×

‘บุหรี่ไฟฟ้า’ แฟชั่นอันตราย หรือทางเลือกใหม่ของนิโคติน?

16.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • บุหรี่ไฟฟ้าได้รับการยอมรับในประเทศอังกฤษซึ่งมีชื่อเสียงในระบบประกันสุขภาพ ผ่านบทวิจัยทั้งทางการแพทย์และเอกสารในสภา
  • “โดยตัวมันเอง นิโคตินไม่ใช่สาเหตุหลักของมะเร็ง โรคปอด โรคหัวใจ ซึ่งคร่าชีวิตคนอเมริกานับพันในแต่ละปี แต่เป็นสารประกอบอื่นๆ ในยาสูบและควันที่เกิดจากการเผาไหม้โดยตรง” Scott Gottlieb ตัวแทน FDA (องค์กรอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา)
  • รายงาน Nicotine without smoke: Tobacco harm reduction จาก Royal College of physicians ประเทศอังกฤษ ระบุว่า อัตราส่วนสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย วัดจากผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นระยะเวลานาน มีไม่ถึง 5% ของบุหรี่มวน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่พบเห็นได้หลากหลายในประเทศไทย

     

ทั้งผู้สูบ และข่าวการจับกุมต่างๆ ในฐานะ ‘สินค้าต้องห้าม’

     

รวมไปถึงมีบทลงโทษสำหรับผู้ขาย ผู้ให้บริการ คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     

หากผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้ผลิต ผู้สั่ง ผู้นำเข้าเพื่อขาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     

บุหรี่ไฟฟ้า หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘อีซิก’ (E-cigarette) และ ‘เวเปอร์ไรเซอร์’ (Vaporizer) มักถูกกล่าวอ้างโดยบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยว่า ‘อันตรายเทียบเท่าบุหรี่มวน’ หรืออาจมากกว่า

     

บทลงโทษและข้อมูลดังกล่าว ดูจะสวนทางกับนโยบายและผลวิจัยในอังกฤษและอเมริกา

     

คำถามคือ ทางการไทยกำลังทำให้ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เป็น ‘ยมฑูตอำมหิต’ เกินจริง

     

หรือแท้จริงแล้วมันเป็นเช่นนั้นกันแน่?

นิโคตินไม่ใช่สาเหตุหลักของมะเร็ง โรคปอด โรคหัวใจ ซึ่งคร่าชีวิตคนอเมริกานับพันในแต่ละปี แต่เป็นสารประกอบอื่นๆ ในยาสูบและควันที่เกิดจากการเผาไหม้โดยตรง

 

อเมริกา-อังกฤษ ยอมรับบุหรี่ไฟฟ้า?

ก่อนหน้านี้บุหรี่ไฟฟ้า แม้จะไม่ได้รับการรับรองในอเมริกา เนื่องจากมีรายงานที่ชื่อ E-cigarette use among youth and young adults ซึ่งจัดทำโดยองค์กร Surgeon General ภายใต้การดูแลของ Vivek Murthy แต่แล้วไม่นานมานี้เขากลับถูกปลดออกจากตำแหน่งในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตามมาด้วยนโยบายใหม่ของ FDA หรือองค์กรอาหารและยาของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนท่าทีเป็นผลักดันให้นักสูบบุหรี่หันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน ด้วยเหตุผลว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน

     

Scott Gottlieb ตัวแทนของ FDA ให้เหตุผลว่า “โดยตัวมันเองนิโคตินไม่ใช่สาเหตุหลักของมะเร็ง โรคปอด โรคหัวใจ ซึ่งคร่าชีวิตคนอเมริกานับพันในแต่ละปี แต่เป็นสารประกอบอื่นๆ ในยาสูบและควันที่เกิดจากการเผาไหม้โดยตรง (1)

 

 

ในรายงานของ Public Health England ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุขประเทศอังกฤษได้ตีพิมพ์รายงานชื่อ E-cigarettes: an evidence update อธิบายว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน และเป็นทางเลือกที่ดีในการช่วยเลิกบุหรี่มวน เนื่องจากสารประกอบในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารประกอบที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร รวมเข้ากับนิโคติน และใช้การให้ความร้อนทำให้ของเหลวระเหยมาเป็นไอ ผิดกับบุหรี่มวนที่ใช้การเผาไหม้ให้เกิดควัน ทั้งยังมีสารเคมีประเภททาร์ (น้ำมันดิน) ไซยาไนด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นต้น

ทางกรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยคนเลิกสูบบุหรี่ได้

 

บทวิจัยชื่อ Nicotine without smoke: Tobacco harm reduction จาก Royal College of physicians ประเทศอังกฤษ ซึ่งตีพิมพ์ เมษายน ปี 2016 ยังระบุในส่วนบทสรุปหน้า 189 ว่า

     

อัตราส่วนสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกายโดยวัดจากผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นระยะเวลานาน มีการอธิบายว่ามีไม่ถึง 5% ของบุหรี่มวน เนื่องจากสารพิษหลักมีเพียงนิโคตินซึ่งทำให้คนเสพติดบุหรี่มวนเท่านั้น ประกอบกับสารอื่นๆ ที่เป็นสารประเภท Food grade materials หรือสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ Propylene Glycol (PG) และ Vegetable Glycerin (VG) ทั้งนี้ในบทวิจัยดังกล่าวยังอธิบายว่า การที่ผู้สูบบุหรี่มวนเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังมีแนวโน้มจะทำให้เลิกการเสพติดนิโคตินได้

 

 

ในกรณีของอันตรายต่อสุขภาพนั้น ด้านประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเองก็ได้ระบุจากงานวิจัย และกำหนดลงไปในนโยบายที่ยอมรับบุหรี่ไฟฟ้า ในฐานะทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าสำหรับนักสูบบุหรี่แล้ว

     

ส่วนในกรณีของการเสพติดบุหรี่ในหมู่เด็กและเยาวชนนั้น ได้มีการกล่าวถึงใน Postnotes ของรัฐสภาอังกฤษในส่วนของสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า หลักฐานที่ยอมรับได้จำนวนมากชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการสูบบุหรี่มวนในกลุ่มผู้ที่ไม่สูบบุหรี่มาก่อน และเยาวชน  (postnote 533 August 2016–House of parliament–parliamentary office of science and technology, UK) ทั้งยังอธิบายถึงภัยต่อคนรอบข้างไว้ในหน้าที่ 2-3 ว่าไม่เพียงแต่สารพิษที่ผู้ใช้ได้รับจะไม่ถึง 5% ของบุหรี่มวน สารพิษที่ถูกพ่นออกมาก็เป็นจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น

ไอน้ำจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกพ่นออกมา นอกจากไอน้ำและนิโคตินแล้วยังมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอีกมาก

 

ความจริงอีกด้านของ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ในสายตาทางการไทย

หันกลับมามองที่ประเทศไทย นพ. สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดี กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวในวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ว่า ปัจจุบันมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่นไทย เหตุเพราะรูปลักษณ์และองค์ประกอบที่ดึงดูดใจให้วัยรุ่นหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า และกระแสการเลียนแบบในกลุ่มเพื่อนอย่างรวดเร็ว ทางกรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยคนเลิกสูบบุหรี่ได้ ที่สำคัญในบุหรี่ไฟฟ้าก็มีสารพิษต่างๆ โดยเฉพาะสารนิโคตินเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ปกติทั่วไป ซึ่งมีอันตรายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพเหมือนกัน ทั้งยังกล่าวเพิ่มว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นจุดเริ่มต้นในการเสพติดบุหรี่ หรือสารเสพติดประเภทอื่นๆ ในเด็กและเยาวชนด้วย”

     

ด้าน ศ.นพ. ประกิต  วาทีสาธกกิจ เลขาธิการ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  เปิดเผยว่า มีหลายฝ่ายที่เข้าใจว่าควันบุหรี่ไฟฟ้ามีแต่ไอน้ำกับนิโคติน ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และวัยรุ่นนิยมสูบ เพราะว่ามีควันเยอะดี ซึ่งตนคิดว่า ความเข้าใจตามที่ผู้ขายกล่าวอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

     

ไอน้ำจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกพ่นออกมา นอกจากไอน้ำและนิโคตินแล้วยังมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอีกมาก

     

จากการตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น สารโพรพิลีน ไกลคอล เมนทอล ไซโคลเฮกซานอล ไตรอะซิติน อนุพันธ์เบนซีน ตะกั่ว และสารก่อมะเร็ง เช่น โครเมียม สารหนู และแคดเมียม

เราควรเลิกโทษอุปกรณ์ มันเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องให้ความรู้ ควบคุม และปกป้องสิทธิของประชาชน เหมือนอย่างที่เรารู้กันว่ายาพาราเซตามอลหากรับในปริมาณมากๆ แล้วมีผลร้ายแรงกับร่างกาย

 

นักสูบแนะ ‘เลิกโทษอุปกรณ์-หันมาให้ความรู้’

ด้าน มาริษ กรัณยวัฒน์ แอดมินเพจ ‘บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร’ กล่าวว่า ในประเด็นที่บุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่นิยมในหมู่เยาวชน และเป็นเหตุให้เด็กหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพราะตามเพื่อนและแฟชั่นว่า

     

เราควรเลิกโทษอุปกรณ์ มันเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องให้ความรู้ ควบคุม และปกป้องสิทธิของประชาชน เหมือนอย่างที่เรารู้กันว่ายาพาราเซตามอลหากรับในปริมาณมากๆ แล้วมีผลร้ายแรงกับร่างกาย แต่คงไม่มีใครเกิดปวดหัวมากแล้วกินทีเดียว 5 เม็ด เพราะคนรู้ว่าถ้าใช้ในปริมาณมากในครั้งเดียวแน่นอนว่ามันอันตราย

     

“ไม่มีประเทศไหนที่เด็กไม่อยากลอง ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ แล้ววิธีไหนล่ะที่เราจะกันเด็กออกจากสิ่งเหล่านี้ ผมคิดว่ามันควรอยู่ในบรรทัดฐานเดียวกับบุหรี่มวน มีภาษีที่ถูกต้อง ควบคุมการซื้อขาย เช็กบัตรประชาชน มันก็จะสามารถกันเด็กและเยาวชนออกจากบุหรี่ไฟฟ้าได้ในระดับหนึ่ง

     

“โดยทางกลุ่ม ‘บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร’ ก็ไม่สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า”

     

หากดูจากผลวิจัยในอังกฤษ-อเมริกา บุหรี่ไฟฟ้าดูจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าสำหรับสิงห์อมควัน ทั้งยังช่วยในการเลิกบุหรี่มวน

     

แต่ข้อมูลดังกล่าวดูจะสวนทางกับข้อมูลของทางการไทยโดยสิ้นเชิง

     

คำถามสำคัญคือ เราควรจะเลือกมองบุหรี่ไฟฟ้าในมุมไหน?

   

และเราควรจะตอบคำถาม ‘บุหรี่ไฟฟ้าควรถูกแบนหรือไม่?’ ที่สังคมไทยยังถกเถียงไม่จบนี้อย่างไร

     

เมื่อต่างฝ่ายต่างเสนอข้อมูลไปคนละทิศทาง สุดท้ายคงขึ้นอยู่กับ ‘คนที่บรรลุนิติภาวะ’ จะตัดสินใจรับฟัง

 

ภาพ: วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

อ้างอิง :

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X