ในวันที่เวที ‘ฮิปฮอป’ กำลังลุกเป็นไฟจากรายการค้นหาแรปเปอร์หน้าใหม่ Show Me The Money Thailand เริ่มออกอากาศเป็นตอนแรก ภาพของแรปเปอร์นับพันคนเดินทางจากทั่วประเทศเพื่อมาชิง ‘สร้อยคอ’ จากโปรดิวเซอร์ประจำรายการ และคว้าโอกาสในการเป็นศิลปินฮิปฮอปตัวจริงต่อไป
เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องให้เดือด THE STANDARD มีโอกาสได้นั่งคุยกับ เดย์ Thaitanium (จำรัส ทัศนละวาด a.k.a. ‘S.D.’ Sunny Day) หนึ่งในโปรดิวเซอร์ประจำรายการ (ทีม SunnyCash ร่วมกับ เอ้ Botcash ศิลปินอีดีเอ็มรุ่นใหม่ที่น่าจับตา) ตัวพ่อแห่งวงการฮิปฮอปที่รวมตัวกับเพื่อนๆ ช่วยกันกรุยทางให้กับเพลงฮิปฮอปที่ไม่มีคนรู้จักตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว จนเข้าสู่ยุคฮิปฮอปครองโลกที่เดินไปที่ไหนก็สามารถเจอแรปเปอร์ได้ทุกหย่อมหญ้า
นอกจากการต่อสู้ที่ผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะต้องพบเจอ เราชวนเดย์คุยย้อนไปถึงบรรยากาศเก่าๆ ที่เขาคิดถึงเพื่อสะท้อนให้เห็นภาพรวมความเปลี่ยนแปลงของวงการฮิปฮอปที่เขารัก ที่แม้ว่าสิ่งต่างๆ ในโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไร แต่สิ่งหนึ่งที่ศิลปินรุ่นใหญ่อย่างเขาเชื่อมั่นก็คือดนตรีฮิปฮอปจะไม่มีวันตายไปจากโลกนี้อย่างแน่นอน
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในบุกเบิกเพลงฮิปฮอปเมืองไทยตั้งแต่ยุคแรก รู้สึกอย่างไรบ้างกับความเปลี่ยนแปลงในวงการฮิปฮอปไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
ต้องย้อนกลับไปประมาณปี 1996 ที่แทบจะยังไม่มีคำว่าฮิปฮอปในเมืองไทย สมมติเราอยากฟังเพลงฮิปฮอป เราต้องไปในสถานที่เฉพาะอย่างร้าน Speed ที่สีลม ซอย 4 ต้องเอาซีดีหรือแผ่นเสียงไปให้เขาเปิด อีกครั้งคือปี 2000 ที่ทำวง AA Crew กันแบบสนุก ตอนนั้นตลาดฮิปฮอปมันเล็กมาก เราใช้วิธีทำซีดีออกมา แล้วพอเห็นเด็กๆ เดินผ่านก็แจกเขามั่วๆ เลย แต่กลายเป็นว่าทุกคนชอบ ถามว่าหาซื้อได้ที่ไหน เราก็เลยปั๊มแผ่นออกมาขาย แล้วก็ขายดีจนมานั่งคิดกันเล่นๆ กับเวย์และขันเงินว่า เฮ้ย หน้าตาพวกเราก็ดีนะ ถ้าทำกันจริงๆ เราจะเป็นฮิปฮอปที่ดูดีมากเลยนะ (หัวเราะ) ก็เลยออกมาเป็นอัลบั้ม Thai Rider ของ Thaitanium ขึ้นมา
แต่ระหว่างนั้นที่ไปๆ กลับๆ อเมริกากับประเทศไทยมันก็ยังเศร้าๆ อยู่นะ ฮิปฮอปมันคือคัลเจอร์ของที่นั่น เวลาเข้าร้านเสื้อผ้า ร้านหนังสือ เขาก็เปิดเพลงฮิปฮอปคลอไป ไปที่ไหนก็มีแต่คนแต่งตัวฮิปฮอป แต่พอพวกเราแต่งแบบนั้นที่เมืองไทยกลับมีแต่คนมองกันแปลกๆ (หัวเราะ) ทุกครั้งที่กลับเมืองไทยก็จะคิดตลอดว่าอยากให้เด็กๆ ที่นี่ได้ซึมซับวัฒนธรรมที่เราชอบแบบนั้นบ้าง เราก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อผลักดันให้โตขึ้น จนเข้าสู่ยุคฮิปฮอปครองเมืองอยู่ช่วงหนึ่งที่มี Thaitanium, ก้านคอคลับ รวมทั้งศิลปินฮิปฮอปอันเดอร์กราวด์เกิดขึ้นเยอะมาก จนกระทั่ง 5 ปีก่อนหน้านี้ที่ยุคสมัยเปลี่ยนกลายเป็นยุคที่เพลงอีดีเอ็มครองเมือง แล้วฮิปฮอปก็เงียบไปอีกครั้ง
จนเมื่อ 1-2 ปีที่แล้วที่แรปบูมขึ้นมาจากรายการ Rap is Now ตอนนั้นมีน้องคนหนึ่งมาบอกให้ลองฟัง แต่ผมยังไม่ได้ติดตามเท่าไร แต่ก็ดีใจที่รู้ว่าฮิปฮอปเริ่มกลับมาแล้ว จนได้มาเห็นเต็มๆ จริงคือตอนมาเป็นโปรดิวเซอร์ในรายการ Show Me The Money Thailand เห็นผู้สมัครเป็นพันคน แล้วหลายคนทำให้รู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมเด็กไทยมันเก่งขนาดนี้ แล้วมันหายไปอยู่ไหนกันมาวะ เขามีทั้งสกิล เทคนิค ทัศนคติ และไฟในการแรปหรือทำเพลงที่เยอะมาก ทำให้ผมขนลุกเลยนะ คิดเลยว่าเดี๋ยวฮิปฮอปจะต้องกลับมาครองเมืองอีกครั้งได้อย่างแน่นอน
มีผู้เข้าแข่งขันคนไหนบ้างที่เห็นแล้วรู้สึกคิดถึงบรรยากาศเก่าๆ หรือคิดถึงภาพตัวเองสมัยเด็กๆ ที่พยายามทำบางอย่างเพื่อเป็นศิลปินฮิปฮอปให้ได้
เอาจริงๆ คือทุกคนเลยนะ มีหลายคนที่ผมได้พูดคุยแล้วเขาเล่าให้ฟังถึงการทำเพลงของเขา ชอบฟังเพลงเพราะแบบนั้นแบบนี้ อยากเป็นศิลปิน พยายามฝึกฝนตัวเอง เขียนเพลงตอนนั่งรถเมล์ แล้วคิดถึงตัวเองสมัยก่อนที่เขียนเพลงระหว่างนั่งรถไปเรียนไฮสคูลแล้วรู้สึกอยากกลับไปเป็นเด็กอีกรอบว่ะ ถ้าเราเป็นเด็กอีกครั้ง เราคงทำอะไรได้เยอะกว่านี้ เพราะสมัยก่อนเวลาจะทำเพลง โดยเฉพาะเพลงแรปหรือฮิปฮอป มันมีข้อจำกัดเยอะเยอะไปหมด
ในรายการมีน้องชื่อ ยูกิ กับมังกร อายุแค่ 10 ขวบต้นๆ เอง แต่ทำเพลงแรปได้แล้ว แล้วเก่งด้วย บางทีผมรู้สึกอิจฉาพวกเขาเลยนะที่มีเพลงฮิปฮอปให้ฟังเต็มไปหมดในอินเทอร์เน็ต แล้วก็มีอุปกรณ์ที่เขาสามารถฝึกฝน เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองได้เยอะกว่าสมัยก่อนเยอะมาก แค่เราอยากฟังเพลงยังต้องขวนขวายอย่างหนัก อยากหาข้อมูลก็ต้องเข้าห้องสมุดไปอ่านหนังสือ แต่เดี๋ยวนี้ข้อมูลทุกอย่างเข้าถึงง่ายหมดเลย เด็กอายุ 12 ปี บางคนมีคอมพิวเตอร์แค่เครื่องเดียวเขาก็สามารถทำเพลงได้แล้ว
นอกจากความรู้สึกอิจฉาเด็กรุ่นใหม่ รู้สึกว่ามีเรื่องไหนบ้างที่มันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวในยุคของคุณที่เด็กๆ จะต้องอิจฉาแน่ๆ
พวกการฟังเพลงเป็นอัลบั้มผ่านเทปคาสเซตต์ แผ่นเสียง หรือว่าซีดีที่เราไม่ใช่แค่ฟังเพลง แต่เราจะได้อ่าน ได้ดูรูป เครดิต เบื้องหลังต่างๆ กว่าที่จะออกมาเป็นอัลบั้มนั้นๆ การค่อยๆ แกะกระดาษมาอ่านเนื้อเพลง มาดูว่าใครเป็นคนแต่งเนื้อร้อง ทำนอง ได้เห็น Special Thanks ว่าเขาขอบคุณใครบ้าง ยิ่งได้เห็นเวลาเพื่อนทำเพลงออกมาแล้วมีชื่อของเราอยู่ตรงนั้นนี่ยิ่งเป็นความสุขอย่างหนึ่งเลย ซึ่งไอ้ข้อมูลพวกนี้มันต้องอ่านจากปกเทปหรือปกซีดีเท่านั้นจริงๆ นะ การให้เครดิตใต้คลิปในยูทูบก็ทดแทนไม่ได้ นั่นคือเสน่ห์ที่สุดของการทำเพลงเป็นอัลบั้ม ซึ่งเด็กสมัยนี้คงเปลี่ยนเป็นเสน่ห์ของคำว่า My Playlist แทนแล้ว
ในฐานะศิลปินรุ่นใหญ่คนหนึ่ง มีความรู้สึกเป็นห่วงน้องๆ รุ่นใหม่ที่เพิ่งก้าวเข้ามาในวงการฮิปฮอปบ้างไหม
จริงๆ ไม่ห่วงอะไรมากนะ แค่รู้สึกว่าบางทีการแรปสมัยนี้มันง่ายไปนิด สมัยก่อนเวลาเราจะเขียนไรม์ออกมาแต่ละบาร์ต้องคิดหน้าคิดหลัง ใช้คำให้สละสลวย ให้ลงบีต ลงบาร์พอดี อันนี้บอกก่อนว่าผมไม่ได้ตัดสินใครนะ เข้าใจว่าเป็นสไตล์ของแต่ละคน และยุคสมัยก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปแหละ แต่ถ้าผมก็อาจจะรู้สึกว่ามันง่ายไปนิด
อีกเรื่องที่ค่อนข้างเป็นห่วงมากกว่าคือเด็กรุ่นใหม่บางคนฟังแต่เพลงอย่างเดียวโดยที่ไม่รู้ว่าจริงๆ ฮิปฮอปมาจากไหน เกิดขึ้นเพราะอะไร มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร บางคนคิดว่าฮิปฮอปเป็นแค่แฟชั่น เป็นกระแสที่มาแป๊บเดียวเดี๋ยวก็ไป แต่จริงๆ แล้วฮิปฮอปหรือว่า Rap Music มันคือคัลเจอร์ คือวัฒนธรรมที่อยู่มานานและลึกซึ้งกว่านั้นเยอะ
เราต้องรู้ประวัติศาสตร์ของแนวเพลงไปเพื่ออะไร ถ้าเกิดว่าศิลปินคนนั้นเขามีความสามารถเพียงพอที่จะทำเพลงได้อยู่แล้ว
เอาจริงๆ มันก็ไม่ได้วัดว่าคุณเรียลหรือไม่เรียล เก่งหรือไม่เก่งอะไรหรอกนะ แต่สมมติคุณเป็นนักดนตรีฮิปฮอป คุณจะไม่รู้หน่อยเหรอว่า Run-DMC เป็นใคร Kool G Rap เป็นใคร LL Cool J เป็นใคร เหมือนกัน ถ้าคุณเป็นศิลปินร็อกแอนด์โรล คุณจะไม่รู้หน่อยเหรอว่า Guns N’ Roses เขามาจากไหน คุณจะฟังแค่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าโดยไม่ย้อนไปว่าที่มาของคุณคืออะไร เหมือนเรามาอยู่ในครอบครัวฮิปฮอปแล้วไม่อยากรู้ว่าพ่อแม่ ปู่ย่าตายายของคุณในครอบครัวนี้มีใครบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะบอกได้ว่าจริงๆ แล้วคุณคือใครกันแน่ ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเข้ามาอยู่ในครอบครัวนี้ ต้องเข้าใจรากฐานของสิ่งที่เราเป็นก่อน แล้วเราจะพัฒนาต่อจากรากฐานนั้นอย่างไรให้กลายเป็นสไตล์ของคุณ นั่นเป็นอีกเรื่อง
เพลงของผู้เข้าแข่งขันหลายคนในรายการ Show Me The Money ประเทศเกาหลีใต้ ได้ขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งของเพลงทั้งประเทศ คิดว่าในบรรยากาศวงการเพลงไทยตอนนี้ ศิลปินในรายการ Show Me The Money Thailand มีโอกาสทำแบบนั้นได้ไหม
ได้นะ ผมคิดว่านอกจากภาษาที่ต่างกันแล้ว เรื่องสกิล เทคนิค เราเท่ากันหมดแล้ว ตอนนี้ในทีมของผมที่ได้มา 5 คนก็เก่งกันหมดเลย เพราะฉะนั้นมันขึ้นอยู่กับการโปรดิวซ์ของเราอย่างเดียวเลย ซึ่งจะออกมาในทิศทางไหนก็ยังต้องมาคุยกันอีกเยอะ เพราะแตกต่างจากการโปรดิวซ์ศิลปินในค่าย Thaitanium Entertainment เยอะมาก เพราะหนึ่ง เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน สอง เรายังไม่รู้ว่าเขาพร้อมที่จะเชื่อและทำตามสิ่งที่เราต้องการได้หรือเปล่า นอกจากเรื่องทางเทคนิคมันยังมีเรื่องของประสบการณ์ที่ต้องสั่งสมกันมากกว่านี้ ยังมีเรื่องทัศนคติที่ต้องปรับแก้กันหน่อย
นอกจากให้คำแนะนำเรื่องเทคนิค การเขียน การปรับบีต ปรับภาษาให้ลงตัว หน้าที่ในการเป็นโปรดิวเซอร์สำหรับผมจะไม่ใช่การห้ามเขาว่าอย่าทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้ ผมจะไม่บังคับตัวตนของใคร แต่จะพยายามชี้แนวทางให้ดูจากการที่อยู่ในวงการมาก่อนว่าผลของการกระทำหรือการตัดสินใจหลายๆ อย่างมันจะออกมาอย่างไร เพราะเรื่องของตัวตนจะมีแค่ตัวเขาคนเดียวเท่านั้นที่รู้ดีที่สุด
นอกจากเรื่องเทคนิค โปรดิวเซอร์เดย์จะเข้าไปให้คำแนะนำกับ ‘เรื่อง’ ที่เขาจะต้องนำเสนอมากขนาดไหน
ผมจะบอกแค่คอนเซปต์คร่าวๆ เช่น ตอนนี้ควรพูดเรื่องจีบสาว เรื่องพ่อแม่ เรื่องการใช้ชีวิต หรือเรื่องสังคม แต่จะไม่ไปชี้นิ้วบอกว่าต้องเขียนอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่ผมบอก เพราะผมเข้าใจจุดนี้ในฐานะที่เป็นศิลปินคนหนึ่ง เวลามีใครมาบังคับผมก็ไม่ชอบเหมือนกัน
ถ้าสมมติว่าเพลงนั้นเทคนิคดี ไรม์สวย บีตดี ลงตัวไปหมดทุกอย่าง แต่เนื้อหาเป็นเพลงที่ล่อแหลมหรือมีทัศนคติไม่ดีบางอย่างออกมา คุณจะทำอย่างไร
เช่นทุกอย่างดีหมด แต่เนื้อหาล่อแหลม ออกไปทางทะลึ่ง เรตอาร์อะไรแบบนั้น ผมไม่มีปัญหาเลยนะถ้าองค์ประกอบทุกอย่างมันครบอย่างที่บอกไป ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือทัศนคติว่าสิ่งที่คุณพูดต้องเป็นตัวของตัวเอง เป็นสิ่งที่คุณรู้สึกจริงๆ และมีความมั่นใจที่จะสื่อสารออกไป จะพูดเหี้ยห่าอะไรก็ได้ พูดไปเถอะ เพราะเสน่ห์อย่างหนึ่งของฮิปฮอปคือความตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม แต่สิ่งเดียวที่ผมจะบอกคือคุณยอมรับได้ไหมว่าคนจะมองกลับมาที่คุณยังไง ถ้าทำแบบนี้แล้วอาจจะมีคนจำนวนหนึ่งออกมาด่าคุณ ภาพพจน์คุณจะติดลบนะ ถ้ายอมรับได้แล้วมั่นใจว่านั่นคือตัวตนของคุณจริงๆ ก็โอเค เรามาลุยทำเพลงแบบนั้นกัน
คุณเขียนย้ำเนื้อร้องท่อนหนึ่งในเพลง WHO V R ที่ใช้โปรโมตทีมของคุณซ้ำๆ ว่า Hip Hop Never Die ส่วนตัวมีวิธีการอย่างไรบ้างเพื่อทำให้เพลงฮิปฮอปไม่มีวันตายได้อย่างที่พูดจริงๆ
ง่ายๆ เลยคือเราต้อง Keep on going! Do It! ทำมันต่อไปเรื่อยๆ เหมือนที่พวกเราเคยทำมาในสมัยก่อน ในยุคที่ไม่มีคนคิดว่าฮิปฮอปจะเกิดขึ้นมาด้วยซ้ำ เมื่อตอนนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วเราก็ต้องพยายามต่อไป อย่าหยุดที่จะทำ ตราบใดที่ยังมีคนทำเพลงอยู่ไม่ว่าจะกี่คนก็ตาม ฮิปฮอปก็จะไม่มีวันตายไปจากเราอย่างแน่นอน
เพลง WHO V R
ในยุคที่แรปแบตเทิลกำลังบูมในตอนนี้ ถ้าให้เลือกหนึ่งคนที่คุณอยากแบตเทิลด้วยที่สุด คนนั้นคือใคร
ไม่มีใครที่อยากแบตเทิลด้วยหรอก เพราะผมแรปแบตเทิลแบบฟรีสไตล์ไม่เก่ง (หัวเราะ) แต่ถ้าถามว่าใครเก่งก็คงต้องยกให้ Twopee เพราะอย่างนั้นจะให้ผมไปแบตเทิลกับใคร ผมไม่เอานะ เพราะโดนใครมาแรปด่า มากวนตีนใส่ แล้วเดี๋ยวไปต่อยเขาเข้า (หัวเราะ) ล้อเล่นนะ มันแค่เป็นสิ่งที่ผมไม่ถนัด เพราะผมไม่ได้เติบโตมากับการแบตเทิล ผมพอใจและมีความสุขกับการทำเพลงในแบบของผมมากกว่า
- AA Crew คือการรวมตัวของศิลปินฮิปฮอปวัยรุ่นในยุคนั้นอย่าง เดย์, ขันเงิน เนื้อนวล (a.k.a. ‘K.H.’ King of da Hustle), เวย์-ปริญญา อินทชัย (a.k.a. ‘P. Cess’), J.R.O.C และอภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต (a.k.a. Joey Boy) ที่เป็นเสมือนพี่ใหญ่ในวงการตอนนั้น รวมทั้งอีกหลายคนที่มาร่วมกันทำอัลบั้มใต้ดินและช่วยกันบุกเบิกเพลงแรปให้เริ่มเป็นที่รู้จัก จนทำให้เพลง HEA WOY!, FLIP และ YED ของพวกเขากลายเป็นเพลงประจำชาติของงานปาร์ตี้และคนรักเพลงฮิปฮอปไปโดยปริยาย
- Show Me The Money Thailand คือรายการค้นหาสุดยอดแรปสตาร์ ซึ่งเป็นรายการฟอร์แมตออริจินัลจากเกาหลี โดยได้ลิขสิทธิ์จาก CJ E&M บริษัทเอ็นเตอร์เทนเมนต์ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จในเกาหลีมาตลอด 6 ซีซัน โดยผู้ชนะในรายการจะได้รับเงินรางวัล 1 ล้านบาท และยังได้รับสิทธิ์ขึ้นโชว์บนเวที Show Me The Money ซีซัน 7 ที่ประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย
- นอกจากเดย์และเอ้ Botcash ที่รวมตัวกันในชื่อทีม SunnyCash เดย์ยังต้องร่วมมือกับโปรดิวเซอร์อีก 7 คนอย่าง สามหนุ่ม Buddha Bless อุ๋ย-นที เอกวิจิตร, เอ็ม-กิตติพงษ์ คำศาสตร์, โต้ง-สุรนันต์ ชุ่มธาราธร, ดาจิม-สุวิชชา สุภาวีระ, แจ๊ส สปุ๊กนิค ปาปิยอง กุ๊กกุ๊ก, เป้-บดินทร์ เจริญราษฎร์, ป๊อก-ภัสสรกรณ์ จิราธิวัฒน์
- Show Me The Money Thailand ออกอากาศตอนแรกในวันอังคารที่ 24 เมษายน เวลา 20.30-22.00 น. ทาง True4U ช่อง 24 สามารถรับชมรายการเวอร์ชัน uncensored ได้ที่แอปพลิเคชัน TrueID