×

กระแสทวนกลับของโลกาภิวัตน์และอนาคตของห่วงโซ่มูลค่าโลก

02.05.2021
  • LOADING...
กระแสทวนกลับของโลกาภิวัตน์และอนาคตของห่วงโซ่มูลค่าโลก

HIGHLIGHTS

  • โลกาภิวัตน์มักถูกวัดด้วย Trade/GDP Ratio จากสถิติพบว่า สัดส่วนของการค้าโลกต่อ GDP เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าในช่วงปี 1970-2018 โดย 80% เพิ่มขึ้นมากในช่วงปี 1986-2008 ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกช่วงนี้ว่า Hyperglobalization
  • แต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 สัดส่วนนี้ลดลงอย่างมีนัย คำถามคือ เราสามารถพูดได้ไหมว่าโลกอยู่ในยุค Deglobalization เพียงเพราะ Trade to GDP Ratio ลดลง
  • นักเศรษฐศาสตร์แห่ง Harvard University อธิบายว่า แม้ Trade to GDP ลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้เป็นช่วง Hyperglobalization ดังนั้นตามทฤษฎี เศรษฐกิจโลกน่าจะเข้าสู่จุดที่เรียกว่า Balanced Growth Path
  • อาจมีคำถามว่า แล้วอนาคตของโลกาภิวัตน์จะเป็นอย่างไร? ซึ่งต้องไปดูว่า ช่วง Hyperglobalization มันมีปัจจัยบวกอะไรบ้าง โดยนักเศรษฐศาสตร์แห่ง Harvard University ระบุว่า มี 3 ปัจจัย 1. การปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 2. การลดลงของต้นทุนด้านการค้าระหว่างประเทศ และ 3. พัฒนาการทางการเมือง 
  • แม้ ‘โลกาภิวัตน์’ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แต่วิธีแก้ปัญหาไม่ใช่การทวนกระแสโลกาภิวัตน์หรือกลับไปปิดประเทศ เช่น สมัยหลังสงครามโลก เพียงแต่ต้องปฏิรูประบบภาษีให้ก้าวหน้ามากขึ้น เพื่อให้ประโยชน์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศขยายไปยังคนส่วนมากของสังคม

หนึ่งใน ‘คำ’ ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาคือ ‘โลกาภิวัตน์’ (Globalization) ความนิยมและแพร่หลายของคำนี้สะท้อนได้จากแนวโน้มของคำว่า Globalization จาก Google Ngram Viewer โดยเฉพาะหลังจากปี 1980

 

ความหมายของโลกาภิวัตน์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การค้าขายระหว่างกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการอพยพย้ายถิ่นของคน แต่หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2008 กระแสของโลกาภิวัตน์ก็เหมือนจะชะลอตัวลง จนทำให้เกิดคำว่า Deglobalization (การทวนกลับของโลกาภิวัตน์) ซึ่งหมายถึงการค้าระหว่างประเทศที่ลดลง การลงทุนข้ามชาติที่ลดลง รวมไปถึงการย้ายถิ่นฐานของประชากรลดน้อยลง บทความนี้จะพาไปสำรวจว่า Deglobalization เกิดขึ้นจริงหรือไม่ และอนาคตของโลกาภิวัตน์จะรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

 

เริ่มกันที่การค้าระหว่างประเทศ โดยทั่วไปแล้วระดับของ ‘โลกาภิวัตน์’ มักจะถูกวัดด้วยตัวชี้วัดที่มีชื่อว่า Trade/GDP Ratio หรือสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ถ้าไปดูสถิติจะพบว่า สัดส่วนของการค้าโลก (World Trade) ต่อ GDP ของโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า ระหว่างปี 1970-2018 ถ้าดูให้ละเอียดกว่านั้นจะพบว่า 80% ของการเพิ่มขึ้นนี้เกิดขึ้นระหว่างปี 1986-2008 ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกช่วงเวลานี้ว่า Hyperglobalization (กระแสโลกาภิวัตน์แบบสุดโต่ง) หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 สัดส่วนนี้ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และได้ฟื้นตัวกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็วในปี 2018 Trade to GDP Ratio กลับไปสู่ระดับเดิมเมื่อก่อนปี 2008 คำถามคือ เราสามารถพูดได้ไหมว่าโลกอยู่ในยุค Deglobalization เพียงเพราะ Trade to GDP Ratio ลดลง

 

Pol Antrás ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่ง Harvard University อธิบายว่า แม้ว่าเราจะเห็นว่า Trade to GDP Ratio ลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่อย่าลืมว่าระหว่างปี 1986-2008 มันเป็นช่วงที่เรียกว่า Hyperglobalization ซึ่งเป็นช่วงเวลาพิเศษ เกิดขึ้นเพราะมี ‘ปัจจัยสนับสนุน’ ที่ทำให้การค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ แต่ถ้าเราดูตัวชี้วัดนี้ในช่วงปี 1970-1985 เราก็จะพบว่า Trade to GDP Ratio ก็ไม่ได้เติบโตมากขนาดนั้น ซึ่ง  Pol Antrás มองว่า ตามทฤษฎีแล้วเศรษฐกิจโลกน่าจะกำลังเข้าสู่จุดที่เรียกว่า ‘Balanced Growth Path’ ดังนั้นเราไม่ควรจะคาดหวังให้ Trade to GDP Ratio มันเพิ่มขึ้นใน ‘อัตรา’ ที่สูงขึ้นทุกปี

 

การค้าระหว่างประเทศไม่ได้มีแค่การส่งออกและนำเข้าสินค้าขั้นสุดท้าย (Final Product) เท่านั้น เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการลดลงของอุปสรรคทางการค้าทำให้การผลิตสินค้า 1 ชิ้นเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตในหลายประเทศ การเพิ่มขึ้นของการค้าระหว่างประเทศใน 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา เกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของ ‘ห่วงโซ่มูลค่าโลก’ (Global Value Chains: GVCs) ซึ่งหมายถึงปรากฏการณ์ที่สินค้าอุตสาหกรรมชิ้นหนึ่งถูกแยกส่วนและถูกผลิตในหลายๆ ประเทศ การผลิตเครื่องบิน Boeing และ iPhone ถือเป็นตัวอย่างคลาสสิกของปรากฏการณ์ GVCs โดยที่ iPhone ถูกออกแบบในสหรัฐอเมริกา แต่ชิ้นส่วนต่างๆ (เช่น หน้าจอ แบตเตอรี่ และชิป) ถูกผลิตในประเทศอื่นๆ และนำมาประกอบจนได้สิ่งที่เรียกว่า iPhone ในจีน โดยบริษัทสัญชาติไต้หวันที่มีชื่อว่า Foxxconn นักเศรษฐศาสตร์ประจำ Bank of Italy Alessandro Borin and Michele Mancini (2019) พยายามวัดกิจกรรมใน GVCs โดยใช้มูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ถูกเคลื่อนย้ายผ่านอย่างน้อย 2 ประเทศ พบว่า GVCs นั้นเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วง Hyperglobalization และลดลงหลังจากปี 2008 ซึ่งการค้นพบดังกล่าวสอดคล้องกับงานของ Prema-chandra Athukorala and Jayant Menon (2015) ที่วัดปรากฏการณ์ GVCs ด้วยมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนและส่วนประกอบ (Parts and Components) และสินค้าขั้นสุดท้าย (Final Assembled Products) ดังนั้นถ้าเรามองในภาพรวมก็จะเห็นความเชื่อมโยงว่า ช่วง Hyperglobalization นั้นเกิดขึ้นเพราะปรากฏการณ์ของ GVCs และการลดลงของ Trade to GDP Ratio หลังปี 2008 ก็เป็นเพราะมูลค่าของกิจกรรมใน GVCs ที่ลดน้อยลง 

 

ถ้าเราดูส่วนประกอบอื่นของโลกาภิวัตน์ เช่น สัดส่วนของจำนวนแรงงานข้ามชาติ (Migrant) ต่อประชากรโลก ปริมาณการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ การลงทุนในหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ (International Portfolio Investment) และผลผลิตของสินค้าและบริการที่ถูกผลิตโดยบริษัทข้ามชาติ (Multinational Corporations) จะพบว่า ตัวชี้วัดต่างๆ ยังคงสะท้อนถึงระดับของโลกาภิวัตน์ที่สูงในปัจจุบัน และเมื่อดูจากระดับของ Trade to GDP Ratio และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใน GVCs ในปี 2018 ที่กลับสู่จุดสูงสุดก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจ Pol Antrás จึงมีความเห็นว่า โลกไม่ได้เผชิญกับ Deglobalization แต่เป็น Slowbalization (การชะลอตัวของกระแสโลกาภิวัตน์) ต่างหาก

 

แล้วอนาคตของโลกาภิวัตน์จะเป็นอย่างไร? การที่จะตอบคำถามนี้ต้องไปดูว่า แล้วช่วง Hyperglobalization มันมีปัจจัยบวกอะไรบ้าง และปัจจัยดังกล่าวมีอยู่หรือไม่ในปัจจุบัน Pol Antrás ระบุว่ามี 3 ปัจจัยที่น่าจะสำคัญที่สุดที่สามารถอธิบาย Hyperglobalization ได้ 1. การปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Revolution) 2. การลดลงของต้นทุนด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอุปสรรคทางการค้า (เช่น ภาษี โควตาการส่งออก/นำเข้า) และ 3. พัฒนาการทางการเมือง (Political Development) ซึ่งทำให้ประชากรโลกเข้าสู่ระบบทุนนิยมมากขึ้น

 

ในประเด็นแรก ICT Revolution ที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นประสิทธิภาพในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ไมโครโพรเซสเซอร์ และระบบอินเทอร์เน็ต ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับ Hyperglobalization เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยลด ‘ต้นทุน’ ของการประมวลผล และส่งผ่านข้อมูลข่าวสารทางไกล การปฏิวัติ ICT จึงทำให้ GVCs เกิดขึ้นได้ เพราะทำให้บริษัทในประเทศที่พัฒนาแล้วที่จะติดต่อสื่อสาร รวมถึงจัดการการผลิตทางไกลกับผู้ผลิตรายอื่นๆ ในประเทศกำลังพัฒนาได้

 

ในประเด็นที่สอง ในช่วง Hyperglobalization นั้นเป็นช่วงที่อุปสรรคทางการค้า (Trade Barriers) ที่เป็นภาษีและมิใช่ภาษี (Man-Made Trade Barriers) ถูกทำลายลง อันเป็นผลมาจากความสำเร็จของความตกลงทางการค้าพหุพาคีที่มี The General Agrement on Tariff and Trade (GATT) เป็นเจ้าภาพ ในขณะเดียวกันก็เกิดความตกลงทางการค้าในระดับภูมิภาคอย่าง NAFTA ในอเมริกาเหนือ Mercosur ในอเมริกาใต้ รวมถึง ASEAN Free Trade Agreement ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งล้วนมีส่วนช่วยที่ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดย Michael Clemens and Jeffrey Williamson (2004) ระบุว่า ค่าเฉลี่ยของภาษีนำเข้าของโลกลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้ราคาของสินค้านำเข้าถูกลงและแข่งขันได้มากขึ้น นอกเหนือจากภาษีแล้ว การเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization) ทำให้ประเทศสมาชิกต้องยอมรับเงื่อนไข ปฏิรูปกฎระเบียบ และมีข้อกำหนดเรื่องระดับของการเปิดตลาด ดังนั้นในช่วงเวลาที่เกิด Hyperglobalization จึงมีปัจจัยเชิงสถาบันเข้ามาช่วยลดความไม่แน่นอน (Uncertainty) ของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ 

 

ประเด็นสุดท้ายคือ ความแพร่หลายของระบบทุนนิยม พัฒนาการทางการเมืองของโลกทำให้ประชากรมีส่วนร่วมกับโลกาภิวัตน์มากขึ้น ช่วงก่อนปี 1989 แรงงานหลายล้านคนในยุโรปตะวันออก (ซึ่งส่วนมากเป็นแรงงานมีฝีมือ) จะต้อง ‘รอ’ โอกาสทางเศรษฐกิจที่ยังมาไม่ถึง เพราะถูกปิดกั้นจาก ‘ม่านเหล็ก’ (Iron Curtain) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งทางอุดมการณ์และพรมแดนที่เกิดขึ้นเพราะระบบคอมมิวมิสต์ โดยมีสหภาพโซเวียตอยู่เบื้องหลัง ขณะที่ในจีน การเปลี่ยนผ่านเป็นระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเพิ่งเกิดขึ้นหลังปี 1978 ในขณะที่การปฏิรูปทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในอินเดียในปี 1991 ก็ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีลักษณะเสรีนิยมมากขึ้น ในช่วงปี 1990 ประชากรของ 10 ประเทศที่เป็นสังคมนิยม (เช่น จีน อินเดีย บังกลาเทศ และเวียดนาม) คิดเป็น 43.5% ของประชากรโลก ซึ่งแรงงานเหล่านี้สามารถตอบสนองต่อความต้องการการผลิตสินค้าของบริษัทในประเทศอุตสาหกรรม

 

แล้วปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้ยังคงมีอยู่หรือไม่ในปัจจุบัน ในเรื่อง ICT Revolution นั้น Pol Antrás (รวมถึงศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ The Graduate Institute ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ Richard Baldwin) ใช้กฎของมัวร์ (Moore’s Law) มาอธิบายว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังคงมีอยู่ ข้อมูลจาก Our World In Data ชี้ให้เห็นว่าจำนวนทรานซิสเตอร์ที่สามารถบรรจุลงในชิปยังคงเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทุกๆ 2 ปี สอดคล้องตาม Moore’s Law นอกจากนั้นการรับส่งข้อมูล (Information Transmission) ผ่าน Fiber Optic ในปัจจุบันยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์มักคำนึงถึงประโยชน์ส่วนเพิ่ม (Marginal Benefit) ของเทคโนโลยี ว่าอาจมีแนวโน้มลดลง เหตุผลก็เพราะว่า ในช่วงปี 1980-1990 นั้น (ก่อนหน้า ICT Revolution) ต้นทุนการสื่อสารยังคงแพงอยู่ การพัฒนาเทคโนโลยีได้เพียงเล็กน้อยสามารถช่วยสร้างประโยชน์ได้มหาศาล แต่ในปัจจุบัน ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงคนทั่วๆ ไปต่างเข้าถึงเทคโนโลยีและมีอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วใช้ ประโยชน์ ‘ส่วนเพิ่ม’ ของการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็อาจน้อยลงเรื่อยๆ 

 

อย่างไรก็ตาม โลกก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการนำระบบอัตโนมัติ (Industrial Automation) และหุ่นยนต์ (Robotics) มาใช้ในการผลิต ในช่วงแรกๆ เป็นธรรมดาที่เราอาจคิดว่าระบบอัตโนมัติอาจเข้ามาทดแทน ‘คน’ ในการผลิต และทำให้บริษัทเลือกที่จะหยุดเข้าร่วมใน GVCs และหันมาผลิตสินค้าในประเทศตนเอง (Reshoring) จึงทำให้เกิดความกังวลในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (เช่น ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย) ว่าบริษัทเหล่านี้จะย้ายฐานการผลิตกลับประเทศตนเองและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน แต่ทั้งนี้ Pol Antrás ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะมองว่าความสามารถในการทดแทนกันระหว่างระบบอัตโนมัติกับการผลิตในประเทศกำลังพัฒนายังไม่ชัดเจนเท่าไรในทางปฏิบัติ ที่สำคัญไปกว่านั้น หากบริษัทในประเทศที่พัฒนาแล้วใช้ระบบอัตโนมัติจริง ต้นทุนการผลิตลดลง ผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้น ผลผลิตก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เมื่อผลผลิตเพิ่มขึ้น ความต้องการใน ‘วัตถุดิบขั้นกลาง’ (Intermediate Inputs) จึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งวัตถุดิบขั้นกลางส่วนมากมักผลิตได้ถูกกว่าในประเทศกำลังพัฒนา เมื่อดูหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานศึกษาของ World Bank (2020) และ Artuc, Bastos, and Rijkers (2018) พบว่า ในความเป็นจริงแล้วนั้น การที่บริษัทในประเทศอุตสาหกรรมใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น ช่วยเพิ่มการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศกำลังพัฒนา

 

อีกเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงกันมากคือ 3D Printing ซึ่งทำให้คนคาดการณ์กันว่า เทคโนโลยีนี้จะเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมของโลก และอาจทำให้กระบวน GVCs สะดุด เพราะบริษัทข้ามชาติจะย้ายฐานการผลิตกลับประเทศตัวเอง แต่จริงๆ แล้วหุ่นยนต์ รวมถึง 3D Printing ไม่จำเป็นที่จะต้อง ‘ลด’ ปริมาณการค้าระหว่างประเทศ หรือสร้างความเสียหายต่อ GVCs เสมอไป เพราะนวัตกรรมเหล่านี้มีส่วนช่วยทำให้บริษัทผลิตสินค้าได้ดีขึ้น เร็วขึ้น ถูกต้อง แม่นยำมากขึ้น เมื่อผลิตแต่สินค้าที่มีประสิทธิภาพออกมา ยอดขายก็เพิ่มขึ้น ความต้องการในวัตถุดิบขั้นกลางที่ผลิตได้ในราคาถูกและในปริมาณมากในประเทศกำลังพัฒนาก็เพิ่มสูงขึ้น Pol Antrás จึงบอกว่า “3D Printers do not prince goods out of thin air” แม้ 3D Printers จะมีประโยชน์ แต่ผู้ผลิตยังคงจำเป็นที่จะต้องใช้วัตถุดิบประเภทต่างๆ เพื่อทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นมา 

 

แล้ว GVCs จะเปลี่ยนไปอย่างไรภายใต้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเฉกเช่นในปัจจุบัน ต้องอธิบายก่อนว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเมื่อ 20-30 ปีก่อน ทำให้ GVCs เกิดขึ้น ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่าง Head Quarters กับ บริษัทสาขา (Affiliates) Suppliers และผู้ผลิตสินค้าในแต่ละประเทศ (Local Manufactures) เกิดขึ้นได้ รวมถึงไปเทคโนโลยีในการจัดการสินค้าคลัง แวร์เฮาส์ และโลจิสติกส์ ซึ่งทำให้ GVCs กลายมาเป็นหัวใจของการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก

 

อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมในเครือข่ายการผลิต (Global Production Networks) นั้น บริษัทมีต้นทุนคงที่ (Fixed Costs) ซึ่งมักจะเป็นต้นทุนจม (Sunk Cost) หมายถึงต้นทุน/ค่าใช้จ่ายที่บริษัทลงทุนไปแล้ว และไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ ไม่ว่าสถานการณ์ในอนาคตจะเปลี่ยนไปเช่นไร ต้นทุนในส่วนนี้สำคัญอย่างมากในการพิจารณาว่า หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอย่างโรคโควิด-19 แล้วบริษัทใน GVCs จะรับมืออย่างไร

 

ถามว่าต้นทุนในส่วนนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ลองนึกเวลาที่บริษัท (สมมติว่าเป็นบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์สัญชาติอเมริกา) กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปในประเทศต่างๆ (เช่น หน้าจอทำในไต้หวัน แบตเตอรี่ทำในสิงคโปร์ ส่วน Hard Disk Drive ทำในไทย) บริษัทก็ต้องรวบรวมข้อมูล Suppliers และที่ตั้งของโรงงานในประเทศนั้น ในขั้นตอนต่อไป บริษัทและ Suppliers จะต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องได้  (Physical Assets) เช่น โรงงาน เครื่องจักร เป็นต้น ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้มักจะถูก Customized หรือถูกออกแบบอย่างเฉพาะเจาะจง สำหรับผลิตชิ้นส่วนส่วนใดส่วนหนึ่ง ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ผลิตในแต่ละราย

 

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของ ‘Relational Capital’ หรือทุนความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง Suppliers และภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถผลิตสินค้าออกมาได้ทันเวลา ตรงตามสเปก ต้นทุนคงที่เหล่านี้ราคาแพง และด้วยความที่มีรูปแบบเฉพาะเจาะจง (Product-Specific) จึงทำให้มันมีลักษณะเป็นต้นทุนจม คือไม่สามารถขายต่อได้ หรือใช้ไปผลิตสินค้าชนิดอื่นได้ ต้นทุนจมเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์อนาคตของ GVCs ตรงที่ว่า เมื่อบริษัทกำลังจะย้ายฐานผลิตไปที่อื่น บริษัทต้องเสียต้นทุนจม และคงต้องเสีย ‘ต้นทุนคงที่’ เพิ่มเติม เช่น จะต้องสร้างโรงงานใหม่เพื่อผลิตสินค้าเอง ดังนั้น ต้นทุนคงที่ในการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ/ไปประเทศอื่นจึงสูงกว่าต้นทุนคงที่ตอนที่บริษัทเริ่มกระจายการผลิตในตอนแรก ประเด็นสำคัญก็คือว่า ถ้าบริษัทเห็นว่า Shocks ที่เกิดขึ้นมีลักษณะชั่วคราว (Transitory Shock) โอกาสที่จะเกิดการย้ายฐานการผลิตก็มีน้อยลง 

 

เรื่องนี้มีหลักฐานมารองรับอยู่เช่นกัน ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 หลายคนทำนายว่าบริษัทสัญชาติอเมริกาจะย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ แต่เราพบว่า กิจกรรมใน GVCs (รวมถึง Trade to GDP Ratio) ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า แม้ว่ามูลค่าการส่งออก (Intensive Margin) จะลดลงอย่างมากหลังวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ จำนวนผู้ส่งออก (Extensive Margin) ไม่ได้ลดลงไปมากนัก ซึ่งสาเหตุก็เป็นเพราะความเหนียวแน่น (Stickiness) ของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งออกและผู้นำเข้า ซึ่งถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงต้นทุนคงที่ที่สูงจากการย้ายฐานการผลิต ดังนั้นเมื่อพ้นวิกฤตไปแล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

 

นอกจากเรื่องเทคโนโลยีและต้นทุนคงที่แล้ว ก็ยังมีอีกสองประเด็นที่น่าขบคิด ในประเด็นแรก Agenda ของการเปิดเสรีการค้าแบบพหุพาคี (Multilateral Liberalization) ภายใต้ WTO นั้นไม่มีความคืบหน้ามาเกือบ 20 ปีแล้ว การขาดความก้าวหน้าของความตกลงแบบพหุพาคีทำให้หลายประเทศสูญเสียความเชื่อมั่นใน WTO ที่จะเป็นตัวกลางทำให้เศรษฐกิจโลกค้าขายกันได้อย่างเสรีมากขึ้น ในขณะเดียวกันการเปิดเสรีการค้าในระดับภูมิภาคก็มีแนวโน้มถดถอย ยกตัวอย่างในเรื่องของ Brexit การแทนที่ NAFTA ด้วย USMCA การถอนตัวออกจาก TPP ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงไปสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน 

ประเด็นต่อมาคือ กระแสการต่อต้านโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากสองส่วน ส่วนแรกคือแนวคิดการต่อต้านการค้าเสรี เช่น ในกลุ่มนักการเมืองอย่างประธานาธิบดีทรัมป์ ในกรณีของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และ Nigel Farage ในกรณีของ Brexit รวมไปถึงความคิดเห็นของคนทั่วไป จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา โดย Gallup (2019) พบว่า ในช่วง Hyperglobalization (ก่อนปี 2008) สัดส่วนของคนที่คิดว่าโลกาภิวัตน์คือ ‘โอกาส’ สำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงจาก 56% ในปี 2000 เหลือเพียง 41% ในปี 2008 ในช่วงเวลาเดียวกัน สัดส่วนของคนที่เห็นว่าโลกาภิวัตน์เป็นภัยคุกคามเพิ่มสูงขึ้นจาก 35% ในปี 2000 มาเป็น 52% ในปี 2008 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกระแสความไม่พอใจของโลกาภิวัตน์ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่การค้าระหว่างประเทศชะลอตัว ทัศนคติของคนอเมริกันต่อโลกาภิวัตน์กลับมาเป็นบวกเพิ่มมากขึ้น 

 

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่พอใจต่อการค้าเสรีมากที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ในช่วง Hyperglobalization นั้น ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเชื่อมโยงเข้าหากัน หลายประเทศได้เผชิญกับความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ระหว่างปี 1970-2007 ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากดัชนีจีนีที่เพิ่มขึ้นจาก 0.48 เป็น 0.59 นอกจากนั้น จากการศึกษาของ Paul Krugman (2008) และ Goldberg and Pavcnik (2007) ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดเสรีการค้านี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศร่ำรวย แต่ยังรวมถึงประเทศกำลังพัฒนาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม Pol Antrás มีความเห็นกับประเด็นนี้ว่า การเพิ่มของความเหลื่อมล้ำจากการเปิดเสรีการค้าไม่จำเป็นที่จะต้องก่อให้เกิดความขุ่นเคืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มแรงงานอุตสาหกรรม ‘หาก’ พวกเขาได้รับการชดเชยความเสียหายอย่างเหมาะสม คำถามก็คือว่า แล้วผู้แพ้จากกระแสโลกาภิวัตน์ (แรงงานอุตสาหกรรม) เหล่านี้ในสหรัฐอเมริกาได้รับการชดเชยที่เพียงพอหรือไม่ ซึ่งเราอาจดูได้จากเม็ดเงินในภาษีที่จ่ายไปให้กับประชาชน เมื่อไปดูระดับความก้าวหน้า (Progressivity) ของระบบภาษีและเงินช่วยเหลือ (Tax-Transfer System) Antrás, de Gortari, Itskhoki (2017) พบว่า ความก้าวหน้าของระบบดังกล่าวในสหรัฐอเมริกาลดลงในช่วง 1979-2007 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สหรัฐฯ เปิดประเทศและความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงขึ้น ดังนั้นในช่วงที่มีผู้แพ้จากโลกาภิวัตน์ แรงงานกลับเป็นกลุ่มคนที่ถูกละเลย ตกขบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จึงไม่น่าแปลกที่เราจะเห็นกระแสความขุ่นข้องหมองใจเมื่อพูดถึงโลกาภิวัตน์

 

หลายทศวรรษที่ผ่านมา โลกาภิวัตน์ได้พาการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกมาอยู่ในจุดที่ไม่เคยมีมาก่อน ประเทศร่ำรวยและประเทศที่ยากจนต่างได้รับประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับประโยชน์ที่เท่ากัน กระนั้นแม้โลกาภิวัตน์จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ วิธีการแก้ไขปัญหาไม่ใช่การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) หรือกลับไปปิดประเทศเฉกเช่นสมัยหลังสงครามโลก แต่เป็นการปฏิรูประบบภาษีให้ก้าวหน้ามากขึ้น จัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประโยชน์ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศจะขยายไปยังคนส่วนมากของสังคม

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising