เมื่อกว่า 120 ปีที่แล้ว เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษได้คิดค้นและประดิษฐ์ผ้าอนามัยขึ้นมาเป็นคนแรกเพื่อใช้ซับเลือดทหารและซับประจำเดือน โดยเป็นผ้าแบบที่ใช้แล้วทิ้ง
ตัดภาพมาที่เมืองไทย บ้านเรานั้นมีการจำหน่ายผ้าอนามัยมาราวๆ 100 กว่าปีที่ผ่านมา โดยยี่ห้อโกเต็กซ์ (Kotex) เป็นยี่ห้อแรกที่นิยมใช้มากสุด (จนคนยุคหนึ่งต้องเคยได้ยินคุณแม่หรือคุณป้าถามหา ‘โกเต๊กซ์’ มากันบ้างแหละ)
ทีนี้ลองมาดูสิว่า คุณรู้จักผ้าอนามัยมากแค่ไหนกัน
ชนิดของผ้าอนามัย
หากแบ่งตามขนาดและการใช้ ผ้าอนามัยแบ่งเป็นชนิดต่างๆ ดังนี้ค่ะ
1. แผ่นอนามัย (Panty Liner) มีขนาดบาง แนบกับชั้นในไม่ให้เห็นร่องรอยได้ ใช้สำหรับซับตกขาว ซับประจำเดือนวันมาน้อย หรือใช้เป็นแผ่นกันชุดเปื้อน (Backup) หากใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
2. ผ้าอนามัยชนิดบาง (Ultra Thin) มีขนาดบาง แนบกับชั้นใน ใช้ซับประจำเดือนวันมาน้อย
3. ชนิดธรรมดา (Regular) ซับประจำเดือนวันที่มาธรรมดา ผืนหนึ่งซับเลือดได้ประมาณ 5 ซีซี
4. ชนิดหนา (Maxi หรือ Super) นิยมใช้ซับประจำเดือนวันที่มามาก
5. ชนิดข้ามคืน (Overnight) ใช้ซับประจำเดือนขณะนอนหลับ มักมีปีก และหนากว่าชนิดหนา
แต่รู้ไหมว่าผ้าอนามัยอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากไม่สะอาด โดยในปี พ.ศ. 2535 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศฉบับที่ 10 กำหนดให้ผ้าอนามัยเป็นเครื่องสำอางควบคุม และจำแนกผ้าอนามัยออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. ผ้าอนามัยที่ใช้ภายนอก หมายความว่าใช้รองรับเลือดประจำเดือน ซึ่งไม่ได้สอดใส่เข้าช่องคลอด ในการผลิตต้องผ่านการทำให้สะอาดและถูกสุขลักษณะ มีจำนวนจุลินทรีย์ที่ยอมรับได้
2. ผ้าอนามัยชนิดสอด หมายความว่าใช้สอดใส่เข้าในช่องคลอด เพื่อดูดซับเลือดประจำเดือน ในการผลิตต้องผ่านกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อจุลินทรีย์ และระบุคำว่า ‘ปลอดเชื้อ’ ไว้ในฉลาก
ทั้งนี้ผ้าอนามัยทุกชนิดควรสวมใส่ระยะสั้นๆ ตอนมีประจำเดือน เพราะอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนได้ในภายหลัง ผืนหนึ่งจึงไม่ควรใส่นานเกิน 2-4 ชั่วโมง และไม่ควรสวมจนเปียกชื้น
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสวมผ้าอนามัยเป็นเวลานานต่อเนื่อง
- รอยคล้ำ จากความชื้นและการกดทับ ทำให้ผิวหนังอักเสบ รูขุมขนอักเสบ และแพ้ผ้าอนามัย
- ซ่อนเร้นโรค หากสวมแผ่นอนามัยเป็นประจำ อาจทำให้ไม่สังเกตความผิดปกติต่างๆ เช่น อาการตกขาวผิดปกติ เลือดออกผิดปกติ กลิ่น และความผิดปกติอื่นๆ ทำให้จนละเลยมาพบแพทย์
- สร้างโรค เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคจากผิวหนังรอบๆ ทวารหนัก กระจายเข้าไปในช่องคลอดและรูปัสสาวะ เพิ่มโอกาสเป็นโรคช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรียตัวร้าย (Bacterial Vaginosis) และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ติดเชื้อรา ความชื้น อับทึบ เพิ่มโอกาสติดเชื้อรา มีอาการตกขาว คัน ปัสสาวะแสบ มีผื่นคัน เป็นต้น
- พิษในกระแสเลือด (Toxic Shock Syndrome) ภาวะนี้มีอันตรายมากจนอาจคร่าชีวิต โดยเกิดขึ้นจากการสวมผ้าอนามัยชนิดใช้ภายนอกหรือชนิดสอดนานเกินไป จนก่อให้เกิดพิษของเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดได้
ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ The Washington Post รายงานเมื่อเดือนมีนาคม 2016 ว่า ทุกวันนี้ยังมีผู้หญิงอเมริกันเสียชีวิตจากภาวะพิษในกระแสเลือดผ่านการใช้ผ้าอนามัยอยู่ โดยมีคนจำนวน 5-15 เปอร์เซ็นต์ที่เสียชีวิตจากภาวะดังกล่าวที่เกิดจากแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ในขณะที่ภาวะพิษในกระแสเลือด (Streptococcal Toxic Shock Syndrome) นั้นอยู่ที่ 30-70 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้นทางที่ดีควรหมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 2-4 ชั่วโมงขึ้นกับวันมามากของช่วงประจำเดือน และหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติเสมอเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงข้างต้น
อ่านเรื่องเมื่อประจำเดือนเป็นประจำวันที่นี่
ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan
อ้างอิง: