×

เป้าหมาย CRG อยากเปิดร้านชาบูเสริมพอร์ตธุรกิจ ย้ำไม่ง่าย! ต้องทำการบ้านหนัก หวังท้าชนเจ้าตลาด

04.04.2025
  • LOADING...

ถึงวันนี้ตลาดร้านอาหารในไทยยังแข่งขันกันอย่างดุเดือด หลังแบรนด์จีนยกทัพเข้ามาไม่หยุด แต่ CRG เชนร้านอาหารรายใหญ่ไม่เคยหวั่น เพราะวันนี้มูลค่าตลาดยังโตแถมช่องว่างยังมี พร้อมลงทุนหาแบรนด์ใหม่เสริมพอร์ต แย้มอยากทำร้านชาบูมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ด้วยตลาดมีคู่แข่งรายใหญ่อยู่แล้วจึงไม่ง่าย

 

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) กล่าวว่า หนึ่งในแผนการดำเนินงานของ CRG ในแต่ละปีคือการหาแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเสริมพอร์ตธุรกิจ โดยตลาดที่เรามองว่าน่าสนใจและศึกษามาตั้งแต่ปีที่แล้วคือร้านชาบูสุกี้ ตามด้วยร้านสตรีทฟู้ด และร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ ซึ่งจะต้องเป็นร้านที่แตกต่างจากคู่แข่งเดิมในตลาด ราคาไม่สูงมากและต้องขยายสาขาได้อย่างคล่องตัว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

“ยอมรับว่าการหาแบรนด์ใหม่ๆ คือความท้าทาย จากประสบการณ์ที่ผ่านมาบริษัทเคยพัฒนาแบรนด์ขึ้นมาเอง ภายใต้ชื่ออร่อยดี เป็นแบรนด์ร้านอาหารไทยจานเดียว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสู้การแข่งขันในตลาดสตรีทฟู้ดไม่ไหว จากการแข่งขันที่รุนแรงมาก ประกอบกับผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายจึงต้องหยุดทำ”

 

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างกังวลคือ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แบรนด์จีนเข้ามาเปิดในไทยจำนวนมาก เช่น ร้านชาบูหม่าล่า ซึ่งไม่ใช่แค่อาหาร แม้แต่บริษัทก่อสร้างเองก็เช่นกัน แต่ต้องยอมรับว่าแบรนด์จีนมี Economy of Scale ทำให้ต้นทุนต่ำและสามารถขายได้ราคาถูก ผู้ประกอบการรายเล็กอาจสู้ไม่ไหว

 

ดังนั้นความเคลื่อนไหวของบริษัทจะเดินหน้าตามเทรนด์อุตสาหกรรมร้านอาหารในประเทศไทย ซึ่งในปีนี้คาดว่าภาพรวมตลาดจะเติบโต 5-7% มีมูลค่ารวม 572,000 ล้านบาท จากการศึกษาอินไซต์พบว่าเทรนด์สำคัญ คือ ความท้าทายในการบริหารจัดการต้นทุนทั้งความผันผวนของวัตถุดิบและค่าแรงที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

อีกทั้งแบรนด์ร้านอาหารจะต้องตั้งรับแบรนด์หน้าใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดอีกเป็นจำนวนมาก หากสังเกตจะเห็นว่าแบรนด์ใหม่ที่เข้ามาจะใช้สื่อทำการตลาดอย่างหนัก บางแบรนด์เปิดตัวกระแสแรงมาก แต่ผ่านไปไม่นานก็หายไปจากตลาด ยิ่งไปกว่านั้น เทรนด์ผู้บริโภคจะนิยมการบริการระดับพรีเมียมมากขึ้น

 

ดังนั้นแบรนด์ร้านอาหารจะต้องปรับตัวให้เร็ว ยกตัวอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่เพิ่งเกิดขึ้นในไทย ซึ่งกระทบต่อยอดขายของร้านแค่เพียง 1 วัน แต่ช่วงนั้นสิ่งที่เราต้องรีบทำคือสื่อสารให้ผู้บริโภครู้สึกมั่นใจถึงความปลอดภัยอย่างรวดเร็ว

 

เมื่อมาดูภาพรวมในปี 2024 ที่ผ่านมาบริษัทมียอดขาย 15,800 ล้านบาท เติบโต 9% ปัจจุบัน CRG มีร้านอาหารรวม 21 แบรนด์ ยอดขายส่วนใหญ่มาจากแบรนด์เรือธง เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, โอโตยะ, มิสเตอร์โดนัท, สลัดแฟคทอรี่ และกลุ่มร้านของชินคันเซ็น ส่วนแบรนด์บราวน์ยังน่าเป็นห่วง เพราะแบรนด์เครื่องดื่มแข่งขันกันแรงมาก จึงตัดสินใจไม่ขยายต่อและปิดร้านจาก 10 สาขาเหลือแค่ 2 สาขา

 

สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้วางงบประมาณไว้ที่ 1,200 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายสาขาแบรนด์ เคเอฟซี, โอโตยะ และ ชินคันเซ็น ควบคู่กับการพัฒนาระบบหลังบ้านโดยงบดังกล่าวยังไม่รวม M&A

 

ปีนี้คาดว่าจะมีแบรนด์ใหม่เพิ่มอีก 2-3 แบรนด์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมไว้ที่ 17,900 ล้านบาท เติบโต 13% ซึ่งในช่วง 3 เดือนแรกที่ผ่านมาบรรยากาศการจับจ่ายมีสัญญาณที่ดี เห็นได้จากร้านอาหารในเครือเติบโตเฉลี่ย 8%

 

ส่วนกลยุทธ์ปีนี้จะโฟกัสไปที่การรักษา Quality จากปีที่ผ่านมาเราสร้างการเติบโต ด้วยวิธีการรับประทานใหม่ๆ เช่นการรับประทาน Tonkatsu Nabe ทั้งแบบ Sukiyaki, Cheese sauce โดยปีนี้ จะชูจุดแข็งของคุณภาพวัตถุดิบต่อไป และ พยายามทำให้แบรนด์เข้าถึงลูกค้าในวงกว้าง ด้วยการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ

 

การใช้วัตถุดิบพรีเมี่ยม หรือนำเข้าโดยเป็นรสชาติ และ Taste profile ที่ลูกค้ารับรู้อยู่แล้วว่าเป็นของดีของแพง แต่ราคาเข้าถึงได้ง่ายซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่ามากขึ้นกว่าเดิม

 

“เป้าการเติบโตปีนี้ถือว่าสูงและท้าทายมากท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังลำบาก แต่ยังพอมีวิธีการทำกำไรให้มากขึ้น จากการพัฒนาเมนูใหม่ๆเข้ามา ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค ยกตัวอย่างเมนูใหม่ ไวท์ พอน เดอ ริง ของมิสเตอร์โดนัท กระแสตอบรับดีมาก หลังจากเปิดตัวขายได้กว่า 3.6 ล้านชิ้น ตอนนี้กลายเป็นโปรดักต์ฮีโร่ที่ช่วยกอบกู้ให้ร้านกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง” หัวเรือใหญ่ CRG ย้ำ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising