×

อียิปต์ถูกวิจารณ์หนัก กรณีปราบปรามนักเคลื่อนไหวก่อนการประชุม COP27 เปิดฉาก

โดย THE STANDARD TEAM
06.11.2022
  • LOADING...
COP27

อียิปต์กำลังเผชิญกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกรณีปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงและนักเคลื่อนไหว ขณะที่ประเทศเตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือ COP27 ที่เมืองชาร์มเอลชีค ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายนนี้

 

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหารัฐบาลอียิปต์ว่ากักขังนักเคลื่อนไหวโดยพลการ หลังจากที่ชาวอียิปต์ในต่างประเทศเรียกร้องให้เพื่อนร่วมชาติออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ระหว่างการประชุม COP27

 

กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงของอียิปต์ตั้งด่านตรวจบนถนนหลายสายในกรุงไคโร พร้อมขอตรวจค้นโทรศัพท์มือถือของประชาชน เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับการวางแผนจัดการชุมนุมประท้วง

 

คณะกรรมาธิการเพื่อสิทธิและเสรีภาพอียิปต์ (ECRF) ซึ่งเป็นองค์กร NGO เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (2 พฤศจิกายน) ว่า มีผู้ถูกจับกุม 93 รายในอียิปต์ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา รายงานระบุว่า บางคนถูกจับด้วยข้อกล่าวหาว่าส่งวิดีโอปลุกระดมการประท้วงผ่านแอปรับส่งข้อความ บางคนถูกตั้งข้อหาใช้โซเชียลมีเดียในทางที่ผิด เผยแพร่ข่าวเท็จ และเข้าร่วมกับองค์กรก่อการร้าย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่มักถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อต้านนักเคลื่อนไหว

 

อาจิต ราชาโกปาล นักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศชาวอินเดีย ถูกควบคุมตัวในกรุงไคโรเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว หลังเริ่มเดินประท้วงจากเมืองหลวงของอียิปต์ไปยังเมืองชาร์มเอลชีค เมืองตากอากาศในทะเลแดง ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดการประชุม COP27 ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน ราชาโกปาลได้รับการปล่อยตัวหลังถูกกักตัวในช่วงเวลาสั้นๆ ในกรุงไคโร พร้อมกับเพื่อนและทนายความ มาคาริออส ลาซี สำนักข่าว Reuters ซึ่งพูดคุยกับราชาโกปาลหลังจากที่เขาได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันจันทร์ รายงานโดยอ้างคำกล่าวของนักเคลื่อนไหวชาวอินเดียรายนี้ว่า เขายังคงพยายามที่จะขออนุญาตให้เข้าร่วมการประชุม COP27 แต่ไม่ได้มีแผนที่จะกลับมาร่วมเดินขบวนอีก

 

ทั้งนี้ อียิปต์ผ่านการจลาจลครั้งใหญ่ 2 ครั้งในปี 2011 และ 2013 ซึ่งเป็นการปูทางการขึ้นสู่อำนาจของ พล.อ. อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพอียิปต์ในเวลานั้น และเป็นผู้นำการปฏิวัติโค่นล้มประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด มอร์ซี ซึ่งนับตั้งแต่ที่ซิซีขึ้นครองอำนาจ นักเคลื่อนไหวหลายพันคนถูกจำคุก พื้นที่สำหรับการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะถูกยกเลิก และเสรีภาพของสื่อถูกลิดรอน

 

อย่างไรก็ตาม แม้การประท้วงจะเกิดขึ้นได้ยากและส่วนใหญ่เป็นเรื่องผิดกฎหมายในอียิปต์ แต่วิกฤตเศรษฐกิจที่คืบคลานเข้ามาและระบอบการปกครองที่โหดร้าย ได้กระตุ้นให้กลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลออกมาชุมนุมประท้วงอีกครั้ง โดยหวังอาศัยโอกาสในช่วงที่ประเทศเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ระดับนานาชาติอย่าง COP27

 

ภาพ:  Sayed Sheasha / REUTERS

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising