×

เงินเฟ้อสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่อง เพิ่มโอกาส Fed ลดดอกเบี้ย ‘เร็วกว่าคาด’ ปีหน้า

15.11.2023
  • LOADING...

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ Consumer Price Index (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนตุลาคม เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (14 พฤศจิกายน) โดยพบว่าดัชนี CPI ล่าสุดปรับตัวในระดับต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้

 

รายงานระบุว่า ดัชนี CPI ทั่วไป หรือ Headline CPI ซึ่งรวมถึงราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.2% ในเดือนตุลาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.3% ขณะที่เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปในเดือนตุลาคมไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงจากเดือนกันยายนก่อนหน้า ซึ่งปรับตัวขึ้น 0.0% โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.1% จากระดับ 0.4% ในเดือนกันยายน 

 

ด้านดัชนี CPI พื้นฐาน หรือ Core CPI ที่ตัดราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงานออกไป ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.0% ในเดือนตุลาคมเมื่อเทียบเป็นอัตรารายปี และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.1% ขณะที่เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนตุลาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ระดับ 0.3%

 

บรรดานักวิเคราะห์ชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวในเดือนตุลาคมจากเดือนกันยายนก่อนหน้า ถือเป็นสัญญาณบวกที่ทำให้หลายฝ่ายคาดหวังว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงอย่างดื้อรั้นกำลังผ่อนคลายลง ลดแรงกดดันต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ยกเลิกนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

 

ขณะที่ทางด้านนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักต่างเชื่อว่า ทิศทางเงินเฟ้อที่ชะลอความร้อนแรงจะเปิดทางให้ Fed ภายใต้การนำของ เจอโรม พาวเวลล์ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพาวเวลล์ยังคงย้ำชัดว่า Fed ยังคงความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไว้ และพร้อมจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยไม่ลังเลหากจำเป็น 

 

ด้านปฏิกิริยาตอบรับของตลาด Wall Street ปรับตัวเพิ่มขึ้น นำโดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำสถิติระหว่างวันที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน โดยเพิ่มขึ้น 84.15 จุด หรือ 1.91% ปิดที่ 4,495.70 จุด, ดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 326.64 จุด หรือ 2.37% ปิดที่ 14,094.38 จุด 

 

รายงานระบุว่า ภายหลังจากการที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคไม่นาน บรรดานักลงทุนต่างเทน้ำหนักเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ในการคาดการณ์ว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ในเดือนธันวาคมนี้ พร้อมคาดว่า Fed น่าจะเริ่มหันมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2024 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน 

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.7% ที่ Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคมนี้ พร้อมคาดว่า Fed จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนมกราคมและมีนาคมปีหน้า ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม 

 

พอล แมคคัลลีย์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ Pimco และปัจจุบันเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ Georgetown University กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดคือ Game Changer เพราะข้อมูลแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่นักลงทุนต่างรอคอยมานาน ขณะที่ ออสแตน กูลส์บี ประธาน Fed สาขาชิคาโก ชี้ว่า รายงานดัชนี CPI ล่าสุด “มีความคืบหน้าช้าๆ แต่ชัดเจน” ในการปรับอัตราเงินเฟ้อกลับสู่ระดับที่ดี หรือระดับเป้าหมายของ Fed ที่ 2%

 

ด้าน เคธ บุชาแนน ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของ Globalt Investments ชี้ว่า ทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่กำลังลดความร้อนแรงลงถือเป็นสัญญาณในแง่บวก เพราะตัวเลขเงินเฟ้อกำลังลดลงถึงระดับที่ Fed สามารถก้าวออกจากนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และหันมาใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้อย่างเต็มที่ 

 

ขณะที่ เครก เฟอร์ หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์จากสถาบัน Edward Jones ชี้ว่า ข้อมูลเงินเฟ้อที่เบาลงบางอย่างมีนัยสำคัญ ช่วยให้ตลาดมีความสบายใจมากขึ้นว่า Fed จะไม่เดินหน้ากระชับนโยบายทางการเงินเพิ่มเติม ซึ่งเป็นความพยายามฉุดราคาผู้บริโภคให้ต่ำลง

 

ขณะเดียวกันตัวเลขเงินเฟ้อที่ลดลงส่งผลให้ตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ดิ่งลงอย่างหนัก หลุดระดับ 4.5% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี ลดลงมาอยู่ที่ 4.8% ในวันอังคารที่ผ่านมา (14 พฤศจิกายน) เพราะตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาดถือเป็นปัจจัยหนุนให้ Fed ยุติวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบปัจจุบัน ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 

 

โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะพลิกผันสวนทางกับราคาพันธบัตร ซึ่งการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนทำให้มีแนวโน้มที่ราคาพันธบัตรของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงความเสี่ยงในการถือครองที่ลดลง 

 

อย่างไรก็ตาม เจฟฟรีย์ โรช หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ LPL Financial มองว่า แม้จะมีการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อ แต่ Fed ยังคงมีแนวโน้มที่จะคงท่าทีระมัดระวังต่อไป รวมถึงจะคอยเตือนนักลงทุนไม่ให้ชะล่าใจกับการตัดสินใจของ Fed ที่จะลดอัตราเงินเฟ้อให้เหลือเป้าหมายระยะยาว 2% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนที่ทำให้ Fed อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบ 22 ปีต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising