×

เกิดอะไรขึ้นกับ DTAC และผู้ใช้งาน 2G บนคลื่น 850 MHz

06.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • คลื่นย่านความถี่ต่ำที่ 850 MHz ของดีแทค จะส้ินสุดสัมปทานลงในวันที่ 15 กันยายนนี้ ทำให้ลูกค้าจำนวนกว่า 346,000 ราย จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างพื้นที่ และการใช้งานในพื้นที่ต่างจังหวัด นอกเมืองบางตำแหน่ง
  • ดีแทคระบุว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีความพยายามเสนอให้ทาง กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า 900 MHz มาตลอด แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ก่อนที่วันที่ 6 กรกฎาคมปีนี้ กสทช. ได้ระบุว่า ผู้ที่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวจะต้องรับผิดชอบค่าติดตั้งฟิลเตอร์รบกวนสัญญาณ และปัญหาที่จะเกิดต่างๆ ในอนาคตด้วยตัวเอง ทำให้การประมูลครั้งดังกล่าวล้มเหลว
  • การยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ดีแทคมีระยะเวลาเพียงพอต่อการโอนย้ายผู้ใช้งานไปบนย่านคลื่นความถี่สูงได้ทันครบตามจำนวน นอกจากนี้ลึกๆ พวกเขาก็ยังหวังว่าจะหาข้อตกลงสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ร่วมกับ กสทช. ได้

ถือเป็นประเด็นร้อนพอสมควรกับกรณีที่ดีแทคได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเมื่อเช้าวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งของ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) และคุ้มครองลูกค้า 2G ของที่ใช้งานอยู่บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการชั่วคราวกรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ซึ่งจะหมดลงในวันที่ 15 กันยายนที่จะถึงนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

 

THE STANDARD สรุปกรณีข้อพิพาทระหว่างดีแทคและทาง กสทช. ในประเด็นสัมปทานคลื่นความถี่ 850 MHz ท่ีจะสิ้นสุดลงในอีก 9 วันต่อจากนี้ เพื่ออธิบายว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะอะไรกันแน่ ใครจะได้รับผลกระทบบ้าง แล้วแนวทางดำเนินการต่อจากนี้ของดีแทคจะเป็นไปเช่นไร

 

เกิดอะไรขึ้นกับดีแทคและคลื่นความถี่ 850 MHz

ดีแทคเป็นแบรนด์ผู้ให้บริการสัญญาณมือถือภายใต้การดูแลของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันมี 2 โครงข่ายการให้บริการ ได้แก่

1. โครงข่ายภายใต้ใบอนุญาตของ กสทช. (ผู้รับใบอนุญาตคือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต) – คลื่นย่านความถี่สูง 2300 MHz และ 2100 MHz

2. โครงข่ายภายใต้สัมปทานของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) – คลื่นย่านความถี่สูง 1800 MHz และ 850 MHz *

 

จุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะสัมปทานคลื่นย่านความถี่ต่ำ 850 MHz ของดีแทคจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายนนี้ ซึ่งดีแทคก็รู้ถึงข้อจำกัดในเรื่องนี้ดี

 

ดังนั้นตั้งแต่ปี 2559 ดีแทคจึงได้เสนอ กสทช. ให้มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ ‘ล่วงหน้า’ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตเป็นไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้งานในการตัดสินใจย้ายเครือข่าย

 

แต่ปรากฏว่า ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายนปีนี้ ดีแทคและผู้ให้สัมปทาน กสทฯ จึงได้ยื่นแผนคุ้มครองและเยียวยาผู้บริโภคชั่วคราวต่อ กสทช. ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของ กสทช. ที่ต้องยื่นแผนคุ้มครองก่อนสัมปทานหมดลง 90 วัน โดยในแผนคุ้มครองจะมีรายละเอียดจำนวนผู้ใช้บริการในกลุ่ม 850 MHz ของดีแทคที่เหลือทั้งหมด

 

จนกระทั่งวันที่ 2 กรกฎาคมปีนี้ กสทช. ก็ได้แจ้งจัดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz ขึ้น ก่อนที่อีก 4 วันถัดมา จะระบุในหนังสือชี้ชวนประมูลว่า ผู้ที่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบค่าดำเนินการติดตั้งฟิลเตอร์กรองคลื่นรบกวนด้วยตัวเองแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงการแก้ไขปัญหาคลื่นรบกวนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากโปรเจกต์รถไฟที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และปัญหาคลื่นรบกวนอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง

 

แน่นอนว่ามีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มสูงตามมามหาศาล ดีแทคจึงได้ยื่นหนังสือต่อ กสทช. เพื่อให้ทบทวนเงื่อนไขผู้ชนะการประมูลรับหน้าที่ติดตั้งฟิลเตอร์นี้อีกครั้ง แต่แล้วในที่สุด วันประมูลจริง 18 สิงหาคม ก็ไม่มีผู้ให้บริการรายใดเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz นี้ นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจของดีแทค บอกกับ THE STANDARD ว่าเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลประหลาดใจกันมาก

 

“นี่คือครั้งแรกที่เงื่อนไขนี้ถูกรวมเข้ามาในการประมูลคลื่นความถี่ เราทุกคนประหลาดใจกับเงื่อนไขสำหรับผู้ประมูลนี้มาก แล้วในอนาคตไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นก็ตามกับคลื่นความถี่ 900 MHz นี้ ผู้ชนะการประมูลก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตัวเองทั้งหมด”

 

 

ก่อนการประมูลครั้งแรกจะล้มเหลว ดีแทคได้ยื่นเรื่อง กสทช. ให้พิจารณาทบทวนแผนพิจารณาเยียวยาผู้ใช้บริการตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม ซึ่งตามมติของ กสทช. ได้ระบุไว้ว่า ดีแทคจะได้รับเห็นชอบให้เข้าสู่มาตรการเยียวยาก็ต่อเมื่อเข้าประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz

 

เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz จึงไม่สามารถเข้าประมูล และไม่ได้รับการเยียวยานั่นเอง

 

และตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม จนถึงปัจจุบัน พวกเขาก็ยังไม่ได้รับความชัดเจนจากฝั่ง กสทช. ทำให้ต้องเดินหน้าฟ้องศาลปกครองกลางในวันนี้ ก่อนที่สัมปทานจะหมดลงในวันที่ 15 กันยายน

 

“นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้ทำทุกวิถีทาง เพื่อป้องกันสิทธิของผู้ใช้งานของเรา เพื่อให้ได้รับการบริการที่เหมาะสม ต่อเนื่อง และไม่ขาดตอน จนกระทั่งเมื่อวานนี้ที่เป็นการประชุมของ กสทช. แต่ก็ยังไม่มีมติการเยียวยาที่ชัดเจนออกมา เราจึงตัดสินใจยื่นเรื่องขอรับการคุ้มครองจากศาลปกครอง

 

“การได้รับการเยียวยา เพื่อให้บริการอย่างต่อเนื่อง เป็นประเด็นที่สำคัญต่อการตัดสินใจของเราที่จะเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เพราะการที่เราจะไปประมูลคลื่นความถี่ต่ำนี้มา ก็เพื่อรองรับผู้ใช้งานความถี่ 850 MHz ในปัจจุบัน แต่หากไม่ได้รับการเยียวยา และผู้ใช้งานตัดสินใจย้ายเครือข่าย เราจะไปประมูลคลื่นความถี่นี้มาเพื่ออะไร”

 

จากข้อมูลที่ THE STANDARD ได้รับจากกสทช. พบข้อมูลที่น่าสนใจตามช่วงเวลาดังนี้

 

  • 25 มิถุนายน 2561 : บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มีหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. แจ้งพร้อมเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz 
  • 18 กรกฎาคม 2561 : มติ กสทช. ย้ำว่าผู้ถือสัมปทานความถี่ย่าน 850 MHz และ 1800 MHz ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2561 จะเข้าสู่มาตรการเยียวยาได้ต่อเมื่อยื่นประมูลเพื่อแสดงความประสงค์ใช้งานคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz เท่านั้น
  • 8 สิงหาม 2561  : กสทช. แจ้งว่ามีบริษัทที่เข้ายื่นคำขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 2 บริษัท คือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ไม่มีบริษัทใดยื่นคำขอรับใบอนุญาต 
  • 5 กันยายน 2561 : ที่ประชุม กสทช. พิจารณากรณีบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ขอทบทวนมติแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานความถี่ย่า 850 MHz จนกว่า กสทช. จะจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz หรือ 900 MHz ให้แก่ผู้อนุญาตรายใหม่ โดยจะขอให้สำนักงานรวบรวมรายละเอียดเพิ่มเติมตามเพื่อให้ข้อมูลครบถ้วน มีเวลาศึกษาพิจารณา และกำหนดนัดประชุม กสทช. วาระพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ในวันพุธที่ 12 กันยายน 2561  ก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2561

 

 

คลื่นความถี่ 850 MHz สำคัญอย่างไร ติดขัดปัญหาอะไรกับผู้ใช้งาน

อ้างอิงจากการให้ข้อมูลของดีแทค คลื่นความถี่ 850 MHz จัดเป็นคลื่นความถี่ย่านต่ำที่ครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้าง ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้คือ ผู้ใช้งานที่เดินทางไปต่างจังหวัด อยู่ในพื้นที่ชายขอบ ซึ่งผู้ใช้งานในกรุงเทพฯ อาจจะได้รับผลกระทบน้อย ยกเว้นผู้ใช้งานในตัวอาคารที่หนาทึบ

 

นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค อธิบายว่า ผลกระทบในกรณีที่คลื่นความถี่ 850 MHz ต้องปิดตัวลง ก็จะทำให้ผู้ใช้งานในพื้นที่ต่างจังหวัดบางส่วนไม่มีสัญญาณมือถือใช้งาน รวมถึงการใช้งานระหว่างเดินทางข้ามจังหวัด ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

 

“สิ่งที่เราต้องการในตอนนี้คือ การทำให้โครงข่ายมีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เพิ่มจำนวนเสาสัญญาณ เพื่อขยายโครงข่ายให้กว้างมากขึ้น โดยปีที่แล้วเราตั้งเสาใหม่ประมาณ 4,000 ต้น เช่นเดียวกับปีนี้ที่จะเพิ่มอีก 4,000 ต้น เพื่อลดผลกระทบในกรณีที่ไม่ได้รับการเยียวยาให้ได้มากที่สุด แต่ถึงอย่างไรคลื่นความถี่ต่ำก็ยังคงมีความสำคัญกับผู้ใช้งานนอกพื้นที่อยู่ดี

 

“จากกรณีนี้ผู้ใช้งานในกรุงเทพฯ จะเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นน้อย แต่กับผู้ใช้งานที่เดินทางไปต่างจังหวัด หรือเดินทางไปยังพื้นที่นอกเมืองในส่วนที่ห่างไกล ก็จะเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นชัดเจน”

 

ดีแทคระบุว่า จากกรณีดังกล่าวจะมีผู้ใช้งานดีแทคที่ได้รับผลกระทบในกรณีนี้ทั้งหมด 346,000 ราย แบ่งเป็นผู้ใช้งานจำนวนประมาณ 250,000 รายบนคลื่นความถี่ 1800 MHz และอีกประมาณ 90,000 รายบนคลื่นความถี่ 850 MHz ซึ่งในระหว่างที่รอการพิจารณาของศาล ดีแทคได้วางมาตรการคุ้มครองลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบ โดยจะดำเนินการแจ้งลูกค้าในรายที่ได้รับผลกระทบ

 

ครอบคลุมตั้งแต่การจัดตั้งทีมทำงานขึ้นมาดูแลลูกค้าเป็นพิเศษในช่องทางศูนย์บริการ และคอลเซ็นเตอร์เพิ่มขึ้น 50% ซึ่งลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจะได้รับข้อเสนอฟรีดาต้า (การใช้งานอินเทอร์เน็ต) และโทร.ฟรี ขึ้นอยู่กับการได้รับผลกระทบในการใช้งานของแต่ละคน เพื่อขยายสิทธิพิเศษต่างๆ ให้กับลูกค้าของดีแทค

 

คำถามก็คือ ในเมื่อดีแทครู้อยู่แล้วว่ามีความเสี่ยงสูงที่คลื่นความถี่ 850 MHz อาจจะต้องปิดตัวลง เหตุใดพวกเขาถึงไม่เปลี่ยนซิม หรือการใช้งานของผู้ใช้ ให้ย้ายมาบนคลื่นความถี่สูงด้วยตัวเองไปเลย

 

คำตอบก็คือ ดีแทคระบุว่า ผู้ใช้งานบางรายไม่ได้มีอุปกรณ์ที่รองรับคลื่นความถี่สูงเหมือนกันทุกราย (ระบุว่า ข้อจำกัดนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะมีโปรโมชันให้ผู้ใช้สามารถอัปเกรดอุปกรณ์ที่รองรับคลื่นความถี่สูงได้อยู่แล้ว) แต่ส่วนที่เป็นปัญหาคือ ตามนโยบายของ กสทช. ฝั่งผู้ให้บริการก็ต้องได้รับการ ‘ยินยอม’ จากผู้ใช้งานในการย้ายซิมที่ให้บริการบนคลื่นความถี่ต่ำ 850 MHz มาอยู่บนดีแทคไตรเน็ตด้วย

 

ผู้บริหารดีแทคระบุว่า “การย้ายลูกค้าบนคลื่นความถี่ย่านต่ำจำนวน 90,000 ราย ไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องได้รับการยินยอมจากลูกค้าในการเข้ามาเซ็นแบบฟอร์ม ถ้า กสทช. อนุญาตให้เราสามารถย้ายลูกค้าบนโครงข่ายได้ด้วยตัวเอง 2 วัน เราก็ย้ายลูกค้า 90,000 ราย ได้ครบครับ”

 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เคยวิเคราะห์สาเหตุที่ไม่มีใครประมูลคลื่น 900 MHz โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ

 

1. ราคาคลื่นที่สูงเกินไป เนื่องจากราคาตั้งต้นของการประมูลครั้งนี้กำหนดขึ้นจากราคาชนะประมูลเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยคลื่น 900 MHz นั้น ราคาชนะประมูลครั้งที่ผ่านมาสูงกว่าราคาประเมินคลื่นความถี่ขั้นสูงถึงเกือบสามเท่า และเป็นราคาที่ทำลายสถิติโลก จึงเป็นราคาที่ไม่น่าสนใจเท่าใด หากไม่เข้าตาจน 

 

2. ต้นทุนที่สูงของการติดตั้งระบบกรองสัญญาณวิทยุ การจัดสรรคลื่น 900 MHz ให้กับระบบอาณัติสัญญาณรถไฟความเร็วสูงจากจีนทำให้คลื่นโทรคมนาคมมีปริมาณลดลง และยังเพิ่มปัญหาการรบกวนสัญญาณระหว่างกัน ทำให้มีต้นทุนเพิ่มในการติดตั้งระบบกรองสัญญาณวิทยุ ซึ่งต้องเป็นระบบที่คุณภาพสูงมากสำหรับกรณีที่การรบกวนก่อผลกระทบต่อความปลอดภัยของรถไฟความเร็วสูง ทำให้ต้นทุนสูงมากตามคุณภาพความคมของระบบกรองสัญญาณ

 

ที่ผ่านมาการตัดสินใจของ กสทช. ในการจัดสรรคลื่น 900 MHz ให้กับระบบอาณัติสัญญาณรถไฟเป็นไปตามคำขอของกระทรวงคมนาคม และอยู่บนพื้นฐานว่ารถไฟความเร็วสูงต้องใช้คลื่น 900 MHz เท่านั้น หาก กสทช. ไม่จัดสรรให้เท่ากับจะส่งผลเป็นการระงับโครงการนี้โดยปริยาย แต่จากข้อมูลปัจจุบันทำให้รู้ว่า เรามีทางเลือกมากกว่า 1 ทางในการจัดสรรคลื่นความถี่ให้รถไฟความเร็วสูง

 

การตัดสินใจจัดสรรคลื่น 900 MHz ที่ขาดแคลนเพื่อเทคโนโลยีที่กำลังจะตกยุคอาจเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันหาทางออกโดยเร็ว ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ไม่เช่นนั้น อีกไม่กี่ปีเราก็อาจจะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อเปลี่ยนจากเทคโนโลยีที่จะตกยุค ทั้งที่เพิ่งลงทุนไปได้ไม่นาน

 

 

ดีแทคจะทำอย่างไรต่อจากนี้ เมื่อเส้นตายเหลืออีกแค่ 9 วัน

แม้นายราจีฟจะบอกว่า เขามั่นใจว่าศาลปกครองจะให้ความกรุณาอนุมัติมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด หากดีแทคไม่ได้รับการเห็นชอบให้เยียวยาผู้ใช้งานล่ะ พวกเขาจะต้องทำอย่างไรต่อไป?

 

สำหรับลูกค้าที่ใช้งานบนระบบเติมเงิน ดีแทคอาจจะเลือกวิธีการเยียวยาผู้บริโภคกลุ่มนี้ด้วยการให้สิทธิ์ใช้งานอินเทอร์เน็ตและโทร.ฟรี ส่วนลูกค้าระบบรายเดือนที่ได้รับผลกระทบมากกว่า ก็อาจจะพิจารณาไม่เก็บค่าใช้บริการตามความเสียหายที่ได้รับ

 

แนวทางการเยียวยา

กรณีที่ 1 ลูกค้าที่ใช้ซิมจดทะเบียนกับดีแทคภายใต้สัญญาสัมปทานในนามบริษัทดีแทค > ผลกระทบที่ได้รับ = ใช้งานไม่ได้ > ทางออกและมาตรการคุ้มครอง = เปลี่ยนเป็นซิม DTN

 

กรณีที่ 2 ลูกค้าที่อยู่บางพื้นที่ที่ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้งาน > ผลกระทบที่ได้รับ = ได้รับผลกระทบในการใช้งาน เช็กข้อมูลได้ที่ *777 โทร.ออก (เริ่มใช้งานตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2561) > ทางออกและมาตรการคุ้มครอง = ได้รับข้อเสนอดาต้าและโทร.ฟรี ให้ลูกค้าได้รับประโยชน์จากการใช้งาน ทั้งลูกค้าพรีเพดและโพสต์เพด

 

กรณีที่ 3 ลูกค้าที่ใช้มือถือปุ่มกดหรือฟีเจอร์โฟนที่รองรับคลื่น 1800 MHz ที่จดทะเบียนซิม DTN > ผลกระทบที่ได้รับ = สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องตามปกติ > ทางออกและมาตรการคุ้มครอง = ได้รับข้อเสนอมือถือราคาพิเศษที่รองรับการใช้งานคลื่นดีแทคเทอร์โบ

 

นายราจีฟให้ข้อมูลทิ้งท้ายกับ THE STANDARD ว่าหากดีแทคได้รับการเยียวยาตามระยะเวลาที่กำหนด (โดยปกติการยืดระยะเวลาเยียวยาจะอยู่ที่ 1 ปี) แต่ไม่สามารถตกลงเงื่อนไขการประมูลคลื่น 900 MHz กับทาง กสทช. ให้ลงตัวได้ ดีแทคก็ยังมีเวลามากพอที่จะดูแลการเปลี่ยนถ่ายลูกค้าจากคลื่นความถี่ต่ำ 2G ไปอีกคลื่นความถี่

 

“เราต้องการเวลามากกว่านี้ เพื่อสร้างโครงข่ายเพิ่มเติม เพื่อรองรับลูกค้าของเรา ถ้าการประมูลเกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างเหมาะสม และเราทราบว่าตัวเองจะชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ช่วงเวลา 2 ปี น่าจะเหมาะสมและเพียงพอสำหรับการเยียวยา และการดำเนินการต่างๆ เพื่อผู้บริโภค

 

“แต่หากไม่มีการประมูลเกิดขึ้น ปัจจุบันตามกฎของ กสทช. จะอนุญาตให้ผู้ให้บริการขยายระยะเวลาเยียวยาได้สูงสุดที่ 1 ปี แน่นอนว่าถ้าเราไม่ได้ประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz นี้ เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับการขยายเวลาเยียวยาผู้บริโภคมากกว่า 1 ปี

 

“หากเราไม่ได้รับการเยียวยา จนผู้ใช้งานบางรายเปลี่ยนไปใช้งานกับผู้ให้บริการรายอื่น เราก็จำเป็นต้องสู้ โดยการพัฒนาโครงข่ายบนคลื่นย่านความถี่สูงที่เรามีให้ดีขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้งานทุกรายยังใช้งานได้อย่างราบรื่นและไร้ปัญหาในเรื่องของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง”

 

ปัจจุบันดีแทคเป็นผู้ให้บริการที่ครองคลื่นความถี่สูงสุดที่ 2300 MHz เหนือผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ แต่ปัญหาที่ราจีฟบอกคือ การไม่มีคลื่นย่านความถี่ต่ำอย่าง 850 MHz หรือ 900 MHz จะทำให้การบริการไม่ครอบคลุมการใช้งานในระหว่างขับรถข้ามจังหวัด ไปจนถึงการใช้งานพื้นที่ในต่างจังหวัดบางส่วนนั่นเอง

 

ต้องตามดูกันยาวๆ ว่าบทสรุปของปัญหาในครั้งนี้จะดำเนินไปเช่นไร เพราะไม่ว่า กสทช. หรือดีแทค ฝั่งใดจะเตะถ่วงรอเวลาใคร ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือตัวผู้บริโภคนั่นเอง

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising