×

ตั้งเป้า 5 ปี EEC สร้างงาน 4.5 แสนราย ส่วนใหญ่สายอาชีวะ ชู ‘สัตหีบ โมเดล’ เรียนฟรี มีงานทำ รายได้สูง

31.08.2020
  • LOADING...
eec EEC สัตหีบ โมเดล

วันนี้ (31 สิงหาคม) คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการด้านการศึกษาในพื้นที่ EEC ว่า การประมาณการความต้องการบุคลากรในพื้นที่ EEC ระยะเวลา 5 ปี (2562-2566) จำนวน 475,668 อัตรา แบ่งเป็นสายอาชีวศึกษาและสายสามัญ ร้อยละ 53 และความต้องการจากหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non Degree) หลักสูตรการศึกษาระยะสั้น (Short Course) ร้อยละ 47 โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมในการพัฒนาทักษะบุคลากรระดับอาชีวศึกษาจำนวน 377 แห่ง และระดับอุดมศึกษา 277 แห่ง

 

อย่างไรก็ตาม คณิศยอมรับว่าเป้าหมายการจ้างงานในพื้นที่ EEC 475,668 อัตรานั้นตนเป็นห่วงอยู่ตลอดเวลา โดยตัวสำนักงาน EEC ทำได้แน่นอนคือ 10-15% ประมาณ 50,000 อัตรา แต่จะให้ตรงตามเป้า 4.5 แสนคนนั้นต้องอาศัยการเปลี่ยนระบบและปรับโครงสร้างบูรณาการกันทั้งหมดซึ่งเริ่มดำเนินการไปได้แล้ว โดยที่ผ่านมาเราทำงานแบบดูตามโครงการที่มีอยู่ และผลิตบุคลากรให้ตรงตามความต้องการที่มี แต่ครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อให้ได้จำนวนบุคลากรที่เราอยากได้จริงๆ

 

“ส่วนความคืบหน้าในการลงทุนของพื้นที่ EEC รวมโครงสร้างพื้นฐานและที่อนุมัติคำขออุตสาหกรรมเป้าหมายรวมประมาณ 9 แสนล้านบาท ซึ่งจะลงทุนจริงในอีก 4-5 ปี ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือโครงสร้างพื้นฐานรถไฟ สนามบิน ทั้งนี้ในช่วงโควิด-19 นักลงทุนไม่ได้พับแผนการลงทุนเพียงแต่เลื่อนออกไป ในช่วงนี้จึงเป็นโอกาสให้เราพัฒนาคนเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่านไป ยืนยันการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อ EEC” คณิศ กล่าว

 

คณิศกล่าวต่อไปว่า สำหรับความคืบหน้าล่าสุดในการผลิตบุคลากรเพื่อรองรับ EEC คือ แผนดำเนินการ EEC Model ในปี 2563 มีเป้าหมายพัฒนาทักษะบุคลากรประมาณ 8,500 คน แบ่งเป็น 

 

  1. EEC Model Type A ผ่าน ‘สัตหีบโมเดล อาชีวศึกษา’ เป็นรูปแบบที่เอกชนจ่ายหมด 100% ให้เรียนฟรี มีงานทำระหว่างเรียน และจบแล้วมีรายได้สูง มีจำนวน 2,516 คน แบ่งเป็นจากสถาบันอุดมศึกษา 1,731 คน สถาบันอาชีวศึกษา 785 คน

 

“เริ่มจากเอกชนจะเอาข้อมูลมาว่าต้องการคนแบบนี้ เราก็เอาสถาบันการศึกษาที่สอดคล้องกันไปให้เขาดู จากนั้นเอกชนก็จะคัดเลือกนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่เขาต้องการไปออกแบบหลักสูตรร่วมกับสถานศึกษา โดยเอกชนจะออกค่าเรียนให้ทั้งหมด ในระหว่างเรียนก็ไปฝึกงานจริงและได้ค่าจ้าง พอจบได้วุฒิการศึกษาเอกชนรับเข้าทำงานเงินเดือนเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท” คณิศ กล่าว 

 

  1. EEC Model Type B เป็นการฝึกอบรมระยะสั้น เน้นปรับทักษะ (Reskill) เพิ่มทักษะ (Upskill) โดยภาครัฐและเอกชนร่วมกันสนับสนุนค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง

 

สิ่งที่เกิดขึ้นใน Type B คือลดเส้นแบ่งการทำงานร่วมกันระหว่างปริญญาตรีกับอาชีวศึกษา ปัจจุบันมี 82 หลักสูตร รวมจำนวน 6,064 คน เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยในปี 2564 วางแผนจะผลิตเพิ่มอีก 9,500 คน ภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ 4 แสนล้านบาท

 

“สำหรับอัตราแรงงานในพื้นที่ EEC ที่ตั้งเป้าไว้ 4.75 แสนคน ส่วนใหญ่คือกลุ่มอาชีวศึกษา ซึ่งสำนักงาน EEC ได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา โดยจะเร่งพัฒนาคนให้ตรงกับความต้องการ (Demand Driven) ของ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย พัฒนาสิ่งแวดล้อมการศึกษา โดยหัวใจสำคัญของ EEC ที่นักลงทุนถามเป็นเสียงเดียวกันคือความพร้อมของแรงงานในประเทศ ดังนั้นการพัฒนาอาชีวศึกษาถือเป็นหัวใจสำคัญของ EEC” คณิศ กล่าวในที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising