×

นักเศรษฐศาสตร์เสียงแตก หันหนุนความเห็น ‘ไมค์ เพนซ์’ แนะ Fed ยกเลิกเป้าหมายการจ้างงานสูงสุด

27.06.2023
  • LOADING...
Fed

เป็นที่รู้กันดีว่าเป้าหมายสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ระบุไว้ในตัวบทกฎหมายอย่างชัดเจน มี 2 ประการด้วยกันคือ การควบคุมเสถียรภาพของราคา ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนด และการทำให้เกิดการจ้างงานสูงสุด 

 

ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แนวทางการดำเนินนโยบายด้านการเงินของ Fed จะต้องให้น้ำหนักความสำคัญกับเป้าหมาย 2 ประการข้างต้นเป็นหลัก 

 

อย่างไรก็ตาม ไมค์ เพนซ์ (Mike Pence) อดีตรองประธานาธิบดี สมัยที่ โดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ และกำลังลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี กลับชูแนวทางรณรงค์ให้ยกเลิกเป้าหมายหน้าที่ของ Fed เกี่ยวกับการจ้างงาน

 

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์บางคนกล่าวว่า การยกเลิกดังกล่าวไม่ใช่ความคิดที่น่ากลัว แต่ก็ไม่เหมาะกับพรรคเดโมแครตที่เชื่อว่าธนาคารกลางจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบของการตัดสินใจนโยบายการเงินต่อการจ้างงาน และในขณะที่การปรากฏตัวของประธาน Fed เจอโรม พาวเวลล์ ต่อหน้าสมาชิกสภานิติบัญญัติในรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็ทำให้ชัดเจนว่าพรรคเดโมแครตยึดมั่นในภารกิจการจ้างงานของ Fed แน่นอน กระนั้น ท่าทีของสมาชิกพรรครีพับลิกันเองก็ไม่ได้ชัดเจนว่าจะสนับสนุนท่าทีของเพนซ์มากน้อยแค่ไหน 

 

สำหรับกฎหมายของรัฐบาลกลางที่ก่อตั้ง Fed เมื่อกว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ได้รับการแก้ไขล่าสุดในปี 1977 เพื่อปฏิรูปธนาคารกลางในช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง และการว่างงานสูง หรือในยุคภาวะเงินฝืด โดยหนึ่งในการปฏิรูปดังกล่าวคือต้องการให้ Fed ส่งเสริมการจ้างงานอย่างเต็มที่ นอกเหนือไปจากเสถียรภาพด้านราคา

 

ทั้งนี้  Fed มีเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% ที่ชัดเจนมาโดยตลอด แต่สำหรับการจ้างงาน เป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อนั้น โดยขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญมองว่า มีคำถามสำคัญสองข้อที่ต้องพิจารณาคือ Fed มีประสิทธิภาพเพียงใดในการบรรลุการจ้างงานสูงสุด และจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรหากคำสั่งจ้างงานถูกยกเลิก

 

งานนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งอดีตผู้ว่าการ Fed มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายที่เห็นด้วยกับการยกเลิกมองว่า แม้กฎหมายปฏิรูปธนาคารกลางสหรัฐปี 1977 ซึ่งลงนามในกฎหมายโดยอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ทำให้การจ้างงานเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของธนาคารกลาง ฝ่ายนิติบัญญัติ และหน่วยงานรัฐบาลในการพยายามบรรลุเป้าหมายดังกล่าว แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนแย้งว่า นโยบายการคลังมีประสิทธิภาพมากกว่า

 

ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พาวเวลล์กล่าวว่า เครื่องมือกำหนดนโยบายหลักของ Fed มีจำกัด จึงไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ความเหลื่อมล้ำทางประชากร หรือสร้างงานได้ ซึ่งแม้อัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานในที่สุด แต่การจัดการกับภาวะเงินเฟ้อก็มีผลเช่นเดียวกัน

 

Peter Ireland ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ Boston College และนักวิจัยนโยบายการเงิน กล่าวว่า การขอให้ Fed มุ่งเน้นไปที่อัตราเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เป็นการเพิกเฉยต่อการพัฒนาในตลาดแรงงาน แต่เป็นการบรรลุเป้าหมายเดียวกันทุกประการ พร้อมยกตัวอย่างกรณีภาวะถดถอยครั้งใหญ่ หรือ Great Recession ที่การว่างงานเพิ่มสูงขึ้น แต่เศรษฐกิจก็จัดการกับอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลาง

 

Ireland อธิบายเพิ่มเติมว่า การมีหน้าที่เดียว (Single Mandate) แทนที่จะเป็นหน้าที่คู่ (Dual Mandate) แบบในปัจจุบัน จะทำให้ Fed มีความคล่องตัวมากกว่า เพราะ Fed จะมีหน้าที่หลักในการทำทุกวิถีทางที่จะทำให้นโยบายการเงินเอื้ออำนวยมากขึ้น ในการทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย ที่ในท้ายที่สุดก็ช่วยอำนวยความสะดวกในการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ดังนั้น ต่อให้ยกเลิกเป้าหมายหน้าที่การจ้างงานของ Fed  ก็ไม่ส่งผลกระทบใดๆ อย่างมีนัยสำคัญอยู่ดี 

 

ขณะเดียวกัน Ireland ชี้ว่า โครงการริเริ่มด้านนโยบายการคลัง เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ได้พิสูจน์แล้วว่ารวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าในการหนุนตลาดแรงงาน 

 

ขณะที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกแย้งว่า การที่ Fed มีหน้าที่หลัก 2 ประการ (Dual mandate) เป็นสิ่งที่ทำให้ Fed มีความยืดหยุ่น ซึ่งพัฒนาไปตามสถานการณ์และช่วยเสริมเสถียรภาพราคา ดังนั้น รัฐบาลกลางควรปล่อยให้ Fed มีหน้าที่ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

 

Laurence Meyer นักเศรษฐศาสตร์ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ Fed ตั้งแต่ปี 1996-2002 ชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อสูงและการว่างงานต่ำ ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับเสถียรภาพของราคา ซึ่งในภาวะปกติ เป้าหมายหน้าที่ดังกล่าวล้วนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน 

 

ด้าน Adriana Kugler นักเศรษฐศาสตร์แรงงานผู้ช่ำชอง ยกมือสนับสนุน Dual Mandate เช่นกัน โดยชี้ว่าหน้าที่ทั้งสองของ Fed มีความสำคัญเท่ากัน แต่จะให้ลำดับความสำคัญมากน้อยขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมในช่วงเวลานั้น โดยขณะนี้ปัจจัยด้านเงินเฟ้อมีความสำคัญมากกว่า 

 

ขณะที่ Meyer เสริมว่า เป้าหมาย ‘การจ้างงานสูงสุด’ (Maximum Employment) เปิดให้ตีความโดย Fed และขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของเศรษฐกิจในขณะนั้น ซึ่งหมายความว่า Fed ตั้งเป้าหมายสำหรับอัตราเงินเฟ้อได้ แต่ไม่สามารถกำหนดเป้าหมายสำหรับอัตราการว่างงานได้ เนื่องจากต้องปล่อยให้โครงสร้างเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดว่า การว่างงานควรต่ำเพียงใด โดยไม่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising