คนทำงานออฟฟิศนอกจากจะต้องรับมือกับปัญหาจากการทำงานแล้ว สุขภาพร่างกายก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความเสี่ยง เพราะโรคที่มากับคนทำงานสมัยนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ความเครียด หากแต่ยังรวมถึงอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ลามไปแขนและขาอย่างออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเป็นกันมากในหมู่คนทำงานหน้าจอคอมเป็นเวลานาน หรือสมาร์ทโฟนซินโดรมที่มักเกิดกับคนก้มหน้าก้มตาเล่นมือถือตลอดเวลา จนมีอาการปวดบริเวณคอ แขน และนิ้วมือ จนต้องทำกายภาพบำบัดกันวุ่นวาย
แต่ปัจจุบันสังคมคนทำงานหรือคนทั่วไปกำลังเผชิญหน้ากับภัยเงียบในรูปแบบใหม่ที่มาพร้อมเทคโนโลยี ไม่ว่าคุณจะใช้งานคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแค่นั่งดูโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน เพราะศัตรูตัวร้ายที่เรากำลังพูดถึง คือ ‘เจ้าแสงสีน้ำเงิน’ ที่มีอยู่ทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะด้านในหรือภายนอกอาคาร
อันตรายของแสงสีน้ำเงิน คือเป็นแสงที่สามารถพบได้ทั้งในและนอกอาคาร
แสงสีน้ำเงินทำไมจึงร้าย และใครเป็นคนปล่อย
เพื่อให้ความกระจ่างในเรื่องแสงสีน้ำเงินมากขึ้น เราได้พูดคุยกับ ดร.มายูมิ ฟาง ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาทัศนมาตรศาสตร์ (ศึกษาเกี่ยวกับดวงตาโดยเฉพาะ) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ดร.มายูมิ ได้อธิบายถึงที่มาของแสงน้ำเงินไว้ว่า “แสงสีน้ำเงินเป็นส่วนหนึ่งของแสงสีขาวที่มีความยาวคลื่นค่อนข้างสั้น แต่มีความถี่สูง สามารถจำแนกแสงสีน้ำเงินออกเป็นสองประเภท ได้แก่ ‘แสงน้ำเงินอมเขียว’ หรือที่เรียกว่า ‘แสงดี’ ช่วยเรื่องการมองเห็นสีน้ำเงินหรือฟ้าชัดเจน ช่วยปรับอารมณ์ และทำให้ร่างกายตื่นตัว แอ็กทีฟ ส่วนอีกตัวคือ ‘แสงสีน้ำเงินอมม่วง’ ซึ่งเป็นอันตรายต่อดวงตา หากได้รับเป็นเวลานานจะเสี่ยงต่อภาวะจอประสาทตาเสื่อม”
ดร.มายูมิ ฟาง สำเร็จการศึกษาด้าน Doctor of Optometry จาก Pennsylvania College of Optometry ประเทศสหรัฐอเมริกา
แหล่งปล่อยแสงเป็นได้ทั้งจากภายนอกอย่างแสงอาทิตย์ ที่นอกจากจะปล่อยแสงยูวีแล้วยังมีแสงสีน้ำเงินพ่วงมาด้วย รวมถึงแหล่งปล่อยแสงภายในอาคารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟ คอมพิวเตอร์ หน้าจอ LED และ LCD รวมถึงโทรศัพท์มือถือ จึงเห็นได้ว่าไม่ว่าคุณจะใช้ชีวิตกลางแจ้งหรือในร่ม ล้วนหนีแสงสีน้ำเงินนี้ไม่พ้น
แล้วทำไมคนยุคปัจจุบันจึงมีความเสี่ยงสูง
สาเหตุที่แสงสีน้ำเงินกลายเป็นภัยเงียบของยุคดิจิทัล เนื่องจากชีวิตประจำวันของคนยุคนี้ข้องเกี่ยวกับแหล่งปล่อยแสงสีน้ำเงิน ‘มากกว่า’ ในอดีต เพราะอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้นได้กลายมาเป็นสิ่งใกล้ตัวที่โอบล้อมชีวิตความเป็นอยู่ของคนเรา จนปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่มีวันใดที่เราจะไม่แตะต้องแสงสีน้ำเงินเหล่านี้เลย
“ปัจจุบันที่น่าเป็นห่วงเพราะแหล่งปล่อยแสงมีมากขึ้น เพิ่มจำนวนขึ้นจากในอดีต ส่งผลให้ผู้บริโภคพลอยได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นไปด้วย แต่การป้องกันไม่ได้มากขึ้นตาม” ดร.มายูมิ กล่าว ก่อนเสริมว่าไม่ใช่แค่คนทำงานออฟฟิศเท่านั้นที่มีความเสี่ยง หากแต่ยังรวมถึงคนทั่วไป และผู้สูงวัยที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลทำงานและพักผ่อน เช่น เกมในมือถือ แชตกับเพื่อน เล่นโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมถึงการนั่งดูละครหลังข่าวหน้าทีวีเป็นประจำทุกวันติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็ล้วนทำลายดวงตาของเราได้โดยตรง
คุณมีพฤติกรรมเหล่านี้หรือไม่
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อร่างกายได้รับแสงสีน้ำเงินเป็นเวลานาน
ผลเสียจากการรับแสงสีน้ำเงิน เริ่มตั้งแต่ระดับปฐมภูมิอย่างการที่รู้สึกว่าดวงตาเมื่อยล้า ไม่สบายตา หลังจ้องหน้าคอมหรือมือถือเป็นเวลานาน เรื่อยไปถึงการเสียหายขั้นรุนแรงอย่างการทำลายเซลล์ของจอประสาทตา ส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อม ไม่สามารถรับภาพได้ ลองสังเกตตัวเองดูว่าถ้าหากเริ่มมองเห็นภาพไม่ชัด เบลอพล่ามัว เห็นเส้นตรงบิดเบี้ยวไป มองหน้าเพื่อนแล้วเห็นรอบด้านชัด แต่ใบหน้าของเพื่อนกลับเบลอไม่โฟกัส หรือเวลาอ่านหนังสือต้องหันศีรษะมากขึ้นหรือเปล่า เพราะอาจเป็นไปได้ว่าประสาทตาบางส่วนได้เบลอไปแล้ว ทำให้ต้องหันหน้าช่วย หากมีอาการอย่างนี้น่าเป็นห่วง เพราะถ้าปล่อยไว้นานอาจถึงขั้นมองไม่เห็นไปเลย เหมือนคนตาบอด ความน่ากลัวของโรคนี้คือเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถรักษาหรือบำบัดให้ดีขึ้นได้ ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดคือ เราควรป้องกันดวงตาตั้งแต่วันนี้ แทนที่จะรอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยคิดหาทางแก้
ตัวอย่าง แผ่นตีตารางที่ใช้ในการตรวจสุขภาพของจอประสาทตา
แนวทางป้องกันที่ทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
สำหรับแนวทางป้องกัน ดร.มายูมิ แนะนำว่าสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่ ลองหาฟิลเตอร์กรองแสงมาใช้กรองหน้าจอคอมหรือมือถือ หรือวิธีที่สองซึ่งป้องกันได้รัดกุมกว่านั่นคือการสวมใส่แว่นสายตาที่มีเลนส์พิเศษ สามารถกรองแสงสีน้ำเงินได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ “อย่าลืมว่าเราต้องเผชิญกับแสงสีน้ำเงินทั้งในและนอกอาคาร การป้องกันควรครอบคลุมที่สุด ควรหาเลนส์ที่กรองแสงด้วยการโค้ตติ้งบนตัวเลนส์ ที่เหมาะสำหรับผู้ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลโดยเฉพาะ ข้อดีของเลนส์ชนิดนี้คือสามารถกรองแสงสีน้ำเงินที่ไม่ดี ไม่ให้เข้าสู่ดวงตาของเรา แต่สามารถปล่อยให้แสงสีน้ำเงินที่ดีผ่านเข้ามาได้
แว่นตาตัวอย่างที่เลนส์ด้านซ้ายมีคุณสมบัติกรองแสงสีน้ำเงินได้ด้วย ในขณะที่เลนส์ด้านขวาเป็นเลนส์สายตาธรรมดา จะเห็นได้ว่าแสงที่สะท้อนบนเลนส์ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
“อีกทั้งยังช่วยป้องกันแสงยูวีทั้งจากด้านหน้าและด้านหลังได้อีกด้วย และไม่จำเป็นว่าต้องสายตาสั้นหรือยาวเท่านั้นจึงจะสวมใส่แว่นตาได้ เพราะเราสามารถใช้เลนส์ที่ไม่มีค่าสายตา แต่ใส่เพื่อป้องกันแสงสีน้ำเงินได้โดยเฉพาะ เช่นเดียวกับคนที่ใช้คอนแทคเลนส์ ที่แม้คอนแทคเลนส์ส่วนใหญ่สามารถป้องกันแสงยูวีได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถป้องกันแสงสีน้ำเงินได้ ดังนั้นการใส่แว่นที่ใช้เลนส์นี้ก็จะเข้าไปเติมเต็มส่วนที่ขาดได้ดี” ดร.มายูมิ กล่าว
เมื่อลองเทสต์กับหน้าจอโทรศัทพ์มือถือยิ่งเห็นความต่าง
เตรียมบอกลาโรคเกี่ยวกับดวงตา
ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคตามากขึ้น และระยะการเกิดก็ไวขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่คนไข้ส่วนใหญ่อายุ 60-70 ปี แต่ทุกวันนี้คนหนุ่มสาวจำนวนมากก็เริ่มมีอาการฟ้องขึ้นมาบ้างแล้ว ดังนั้นทางที่ดี เราจึงควรเดินทางสายกลาง รู้จักใช้สายตาแต่พอดี หมั่นพักตาบ้างหลังจากจ้องหน้าคอมหรือมือถือนานหลายชั่วโมง แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็อย่าลืมป้องกันด้วยเลนส์ที่สามารถกรองแสงสีน้ำเงินได้ด้วย ตาคู่สวยที่มีอยู่คู่เดียวบนโลกจะได้อยู่คู่กับคุณไปนานๆ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
- เลนส์มัลติโค้ตส่วนใหญ่สามารถกรองแสงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอมือถือได้ก็จริง แต่ยังไม่สามารถกรองแสงสีน้ำเงินได้ ดังนั้นจึงควรมองหาเลนส์ที่มีคุณสมบัตินี้พ่วงเข้ามาด้วย
- ตอนนี้ที่มีในตลาดได้แก่ เลนส์จาก Crizal Prevencia ที่สามารถคัดกรองแสงสีน้ำเงินที่เป็นอันตราย แต่ปล่อยให้แสงสีน้ำเงินที่เป็นประโยชน์ผ่านเข้าสู่ดวงตาได้ ทั้งยังป้องกันแสงยูวีได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง