×

‘เมื่อดวงตาถูกใช้ช่วยเเทนการสื่อสาร’ รู้จัก SenzE นวัตกรรมช่วยเหลือผู้ป่วยทุพพลภาพและสื่อสารลำบาก

12.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ‘SenzE’ เครื่องมือช่วยเหลือผู้ป่วยเพื่อการสื่อสารโดยควบคุมผ่านดวงตา ด้วยเทคโนโลยี Eye Tracking System ผ่านกล้องความคมชัดสูงจำนวน 2 ตัวและเซนเซอร์อินฟราเรด 3 ตำแหน่ง โดยมีจุดประสงค์เพื่อการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาต และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงให้กลับมาสื่อสารได้อีกครั้ง
  • แพทย์หลายรายลงความเห็นหลังจากที่ทดลองวิจัยและใช้งาน SenzE กับผู้ป่วยจริง ว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยกับตัวผู้ป่วยสูง  ซึ่งตัวผู้ป่วยเองที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุก็สามารถใช้งานได้อย่างไร้ปัญหากว่า 70% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอุปกรณ์ไม่ได้ใช้ยากเกินจริงแต่อย่างใด
  • ด้วยปัญหาด้านราคาจำหน่ายที่สูง ปัจจุบัน SenzE จึงต้องพึ่งรูปแบบการ CSR ขององค์กรต่างๆ ในการจัดซื้อเพื่อการบริจาคเป็นส่วนใหญ่ รวมถึง ต้องหารือกับหน่วยงานต่างๆ ในการนำอุปกรณ์เข้าไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลหรือผู้ป่วย ขณะที่ในอนาคตก็จะเริ่มทำงานกับเว็บไซต์ระดมทุนเเบบ Crowdfunding อย่างเทใจมากขึ้น

     จากสถิติข้อมูลล่าสุดที่จัดเก็บโดยกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2557 พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ประมาณ 500,000 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวมากถึง 25,000 คน ขณะที่โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) ซึ่งแม้จะมีโอกาสเป็นได้น้อยกว่า แต่หนทางการรักษาให้หายเป็นปกติก็ค่อนข้างริบหรี่

     ที่สำคัญผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาต และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญสภาวะการสูญเสียความสามารถทางการเคลื่อนไหวร่างกายหรือแม้แต่ ‘การสื่อสาร’ ที่ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถพูดคุยได้เลย ทำให้พวกเขาไม่สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้เฉกเช่นคนปกติทั่วไป

 

 

     เมื่อเข้าใจถึงปัญหาและอยากเป็นส่วนหนึ่งของการหาทางออก เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว เพียร์-ปิยะศักดิ์ บุญคมรัตน์ จึงหันมาพัฒนานวัตกรรมช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวด้วยเทคโนโลยี Eye Tracking System จนเกิดเป็น ‘SenzE’ เครื่องมือช่วยเหลือผู้ป่วยเพื่อการสื่อสารโดยควบคุมผ่านดวงตา

     THE STANDARD ชวนคุณมาทำความรู้จักกับ SenzE ภายใต้การพัฒนาของปิยะศักดิ์และบริษัท เมดิเทค โซลูชั่น จำกัด (Meditech Solution) เพื่อค้นหาที่มา แรงบันดาลใจ และโอกาสของการได้ช่วยเหลือผู้ป่วยหลายๆ รายไปพร้อมๆ กัน

 

จากความต้องการอยากช่วยเหลือคุณพ่อของเพื่อนขยายสู่โอกาสช่วยเหลือผู้ป่วยอีกหลายแสนคน

     เดิมทีปิยะศักดิ์ประกอบธุรกิจในนามบริษัท บางกอก เว็บโซลูชั่น จำกัด ซึ่งดำเนินกิจการรับออกแบบเว็บไซต์ พัฒนาระบบ e-Learning และซอฟต์แวร์ให้กับหน่วยงานชั้นนำต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ กระทั่งวันหนึ่งในปี 2555 หลังจากที่เพื่อนของเขาได้เข้ามาขอคำปรึกษาเพราะต้องการช่วยเหลือคุณพ่อที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงให้กลับมาสื่อสารได้อีกครั้ง เขาจึงหันเหความสนใจทั้งหมดมามุ่งเป้าหมายพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่สามารถสื่อสารได้ด้วยตัวเอง

     ปิยะศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่าคงมีผู้ป่วยเพียงไม่กี่รายบนโลกใบนี้ที่สามารถใช้กล้ามเนื้อบนใบหน้าถ่ายทอดออกมาเป็นประโยคคำพูดเหมือนที่ สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยาชื่อดัง ซึ่งป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงสามารถทำได้ และเมื่อผู้ป่วยสูญเสียทักษะการพูดโดยสิ้นเชิง ทักษะการได้ยินและการมองเห็นก็น่าจะยังใช้การได้อยู่ ฉะนั้นแล้วความสามารถในการควบคุมดวงตาที่ยังไม่เสื่อมสภาพก็น่าจะพอต่อยอดสร้างประโยชน์ได้บ้าง

     “ผมค้นพบว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาและสวีเดนมีการนำเทคโนโลยีการตรวจจับความเคลื่อนไหวของดวงตา (Eye Tracking System) มาใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยด้านการสื่อสาร เลยคิดที่จะนำเข้าเทคโนโลยีดังกล่าวแล้วเขียนโปรแกรมให้เป็นภาษาไทย แต่ก็แอบรู้สึกว่าบางทีเราอาจจะต่อยอดมันได้มากกว่านั้น ผมจึงนำแนวคิดและเทคโนโลยีนี้ไปปรึกษากับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และได้รับคำแนะนำว่าเป็นไอเดียที่น่าสนใจ เป็นประโยชน์ไม่น้อย ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่เคยมีผู้ประกอบการรายใดในไทยนำโปรเจกต์ที่ใกล้เคียงกันมาปรึกษาเลย ผมจึงอาสาขอลองทำโดยได้งบประมาณในการพัฒนาจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     “เราใช้ระยะเวลาพัฒนาฮาร์ดแวร์ดังกล่าวและการวิจัย-พัฒนา (R&D) นานถึง 8 เดือน ก่อนจะได้เป็น SenzE อุปกรณ์ช่วยสื่อสารทางสายตา (ตาทำหน้าที่เสมือนเมาส์ เมื่อกะพริบตาจะเท่ากับการกดคลิก) ผ่านการเขียนโปรแกรมบนเครื่องคอมพิวเตอร์และกล้องเว็บเเคมที่ใช้ตรวจจับการเคลื่อนไหวของดวงตา หลังจากนั้นก็เริ่มนำอุปกรณ์รุ่นโปรโตไทป์เข้าไปขออนุญาตทดลองผลการใช้งานทางคลินิก Clinical Trials ที่สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ผู้ป่วยจริง และผ่านการทดสอบครบถ้วนทุกขั้นตอน”  ปิยะศักดิ์กล่าว

 

 

แพทย์ชี้ช่วยลบข้อจำกัดด้านการสื่อสารของผู้ป่วยซึ่งเดิมทีต้องใช้ ‘บัตรคำ’

     อาจกล่าวได้ว่า SenzE คือการทลาย Pain Point หรือปัญหาด้านการสื่อสารที่เกิดขึ้นเรื้อรังในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยอัมพาต ฯลฯ อย่างเเท้จริง เพราะหลังจากที่เเพทย์จำนวนหนึ่งได้ทดสอบอุปกรณ์ดังกล่าวผ่านการใช้งานในห้องปฏิบัติการหรือกับผู้ป่วยจริง พวกเขาก็ลงความเห็นในทิศทางเดียวกันว่านวัตกรรมนี้มีประสิทธิภาพในการใช้งานสูง และไม่เป็นอันตรายกับตัวผู้ใช้แต่อย่างใด

     ปิยะศักดิ์บอกว่า “ในตอนนั้นคุณหมอหัวหน้าภาควิชาประจำสถาบันประสาทวิทยาได้เข้ามาดูแลการทดสอบด้วยตัวเอง เพราะตื่นเต้นกับตัวเทคโนโลยี เขาบอกว่าเดิมทีเวลาจะรักษาหรือดูแลผู้ป่วยก็ต้องใช้บัตรคำแทนการสื่อสารตลอด ผู้ป่วยจะต้องเปิดบัตรคำจำนวนกว่า 100 ใบเพื่อสื่อสารความต้องการของตนออกมาเช่น อยากเข้าห้องน้ำ, ทานอาหาร, อยากพลิกตัว, เจ็บปวดส่วนใดของร่างกาย ซึ่งทำให้เสียเวลาและไม่รู้ว่าสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการจะอยู่ที่บัตรเบอร์อะไร และบางทีบัตรคำเองก็อาจจะไม่มีสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการเลยก็ได้

     “เเพทย์หลายท่านลงความเห็นหลังจากที่ทดลองวิจัยและใช้งาน SenzE กับผู้ป่วยจริงว่า เป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยกับตัวผู้ป่วย ขณะที่ผู้ป่วยจำนวนกว่า 70% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุก็สามารถใช้งานได้อย่างไร้ปัญหาตั้งแต่เวอร์ชันโปรโตไทป์ สะท้อนให้เห็นว่านวัตกรรมของเราไม่ได้ถูกต่อต้านจากผู้ที่อาจจะไม่ได้สนใจเทคโนโลยี เพราะเขามองอุปกรณ์ของเราเป็นโอกาสที่จะช่วยให้กลับมาสื่อสารได้อีกครั้ง หลังจากนั้นเป็นต้นมาผมก็เริ่มนำอุปกรณ์ไปเดินสายประกวดตามเวทีต่างๆ และได้รับการร่วมทุนจากบริษัทหลายๆ แห่ง”

     ให้หลัง 8 เดือน Meditech Solution ก็พัฒนา SenzE เวอร์ชันเเรกสำเร็จจนสามารถวางขายในท้องตลาดได้ในราคาประมาณ 180,000 บาท (ถูกกว่าต่างประเทศที่ขายในราคา 300,000 บาทและยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยเครื่องรองรับภาษาไทยและอังกฤษ และในช่วงระยะเวลา 5 ปีหลังสุด พวกเขาก็สามารถพัฒนา SenzE ออกมาได้มากถึง 4 รุ่นแล้ว

 

 

นวัตกรรมช่วยสานต่อรอยยิ้มและเสริมสร้างกำลังใจที่ดีสู่ผู้ป่วย

     สำหรับ SenzE เวอร์ชัน 4 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดมาพร้อมกับความสามารถที่ครบครันรอบด้าน ทั้งฟีเจอร์ระบบแปลภาษา (ผ่าน Google), ระบบไลฟ์แชตเเละมอนิเตอร์แบบเรียลไทม์บนตัวแอปพลิเคชันของผู้ดูแลและเเพทย์, ความสามารถในการท่องอินเทอร์เน็ตและโซเชียล (เฟซบุ๊ก, ยูทูบ, เว็บไซต์ทั่วไป), ระบบสัญญาณเตือนฉุกเฉิน, รองรับภาษาในการใช้งานได้ 17 ภาษา

     นอกจากนี้ชุดคำสั่งการสื่อสารทั้งหมด 6 หมวดหมู่ได้แก่ ความรู้สึก, ​ความต้องการ,​ อาหารและเครื่องดื่ม, คีย์บอร์ดสนทนา, ความบันเทิงและกิจกรรม ก็สามารถปรับเพิ่มลดได้ตลอดเวลาตามพฤติกรรมและลักษณะนิสัยของผู้ใช้งาน (ผู้ป่วย) ในหมวดความรู้สึกสามารถบอกอาการเจ็บปวดในตำแหน่งต่างๆ ตามระดับที่รู้สึกได้, หมวดอาหารสามารถบอกเมนูที่อยากทานและรสชาติที่ต้องการ ด้านการใช้งาน จากเดิมที่ต้องกะพริบตา 2 ครั้ง เพื่อเเทนการกดคลิกก็ถูกเปลี่ยนมาใช้การมองจ้องเป็นระยะเวลา 2 วินาทีแทนเพื่อให้ใช้งานง่ายขึ้น (ปรับเพิ่มระยะเวลาได้ตามความเหมาะสม) สนนราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ 240,000 บาท ส่วนเเท็บเล็ตจะอยู่ที่ 60,000 บาท

     ปิยะศักดิ์บอกกับเราว่า “ส่วนใหญ่แล้วญาติและผู้ดูแลจะเป็นคนฟีดแบ็กผลการใช้งานกลับมาให้เรา และก็มีหลายเคสที่เราได้เห็นผลการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเขาอย่างชัดเจน อย่างเคสอาม่ารายหนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่จังหวัดชลบุรี จากเดิมที่ไม่เคยมีความสุขและรอยยิ้ม หรือแม้แต่กำลังใจในการใช้ชีวิต กระทั่งได้ลองใช้อุปกรณ์ของเรา ผู้ดูแลก็เล่าให้เราฟังว่าอาม่าเริ่มพูดคุยกับลูกหลานได้มากขึ้น ส่วนเราก็ได้เห็นรอยยิ้ม ความหวัง และกำลังใจของเขา
     “ส่วนเคสล่าสุดของอาจารย์แพทย์ท่ีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ก็ใช้อุปกรณ์ของเราในการรักษาและดูผู้ป่วยต่ออีกที ทั้งๆ ที่ตัวเขาป่วยอยู่บนเตียงและไม่สามารถพูดได้เลยด้วยซ้ำ มีผู้ป่วยและแพทย์จำนวนไม่น้อยเลยที่มาขอบคุณนวัตกรรมของเรา เพราะเป็นส่ิงที่พวกเขารอคอยกันมานาน และจนถึงทุกวันนี้ก็ยอมรับว่ามันมาไกลพอสมควรนะครับ ผมเองก็ไม่คิดว่าเราจะพัฒนามาถึงขนาดนี้ได้”

 

 

โจทย์ใหญ่คือการแก้อุปสรรคด้านราคาและการเจาะกลุ่มผู้ใช้งานทางบ้าน (Home Users) ให้มากขึ้น

     ปัจจุบัน SenzE มียอดผู้ใช้งานแบบ Active Users ไม่เกิน 100 ราย แบ่งเป็นสัดส่วนการใช้งานตามโรงพยาบาล 60% และผู้ใช้งานทั่วไป 40% โดยในช่วงระยะเเรกๆ พวกเขาอาศัยการวิ่งเข้าไปตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อแนะนำนวัตกรรมนี้ และยังได้รับโอกาสจากการร่วมงานกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและ ‘Intouch’ ในนาม AIS ทำโปรเจกต์เพื่อซื้ออุปกรณ์เวอร์ชันแรกทั้งหมด 30 เครื่องไปบริจาคให้โรงพยาบาลรัฐบาลจำนวน 10 แห่ง ส่วนเวอร์ชันล่าสุดโรงพยาบาลอย่างบำรุงราษฎร์, กรุงเทพ, ปิยะเวท, พญาไท, เปาโล และวิชัยยุทธ ก็เริ่มนำอุปกรณ์เข้าไปทดลองใช้กับผู้ป่วยจริงแล้ว โดยมีโรงพยาบาลบางแห่งที่อยู่ในขั้นตอนพิจารณาการจัดซื้ออยู่

     อย่างไรก็ดีปัญหาสำคัญคือราคาวางจำหน่ายที่ยังคงสูงเกินไปเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ตัวผู้ป่วยต้องแบกรับ (ราคาเครื่อง 240,000 บาท) ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีโครงการบริจาคอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยที่มีความต้องการใช้ หรือโปรโมชันผ่อน 0% เป็นระยะเวลา 10 เดือน, ให้เช่า 8,500 บาทต่อเดือน และลดราคาตามสเปกที่ไม่ต้องการ กระนั้นอุปสรรคด้านราคาและการไม่สามารถบริจาคเป็นจำนวนมากได้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ SenzE ยังคงเข้าถึงผู้ป่วยตามครัวเรือนได้ยากอยู่

     ต่อประเด็นดังกล่าว ปิยะศักดิ์บอกว่า “เราวางแผนไว้ว่าเครื่อง SenzE เวอร์ชันล่าสุดจะทำงานร่วมกับเว็บไซต์ ‘เทใจ’ ที่ดำเนินการระดมทุนเเบบ Crowdfunding กับโรงพยาบาลรัฐบาล 5 แห่ง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยอัมพาต, ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง, ผู้ป่วย ICU, ผู้ป่วยบาดเจ็บกระดูกสันหลัง รวมถึงผู้ป่วยนอนติดเตียงสามารถใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ของเราได้ นอกจากนี้ก็พยายามพูดคุยกับหน่วยงานหลายๆ แห่งเหมือนกัน เช่น ปลัดกระทรวงคมนาคมและกองทุนความปลอดภัยด้านการใช้รถใช้ถนนเพื่อหาลู่ทางการนำเงินรายได้จากการประมูลทะเบียนเลขสวยมาต่อ
ยอดซื้อ SenzE ไปบริจาคให้กับผู้ป่วย ซึ่งเขาก็โอเคเพราะมองว่ามันเป็นประโยชน์ เราพยายามจะผลักดันนวัตกรรมของเราเข้าไปกับหน่วยงานพวกนี้มากขึ้น

     “หากมองในแง่การพัฒนาเทคโนโลยี ผมมองว่าเราทำสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว แต่ในแง่ของการขายก็ยังคงต้องทำการบ้านอีกเยอะ โจทย์สำคัญคือการทำให้เทคโนโลยีของเราเป็นที่รู้จักกว้างขวางกับผู้ใช้ทั่วไปจากทางบ้านมากกว่านี้ เพราะก่อนหน้านี้เรามุ่งให้ความสำคัญกับตัวโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์เป็นส่วนใหญ่มากกว่า

     “ส่วนในอนาคตเรามองถึงโอกาสการไปบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากยังไม่ค่อยพบเห็นเทคโนโลยีแบบนี้ในเอเชียมากนัก จะมีก็แค่ในญี่ปุ่นหรือเกาหลีที่ Samsung พัฒนาหลังจากเรา 2 ปีเพื่อการกุศล ส่วนสหรัฐอเมริกา แคนนาดา สวีเดน เยอรมัน เดนมาร์ก ก็มีการใช้นวัตกรรมเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งในอาเซียนน่าจะมีแค่เราเพียงเจ้าเดียว ดังนั้นเวลาที่นำ SenzE ไปออกบูธในสิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย ก็จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนในประเทศเขามาก แต่ก็คงต้องหาตัวแทนจำหน่ายและพาร์ตเนอร์ให้ได้เสียก่อน”

     ในวันที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูดหรือท่าทางการเคลื่อนไหวเพื่อบอกความรู้สึก อารมณ์หรือความต้องการได้อีกต่อไป อย่างน้อยที่สุด SenzE ก็น่าจะช่วยเหลือผู้ป่วยทุพพลภาพให้กลับมาสื่อสารและมอบกำลังใจที่งดงามให้กับพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง

     ถ้าคุณสนใจอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้กลับมาสื่อสารได้อีกครั้ง สามารถติดตามโปรเจกต์การระดมทุนเพิ่มเติมได้ที่ taejai.com/en หรือ www.meditechsolution.com

FYI
  • SenzE เวอร์ชัน 4 (ล่าสุด) ประกอบไปด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์แบบ All in One, ขาตั้ง, กล้องความคมชัดสูง 2 ตัวและอินฟราเรด สามารถรองรับภาษาในการใช้งานได้มากถึง 17 ภาษา ได้แก่ ไทย, ญี่ปุ่น, จีน, รัสเซีย, มลายู, เยอรมัน, อารบิก, พม่า, กัมพูชา, ฝรั่งเศส, สเปน, อิตาลีและโปรตุเกส เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ใช้งานจะต้องอยู่ห่างจากหน้าจอเครื่องไม่เกิน 1 เมตร
  • กำลังผลิตในปัจจุบันขึ้นอยู่กับยอดการสั่งซื้อ ถ้ามีคำสั่งซื้อก็สามารถผลิตได้ทันทีภายใน 20 วัน โดยไม่สามารถสต็อกฮาร์ดเเวร์ได้เนื่องจากเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วตลอดเวลา
  • ปัจจุบันยังไม่สามารถใช้งานแชตแอปพลิเคชัน Line ได้ โดยสามารถใช้แชตเเอปพลิเคชันได้แค่ Facebook Messenger และโปรแกรมเเชตของ SenzE เท่านั้น
  • สนใจผลิตภัณฑ์ สามารถติดตามรายละเอียดได้จาก www.meditechsolution.com ซึ่งมีบริการนำเครื่องไปให้ผู้ป่วยทดลองใช้ฟรีเป็นระยะเวลา 2 อาทิตย์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และหากอยากทดลองใช้อุปกรณ์จริงก็สามารถไปลองได้ที่ห้างหุ้นส่วน เดอะเบสอุปกรณ์การแพทย์ จำกัด ตรงข้ามโรงพยาบาลศิริราชได้
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising