×

คณะกรรมการนิสิตนักศึกษา นิติศาสตร์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยคำสั่งศาล ชี้การประกันตัวเป็นสิทธิ

โดย THE STANDARD TEAM
30.04.2021
  • LOADING...
คณะกรรมการนิสิตนักศึกษา นิติศาสตร์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยคำสั่งศาล ชี้การประกันตัวเป็นสิทธิ

จากกรณีที่วานนี้ (29 เมษายน) ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทั้ง 7 ผู้ต้องขังทางการเมืองในทุกคดี โดยสั่งในลักษณะเดียวกันว่าศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาต

 

สำหรับ 7 ผู้ต้องขังที่ยื่นประกันได้แก่ อานนท์ นําภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ชูเกียรติ แสงวงค์ และปริญญา ชีวินกุลปฐม

 

ปรากฏความเคลื่อนไหวหลากหลายจากคนในวงการต่างๆ โดยคณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว โดยคณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า

 

ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ อีกทั้งผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว อันเป็นหลักการสากลที่บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้ง หลักการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หลักกฎหมายอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

แต่ด้วยวันนี้ (29 เมษายน) ศาลอาญาได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) กับเพื่อนรวม 7 คน โดยให้เหตุผลว่า “ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง”

 

ด้วยความเคารพต่อศาล คณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลอาญาข้างต้น โดยเห็นว่าการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิที่ผู้ต้องหาคดีอาญาซึ่งยังมิได้ถูกตัดสินว่าเป็นผู้กระทำความผิดพึงได้รับ แม้ว่ากฎหมายจะเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจที่จะสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้โดยพิจารณาเหตุต่างๆ แต่ศาลกลับใช้ดุลพินิจสั่งขังผู้ต้องหาที่มิได้สัดส่วนเมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน ทั้งที่ศาลสามารถใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อควบคุมมิให้ผู้ต้องหาก่อเหตุใดๆ ซ้ำอีกได้

 

ดังนั้น คณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ขอเรียกร้องให้ศาลใช้อำนาจประกอบดุลพินิจของท่านเพื่อความชอบด้วยกฎหมายวิธีการพิจารณาคดี และคงไว้ซึ่งความยุติธรรมขององค์กรตุลาการอย่างแท้จริง

 

ขณะที่คณะกรรมการนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง เรียกร้องให้ศาลตระหนักถึงจุดยืนบนหลักกฎหมายและความยุติธรรม และเปิดให้ ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ร่วมลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าว

 

โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า การที่ศาลอาญาไม่มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวและไม่ให้ประกันตัว 7 ผู้ต้องขังทางการเมือง ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ชูเกียรติ แสงวงค์, ปริญญา ชีวินกุลปฐม และพริษฐ์ ชิวารักษ์ เพราะไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่เคยอนุญาตไว้ครั้งก่อน

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดอันแสดงว่าบุคคลใดกระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 107 ได้บัญญัติเป็นบทหลักไว้ ให้เนื้อความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสองว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

 

การไม่ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น ซึ่งโดยหลักแล้วเราต้องตีความบทยกเว้นให้เคร่งครัด ไม่กว้าง มิฉะนั้นบทหลักจะไม่มีที่ใช้ การจะไม่ปล่อยชั่วคราวต้องเข้าเหตุใดเหตุหนึ่งที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 เท่านั้น จึงจะไม่ปล่อยชั่วคราวได้ ซึ่งศาลตีความมาตรา 108/1 (3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นว่า กฎหมายมุ่งป้องกันมิให้จำเลยผู้ต้องหาไปกระทำซ้ำในสิ่งที่ถูกฟ้องร้องหรือถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิด หรือกระทำผิดอย่างอื่น หากจำเลยหรือผู้ต้องหาคนใดมีพฤติการณ์หรือถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดหรือกระทำความผิดอื่น หากจำเลยหรือผู้ต้องหาคนใดมีพฤติการณ์หรือแนวโน้มที่จะกระทำเช่นนั้นและไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะป้องกันได้ ศาลย่อมไม่อาจปล่อยตัวชั่วคราวได้ ตามคำชี้แจงของเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

 

ดังนั้น เราจึงเห็นว่าศาลตีความไปในทางที่กว้างมาก คือเพียงแค่มีแนวโน้มจะกระทำผิดซ้ำ แม้ไม่ก่ออันตรายแก่ใครเลย ก็จะเข้าข่ายการก่ออันตรายประการอื่น แนวการตีความของศาลเช่นนี้เป็นไปในทางที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้หลักการสากลอย่างหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งมีบัญญัติชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ ไม่มีที่ใช้

 

จึงสรุปได้ว่า การมีคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การปล่อยตัวชั่วครวเป็นสิทธิพื้นฐานของปวงชนชาวไทยทุกคน ทั้งตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญนั้นเป็นที่ประจักษ์ได้ว่า ตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาออกมา ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ และนี่หรือคือสิ่งที่ผู้บริสุทธิ์ควรได้รับ

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising