×

รวมข้อสังเกต-ข้อกังวลหลากประเด็น จากที่ประชุม กมธ. CPTPP ก่อนเสนอขยายเวลาศึกษาเพิ่ม 60 วัน

10.07.2020
  • LOADING...

เมื่อไม่นานมานี้ มีการเปิดเผยจาก วีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) โดยระบุว่า คณะ กมธ. เตรียมรายงานความคืบหน้าการพิจารณาต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้ (10 กรกฎาคม) เพื่อขออนุมัติการขยายเวลาพิจารณาออกไปอีก 60 วัน จากเดิมที่จะให้สภาฯ ให้เวลาพิจารณาเพียงแค่ 30 วัน

 

ทั้งนี้เมื่อวันจันทร์ที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการอันประกอบไปด้วยด้านเกษตร, ด้านการแพทย์และสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ ได้รายงานต่อที่ประชุมใหญ่คณะกรรมาธิการวิสามัญในหลากหลายประเด็นที่เป็นผลสืบเนื่องและข้อสังเกตต่างๆ จากความตกลง CPTPP ดังนี้

 

เริ่มจากเรื่องของตัวเลขทางเศรษฐกิจ (GPD) มีการนำผลการศึกษาเกี่ยวกับ CPTPP ของบริษัทโบลลิเกอร์ ที่ว่าจ้างโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์มาพิจารณา พบว่าในภาพรวม ผลการศึกษาที่ชี้ชัดว่า หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะช่วยเพิ่ม GDP 0.12% นั้น เป็นผลประโยชน์ที่มาจากการค้าสินค้าที่จะได้เพิ่มขึ้น โดยสมมติฐานที่ว่า การค้านั้นจะเกิดขึ้นทันที 100% 

 

ในความเป็นจริงควรใส่สมมติฐานเข้าไปว่า กว่าการค้าจะเดินหน้าเต็มกำลัง 100% ต้องใช้เวลากี่ปี ประเด็นนี้จะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนประโยชน์ที่ได้ ที่เป็นตัวเลขจากการค้าภาคบริการและการลงทุนไม่ได้มีการใส่เป็นตัวเลขเข้ามา อีกทั้งการศึกษานี้ไม่ได้มีการปรับฐานเพื่อให้สอดคล้องกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

ประเด็นต่อมาคือ การค้าสินค้า สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของการเตรียมความพร้อมก่อนรับความตกลงใดๆ ภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศแข่งสินค้านำเข้า จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการลดกำแพงภาษีในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเป็นหลัก คำถามที่ถูกตั้งต่อมาคือ ในการศึกษา CPTPP นี้ ได้ลงลึกไปดูผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้า SMEs เหล่านี้หรือไม่ ซึ่งคำตอบเบื้องต้นที่ได้พบว่า ผู้ศึกษาและกระทรวงต่างๆ ยังไม่ได้ไปคุยกับสมาคม SMEs รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ฉะนั้นผลกระทบในส่วนนี้ ทางคณะอนุกรรมาธิการได้ขอให้ไปศึกษาเพิ่มเติม เพื่อไปคุยและหาคำตอบมาให้ได้

 

นอกจากนี้ทางคณะอนุฯ ได้ตั้งคำถามไปที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ได้มีการศึกษาตรงนี้ไว้หรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้จากประเด็นนี้ ไม่ใช่การศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การวิจัยศึกษาที่จะสามารถอ้างอิงได้อย่างมีน้ำหนัก จึงได้แนะนำให้มีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป 

 

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมยังได้เห็นสมควรให้มีการศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นอื่นๆ ตั้งแต่การคำนวณถิ่นกำเนิดสินค้า, การเปิดตลาด, ภาคบริการและการลงทุน, สิทธิแรงงาน และอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น

 

ทางด้าน นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการการแพทย์และสาธารณสุข ได้มีการพิจารณาในรายประเด็น โดยขั้นตอนนี้เป็นการรับทราบข้อห่วงกังวล คำชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และข้อเสนอหรือหนทางแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น และต่อไปจะพิจารณาผลกระทบกับห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งหมด โดยข้อกังวลในเรื่องสาธารณสุขถูกแบ่งแยกย่อยแบบคร่าวๆ ดังนี้

 

  • เรื่องยา คือการประกาศบังคับใช้สิทธิ์เพื่อผลิตหรือนำเข้ายา (CL) แม้ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศจะยืนยันว่าสามารถทำได้ แต่ทางภาคประชาสังคมภาควิชาการและภาคสาธารณสุขมองว่า มีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องต่างจากเดิม ฉะนั้นรัฐบาลควรมีข้อกังวลไปเจรจา พิจารณาให้มีการทำ Side Letter หรือพิจารณาทำเป็นข้อสงวน หรือได้รับคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษรจากรัฐภาคี CPTPP ว่าไทยจะยังสามารถทำ CL เหมือนเดิมที่ผ่านมา และไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องจากภาคเอกชน
  • ผลกระทบที่จะเกิดกับองค์การเภสัชกรรม ที่อาจจะสูญเสียสิทธิประโยชน์ ทางกรมเจรจาการค้าฯ ได้ยกตัวอย่างเวียดนามที่กันภาคส่วนนี้ไว้ 50% ในระยะเวลา 20 ปี มีลำดับขั้นของการเปิดจำนวนหนึ่ง จึงเห็นควรว่าไทยควรเจรจาต่อรองให้กันได้เท่ากับเวียดนาม แต่ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศมองต่างออกไปว่า อาจสร้างความเติบโตได้ ถ้ายกเลิกสิทธิพิเศษขององค์การเภสัชกรรมไป
  • การขึ้นทะเบียนหรือรับฝากจุลชีพ ประเทศไทยต้องเร่งให้มีกฎหมายในการสำแดงแหล่งที่มาของยาที่มีจุลชีพเป็นส่วนประกอบ หรือการรับฝากจุลชีพก่อน
  • การที่ CPTPP ห้ามบังคับเครื่องสำอางติดฉลากเลขจดแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งจะกระทบกับการคุ้มครองผู้บริโภค รัฐบาลต้องนำไปเจรจาหาข้อยุติว่า สามารถติด QR Code แทนได้หรือไม่ ขณะที่ภาคเอกชนเกรงว่าจะเป็นการเพิ่มต้นทุน
  • เครื่องมือแพทย์ทำเหมือนใหม่ (Remanufacturing Goods) กระทรวงสาธารณสุขและภาคประชาชนเกรงว่าจะทำให้มาตรฐานการแพทย์ไทยด้อยมาตรฐานลง เพราะ CPTPP กำหนดให้ไทยต้องอนุญาตเครื่องมือแพทย์ลักษณะนี้เข้ามาจำหน่ายในประเทศได้ แต่เดิมไทยไม่อนุญาตไว้ เพราะหากกระทรวงสาธารณสุขออกกฎห้ามสถานพยาบาลรัฐและเอกชนใช้เครื่องมือแพทย์ดังกล่าว หรือกำหนดใน TOR ห้ามซื้อ ทางกรมสนธิสัญญาเกรงว่าจะผิดกฎ fair and equitable treatment ของ CPTPP จึงจะพิจารณาอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม เลขานุการของคณะอนุกรรมาธิการการแพทย์และสาธารณสุขกล่าวสรุปว่า การประชุม 5 ครั้งที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดที่พิจารณารายประเด็นอย่างแยกส่วน ยังไม่ได้นำรายประเด็นมาประกอบเป็นภาพรวมของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดว่า จะเกิดผลกระทบต่อเนื่องอย่างไรหรือไม่ 

 

แม้รายประเด็นดูเหมือนอาจจะแก้ปัญหาได้ เนื่องจาก CPTPP ที่เน้นประโยชน์ทางธุรกิจเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ทำอย่างไรให้ภาคสาธารณสุขได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และยังต้องพิจารณาถึงภาระที่จะเกิดกับประชาชน ค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นเท่าไร และจะเป็นภาระกับภาครัฐเพิ่มขึ้นเท่าไร ใครได้ใครเสีย คนเสียจะเยียวยาอย่างไร การปรับตัวของหน่วยงานต่างๆ ทำได้หรือไม่ ต้องใช้เวลาเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางยาหรือไม่อย่างไร ต้องศึกษาต่อไป

 

ทางด้าน วรภพ วิริยะโรจน์ เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการการเกษตร รายงานว่า ประเด็นอนุสัญญาคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ที่เรียกว่า UPOV1991 เป็นประเด็นที่มีข้อห่วงกังวลมากที่สุด ประเทศไทยยังสามารถกำหนดให้แจ้งแหล่งที่มาของสารพันธุกรรมได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์และป้องกันการผูกขาดพันธุ์ดั้งเดิม/พันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในคำถามที่คณะกรรมาธิการขอให้กรมเจรจาฯ ส่งคำถามนี้ไปยังสำนักงาน UPOV เพื่อขอคำอธิบาย

 

สำหรับการเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อเพื่อขายผลผลิตนั้น ซึ่งตามกฎหมายไทยปัจจุบัน เกษตรกรสามารถทำได้ หากเข้า UPOV1991 เกษตรกรจะเก็บเมล็ดพันธุ์ขึ้นทะเบียนไม่ได้ หากกฎหมายไม่ได้อนุญาตไว้ นี่จึงเป็นประเด็นคำถามที่จะส่งไปขอคำอธิบายและยืนยันจากทาง UPOV ว่า ประเทศไทยสามารถเขียนกฎหมายคุ้มครองเกษตรกรรายย่อยให้เก็บเมล็ดพันธุ์ผัก ผลไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ ซึ่งวิธีชีวิตดั้งเดิมเก็บอยู่แล้วได้ต่อไปหรือไม่, ประเทศไทยสามารถนิยามเกษตกรรายย่อยตามพื้นที่ถือครอง 50% ของสถิติจริงตามพันธุ์พืชได้หรือไม่ 

 

เช่น 50% ของเกษตกรผู้ปลูกข้าวโพด ถือครองพื้นที่น้อยกว่า 25 ไร่ นั่นหมายความว่าในกฎหมายจะอนุญาตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดที่มีพื้นที่น้อยกว่า 25 ไร่ สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนนั้นไปปลูกต่อเพื่อขายผลผลิตได้หรือไม่ และคำถามต่อเนื่องอีกอย่างคือ ประเทศไทยสามารถนิยามพื้นที่ที่เกษตรกรถือครองและเก็บเมล็ดพันธุ์ขึ้นทะเบียนมาปลูกต่อเป็นที่ดินทุกกรรมสิทธิ์ พื้นที่เช่า พื้นที่ สปก. ได้หรือไม่

 

นอกจากนี้วรภพย้ำว่า ประเด็นลักษณะสำคัญของพันธุ์พืชที่ได้รับความคุ้มครอง (EDVs) เป็นประเด็นที่ยาก ซับซ้อน และจะส่งผลกระทบทางลบมากที่สุด โดย UPOV กำหนดขึ้นมาเพื่อคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ แต่ทางกลับกันก็เป็นข้อห่วงกังวลของเกษตรกรด้วยเช่น เพราะพืชมีโอกาสผสมพันธุ์ข้ามแปลง เป็นความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องเป็นคดีความ กรณีนี้จะเกี่ยวเนื่องกับ 2 หน่วยงานคือ กรมวิชาการเกษตร ผู้ใช้ดุลพินิจในการจดทะเบียนคุ้มครอง และศาลทรัพย์สินทางปัญญา ที่ใช้อำนาจชี้ขาด 

 

ทำให้ประเทศไทยต้องตั้งคำถามว่า การเข้า UPOV1991 จะทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะมีคำวินิจฉัยต่างประเทศมาบังคับใช้เหนือคดีในประเทศหรือไม่ และไทยสามารถกำหนดคุ้มครองเกษตรกรจาก EDVs ที่ผสมพันธุ์หรือปนเปื้อนทางธรรมชาติได้เลยหรือไม่ เรื่องนี้ต้องให้คำตอบที่ชัดเจนเพื่อคลายกังวลของกลุ่มเกษตรกร

 

ทั้งนี้นอกเหนือจากการส่งคำถามไปยัง UPOV แล้ว ประเทศไทยยังต้องเตรียมการเรื่องฐานข้อมูลพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชดั้งเดิม เพิ่มงบวิจัยการพัฒนาพันธุ์พืช หากจะเข้าร่วม CPTPP ให้ใช้การเจรจาต่อรองแบบนิวซีแลนด์ที่ไม่เข้าร่วมเป็นภาค UPOV1991 แต่ปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์เท่านั้น และควรเปิดเผยร่างกฎหมายที่เข้ากับบริบทสังคมไทย คุ้มครองเกษตรกร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีประเด็นข้อห่วงใยเรื่องข้อจำกัดในการเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อและการคุ้มครอง EDVs อยู่ดี

 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising