วโลกรวมกว่า 300,000 คัน ล่าสุด Nissan ได้ออกวางตลาด Leaf เจเนอเรชันที่ 2 ปี 2018 ที่มีระยะทางการวิ่งได้ไกลถึง 322 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้ง
(บน) Nissan Leaf 1st Generation (ล่าง) Nissan Leaf 2nd Generation
ย้ายมาดูค่าย BMW กันบ้าง เมื่อปี 2011 พวกเขาประกาศอย่างชัดเจนในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ซึ่งต่อมาในปี 2013 ก็มีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น i3 เป็นครั้งแรก ซึ่งใช้เทคโนโลยีในการผลิตโครงสร้างตัวถังรถใหม่ด้วยวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ที่มีนำ้หนักเบา แต่ก็ยังขายได้น้อยเพราะมีราคาสูง แต่นับเป็นการเปิดตลาดรถไฟฟ้าครั้งแรกสำหรับค่ายรถหรูจากโซนยุโรป ส่วนตลาดเมืองไทยนั้นยังไม่มีจำหน่ายอย่างเป็นทางการ
BMW i3 รถไฟฟ้าที่มียอดขายเป็นอันดับที่สามของโลก แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีแผนการจำหน่ายในประเทศไทย
แต่ถ้าถามถึงค่ายที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ต้องยกให้ค่ายรถยนต์อเมริกันน้องใหม่ Tesla โดยซีอีโอที่ชื่อว่า อีลอน มัสก์ ผู้มีเป้าหมายชัดเจนในการผลิตแต่รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น และได้วางตลาดรถสปอร์ตเปิดประทุน Roadster ในปี 2008 เพื่อชิมลางตลาดรถยนต์ไฟฟ้าก่อนเป็นครั้งแรก จากนั้นในปี 2013 มีการเปิดตัวรถซีดานหรูรุ่น Model S ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดของวงการรถยนต์โลกอย่างชัดเจน เพราะรถรุ่นนี้ได้รับการตอบรับอย่างถล่มทลายสามารถทำยอดขายทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วกว่า 200,000 คัน ตามมาด้วยรถแบบพรีเมียม SUV รุ่น Model X ในปี 2015 และล่าสุดรุ่น Model 3 รถแบบซีดานราคาย่อมเยาในปี 2017 ที่มียอดจองถล่มทลายจนมีปัญหาเนื่องจากผลิตไม่ทัน
โชว์รูมของ Tesla Motors ในประเทศอังกฤษ
Supercharger Station ของ Tesla สามารถชาร์จไฟได้เต็มภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง
ณ เวลานี้ เรียกได้ว่า Tesla คือจุดเปลี่ยนของวงการรถยนต์โลกอย่างแท้จริง ซึ่งอาจเปรียบได้กับยุคแรกของรถยนต์เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว หลัง เฮนรี ฟอร์ด ผลิตรถยนต์จำนวนมากออกมาแทนที่รถม้า แต่ในครั้งนี้ Tesla ปฏิวัติวงการรถยนต์ด้วยการเปลี่ยนจากเครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน (ที่ไม่เคยเปลี่ยนมานับร้อยปี) ไปเป็นระบบพลังงานไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ที่มีชิ้นส่วนในการประกอบขึ้นมาเป็นรถทั้งคันเพียงหลักพันชิ้น (จากเดิมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์จะต้องใช้ชิ้นส่วนมากถึงหลักหมื่นชิ้น) นั่นหมายถึงระยะเวลาในการผลิตและต้นทุนในการผลิตจะลดลงไปได้มาก
Tesla Model 3 แสดงในงาน LA Auto Show
Tesla Model S ใน Poznan International Motor Show
รถยนต์ไฟฟ้ากับคนไทย
สำหรับตลาดบ้านเรา ล่าสุดที่งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2561 ที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นรถยนต์ไฟฟ้ามาออกแสดงในงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี หลังหลายบริษัทเริ่มเห็นถึงความเป็นไปได้ของตลาดรถไฟฟ้าที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น คำถามถัดมาคือ ‘แล้วเมื่อไรคนไทยจะได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจริงๆ กันสักที?’
คุณอภิชาติ ลีนุตพงษ์ ซีอีโอแห่ง Sharich Holding.,Co.,Ltd. หนึ่งในกลุ่มบริษัทที่ให้ความสำคัญและศึกษาอย่างจริงจังเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าและเป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า BYD จากประเทศจีน ได้ให้ความเห็นว่า “มี 3 ข้อที่เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นในประเทศไทยคือ 1. ต้องให้ความรู้เรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจริงๆ กับผู้บริโภคก่อน 2. การเตรียมพร้อมเรื่องสถานีชาร์จที่มีพร้อมเพียงพอต่อจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้น 3. ต้องมีนโยบายการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ดังตัวอย่างที่จีนนั้น ทางรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนด้านนี้อย่างเต็มที่ ถึงขนาดที่เรียกว่าให้เงินสนับสนุนบริษัทเหล่านี้ในการพัฒนาเทคโนโลยีกันเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามทุกสิ่งก็มิอาจต้านกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ เพราะประเทศชั้นนำในยุโรปหลายประเทศก็ได้ประกาศออกมาแล้วว่าภายในปี 2030 บนถนนจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ดังนั้นสำหรับเมืองไทยนั้นก็น่าจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกไป เริ่มจากรถยนต์สาธารณะก่อน จากนั้นก็ตามมาด้วยตลาดรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งคาดว่าน่าจะอีกประมาณ 5-10 ปี เราคงได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าบนถนนเมืองไทยกันมากขึ้นครับ”
ข่าวดีสำหรับคนไทยที่อยากใช้รถยนต์ไฟฟ้าเร็วๆ ภายในปีนี้สามารถสั่งจองมาขับกันได้แล้ว มีให้เลือกตามกำลังทรัพย์ตั้งแต่หรูหราสุดไฮเทคอย่าง Tesla Model S และ Model X ที่มีราคาตั้งแต่ 6-10 ล้านบาท Hyundai IONIQ Electric จากเกาหลี ที่มีระยะทางการวิ่งได้ไกล 280 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเตอรี่เต็มหนึ่งครั้ง ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 1,749,000 บาท
Hyundai IONIQ Electric รถยนต์ไฟฟ้าจากแดนโสมที่ประกาศวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในงานมอเตอร์โชว์ 2018
หรือจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กน้องใหม่สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง FOMM รุ่น One ที่มีระยะทางการวิ่งได้ไกล 160 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเตอรี่เต็มหนึ่งครั้งในราคา 664,000 บาท สำหรับ Nissan Leaf ใหม่นั้นทางบริษัทก็ประกาศออกมาแล้วว่าจะออกวางจำหน่ายในประเทศไทยเร็วๆ นี้แน่นอน
นอกจากนี้เราจะได้ใช้บริการ Taxi V.I.P ไฟฟ้าที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า BYD รุ่น E6 ที่ใช้วิ่งจริงในประเทศจีนมาแล้วกว่า 7 ปี นับเป็นระยะทางกว่า 1,100,000 กิโลเมตร โดย ‘ไม่เกิดปัญหาอะไรเลย’ รถรุ่นนี้มีระยะทางการวิ่งได้ไกลถึง 400 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเตอรี่เต็มหนึ่งครั้ง ซึ่งราคาขายปลีกของรถรุ่นนี้อยู่ที่ 1,890,000 บาท
FOMM One
เปิดรับจองในงานมอเตอร์โชว์ 2018 คาดว่าลูกค้าจะเริ่มได้รับรถจริงในเดือนมกราคม 2019
BYD e6 รถยนต์ไฟฟ้า 5 ประตู อเนกประสงค์จากประเทศจีน
ทั้งหมดนี้อาจพอสรุปได้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่พวกเราต้องช่วยกันรักษาคือ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอากาศที่พวกเราได้ร่วมกันทำลายมาอย่างยาวนาน จากการใช้รถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งถ้าดูจากสถิติที่เพิ่มขึ้นของปริมาณมลพิษในอากาศตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้น่าตกใจมาก เป็นผลให้ประเทศมหาอำนาจต่างๆ ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา จีน และอีกหลายประเทศในยุโรปต่างก็ออกนโยบายชัดเจน ที่จะสนับสนุนโครงการรถยนต์ไฟฟ้าให้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้งเพื่อลูกหลานรุ่นต่อไปของเรานั่นเอง