×

ประมวล 5 ความเสี่ยงใหญ่ ระเบิดเวลาสู่วิกฤตการเงินครั้งใหม่

28.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • เจพีมอร์แกน สถาบันการเงินรายใหญ่ของสหรัฐฯ เคยทำนายว่าวิกฤตการเงินครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในปี 2020 เพราะมีปัจจัยเสี่ยงมากมายที่รอวันระเบิด
  • ปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นมาจากปัญหาหนี้สินทั่วโลก ความไม่แน่นอนในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การขยายตัวของธนาคารเงา และการโจมตีทางไซเบอร์ในยุคดิจิทัล

เจพีมอร์แกน สถาบันการเงินรายใหญ่ของสหรัฐฯ เคยทำนายไว้ว่าวิกฤตการเงินครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในปี 2020 (ถ้าไม่เร็วกว่านั้น) เพราะเวลานี้มีปัจจัยเสี่ยงมากมายในระบบเศรษฐกิจที่รอวันระเบิด

 

กอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร ซึ่งดำรงตำแหน่งในสมัยที่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ยืนยันอีกเสียงว่าเรากำลัง ‘หลับตาเดิน’ เข้าสู่วังวนของวิกฤตการเงินทั่วโลกรอบใหม่ เพราะเขาไม่คิดว่าภาคธนาคารและหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินจะเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤตรอบที่แล้วและหาทางรับมือได้ดีพอ ท่ามกลางสัญญาณที่ไม่สู้ดีของหลายๆ ประเทศที่ประสบปัญหาในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

 

แล้วอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงใหญ่หลวงที่อาจเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตการณ์ครั้งใหม่

 

นาฟิส อาลาม รองศาสตราจารย์ภาควิชาการเงินแห่งมหาวิทยาลัยเรดดิงในสหราชอาณาจักร ได้เขียนบทวิเคราะห์ลงในเว็บไซต์ของ World Economic Forum ซึ่งรวบรวมปัจจัยเสี่ยงไว้ 5 ข้อดังนี้

 

 

ปัญหาหนี้สิน

อย่างที่นักวิเคราะห์หลายคนออกมาแสดงความกังวลก่อนหน้านี้ ปัญหาหนี้สินที่ก่อโดยบริษัทนอกภาคการเงินและครัวเรือนทั่วโลกกำลังอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง ปัจจุบันทั่วโลกมีหนี้สินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 225% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ซึ่งมากกว่าระดับสูงสุดก่อนหน้าในปี 2009 หรือในช่วงหลังเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ โดยประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้ามีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ระดับสูงพอๆ กับในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ปัญหาหนี้สินพอกพูนบีบให้ประเทศต่างๆ ที่กำลังประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณอย่างหนักต้องหันไปกู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพื่อนำไปชำระหนี้ และหากประเทศเหล่านี้ไม่สามารถลดยอดการขาดดุลงบประมาณได้ก็อาจประสบปัญหาในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

ด้วยเหตุนี้ คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จึงออกมาย้ำเตือนให้ประเทศต่างๆ ‘รีบซ่อมหลังคาบ้านในขณะที่ท้องฟ้ายังสดใสอยู่’ โดยเร่งตัดลดการขาดดุลงบประมาณ ปรับปรุงสภาพคล่อง เพิ่มเงินกองทุนสำรองไว้รับมือวิกฤต และเพิ่มความยืดหยุ่นในอัตราแลกเปลี่ยน

 

ตลาดเกิดใหม่

ประเทศตลาดเกิดใหม่รับบทจักรกลสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในยามที่วิกฤตการเงินถาโถมเข้าใส่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วนานนับทศวรรษ แต่เวลานี้ประเทศเหล่านี้ได้กลายเป็นหนึ่งในที่มาของปัจจัยเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจ

 

นักลงทุนที่ตื่นตระหนกกับภาวะผันผวนตามปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ได้แห่เทขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ ดังจะเห็นได้จากกระแสเงินทุนที่เคยไหลเข้าสู่ประเทศเหล่านี้สูงถึง 13,700 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนกรกฎาคม แต่ในเดือนที่แล้วเพียงเดือนเดียวมีเงินทุนไหลออกอย่างมหาศาลจนเหลือเพียง 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ปรากฏการณ์การไหลออกของเงินทุนต่างชาติเหล่านี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้ค่าเงินลีราของตุรกี ค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินา และค่าเงินรูเปียของอินโดนีเซียร่วงลงอย่างหนักในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐแข็งค่าขึ้นสวนทาง เพราะนักลงทุนแห่นำเงินไปลงกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือสินทรัพย์ที่ผูกมูลค่ากับดอลลาร์

 

ความผันผวนที่เกิดขึ้นจากกระแสการไหลออกของเงินทุนเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการค้าทั่วโลกอย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากนี้ยังเป็นสัญญาณเตือนสำหรับประเทศอื่นๆ ที่อาจถูกโจมตีค่าเงินได้ทุกเมื่อ หากไร้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมารองรับหรือไม่มีมาตรการรับมือที่รัดกุมเพียงพอ

 

การค้า

ความตึงเครียดที่กำลังขยายตัวจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเป็นปัจจัยเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกอย่างแท้จริง นอกจากความใหญ่โตของเศรษฐกิจที่จัดเป็นเบอร์ 1 และ 2 ของโลกแล้ว สหรัฐฯ และจีนยังมีหนี้สาธารณะสูงถึง 48.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และ 25.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ ดังนั้นถ้าใครล้มในสมรภูมิการค้าครั้งนี้ย่อมหมายถึงหายนะต่อตลาดเงินทั่วโลก

 

เราได้เห็นผลกระทบจากสงครามการค้าในตลาดหุ้นจีนซึ่งร่วงลงไปแล้วราว 20% ในปีนี้ นับตั้งแต่คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากจีน ต่อเนื่องจนถึงการตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเร็วๆ นี้

 

อีกหนึ่งตัวอย่างคือตลาดหุ้นฮ่องกง ความหวาดผวาของนักลงทุนได้ฉุดดัชนีฮั่งเส็งดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือนในช่วงเดือนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะกลายเป็นโรคติดต่อที่ระบาดไปทุกภูมิภาคทั่วโลกในเร็วๆ นี้

 

ภาคธนาคาร

วิกฤตสภาพคล่องในระบบการเงินทั่วโลกซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ เลห์แมน บราเธอร์ส สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ล้มละลายในปี 2008 ยังคงตามหลอกหลอนภาคธนาคารจนถึงทุกวันนี้

 

ที่ผ่านมาธนาคารรายใหญ่หลายแห่งได้ลดการพึ่งพาดอกเบี้ยจากสินเชื่อระยะสั้นและปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานในการดํารงเงินกองทุนเพื่อเป็นกันชน (Capital Buffer) ต้านทานภาวะวิกฤตและลดความรุนแรงตามวัฏจักรของเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันยังมีสถาบันการเงินอีกหลายแห่งที่ตกอยู่ในความเสี่ยง โดยเฉพาะหลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ล้มครืนเป็นลูกโซ่ในภาคธนาคารของประเทศสเปน กรีซ และอิตาลีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณเตือนว่ากลไกกำกับดูแลในภาคการเงินและธนาคารยังไม่สามารถปกป้องระบบโดยรวมจากความเสี่ยงต่างๆ ได้ดีเพียงพอ

 

อีกหนึ่งความเสี่ยงที่น่ากังวลคือ ‘ธนาคารเงา’ (Shadow Banking) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร แต่ให้บริการทางการเงิน เช่น ปล่อยกู้เหมือนกับธนาคาร ยกตัวอย่างเช่น บริษัทประกันภัย หรือกองทุนเฮดจ์ฟันด์

 

ธนาคารเงาขยายตัวอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่เกิดวิกฤตด้านสภาพคล่องครั้งก่อน เนื่องจากสถาบันการเงินเหล่านี้ถูกจำกัดด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวดน้อยกว่าธนาคาร

 

ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งในสหรัฐฯ พบสิ่งที่น่าวิตกว่าระบบธนาคารเงามีสัดส่วนในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพุ่งขึ้นจาก 15% ในปี 2007 เป็น 38% ในปี 2015 และเงินกู้ส่วนใหญ่เป็นของผู้กู้ที่มีรายได้ต่ำและมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

 

หนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องธนาคารเงามากที่สุดคือจีน มีการประมาณการกันว่าหนี้สินที่ก่อในภาคธนาคารเงาในจีนมีมูลค่าสูงถึง 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 130% ของ GDP แต่ไม่ใช่แค่จีนเท่านั้น แนวโน้มการขยายตัวของระบบธนาคารเงาทั่วโลกเป็นเรื่องที่น่าวิตกและอาจเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตได้ทุกเมื่อ

 

การโจมตีทางไซเบอร์

อาจเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายไม่น้อย แต่นักวิเคราะห์บางคนมองว่าวิกฤตการเงินครั้งหน้าอาจมีต้นตอมาจากการโจมตีทางไซเบอร์ เพราะปัจจุบันระบบการเงินทั่วโลกมีความผูกติดกันอย่างแนบแน่นและมีความเป็นดิจิทัลแบบเต็มตัว ด้วยเหตุนี้การโจมตีระบบจากที่หนึ่งย่อมส่งผลกระทบถึงกันโดยรวม

 

ผลการสำรวจความเสี่ยงเชิงระบบที่มีต่อสถาบันการเงินทั่วโลกโดยบริษัทการเงิน Depository Trust & Clearing Corporation (DTCC) พบว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นความกังวลอันดับ 1 และจัดอยู่ในอันดับต้นๆ มาตลอดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจในปี 2013

 

ไมเคิล เลบร็อก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความเสี่ยงเชิงระบบของ DTCC เคยกล่าวไว้ว่าสิ่งสำคัญในเวลานี้คือการที่ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญและร่วมมือกันพัฒนาเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมเพื่อยกระดับความมั่นคงทางไซเบอร์ในระบบการเงินและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทั้งหมด

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx.

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising