×

ความลี้ลับของสิ่งมีชีวิต เรารู้จักสิ่งมีชีวิตบนโลกแค่ 0.001% เท่านั้น อีก 99.999% หายไปไหน

09.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • การศึกษาเมื่อสองสามปีที่ผ่านมานี้ ระบุว่าโลกเรา ‘ควร’ มีสิ่งมีชีวิตมากกว่านี้ คือน่าจะมีจำนวนสปีชีส์มากถึง 1 Trillion หรือหนึ่งล้านล้านสปีชีส์
  • แต่ในความเป็นจริงสิ่งมีชีวิตทั้งหมดเท่าที่เรารู้จัก มีอยู่ราว 5.6 ล้านสปีชีส์เท่านั้นเอง
  • ซึ่งถ้าหากว่าโลกนี้มีสิ่งมีชีวิตอยู่ราว 1 ล้านล้านสปีชีส์จริงๆ ก็แปลว่าปัจจุบันเรารู้จักสิ่งมีชีวิตแค่ราว 0.001% เท่านั้น ที่เหลืออีก 99.999% เราไม่รู้จัก แล้วจะบอกว่าเรารู้จัก ‘โลก’ ใบนี้ได้จริงๆ หรือ

เรื่องลึกลับที่สุดอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตบนโลกก็คือ – เฮ้ย! พวกมันอยู่ที่ไหนกันแน่?

 

คุณอาจจะคิดว่า ก็อยู่รอบตัวเรานี่ไง มองไปทางไหนก็เห็นแต่สิ่งมีชีวิตเต็มไปหมด นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ๆ เต็มไปหมด แต่คุณรู้ไหมครับว่ามีการศึกษาเมื่อสองสามปีที่ผ่านมานี้ ที่ระบุว่า โลกเรา ‘ควร’ มีสิ่งมีชีวิตมากกว่านี้ คือน่าจะมีจำนวนสปีชีส์มากถึง 1 Trillion หรือหนึ่งล้านล้านสปีชีส์

 

ซึ่งเยอะมาก!

 

นักชีววิทยาในสหรัฐอเมริกา ได้นำเอาการวิเคราะห์ต่างๆ มารวมกัน ทั้งการวิเคราะห์สิ่งมีชีวิตจิ๋วๆ ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ มากกว่า 35,000 ชิ้น แล้วเอามานับรวมกันดู ว่าการวิเคราะห์พวกนี้แยกแยะสิ่งมีชีวิตเอาไว้กี่สปีชีส์บ้าง ซึ่งเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วเป็นงานเอกสารมโหฬารมาก ชนิดที่ถ้าไม่มีคอมพิวเตอร์ช่วย เราไม่มีทางรู้ได้เลย

 

จากการวิเคราะห์พบว่าทั้งหมดเท่าที่เรารู้จัก มีสิ่งมีชีวิตอยู่ราว 5.6 ล้านสปีชีส์เท่านั้นเอง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในที่ต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ใต้สมุทรลึกล้ำ ไปจนถึงผืนแผ่นดินทั้งหลาย

 

5.6 ล้านสปีชีส์ อาจฟังดูเยอะมาก แต่ถ้านำไปเปรียบเทียบกับจำนวนสปีชีส์ที่ ‘ควร’ จะมี คือราว 1 ล้านล้านสปีชีส์ ก็เท่ากับเราเก็บตังค์ได้ 5 บาท โดยมีเป้าหมายจะต้องเก็บให้ได้ล้านบาทนั่นแหละครับ

 

แล้วนี่เก็บมาแล้วชั่วชีวิตของเราเลยนะครับ ยังต้องเก็บอีกกี่ปีถึงจะครบกันล่ะนี่!

 

กลับมาที่ตัวเลข 1 ล้านล้านกันก่อน คุณอาจจะสงสัยว่า แล้วตัวเลขนี้มันมาได้อย่างไร นักวิทยาศาสตร์เขามโนนั่งนึกเอาเองหรือเปล่า

 

จริงๆ เรื่องนี้เกิดมาจากวิธีศึกษาแนวใหม่ที่ใช้ Ecological Scaling Laws ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อดูว่า ธรรมชาตินั้นสามารถสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นได้มากแค่ไหน ทั้งข้อมูลจากจุลินทรีย์ (Microbial Data) และข้อมูลจากสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ (Macrobial Data) โดยนำมารวมกับแบบจำลองความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้สามารถทำนายออกมาได้ว่า โลกน่าจะมีสิ่งมีชีวิตได้มากถึง 1 ล้านล้านสปีชีส์ (ดูรายละเอียดได้ที่ www.pnas.org/content/113/21/5970)

 

การศึกษานี้ตีพิมพ์อยู่ใน Proceedings of the National Academy of Sciences โดยผู้เขียนคือ เจย์ เลนนอน (Jay Lennon) จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา

 

ที่จริงต้องบอกว่า การประมาณค่าความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตนั้น เป็นงานที่ยากและท้าทายมากนะครับ เพราะก่อนหน้านี้ มนุษย์ไม่มีเครื่องมือที่จะประเมินค่านี้ได้ แต่เมื่อการศึกษาในเรื่องพันธุกรรม การวิเคราะห์ดีเอ็นเอต่างๆ พัฒนาขึ้น รวมไปถึงการใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาผสมผสานด้วย ก็ทำให้เราเห็น ‘ภาพ’ ที่น่าจะตรงกับความจริงมากกว่า เหมือนสมัยก่อนเราอยู่ในห้องมืดๆ สลัวๆ เราก็จะมองไม่เห็นภาพทั้งหมด เจย์ เลนนอน บอกว่า การประมาณค่าสมัยก่อนนั้นได้มาจากตัวอย่างสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่น้อยเกินไป (under-sampled of diversity)

 

ตัวอย่างเช่น ถ้าเรากอบกำดินมาหนึ่งฝ่ามือ นักวิทยาศาสตร์สมัยก่อนจะศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในดินนั้นได้สัก 100 สปีชีส์เท่านั้น แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่า ในดินหนึ่งฝ่ามือนั้น อาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่มากกว่าหนึ่งพันล้านสปีชีส์ (ซึ่งก็รวมไปถึงจุลินทรีย์ต่างๆ ด้วย) ดังนั้นเมื่อนำมาคำนวณจำนวนรวมแล้ว จะพบว่าจำนวนสปีชีส์นั้นมีอยู่มหาศาลกว่าที่เราเคยคิด

 

การตระหนักรู้ว่า สมัยก่อนเราใช้ตัวอย่างน้อยเกินไป ทำให้เกิดการศึกษาเรื่องนี้ขึ้นมาจากอีกหลายแหล่ง เช่น จาก National Institutes of Health’s Human Microbiome Project หรือ Tara Oceans Expedition รวมไปถึงโครงการอย่าง Earth Microbiome Project ซึ่งแต่ละที่ก็ให้ตัวเลขมากมายมหาศาลเหมือนๆ กัน บางที่ตัวเลขออกมามากถึง 35 ล้านล้านสปีชีส์ด้วยซ้ำ (โดยเฉพาะในหมู่จุลินทรีย์และแบคทีเรียต่างๆ)

 

ซึ่งถ้าหากว่าโลกนี้มีสิ่งมีชีวิตอยู่ราว 1 ล้านล้านสปีชีส์จริงๆ ก็แปลว่าปัจจุบันเรารู้จักสิ่งมีชีวิตแค่ราว 0.001% เท่านั้น ที่เหลืออีก 99.999% เราไม่รู้จัก

 

แล้วเรารู้จักโลกแค่ 0.001% ยังเหลืออีกตั้งมากมายที่เราไม่รู้จัก – ก็แล้วจะบอกว่าเรารู้จัก ‘โลก’ ใบนี้ได้จริงๆ หรือ โลกนี้คือ ‘บ้าน’ ของเราจริงๆ หรือ หรือว่าเราแค่อยู่ใน ‘เปลือกลวงตา’ บางอย่าง ที่ทำให้เราคิดไปเองว่าเรารู้จักกับโลกใบนี้แล้ว

 

ในสารคดีของ Netflix ชื่อ The Unknown ซึ่งนำเอานักวิทยาศาสตร์จากต่างสาขามาพบปะกัน มีอยู่ตอนหนึ่งที่นักจุลชีววิทยาอย่าง เจนนิเฟอร์ มาคาลาดี (Jennifer Macalady) จาก Penn State University ได้มาเจอกับนักฟิสิกส์อย่าง ดาวิเด แดนเจโล (Davide D’Angelo) จาก Universita degli Studi di Milan ในอิตาลี

 

แดนเจโล นั้นศึกษาเรื่อง Dark Matter หรือ ‘สสารมืด’ ในเอกภพ เขาบอกกับมาคาลาดีว่า จากการคำนวณ เอกภพน่าจะมีมวลมากกว่าที่เราเห็นมากมายมหาศาลนัก แต่เรากลับยังหามวลพวกนั้นไม่พบ ดังนั้น โดยทฤษฎีจึงต้องนำเอาสิ่งที่เรียกว่า ‘สสารมืด’ หรือสสารที่มองไม่เห็น ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน – เข้ามารวมอยู่ในสมการด้วย

 

ได้ฟังแบบนั้น มาคาลาดีรีบบอกออกมาทันทีว่า ในทางชีววิทยาก็มี ‘สสารมืด’ ของตัวเองเหมือนกัน เธอบอกแดนเจโลว่า ที่จริงแล้ว จากการคำนวณ โลกนี้ควรจะมีสิ่งมีชีวิตมากถึง 35 ล้านล้านสปีชีส์ (โดยเฉพาะจุลินทรีย์ทั้งหลาย) แต่เราพบน้อยมาก คือแค่ 0.001% เท่านั้น สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังต้องทำ ก็คือการหาสิ่งมีชีวิตพวกนี้ให้เจอ ว่าพวกมันอยู่ที่ไหนกันแน่ ซึ่งยังถือว่าอีกยาวไกลนัก

 

ในเวลาเดียวกันกับที่เรากำลังทำแผนที่ดวงดาวบนท้องฟ้า และค้นพบสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอด สิ่งใกล้ตัวเราอย่างเช่นสิ่งมีชีวิตบนโลก ก็ยังสร้างความน่าทึ่งให้เราได้เสมอ คล้ายกับว่า ที่มนุษย์คิดว่าตัวเองรู้ดีนักรู้ดีหนานี้ ที่จริงเรายัง ‘รู้’ อะไรๆ น้อยมาก

 

โลกใบนี้น่าจะกำลังยิ้มเยาะอยู่อย่างลับๆ เพราะมนุษย์ – สิ่งมีชีวิตที่หยิ่งทะนงและถือตัวว่าเป็นสัตว์ประเสริฐผู้รอบรู้และมีสติปัญญานั้น แท้จริงแล้วอาจไม่ได้รู้อะไรเลยก็ได้ แต่ก็ทะเลาะกัน ฆ่าฟันกัน กระเหี้ยนกระหือรือจะด่าทอกันในเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อยต่างๆ

 

เป็นไปได้ว่า จำนวนสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตบนโลก อาจมีมากกว่าจำนวนดาวฤกษ์ในกาแล็กซีทางช้างเผือกเสียอีก

 

ความรู้นี้ยืนยันสำทับอีกครั้งว่า – มนุษย์ไม่ใช่แค่เศษธุลีแห่งจักรวาลเท่านั้น

 

กระทั่งกับโลก – เราก็ยังรู้อะไรน้อยยิ่งกว่าน้อย!

 

ภาพประกอบ: Dreaminem

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising