×

พูดอะไรสนใจความรู้สึกคนฟังด้วย! ‘เสียง’ กำหนดอารมณ์คนฟังได้ขนาดไหน

30.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins Read
  • เสียงร้องของนกเป็นตัวแทนความสงบ ความปลอดภัย ความสบายใจ เมื่อไรก็ตามที่เราได้ยินเสียงนกร้อง นั่นคือสัญญาณของวันใหม่ สัญญาณของภัยพิบัติที่ได้จบลงแล้ว
  • ‘The Soundbath Center’ ก่อตั้งโดย Jamie Ford ที่รวมคนแปลกหน้ากว่า 10 คนมานอนเรียงกันบนพื้น ในขณะที่เจมี่ตีฆ้องเพื่อให้เกิดเสียงและแรงสั่นสะเทือนไปทั่วห้องตลอดระยะเวลา 30 นาที โดยส่วนใหญ่กลุ่มผู้มาใช้บริการคือคนที่มีปัญหาความกังวล ความเครียด และโรคซึมเศร้า
  • คลื่นเสียงช่วยสร้างสารสื่อประสาท และฮอร์โมนที่มีชื่อว่า ‘เซโรโทนิน หรือ ซีโรโทนิน (Serotonin)’ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับสมอง อารมณ์ ไปจนถึงระบบทางเดินอาหาร การขาดเซโรโทนินจึงเป็นปัจจัยหนึ่งของการเป็นโรคซึมเศร้า
  • The Happy Song’ เป็นเพลงที่อาศัยพ่อแม่กว่า 1,000 คู่ นักจิตวิทยาจาก Goldsmiths และนักดนตรีรางวัล Grammy Award มาช่วยสร้างสรรค์ให้เพลงนี้เป็นเพลงที่ฟังแล้วสามารถสร้างรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะได้มากที่สุด

     มีเหตุผลชัดเจนที่ทำไม ‘เสียง’ จึงเป็นส่วนสำคัญเหลือเกินในวงการภาพยนตร์และโทรทัศน์ อย่างเพลงประกอบของซีนห้องน้ำในหนัง Psycho หรือเพลงประกอบภาพยนตร์ Jaws ที่กลายเป็นตำนานไปเรียบร้อย ที่เป็นเช่นนี้เพราะประสาทรับรู้ด้านเสียงของมนุษย์ทำงานตลอดเวลา ทำให้เราถูกกระตุ้น ถูกดึงความสนใจผ่าน ‘เสียง’ ทำให้ทุกเสียงที่เราได้ยินจึงเป็นตัวกำหนดอารมณ์ความรู้สึก และเปลี่ยนแปลงปฏิกิริยาของเราต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้

     เสียดายที่การอ่านบทความนี้ไม่สามารถแทรกเสียงเข้าไปได้อย่างอัติโนมัติ ไม่เช่นนั้นการเปิดบทความด้วยเสียงปรบมือ อาจเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นที่ทำให้ผู้อ่านตื่นตัวและพร้อมรับข้อมูลมากขึ้น อย่างใน TED Talks ที่ใช้ชื่อตอนว่า The 4 ways sound affects us โดย Julian Treasure เขายกตัวอย่าง 4 ช่องทางที่เสียงส่งผลต่อมนุษย์ แน่นอนว่าอารมณ์เป็นหนึ่งในนั้น แต่นอกจากนั้นก็ยังมีส่วนทางด้านร่างกาย เช่น การได้ยินเสียงไซเรนเตือนภัย ทำให้หัวใจของคนเราเต้นเร็วขึ้นทันที, ทางด้านประสาทการรับรู้ เช่น การทำงานในที่ที่มีเสียงดังรบกวนตลอดเวลา ประสิทธิภาพในการทำงานของเราจะลดต่ำลงถึง 66% และสุดท้ายคือทางพฤติกรรม นี่คือเหตุผลว่าทำไมในร้านเสื้อผ้าถึงต้องเปิดเพลงจังหวะสนุกๆ บิลด์อารมณ์ลูกค้าตลอดเวลา

 

*chirp chirp*

     เสียงดูจะมีอิทธิพลต่ออารมณ์มนุษย์เรามากที่สุด จูเลียน ยกตัวอย่างเสียงนกร้องที่เป็นตัวแทนความสงบ ความปลอดภัย ความสบายใจ เมื่อไรก็ตามที่เราได้ยินเสียงนกร้อง นั่นคือสัญญาณของวันใหม่ สัญญาณของภัยพิบัติที่ได้จบลงแล้ว

     การที่เสียงส่งผลต่ออารมณ์ได้เป็นเพราะภายในหูมีตัวกลไกที่รับแรงสั่นสะเทือนของเสียงที่เราได้ยิน และส่งสัญญาณไปยังเซลล์ประสาทต่างๆ ซึ่งเซลล์ประสาทก็จะสร้างประสบการณ์ในจิตใต้สำนึก นั่นหมายความว่า เสียงที่เราได้ยินสร้างการสั่นสะเทือนที่ต่างกัน ทั้งยังส่งผลต่อเซลล์ประสาทตัวที่ต่างกัน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงของเสียง เข้ากับอารมณ์ ความคิด และประสบการณ์ที่ผ่านมาในเรื่องต่างๆ ที่ต่างกันไปด้วย

     โดยมนุษย์เราก็จะมีเซตการรับรู้ที่เชื่อมโยงเสียงกับอารมณ์คล้ายๆ กันอยู่ เช่นเสียงฝนสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย เสียงของพลุสร้างความรู้สึกที่นึกย้อนไปถึงอดีต หรือความทรงจำที่ดี เสียงสั่นของมือถือที่มักสร้างความรู้สึกรำคาญ แต่บางเสียงก็อาจสร้างความรู้สึกที่ต่างกันไปขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ต่างกันของคนฟังด้วย เช่นเสียงฟ้าร้อง ที่บางคนอาจรู้สึกกังวล ในขณะที่บางคนจะรู้สึกผ่อนคลาย

 

Voice-Controlled Emotions

     แม้แต่เสียงพูดของเราเอง ก็ส่งผลต่อความรู้สึกด้วยเช่นกัน

     การศึกษาจาก Lund University ในปี 2016 ผลการทดลองอัดเสียงพูดของผู้เข้าร่วมวิจัย และปรับเสียงพูดที่อัดไว้ให้ฟังดูมีความสุขมากขึ้น เศร้ามากขึ้น และกลัวมากขึ้น เมื่อผู้เข้าร่วมวิจัยกลับมาฟังเสียงตัวเองใหม่อีกครั้ง พวกเขาเข้าใจว่ากำลังฟังเสียงพูดปกติของตน โดยไม่รู้เลยว่าเสียงนั้นมีการดัดแปลง แต่ปรากฏว่าสภาวะทางอารมณ์ของพวกเขากลับเปลี่ยนไปตามเสียงที่ได้ยิน ซึ่งผู้ทำวิจัยสรุปได้ว่า 1) คนเราไม่สามารถกำหนดเสียงพูดของตัวเองได้ตามที่ใจคิด 2) แม้แต่เสียงพูด ก็สามารถควบคุมอารมณ์ของผู้ฟังได้ โดยการปรับเสียงพูดนั้นใช้ผ่านอัลกอริทึมดิจิทัลออดิโอที่สามารถปรับส่วนประกอบของเสียงได้อย่างละเอียด เช่น การปรับเสียงให้ดูมีความสุขขึ้น ก็จะถูกปรับระดับเสียง และการขึ้นลงของเสียง เป็นต้น

     Jean-Julien Aucouturier กล่าวว่า การควบคุมอารมณ์ของมนุษย์จากเสียงพูดยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย แต่มีการทดลองใช้ในเสียงที่อัดไว้เท่านั้น และเขากำลังลองสร้างเครื่องมือในการปรับเสียงพูดลงในเว็บไซต์ เพื่อให้คนสามารถดาวน์โหลดและไปทดลองใช้กำหนดอารมณ์คนฟังได้เอง

 

บำบัดน้ำเสียง

     Quartz Media นำเสนอบริการการบำบัดด้วยเสียงที่ใช้ชื่อว่า ‘Sound Space’ ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ‘The Soundbath Center’ ก่อตั้งโดย Jamie Ford ที่รวมคนแปลกหน้ากว่า 10 คนมานอนเรียงกันบนพื้น ในขณะที่เจมี่ตีฆ้องเพื่อให้เกิดเสียงและแรงสั่นสะเทือนไปทั่วห้องตลอดระยะเวลา 30 นาที โดยส่วนใหญ่กลุ่มผู้มาใช้บริการคือคนที่มีปัญหาความกังวล ความเครียด และโรคซึมเศร้า

     ศาสตร์ของการบำบัดด้วยเสียงถือเป็นเรื่องที่วงการวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจ ทั้งยังมีศาสตร์เฉพาะทางที่ศึกษาการรับรู้ด้วยเสียง ใช้ชื่อว่า ‘Psychoacoustics’ โดยมีนักวิจัยจำนวนมากที่พยายามใช้ศาสตร์ดังกล่าวในการบำบัด มีการอ้างอิงจากผลการศึกษาของ Dr. Gerald Oster ที่ระบุว่าคลื่นเสียงสร้างสารสื่อประสาทและฮอร์โมนที่มีชื่อว่า ‘เซโรโทนิน หรือ ซีโรโทนิน (Serotonin)’ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับสมอง อารมณ์ ไปจนถึงระบบทางเดินอาหาร การขาดเซโรโทนินจึงเป็นปัจจัยหนึ่งของการเป็นโรคซึมเศร้า  

     นอกจากนี้ เสียงยังส่งผลกระทบโดยตรงกับ ‘คลื่นประสาท’ และหากคลื่นประสาททำงานในสถานะที่เรียกว่า Alpha State ซึ่งมีความถี่ 8-14 Hz ก็จะสามารถสร้างเซโรโทนินได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นหากคุณกำลังวิตกกังวล หรือเครียดเรื่องงาน ให้ลองหันมาฟังเสียงที่มีคลื่นความถี่อยู่ที่ 8-14 Hz อย่างเพลงคลาสสิก ก็จะช่วยให้คุณผ่อนคลายขึ้นได้

 

https://www.youtube.com/watch?v=7cHjaJRl1Qo

ตัวอย่างเสียงที่มีคลื่นความถี่แบบ Alpha

 

Photo: media.tumblr.com

 

     เสียงที่มาในรูปแบบของเพลงก็เช่นเดียวกัน แน่นอนว่าเพลงที่ฟังแล้วทำให้เราผ่อนคลายหรือมีความสุขขึ้น มักจะต้องเป็นเพลงที่มีจังหวะสนุกสนานเหมือนกับเพลงที่มีชื่อว่า ‘The Happy Song’ เพลงเพลงนี้ไม่ใช่แค่เพลงทั่วไปที่จังหวะสนุก แต่เป็นเพลงที่อาศัยพ่อแม่กว่า 1,000 คู่ นักจิตวิทยาจาก Goldsmiths และนักดนตรีรางวัล Grammy Award มาช่วยสร้างสรรค์ให้เพลงนี้ฟังแล้วสร้างรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะได้มากที่สุด พวกเขาทดสอบกับเด็กที่มีอายุ 6-24 เดือน จำนวนกว่า 56 คน ปรับแล้วปรับอีกจนกระทั่งได้ส่วนผสมของเสียงที่สร้างความน่าสนใจ เครื่องดนตรี และเนื้อเพลงที่ร้องตามได้ จนเกิดเป็น ‘The Happy Song’ ในที่สุด เราสามารถดาวน์โหลดมาให้ลูกหลานของเราลองฟังได้ทั้งทาง YouTube และ Spotify

 

https://www.youtube.com/watch?v=XjpraGVs2Sg

 

     แต่สำหรับผู้ใหญ่แล้วเสียงเพลงที่จะช่วยให้อารมณ์ดีได้ ก็มีปัจจัยอยู่ด้วยกันหลายอย่าง เช่น เพลงที่มีจังหวะเร็ว (อย่างเพลง Mr. Brightside ของ The Killers, Locked Out of Heaven ของ Bruno Mars, Billie Jean ของ Michael Jackson, และ Pump It ของ The Black Eyed Peas), เพลงที่แต่งด้วยคีย์เมเจอร์เป็นหลัก (Let’s Stay Together ของ Al Green, Uptown Girl ของ Billy Joel, Born This Way ของ Lady Gaga, The Lazy Song ของ Bruno Mars, และ You Can’t Hurry Love ของ The Supremes) และปัจจัยสุดท้ายคือเนื้อเพลง เพลงที่มีเนื้อหาที่ดี ให้กำลังใจ ย่อมทำให้คนฟังแฮปปี้ตามไปด้วย

 

The Happiest Song in the World!

     อ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนคงอยากรู้ว่า เพลงไหนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเพลงที่แฮปปี้ที่สุดในโลกกันแน่ นักประสาทวิทยาชาวดัตช์ Dr. Jacob Jolij ได้ทำการศึกษาเพลงกว่า 126 เพลง ยาวนานถึง 50 ปี เพื่อหาสูตรสำเร็จของเพลงที่จะทำให้คนฟังมีความสุข ซึ่งอันดับหนึ่งก็ตกเป็นของเพลง Don’t Stop Me Now ของวงดนตรีระดับตำนานอย่าง Queen! นอกจากนี้ยังมีเพลย์ลิสต์ที่รวมเพลงติดอันดับคัดเลือกโดย Dr. Jacob Jolij มาให้ฟังผ่าน Spotify อีกด้วย

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X