×

คลิป Deepfake มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ตัวปลอมถูกแชร์ว่อนโซเชียล เฟซบุ๊กแจงใช้วิธีจัดการเหมือนคอนเทนต์ข่าวปลอม

13.06.2019
  • LOADING...

กลายเป็นประเด็นที่ชวนตั้งคำถาม เมื่อผู้ใช้อินสตาแกรม bill_posters_uk ได้อัปโหลดคลิปวิดีโอ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊กสารภาพความผิดจากการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่กุมข้อมูลความลับของผู้ใช้งานขึ้นบนอินสตาแกรมและ Vimeo ตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา

 

 

ก่อนที่สื่ออย่าง Motherboard จะรายงานข่าวนี้ออกไปเป็นรายแรก และพบว่าคลิปวิดีโอนี้ถูกทำขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี Deepfake ที่นำ AI และแมชชีนเลิร์นนิงเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อปลอมแปลงเสียงและท่าทางการขยับปากของบุคคลที่ต้องการจะลอกเลียนแบบได้เหมือนจนแทบจะแยกไม่ออก ส่วนวิดีโอต้นฉบับก็มาจากคลิปข่าวที่มาร์กเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CBSN ตั้งแต่ปี 2017

 

ในคลิปวิดีโอปลอมดังกล่าว ซีอีโอเฟซบุ๊กเวอร์ชันสังเคราะห์พูดว่า “ลองจินตนาการเรื่องนี้ดูสักครู่สิครับ ชายคนหนึ่งมีอำนาจควบคุมข้อมูลผู้ใช้งานหลายพันล้านคนบนโลกใบนี้แบบเบ็ดเสร็จ ทั้งข้อมูลที่เป็นความลับ ความเป็นอยู่ของพวกเขา หรือแม้แต่อนาคต ผมเป็นเจ้าของข้อมูลทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็เพื่อ Spectre เพราะพวกเขาแสดงให้ผมเห็นว่าใครก็ตามที่ควบคุมข้อมูลได้ คนคนนั้นจะเป็นผู้กุมอนาคต”

 

ในท้ายที่สุดผู้ที่อยู่เบื้องหลังวิดีโอ Deepfake นี้ก็คือกลุ่มสตาร์ทอัพจากอิสราเอล ‘Canny AI’ ที่พัฒนาร่วมกับพาร์ตเนอร์อื่นๆ โดยมี บิล โปสเตอร์ส (Bill Posters) และ ดร.แดเนียล ฮาว (Dr. Daniel Howe) เป็นสองหัวหอกหลัก โดยนอกจากวิดีโอปลอม มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก พวกเขายังทำวิดีโอปลอมของ คิม คาร์ดาเชียน และ โดนัลด์ ทรัมป์ อีกด้วย

 

โดยมีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมผลงานจัดแสดงในนิทรรศกาลศิลปะ-เทคโนโลยี ‘Spectre’ ระหว่างวันที่ 6-11 มิถุนายนที่ผ่านมา ใน Site Gallery เมืองเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ และเพื่อให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถนำไปใช้เพื่อจัดการข้อมูลต่างๆ ได้ขนาดไหน

 

มุมหนึ่งเราอาจจะตีความได้ว่า bill_posters_uk ตั้งใจอัปโหลดวิดีโอดังกล่าวบนอินสตาแกรมก็เพื่อกระตุกหนวดเสือเจ้าถิ่น และให้ผู้ใช้งานทั่วโลกได้เห็นถึงวิธีการดำเนินการและการจัดการของเฟซบุ๊กในกรณีที่เกิดปัญหาคลิปปลอมถูกเผยแพร่ออกไปและทำให้บุคคลอื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยปัจจุบัน (13 มิ.ย.) คลิปวิดีโอดังกล่าวยังไม่ถูกลบออกจากระบบ

 

ท้ังนี้ The Verge ได้พูดคุยกับทางโฆษกของเฟซบุ๊กว่า บริษัทจะดำเนินการลบคลิปดังกล่าวออกไปหรือไม่ ก่อนได้รับคำตอบกลับมาว่าเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมจะไม่ลบวิดีโอนี้ออกจากแพลตฟอร์ม แต่จะใช้วิธีเดียวกันกับการจัดการคอนเทนต์ที่ให้ข้อมูลแบบผิดๆ บนแพลตฟอร์ม นั่นคือการตรวจสอบข้อเท็จจริง และหากพบว่าวิดีโอหรือคอนเทนต์ใดมีข้อมูลอันเป็นเท็จ ก็จะให้ระบบคัดกรองของอินสตาแกรมเลือกไม่แนะนำโพสต์ดังกล่าวให้ผู้ใช้งานรายอื่นๆ เห็น

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising