×

เธอๆ เธอเงินเดือนเท่าไร เราบอกเรื่องเงินเดือนให้เพื่อนรู้ได้ไหม

04.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ทำไมคนเราถึงต้องมาหาคำตอบเรื่องเงินเดือนจากเพื่อน ก็เพราะว่าเราอาจจะไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากบริษัท เราอาจจะไม่รู้ว่าเราจะเติบโตไปได้มากน้อยแค่ไหน และสิ่งที่เราได้อยู่นี้เทียบกันในตลาดแล้วเราไม่ได้กำลังถูกเอาเปรียบ
  • ถ้าผลงานของเราดี เราก็ควรได้รับการตอบแทนที่คุ้มค่า แน่นอนว่าถ้าเราทำผลงานได้ดี มีความจงรักภักดีต่อองค์กร แต่บริษัทให้ผลตอบแทนที่ไม่ยุติธรรมกับเรา นั่นก็ไม่ใช่บริษัทที่ให้คุณค่ากับเรา

Q: เห็นน้องๆ รุ่นใหม่เดี๋ยวนี้คุยเรื่องเงินเดือนกันอย่างเปิดเผย เอาสลิปเงินเดือนมาวางแบเปรียบเทียบกันเลยว่าใครได้มากน้อยเท่าไร รู้สึกแปลกๆ เหมือนกันเพราะเงินเดือนน่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคนที่ไม่น่าให้ใครรู้แต่ดูเหมือนน้องๆ รุ่นใหม่จะไม่ได้รู้สึกแบบนั้น เงินเดือนมันยังควรเป็นความลับอยู่ไหมครับ และการเปิดเผยเงินเดือนมันทำให้เกิดผลเสียอย่างไรครับ

 

A: ตอนแรกผมก็ไม่นึกว่าเรื่องแบบนี้จะเป็นกันเยอะจนกระทั่งลองถามคนรอบตัว ทั้งคนทำงานและ HR ปรากฏว่าหลายคนบอกตรงกันว่า น้องๆ รุ่นใหม่โดยเฉพาะที่เพิ่งเรียนจบมาเดี๋ยวนี้เปิดเผยเงินเดือนกันในกลุ่มเพื่อน เรื่องการเอาสลิปเงินเดือนมาให้ดูเป็นเรื่องธรรมดามาก สิ่งที่ตามมาก็คือ น้องๆ มีคำถามว่า ทำไมเงินเดือนหนูได้เท่านี้เอง หรือทำไมเงินเดือนหนูได้ไม่เท่าคนอื่น น้องๆ หลายคนก็มาระบายให้ผมฟังเหมือนกันครับ

 

โดยส่วนตัวต่อให้คุยกับเพื่อน ผมก็ไม่ชอบคุยเรื่องเงินเท่าไร ผมว่าเรามีอะไรคุยกันได้อีกเยอะ ปรับทุกข์กันเรื่องงานนี่เป็นเรื่องธรรมดามาก แต่มาบอกเงินเดือนกัน ผมว่าผมเขินๆ

 

ระหว่างถามเพื่อนว่าเงินเดือนเท่าไรกัน ผมอยากถามเขามากกว่าว่าเหนื่อยไหม ทำงานมาเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรอยากเล่าให้ฟังไหม

 

มองในแง่ดี ก็ถือว่าน้องๆ ตื่นตัวที่จะรู้ความเป็นไปในหน้าที่การงานตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ๆ ถือว่าเป็นการหาข้อมูลแบบหนึ่ง อาจจะช่วยในการวางแผนเส้นทางการเติบโตของน้องไปด้วยก็ได้ และน้องๆ ที่เพิ่งทำงานใหม่ก็อาจจะตื่นเต้น มันคือโลกใหม่ของน้อง เขาไปเจออะไรกันมาบ้างในการทำงานก็มาแลกเปลี่ยนกันเป็นธรรมดา นี่ผมมองโลกแบบแง่ดีมากแล้วนะ

 

เอาจริงๆ บางทีคนที่โตแล้วเวลามาเจอเพื่อนก็ยังคุยเรื่องงานเลย เรียกว่าบ่นให้ฟังน่าจะถูกกว่า บางทีบทสนทนามันก็ไหลไปถึงเรื่องผลตอบแทน ต่อให้ไม่ถึงกับแบสลิปเงินเดือนแลกกันดู แต่เรื่องความก้าวหน้าในอาชีพก็เป็นประเด็นที่คนคุยกันอยู่เสมอ มันอยู่ในใจของคนวัยทำงานอยู่แล้วล่ะครับ เพราะทุกคนก็อยากเติบโต ทุกคนอยากรู้ว่าเราจะโตไปไหน และลึกๆ แล้วเราก็ไม่อยากน้อยหน้าคนอื่น – อันนี้คือความจริง

 

สำหรับน้องๆ จบใหม่ หรือเพิ่งทำงานไม่กี่ปีแล้วรู้สึกไม่สบายใจเรื่องเงินเดือน พี่อยากบอกว่าช่วงทำงานใหม่ๆ นี่อย่าเพิ่งคิดเรื่องเงินเดือนเป็นหลัก เอาเรื่องประสบการณ์ก่อน ในวันนี้น้องอาจจะรู้สึกว่าเงินเดือนน้อยจังเลย หรือใดๆ ก็ตาม แต่เงินเดือนที่น้องได้นี้จะไม่ได้เป็นตัวเลขนี้ตลอด ถ้าน้องมีฝีมือ วันหนึ่งเงินจะตามมาเอง ตอนนี้คิดอย่างเดียวก่อนเลยว่า ทำอย่างไรให้เราเก่งขึ้น ทำอย่างไรเราจะเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์มาได้มากที่สุดก่อน และพยายามบริหารชีวิตเท่าที่รายได้เราได้รับมาครับ จะได้เท่าไรก็น่าภูมิใจนะในตอนนี้

 

ผมคิดว่าสิ่งที่น่าตั้งคำถามว่า ทำไมคนเราถึงต้องมาหาคำตอบเรื่องเงินเดือนจากเพื่อนก็เพราะว่า เราอาจจะไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากบริษัท เราอาจจะไม่รู้ว่าเราจะเติบโตไปได้มากน้อยแค่ไหน และสิ่งที่เราได้อยู่นี้เทียบกันในตลาดแล้วเราไม่ได้กำลังถูกบริษัทเอาเปรียบ สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนออกมาเลยนะครับว่าบริษัทไม่ได้ทำให้เราไว้วางใจหรือรู้สึกสบายใจได้ในเรื่องเงินเดือน เราเลยต้องออกมาหาคำตอบข้างนอกเอาเอง

 

ปัญหาก็คือพอมาหาคำตอบจากภายนอก มันก็อาจจะได้คำตอบที่ไม่ถูกต้องหรือเอามาเทียบกันไม่ได้เพราะเป็นคนละบริบทกัน แล้วเราก็จะกลับมาพร้อมกับคำตอบที่ผิดๆ

เรื่องความก้าวหน้าในอาชีพก็เป็นประเด็นที่คนคุยกันอยู่เสมอ มันอยู่ในใจของคนวัยทำงานอยู่แล้วล่ะครับ เพราะทุกคนก็อยากเติบโต ทุกคนอยากรู้ว่าเราจะโตไปไหน และลึกๆ แล้วเราก็ไม่อยากน้อยหน้าคนอื่น – อันนี้คือความจริง

ตรงนี้ผมอยากฝากบริษัทหลายๆ ที่ว่า ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับพนักงานแต่ละคนด้วยครับ ถ้าเขาได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ถ้าเขาได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมตั้งแต่ต้น ถ้าบริษัทกับพนักงานสื่อสารกันด้วยดีมาตลอด เขาไม่จำเป็นต้องไปหาคำตอบจากคนอื่นเลย เขาควรจะได้คำตอบที่เขาสงสัยในบริษัทจากบริษัทโดยตรง ไม่ใช่ไปควานหาคำตอบจากคนอื่น

 

เงินเดือนแต่ละคนไม่มีวันเท่ากันได้ครับ บริษัทจะประเมินจากหลายปัจจัย แน่นอนว่าความสามารถก็เรื่องหนึ่ง แต่บริษัทยังมองไปถึงต้นทุนที่ติดมากับตัวเรา เช่น เรียนอะไรมา ความสามารถพิเศษเพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์กับงานที่ทำ ประสบการณ์ ความเป็นไปได้ที่เราจะอยู่กับบริษัทนานแค่ไหน ความต้องการให้เราอยู่ในบริษัทมากน้อยแค่ไหน ฯลฯ มันทำให้เงินเดือนแต่ละคน ต่อให้อยู่บนตำแหน่งงานเดียวกัน ก็อาจจะได้เงินเดือนไม่เท่ากัน

 

เรื่องเงินเดือนนี่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมากครับ เอาเงินเดือนแต่ละคนมาเทียบกันไม่ได้เพราะบริบทต่างกัน อุตสาหกรรมต่างกัน เงินเดือนก็ไม่เท่ากัน ตำแหน่งเดียวกัน แต่ผลงานต่างกันหรือประสบการณ์ต่างกัน เงินเดือนก็ไม่เท่ากันแล้ว มันไม่มีอะไรเท่ากันเป๊ะๆ หรอกครับ

 

มองดูเผินๆ มันดูไม่ยุติธรรมใช่ไหมครับ แต่ลองคิดกลับกัน ถ้าเงินเดือนเท่ากันเป๊ะหมด ต้นทุนและประสบการณ์มากน้อยที่ติดตัวเรามาจะมีค่าอะไร เพราะมีมากหรือมีน้อยก็ได้ผลตอบแทนเท่ากัน

 

ผมให้หลักไว้แบบนี้ดีกว่าว่า เงินเดือนที่บริษัทมอบให้แต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน แต่บริษัทที่ดีจะรู้ว่าควรจะรักษาพนักงานแบบไหนไว้ นั่นแปลว่าถ้าเงินเดือนตั้งต้นเราอาจจะไม่ได้อู้ฟู่เท่าคนอื่น แต่ถ้าผลงานของเราดี เราก็ควรได้รับการตอบแทนที่คุ้มค่า แน่นอนว่าถ้าเราทำผลงานได้ดี มีความจงรักภักดีต่อองค์กร แต่บริษัทให้ผลตอบแทนที่ไม่ยุติธรรมกับเรา นั่นก็ไม่ใช่บริษัทที่ให้คุณค่ากับเราแล้วล่ะครับ

 

การรู้ความจริงบางอย่างนี่ไม่ใช่แค่เป็นการรับรู้ข้อมูลไว้ประดับความรู้เฉยๆ แต่บางครั้งไปไกลถึงการทำให้ตาสว่างเลยก็มีเหมือนกัน และวันที่เขาตาสว่างว่าบริษัทเอาเปรียบเขา อย่าคิดว่าเขาจะกลับมามองบริษัทด้วยความรู้สึกดีอีก เขาเจ็บและจำนะครับ

 

ทีนี้เราควรคุยกันเรื่องเงินเดือนกับเพื่อนๆ ไหม ผมคิดว่าประเด็นจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ควรรู้หรือไม่ควรรู้ ควรคุยหรือไม่ควรคุย เพราะเรื่องแบบนี้แต่ละคนก็มีจุดประสงค์ต่างกัน แต่ประเด็นน่าจะเป็นเรื่องที่ว่า รู้แล้วยังไงต่อ หรือไม่รู้แล้วจะยังไงต่อ

 

รู้ว่าเงินเดือนเรามากกว่าคนอื่นก็คงไม่เจ็บอะไร แต่ถ้ารู้ว่าเงินเดือนเราน้อยกว่าคนอื่นนี่สิ

 

ถ้าอยากรู้ว่าเงินเดือนในอุตสาหกรรมที่เราทำอยู่น่าจะอยู่ในเรนจ์ประมาณเท่าไร พวกเฮดฮันเตอร์น่าจะมีข้อมูลอยู่ เอาไว้หาข้อมูลประกอบได้ หรือจริงๆ ถ้าคุยกับ HR ของบริษัทได้ก็เป็นเรื่องดีครับ แต่คุยในมุมของการเติบโตนะครับ ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไรว่าบริษัทจะบอกเราได้ตรงๆ เลยหรือเปล่า แต่เราอาจจะถามได้ว่า ถ้าเราจะได้รับการโปรโมต เราต้องทำอะไรเพิ่มเติมบ้าง มีโอกาสที่เราจะเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน และในแง่แพ็กเกจแล้วมันจะโตไปมากกว่านี้เท่าไร เพราะเรามีเป้าหมายที่จะเติบโตที่นี่ ผมคิดว่าถ้าบอกในมุมนี้เราน่าจะคุยกันได้

 

ผมคิดว่าถ้าเราดูกันแค่ตัวเลขในสลิปเงินเดือนอย่างเดียวมันเทียบอะไรกันไม่ได้หรอกครับ ต่างคนต่างบริบท เงินเดือนเราจะมากหรือน้อยบางทีมันอยู่ที่ว่าเราเอาไปเปรียบเทียบกับอะไร สิ่งที่เราควรเปรียบเทียบไม่ควรเป็นคนอื่น แต่น่าจะดูว่าบนเส้นทางที่เราอยู่นี้ เราเติบโตได้มากแค่ไหน แล้วเดี๋ยวเงินจะตามมาเอง จุดเริ่มต้นแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน ไม่ได้แปลว่าเราได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่ให้มองว่าจากจุดเริ่มต้นนี้ ถ้าเราตั้งใจทำงาน เรามีผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้ว เราจะเติบโตไปได้มากแค่ไหน

 

หรือถ้ารู้เงินเดือนแล้วรู้สึกว่า เออว่ะ เราได้น้อยไปจริงๆ กลับมาตั้งคำถามก่อนครับว่า เราคิดว่าเราทำงานได้คุ้มกับที่เขาให้เงินเดือนเราหรือเปล่า เรามีผลงานอะไรไหม ถ้าดูแล้วอย่างไม่เข้าข้างตัวเองว่าเราน่าจะได้มากกว่านี้ ก็ต้องคุยกับบริษัทครับ ผมคิดว่าถ้าเรามีหลักฐานว่าเรามีผลงานที่ดี อย่างน้อยเราก็ไม่มีอะไรเสียหายที่จะคุย คุยแล้วเป็นอย่างไรอันนี้อีกเรื่อง อย่างน้อยเราได้รู้และมีทางเลือกในชีวิต ไปจนถึงรู้ว่าเราต้องพัฒนาอะไรอีกบ้าง อันนี้ผมว่าสำคัญมากนะครับ

 

เรื่องเงินเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลจริงๆ บางคนอาจจะพอใจในสิ่งที่มีอยู่ และบางคนอาจจะไม่พอใจ เป็นไปได้หมด

 

นอกจากเสียงของผมแล้ว ผมมีความเห็นจากพี่บี จากเพจ HR The Next Gen มาให้คำตอบด้วยครับ

 

เงินเดือนจะเป็นความลับก็ต่อเมื่อนโยบายบริษัทบอกว่าเป็นความลับครับ เพราะบางตำแหน่งงานเป็นความลับไปก็ไม่มีประโยชน์ เปิดเผยไปเลยอาจจะดีกับธุรกิจมากกว่า ให้พนักงานแข่งขันกันไปเลย แต่ก็ต้องมีเงื่อนไขว่า ตัววัดหรือกติกาในการแข่งขันเพื่อให้ได้มากกว่าก็ต้องชัดเจนด้วย

 

ทีนี้ถ้าบริษัทมีกฎที่ชัดเจนว่า การเปิดเผยเงินเดือนเป็นเรื่องผิด การเอาสลิปมาเปิดแบ่งกันดูก็แปลว่าผิด แต่บริษัทจะถือเป็นความผิดก็ต่อเมื่อพนักงานทำให้มันเป็นเรื่อง เกิดการแตกแยก ส่งผลกระทบต่องาน คือถ้าแลกกันดู แซวกัน ปรับทุกข์กัน แล้วแยกย้าย บริษัทก็คงไม่เสียเวลาเอาโทษอะไร

 

แต่ถ้าพอเห็นเงินเดือนคนอื่นแล้วโวยวาย บริษัทอธิบายถึงเหตุผลแล้วก็ยังไม่รับฟัง การกำหนดเงินเดือนในหลายๆ ตำแหน่งมีปัจจัยหลายๆ อย่างและไม่ใช่ทุกปัจจัยที่บริษัทจำเป็นจะต้องอธิบายให้กับพนักงาน เพราะการตั้งเงินเดือนเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัท และกลยุทธ์ส่วนใหญ่มักจะเป็นความลับ

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหา บริษัทเองก็จะต้องตั้งค่าตอบแทนให้อย่างยุติธรรมด้วย ดูทั้ง External คือคู่แข่งในตลาดจ่ายไปถึงไหนแล้ว แล้วก็ดู Internal ด้วย ไม่ให้คนในตำแหน่งใกล้ๆ กัน เงินเดือนห่างกันอย่างไม่มีเหตุผล

 

แค่นี้ก็ควบคุมดราม่าได้ระดับหนึ่งแล้วครับ

 

* ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X