×

วิทยาศาสตร์ชี้ กินไขมันไม่ทำให้รอบเอวหนา แต่น้ำตาลคือวายร้าย

20.03.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ครั้งแล้วครั้งเล่าของการศึกษา พบว่ากลุ่มที่ตัดไขมันออกจากสิ่งที่บริโภค ไม่เพียงแต่น้ำหนักไม่ลดแล้ว ยังไม่เห็นอีกด้วยว่าการตัดหรือลดไขมันมากๆ ดีต่อสุขภาพด้านอื่นๆ หรือช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคอย่างไร
  • การดื่มน้ำหวานอย่างน้ำอัดลม มีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ดื่มอย่างต่ำ 2 ครั้งต่อวันขึ้นไป
  • นักวิทยาศาสตร์สรุปเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ‘คำแนะนำเรื่องโภชนาการ 5 หมู่ควรถูกนำมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง’
  • นั่นแปลได้ว่าอาหารมันๆ แสนอร่อยอย่างอะโวคาโด แซลมอนติดมัน หรือถั่วมันๆ ทั้งหลายอาจไม่แย่ดังที่คิด

เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกผิดที่ทำให้รอบเอวหนาขึ้นหลังจากสวาปามความมันอร่อยของอะโวคาโด หรือกินหนังปลากรอบเคลือบไข่เค็มไปหมดถุง กระทั่งหม่ำคุกกี้ช็อกโกแลต หรือพาสต้าคาโบนาร่าคนเดียวหมดรวด

 

แต่นักวิทยาศาสตร์กำลังเร่งหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นในร่างกายเมื่อเรากินไขมัน หรือน้ำตาลในปริมาณมาก และในหลายมุมของโลก สองสิ่งนี้มักถูกนำมากินคู่กันเสมอ อาทิ โดนัท ที่นำแป้งมาทอดในน้ำมันท่วม ออกมาเป็นขนมแป้งเคลือบน้ำตาลที่ทั้งหอม หวาน มัน ทรงพลังชวนน้ำลายไหลยิ่งนัก

 

แต่ที่น่าสนใจคือมีหลักฐานจำนวนไม่น้อยเริ่มชี้แนะว่าเมื่อนำมาแยกบริโภคแบบโดดๆ ไขมันกลับไม่ทำให้ตาชั่งเด้งดังที่คิด ในอีกแง่หนึ่งก็มีผลการศึกษาที่บ่งชี้ว่าการบริโภคน้ำตาลเพียงอย่างเดียวมีส่วนเกี่ยวกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น

 

ไม่เพียงเท่านั้น จากการวิเคราะห์ไม่นานมานี้ยังพบอีกว่าการดื่มน้ำหวาน อย่างน้ำอัดลม มีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ดื่มอย่างต่ำ 2 ครั้งต่อวันขึ้นไป

 

อารอน คาร์รอล (Aaron Carroll) ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยการแพทย์อินเดียน่า (Indiana University School of Medicine) ได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการกินไขมัน และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นไว้ในหนังสือ ‘The Bad Food Bible: How and Why to Eat Sinfully.’ ว่า ‘มีสิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับไขมัน นั่นคือการบริโภคไขมันไม่ได้ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันอาจช่วยให้น้ำหนักลดลงด้วยซ้ำ’

 

นั่นแปลได้ว่าอาหารมันๆ แสนอร่อยอย่างอะโวคาโด แซลมอนติดมัน หรือถั่วมันๆ ทั้งหลายอาจไม่แย่ดังที่คิด และหากคุณลดมันอยู่แบบ low-fat diet ที่เคยจ๊าบมาตั้งแต่ยุค 90’s อาจถึงเวลาที่ควรกลับไปกิน ‘มัน’ บ้างแล้วล่ะ

 

Photo: Dunkin Donuts, Milford Steak House

 

คำตอบยังคงเป็นปริศนา

ในการระบุชัดเจนว่าน้ำตาลหรือไขมันกันแน่ที่เป็นตัวร้าย เป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพต่างๆ วิธีหนึ่งคือการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มคนกินอาหารไขมันต่ำ และกลุ่มคาร์โบไฮเดรตต่ำ

 

ครั้งแล้วครั้งเล่าของการศึกษา พบว่ากลุ่มที่ตัดไขมันออกจากสิ่งที่บริโภค ไม่เพียงแต่น้ำหนักไม่ลดแล้ว ยังไม่เห็นอีกด้วยว่าการตัดหรือลดไขมันมากๆ ดีต่อสุขภาพด้านอื่นๆ หรือช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคอย่างไร

 

ขณะที่กลุ่มคนที่บริโภคไขมันจำนวนมาก แต่ยังคงรับประทานคาร์โบไฮเดรตแบบผ่านกระบวนการขัดสี อาทิ ขนมปัง ซีเรียลรสหวาน และข้าวขัดสีในปริมาณควบคุมกลับน้ำหนักลด และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรค

 

แต่หลักฐานที่ว่าน้ำตาลทำให้น้ำหนักเพิ่มนั้นยังไม่ชัดเจนถึงขนาดนั้น และยังต้องหาคำตอบที่ชัดเจนกันต่อ

 

ทั้งนี้มีการสังเกตจากผลศึกษาจำนวนมากที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ที่นักวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบคนกว่า 135,000 คน ใน 18 ประเทศ ถึงการกินแบบน้ำตาลต่ำและไขมันต่ำ ค้นพบว่าคนที่รับประทานอาหารแบบไขมันต่ำมีสิทธิ์ที่จะเสียชีวิตได้จากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือเสี่ยงต่อโรคหัวใจต่างๆ ขณะที่ความเสี่ยงเหล่านั้นกลับต่ำลงในกลุ่มคนกินคาร์โบไฮเดรตต่ำ

 

นักวิทยาศาสตร์ผู้เขียนงานวิจัยการค้นพบนี้สรุปเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ‘คำแนะนำเรื่องโภชนาการ 5 หมู่ควรถูกนำมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง’

 

Photo: Taste of Home

 

แต่เกิดอะไรขึ้นเมื่อลดไขมัน

ผลสรุปข้างต้นสมเหตุสมผลไม่น้อย เนื่องจากโดยปกติ เมื่อเราลดการกินไขมัน คนจำนวนมากมักหันไปหาน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตมาทดแทน

 

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ทำการทดสอบกับผู้หญิงจำนวนเกือบ 50,000 คน เป็นเวลา 8 ปี โดยนักวิทยาศาสตร์กำหนดให้ครึ่งหนึ่งทำการไดเอตแบบไขมันต่ำ ไม่เพียงแต่ผู้หญิงกลุ่มนี้จะลดน้ำหนักได้น้อยนิดแล้ว ยังไม่ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคหัวใจ

 

ปัญหาส่วนหนึ่งนั้นมาจากสิ่งที่เราเลือกบริโภคเมื่อเลี่ยงการกินมันนั่นเอง

 

Photo: Stonyfield

 

อาหารพร้อมรับประทานตามท้องตลาดที่เราเห็นฉลากแปะว่า ‘low-fat’ หรือ ‘ไขมันต่ำ’ นั้น มักเต็มไปด้วยน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตที่เสริมรสให้อร่อยขึ้นแทนที่ไขมัน อาทิ ซีเรียล กราโนล่าบาร์ โยเกิร์ต ที่หากอ่านฉลากจะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตนั้นสูงไม่น้อย แม้จะแทบไม่มีไขมัน

 

ขณะเดียวกัน ก็มีการศึกษาที่เสนอแนะว่าทั้งน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตนั้นมีส่วนต่อการทำให้รอบเอวหนาขึ้น จากการทบทวนงานวิจัยกว่า 50 ชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food and Nutrition Research พบว่าโดยปกติ ยิ่งกินแป้งขัดสีมาก ยิ่งน้ำหนักเพิ่มขึ้น

 

แม้จะมีการโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์​ ‘ไขมันต่ำ’ ช่วยให้น้ำหนักลด รอบเอวเล็ก หุ่นสลิมได้ แต่ความจริงแล้วสินค้าเหล่านี้อาจทำให้ตัวเลขบนตาชั่งสูงขึ้นเสียมากกว่าอาหารไขมันสูงที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำเสียอีกนี่สิ…

 

อ่านเรื่อง กินจนปากมันแผล็บ แต่น้ำหนักลดฮวบๆ อย่างนี้ก็มีหรือ? คีโตเจนิก การกินไขมันเพื่อเผาผลาญไขมัน ได้ที่นี่

 

ภาพ: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising