เมืองยิ่งกว้างใหญ่ ธรรมชาติยิ่งน้อยลง เพราะถูกแทนที่ด้วยตึกรามบ้านช่อง กรุงเทพมหานครอาจจะพอมีปอดใหญ่ในรูปของสวนสาธารณะที่พอให้คนทั่วไปได้พึ่งพาใกล้ชิดธรรมชาติอยู่บ้าง แต่อย่างที่เราทราบกันดี เมืองหลวงของประเทศไทยติดอันดับท้ายๆ ในเรื่องอัตราพื้นที่สีเขียว เมื่อเทียบกับขนาดของเมือง
ในยุคที่ผู้คนโหยหาและตระหนักถึงความจำเป็นของสิ่งแวดล้อม คนกรุงหันมาสนใจธรรมชาติและต้นไม้รอบเมืองมากขึ้น เพราะเป็นพื้นที่สีเขียวที่ใกล้ตัวที่สุด จนก่อให้เกิดกลุ่มคนที่ทำหน้าที่พิทักษ์ต้นไม้กลายๆ และเป็นที่มาของอาชีพใหม่อย่าง ‘รุกขกร’
THE STANDARD จะพาไปฟังทัศนะเรื่องความสำคัญของหน้าที่ดูแลต้นไม้จาก อ. เดชา บุญค้ำ นักวิชาการผู้บุกเบิกการศึกษาด้านภูมิสถาปัตยกรรมของประเทศ และเป็นผู้ที่บัญญัติศัพท์คำว่า ‘รุกขกร’
รุกขกรนี่ก็ต้องมีภาระหน้าที่ในการกล่อมเกลา ดัดนิสัย ฝึกนิสัยต้นไม้ จนกระทั่งเลยวัยเยาวชนจนถึงวัยผู้ใหญ่ ให้รูปร่างมันแข็งแรง สง่า และไม่เป็นปัญหาอะไร
คำว่า ‘รุกขกร’ มีที่มาที่ไปอย่างไร
มันเริ่มในอเมริกา ย้อนกลับไปประมาณ 70 ปีที่แล้ว เมืองนอกเองก็ยังไม่มีความรู้ด้านนี้ พอตัดต้นไม้ผิด มันก็แตกออกมา และไปตัดยอดมัน มันก็แตกกิ่งอีก ทรงเสียหมด และยืนต้นตาย เมื่อตัดผิดที่ เปลือกมันหุ้มไม่ได้ ก็เป็นโพรง
ที่อเมริกาปลูกต้นไม้กันเยอะ มีพวกรับจ้างตัดแต่งต้นไม้ ก็รวมตัวกันตั้งเป็นสมาคมนักตัดแต่งต้นไม้ ตอนหลังใช้ชื่อที่ตรงขึ้น Arbor ต้นไม้มีแก่นก็เรียกว่า Arborist ที่อเมริกาจึงตั้งวิชาใหม่กลายเป็นคอร์ส Arboriculture ซึ่งเรียนเรื่อง Tree Biology เรื่องการเตรียมต้นไม้ การเพาะกล้า การดูแล การใช้เครื่องจักรกล การใช้เครื่องยนต์ และความปลอดภัย ฯลฯ เดี๋ยวนี้มีถึงปริญญาเอก 6-7 มหาวิทยาลัยในอเมริกา ในยุโรป ส่วนปริญญาตรีหรือโทนี่เยอะมากเป็นร้อยมหาวิทยาลัย วิชานี้ไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเรา กระทั่งผมเอามาแนะนำ เขียนบทความในวารสาร ประมาณ พ.ศ. 2515-2516
ผมเรียนด้านสถาปัตย์ฯ แล้วไปเรียนต่อด้านภูมิทัศน์สถาปัตยกรรม
ซึ่งมีการใช้ต้นไม้ เหมือนวิศวกรก็ต้องเรียนรู้เรื่องคอนกรีต เหล็ก วัสดุสำคัญ ภูมิสถาปนิกก็ต้องรู้เรื่องต้นไม้ให้ดี กลับมาถึงบ้านเราเห็นต้นไม้สุขภาพแย่มาก เป็นโพรง ผุ ทรงไม่สวย เราก็จำเขามา แล้วมาทำต้นไม้สนามหลวง ต้นไม้ปลูกใช้เวลา 12 ปีนะ ถึงจะเป็นผู้ใหญ่ พึ่งตัวเอง ดูแลตัวเองได้ ก่อนหน้านั้นก็โตกันไปเรื่อย ถ้าแตกกิ่งไปโดนสายไฟก็ถูกตัด พูดง่ายๆ ว่า แต่ก่อนมันไปตามเรื่องตามราว ไม่มีการอบรม รุกขกรมีภาระหน้าที่ในการกล่อมเกลา ดัดนิสัย ฝึกนิสัยต้นไม้ จนกระทั่งเลยวัยเยาวชนจนถึงวัยผู้ใหญ่ ให้รูปร่างมันแข็งแรง สง่า แล้วก็ไม่เป็นปัญหาอะไร
ชื่อรุกขกรรมผมก็เพิ่งตั้ง เพราะ รุกข แปลว่า ต้นไม้ใหญ่ Ture แปลว่า กรรม เหมือนวิศวกรรม รุกขกรรม รุกขกร มันก็ติดปากอยู่ เป็นวิชาที่ลงเฉพาะที่เราจะใช้งาน ตัดไม้อย่างไรให้มีคุณภาพ
ต้นไม้ปลูกเนี่ยต้องใช้เวลา 12 ปีนะ ถึงจะเป็นผู้ใหญ่ พึ่งตัวเอง ดูแลตัวเองได้
คำนี้ถูกบัญญัติขึ้นเมื่อไร
ประมาณ พ.ศ. 2525
เวลานั้น ประเทศไทยยังไม่มีหลักสูตรการสอนเรื่องรุกขกรรมในมหาวิทยาลัย
ไม่มี จนเดี๋ยวนี้ก็ไม่มี มีเพียงการอบรม ตัวผมเองก็ได้ไปเผยแพร่บรรยายเรื่องเหล่านี้ แต่คนก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไร จนกระทั่งไปเขียนหนังสือเรื่องต้นไม้ใหญ่ในงานพัฒนาเมืองราวๆ พ.ศ. 2542-2543 สำนักพิมพ์จุฬาฯ ตีพิมพ์ ซึ่งก็กลายเป็นหนังสืออ้างอิงจนถึงตอนนี้ ทั้งที่บางอันก็ล้าสมัย คำว่า รุกขกรรม ก็มีมาตั้งแต่ตอนนั้น
ตอนนี้ความก้าวหน้ามันมาถึงช่วงที่คนเริ่มเห็นความสำคัญของการปลูกต้นไม้ และจะปลูกแหลกลาญ แต่พอเริ่มโต การดูแลไม่ดี มันก็เริ่มทำร้าย เป็นอันตรายต่างๆ สักประมาณ 2 ปีมานี้ ผมได้เจอพวกการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก็ไปช่วยอบรมเขาเกี่ยวกับตัดแต่งต้นไม้ใต้สายไฟ อบรมกันมา 20 กว่ารุ่นแล้ว
หากเด็กไทยสนใจอาชีพรุกขกร อยากจะเรียนรู้อย่างจริงจัง แต่มหาวิทยาลัยในไทยยังไม่มีหลักสูตรโดยตรง อาจารย์มีคำแนะนำอย่างไรบ้าง
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามีระเบียบว่า หลักสูตรจะเปิดสอนได้จะต้องมี ดร. ที่จบด้านรุกขกรรม 2 คน ซึ่งมันไม่ค่อยมี เพราะปริญญาโทก็เหนื่อยแล้วนะ มันเป็นวิชาทางปฏิบัติ เป็นวิชาทางวิจัยระดับเซลล์ ดูว่าเซลล์มี DNA อย่างไร Mitochondria การเผาผลาญ ลงลึกเป็นพฤกษศาสตร์ ก็แนะนำสองอย่างนะ ไปเรียนวนศาสตร์ก็ได้ เกษตร พืชและผลก็ได้ หรือไปเรียนเทคโนโลยีภูมิทัศน์ที่แม่โจ้ก็ได้ แต่รุกขกรรมเต็มๆ คอร์สหนึ่งเทอมไม่มี เราก็เลยต้องช่วยด้วยการจัดอบรมระยะสั้น
ตอนนี้ความก้าวหน้ามันก็มาถึงช่วงที่คนเริ่มเห็นความสำคัญของการปลูกต้นไม้ แล้วก็จะปลูกแหลกลาญ พอเริ่มโตปุ๊บ การดูแลไม่ดี มันก็เริ่มทำร้าย เป็นอันตรายต่างๆ
วิชารุกขกรรมและอาชีพรุกขกรสำคัญกับต้นไม้ในเมืองอย่างไรบ้าง
สำคัญมาก เรารณรงค์มา 3 ยุค ยุคแรก บ้านสวยเมืองงาม City Beautiful Movement ร้อยกว่าปี ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เยือนยุโรป ทรงเห็นต้นไม้เป็นแถวๆ ก็ทรงริเริ่มการปลูกต้นไม้ที่เมืองไทย สวนดุสิตที่ท่านขยายเมือง มีถนนบ๊วย ถนนอะไรต่างๆ เยอะแยะไปหมด
จากนั้นเมื่อเริ่มมีเรื่องมลพิษ ควันดำ ควันขาว มีโลหะหนักฟุ้งกระจาย ก็มีการรณรงค์ปลูกต้นไม้เยอะๆ ทีนี้ก็มาถึงโลกร้อน บนบกไม่มีอะไรที่จะกักเก็บคาร์บอนฯ ได้ดีที่สุดและถูกที่สุดเท่ากับต้นไม้ใหญ่ ปลูกต้นไม้ใหญ่แล้วมันใช้พื้นที่ข้างล่างได้
ในเมืองคอนกรีตดูดความร้อนเข้าไปก็ปล่อยออกมาตอนบ่าย เปิดแอร์ถึงสี่ทุ่ม ความร้อนกระจายออกมา เกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง ก็เลยปลูกต้นไม้กันใหญ่ ทีนี้ปลูกอย่างไรล่ะ พื้นเป็นคอนกรีตอย่างนี้ ก็ต้องมีความรู้เรื่องระบบรากของต้นไม้ มีภูมิสถาปนิก ต้องรู้จักวิชารุกขกรรม กลายเป็นวิชาใหม่มาสอนภูมิสถาปนิก ภูมิสถาปนิกก็ต้องประยุกต์ความรู้ด้านรุกขกรรมคือ ตัดแต่ง มีการจัดอบรมเรื่องรุกขกรรม ภาคเอกชนก็มาจับมือกัน คนที่ปฏิบัติอยู่แล้วก็มาช่วยกัน
อาจารย์มองว่า การตอบรับของสังคมไทยเรื่องความรู้ด้านรุกขกรรมจะเป็นไปในทิศทางใด
มันต้องดีขึ้นเรื่อยๆ นายกฯ พูดเรื่องรุกขกร รุกขกรรม ซึ่งการไฟฟ้าก็รีบสนองตอบ ก็ค่อยๆ ดีขึ้น เหมือนกับวิชาวิศวกรรมฯ สมัยแรกๆ มาจากเครื่องยนต์ เรียนกล้อมแกล้มไป สถาปัตย์ฯ เหมือนกัน แพทย์สมัยก่อนโน้นต้องเกณฑ์มา สมัยก่อนจบสวนกุหลาบ เต็งๆ ก็ไปเป็นครู ตอนหลังนี่เก่งที่สุดก็ไปเป็นแพทย์อย่างนี้ มันต้องดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ