×

โรคเอ็นข้อมืออักเสบ ความเจ็บปวดใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

17.02.2021
  • LOADING...
โรคเอ็นข้อมืออักเสบ ความเจ็บปวดใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

HIGHLIGHTS

  • ชวนทุกคนไปรู้จักกับโรคเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s Tenosynovitis) ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาที่พบเจอมากขึ้นในคนไทย อาการเริ่มแรกอาจปวดเพียงเล็กน้อย และเริ่มรุนแรงขึ้น รักษาโดยการเปลี่ยนพฤติกรรมใช้ข้อมือ รับประทานยาต้านอักเสบหรือฉีดยา หากยังไม่หายแพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัด 

ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มักจะเจอกับปัญหาที่เป็น Urban Pain กันเยอะมากๆ หรือจะเรียกว่าเป็นปัญหาของคนเมืองซึ่งล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่มักจะถูกมองข้ามไปอยู่เสมอ เช่น ความเจ็บปวดที่เริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่าง ปวดนิ้ว ปวดข้อมือ ที่เป็นผลมาจากการใช้มือมากเกินไป หากปล่อยไว้โดยไม่แก้ Pain Point ที่ต้นตอหรือสาเหตุของปัญหา ก็มีแนวโน้มว่าความเจ็บปวดเล็กๆ นั้นจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สร้างความหนักใจและเปลืองค่ารักษายิ่งกว่าเดิม 

 

THE STANDARD POP กำลังชวนทุกคนไปรู้จักกับโรคเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s Tenosynovitis) ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาที่พบเจอมากขึ้นในคนไทยทั่วไป โดยเฉพาะคนที่ใช้ข้อมืออย่างหนักเป็นเวลานาน ก่อนที่มันจะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่จนถึงกับต้องผ่าตัด เรามารู้จักกับต้นตอของปัญหาและหาทางป้องกันแก้ไขดีกว่า

 

โรคเอ็นข้อมืออักเสบ

 

โรคเอ็นข้อมืออักเสบคืออะไร?

โรคเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s Tenosynovitis) นั้นเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเอ็นของเส้นเอ็นบริเวณข้อมือตรงส่วนโคนนิ้วหัวแม่มือ ทำให้เกิดอาการปวดและบวมขึ้นในบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้งานข้อมือมากเกินไป ที่พบมากในกลุ่มออฟฟิศซินโดรมที่ทำงานนั่งโต๊ะ ใช้มือพิมพ์คีย์บอร์ดโดยไม่มีการบริหารมือและข้อมือ นอกจากนี้ยังพบในนักกีฬาแบดมินตัน นักกีฬาเทนนิส คนที่เคยมีอาการบาดเจ็บบริเวณข้อมือมาก่อน หรือแม่บ้านที่ต้องใช้มือทำความสะอาดเป็นเวลานาน รวมถึงคนที่เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังอยู่แล้ว เช่น โรครูมาตอยด์ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่าคนที่มีโอกาสเป็นโรคเอ็นข้อมืออักเสบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และช่วงอายุที่พบบ่อยคือตั้งแต่อายุ 30 ขึ้นไป 

 

 

เช็กอาการของโรคเอ็นข้อมืออักเสบ

ข้อมูลจากศูนย์โรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลธนบุรี ระบุว่า ผู้ป่วยจะเริ่มปวดจากบริเวณข้อมือด้านนอก บริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ ปวดขึ้นทีละน้อยหรือเกิดขึ้นทันที และรู้สึกปวดบริเวณข้อมือร้าวไปที่แขน อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานข้อมือและนิ้วหัวแม่มือซ้ำๆ โดยเฉพาะเมื่อยกของหนักหรือบิดข้อมือ อาการบวมจะเกิดบริเวณข้อมือด้านนอก บริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ อาการปวดบวมจะทำให้ขยับนิ้วหัวแม่มือและข้อมือลำบาก

 

รักษาอย่างไรเมื่อเป็นโรคเอ็นข้อมืออักเสบ

ศูนย์โรคกระดูกและข้อแนะนำว่า เพื่อเป็นการลดการอักเสบและลดอาการเจ็บปวด แพทย์มักจะแนะนำว่าให้เพิ่มความระวังในการใ้ช้งานของมือและข้อมือที่ทำให้ปวด ถ้าเป็นไปได้ควรพักรักษาด้วยการหยุดใช้งานข้อมือและนิ้วโป้งที่เคยใช้ซ้ำๆ บ่อยๆ อันเป็นสาเหตุของอาการปวดที่ต้นตอ จนกว่าอาการจะดีขึ้น ซึ่งการงดใช้ข้อมือนี้รวมถึงการเลี่ยงยกหรือหยิบของหนักๆ งดการเขียน หรือการบิดหมุนข้อมือบ่อยๆ ซึ่งหากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาต้านการอักเสบได้ ซึ่งจะลดอาการบวมของเยื่อหุ้มเอ็นและช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ (การรับประทานยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์)​

 

โรคเอ็นข้อมืออักเสบ

 

ในผู้ป่วยบางคนอาจต้องใส่อุปกรณ์พยุงข้อมือ หรือแพทย์อาจทำการเข้าเฝือกให้ที่บริเวณแขนและนิ้วโป้ง เพื่อให้ข้อมือและกระดูกข้อต่อบริเวณใต้นิ้วโป้งอยู่กับที่ และเป็นการลดการใช้งานของเส้นเอ็น แต่ทั้งนี้หากอาการปวดไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาคอร์ติโซนปลอกหุ้มเอ็นข้อมือที่มีอาการปวด (ซึ่งกรณีที่ต้องฉีดยานั้น แพทย์จะพิจารณาฉีดให้ไม่เกิน 1-2 ครั้ง ถ้าฉีดแล้วอาการไม่ดีขึ้นแพทย์อาจจะพิจารณาผ่าตัดต่อไป) 

 

กรณีที่ถึงขั้นต้องผ่าตัด มีวิธีการดูแลตัวเองอย่างไร

หลังการผ่าตัดรักษาโรคเอ็นข้อมืออักเสบ คนไข้จะต้องดูแลแผลผ่าตัดไม่ให้แผลโดนน้ำ และควรขยับนิ้วมือในบางครั้ง หลังผ่าตัด 10-14 วัน แพทย์จะนัดมาตัดไหม นอกจากนั้นนักกายภาพจะแนะนำวิธีการบริหารข้อบริเวณมือและนิ้วโป้งให้แข็งแรง วิธีการที่ไม่ใช้งานข้อมือและนิ้วโป้งมากเกินไป และวิธีการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บในอนาคต เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หากคุณมีอาการที่สงสัยว่าตัวเองอาจจะเป็นโรคเอ็นอักเสบที่ข้อมือ ควรเดินทางไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและดูแลรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อจะได้ไม่ต้องทนทรมานกับอาการเจ็บปวดข้อมือที่ต้องพึ่งพาใช้งานไปอีกนาน 

 

ภาพ: Shutterstock 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising