ทำไมคนไม่เก่งถึงชอบคิดว่าตัวเองเก่งนักนะ สิ่งนี้อธิบายได้ด้วยทฤษฎีของ Dunning-Kruger ที่ศึกษาเกี่ยวกับอคติทางความคิดของคนเราว่า ทำไมเราถึงเชื่อว่าตัวเองเก่งกว่าที่ตัวเองเป็น ซึ่งพวกเขาค้นพบว่าการที่เรารู้อะไรบางอย่างเพียงแค่เล็กน้อยก็สามารถทำให้เรารู้สึกว่า เรานี่แหละ เก่งที่สุดในจักรวาล
Dunning-Kruger Effect ถูกตั้งชื่อตามนักจิตวิทยาสองคนที่เป็นผู้วิจัยเรื่องนี้ ที่จริงแล้วพวกเขาวิจัยในหลากหลายรูปแบบ แต่เราจะยกตัวอย่างอันที่เข้าใจง่ายมาอธิบายให้ฟัง ซึ่งในงานทดลองชิ้นนั้น พวกเขาลองให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 65 คนให้คะแนนความตลกของมุกตลกที่แตกต่างกัน การทดลองค้นพบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่งมีความสามารถในการตัดสินว่าอะไรตลกหรือไม่ตลกได้ไม่ค่อยดีนัก แต่พวกเขากลับเชื่อว่าพวกเขาเป็นกรรมการที่ดีและมีเซนส์ในมุกตลกที่ดี
อีกหนึ่งการทดลอง เขาจะถามกลุ่มตัวอย่างว่า พวกเขารู้จักคำศัพท์เฉพาะทางดีแค่ไหน โดยการยกคำศัพท์เฉพาะทางจากศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย, ชีววิทยา, ฟิสิกส์ และภูมิศาสตร์ มาให้กลุ่มตัวอย่างตอบว่าคำนี้มีความหมายว่าอะไร แต่เขาแฝงคำศัพท์ปลอมที่คิดค้นขึ้นเองเข้าไปด้วย ซึ่งคำศัพท์พวกนั้นไม่ได้มีความหมายอะไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ไม่ยากถ้าอยากเป็นเจ้าคนนายคน! งานวิจัยชี้ แค่ ‘พูดมาก’ เข้าไว้ก็เป็น ‘ผู้นำ’ ได้แล้ว
- เคารพกันบ้าง จ้างก็ได้! เมื่อพนักงานไม่ได้รับความเคารพจากนายจ้าง อาจสร้างแผลใหญ่ให้กับองค์กรได้
- ใครทำอันนี้ได้ก็ทำให้ทีนะ! เมื่อการแบ่งงานไม่ใช่การแบ่งเค้ก แบ่งงานอย่างไรไม่ให้พนักงานหมดไฟไปเสียก่อน
90% ของกลุ่มตัวอย่างตอบอย่างมั่นใจว่า พวกเขารู้จักคำศัพท์ปลอมคำนี้ ซึ่งทำให้การทดลองนี้ค้นพบว่า แม้คนเราจะมีความรู้เกี่ยวกับศาสตร์นั้นเพียงแค่นิดเดียว แต่ทำให้เรารู้สึกว่าเรารู้ไปหมดทุกเรื่อง
คนที่ไม่เก่งสำหรับ Dunning-Kruger ไม่ใช่แค่คนที่ทำอะไรก็ออกมาไม่เป็นดั่งใจ แต่เป็นคนที่ไม่สามารถประเมินความสามารถของตัวเองได้ด้วย ซึ่งอาจเป็นคำตอบว่าทำไมบางครั้งนักเรียนที่ได้คะแนนแย่ในการสอบถึงออกมาโวยวายว่าพวกเขาควรได้คะแนนที่ดีกว่านี้ พวกเขาประเมินตัวเองสูงเกินไป และไม่สามารถยอมรับได้ว่าความสามารถที่แท้จริงของพวกเขาอยู่ในระดับไหน
อ้างอิงจากนักวิจัยหลายกลุ่ม เราทุกคนสามารถตกเป็นเหยื่อของ Dunning-Kruger Effect ได้ทั้งสิ้น เพราะแม้ว่าเราจะรู้ดีในศาสตร์นั้นแค่ไหน แต่เราไม่มีวันเป็นคนที่สมบูรณ์แบบในศาสตร์นั้นได้ แม้แต่นักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญเองก็ไม่ได้มีใครสมบูรณ์แบบ 100%
ดังนั้น เราจะทำอย่างไรถึงจะประเมินความสามารถตัวเองให้ได้ตรงตามความเป็นจริง เราจะเชื่อการประเมินตัวเองของเราได้อยู่หรือเปล่า คำตอบคือได้ แทนที่เราจะบอกกับตัวเองว่าเรารู้ไปหมดทุกเรื่องแล้ว เราเก่งแล้ว ลองขุดความรู้ในศาสตร์นั้นให้ลึกขึ้น แล้วเราจะรู้ว่าในศาสตร์นั้นยังมีสิ่งที่เรายังไม่รู้และรอให้เราได้เรียนรู้อีกมากมาย
หรือการให้คนอื่นช่วยประเมินเราด้วยก็เป็นทางออกที่น่าสนใจ ซึ่งบางครั้งคนอื่นอาจพูดในสิ่งที่เราไม่อยากได้ยิน แต่เราสามารถหยิบเอาสิ่งนั้นไปปรับปรุงแก้ไขให้กลายเป็นคนที่เก่งขึ้นกว่าเดิมได้ เพราะคนเรามีพื้นที่สำหรับพัฒนาและปรับปรุงตัวเองเสมอ
อ้างอิง: