×

‘คาสเซ่อร์พีค (CPH)’ ปลุกกระแสเก็งกำไรหุ้นไร้สภาพคล่องขนาดเล็ก โบรกเตือนความเสี่ยงสูง ต้องกำหนดจุดตัดขาดทุนให้ดี

07.06.2022
  • LOADING...
คาสเซ่อร์พีค (CPH)

ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระแสการเก็งกำไรในหุ้นขนาดเล็กเพิ่มขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการเก็งกำไรในหุ้นที่ก่อนหน้านี้มีปริมาณการซื้อขาย (Volume) ต่ำมากๆ โดยกระแสดังกล่าวถูกจุดขึ้นมาโดยหุ้นของ บมจ.คาสเซ่อร์พีค โฮลดิ้งส์ (CPH) 

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 11 พฤษภาคม 2565 ราคาหุ้นของ CPH อยู่ที่เพียง 3.70 บาท มีปริมาณการซื้อขายทั้งวันเพียงแค่ 54,800 หุ้น คิดเป็นมูลค่าซื้อขายทั้งวันเพียง 201,772 บาท และตั้งแต่ต้นปีจนถึง 11 พฤษภาคม มูลค่าการซื้อขายของ CPH รวมกันอยู่ที่เพียง 9 ล้านบาท 

 

แต่หลังจากที่ CPH รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/65 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม โดยมีกำไร 47.66 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วทั้งปีที่ทำได้ 17.68 ล้านบาท ส่งผลให้ราคาหุ้น CPH พุ่งขึ้นมาทันที 29.7% ในขณะที่ค่า P/E ยังคงต่ำเพียง 2.2 เท่า ส่วน P/BV อยู่ที่ 0.2 เท่า 

 

ราคาหุ้น CPH วิ่งขึ้น 6 วันติดต่อกัน จนมาปิดที่ 14.90 บาท ก่อนจะถูกเทขายกดให้ราคาหุ้นกลับไปแตะ 10 บาท แต่สุดท้ายราคาหุ้นก็กลับมาวิ่งขึ้นอีกครั้ง จนมาถึงระดับ 30.25 บาทในวันนี้ คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 717% ใน 17 วันทำการ ในขณะที่มูลค่าการซื้อขายระหว่าง 12 พฤษภาคม – 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็เพิ่มขึ้นเป็น 2,631 ล้านบาท 

 

จากข้อมูลบริษัท ธุรกิจหลักของ CPH มี 2 ส่วน คือ ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออก และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไตรมาสแรกที่ผ่านมา บริษัทชี้แจงว่าทั้ง 2 ธุรกิจพลิกกลับมาทำกำไรได้ทั้งคู่ โดยธุรกิจผลิตเสื้อผ้ามีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นและปัจจัยหนุนจากเงินบาทอ่อนค่า ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทำได้ดีขึ้นจากยอดขายบ้านและที่ดินที่จัดสรรใหม่

 

อย่างไรก็ดี ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สอบถามไปยังบริษัทเช่นกันว่ามีพัฒนาการสำคัญอื่นใดเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งบริษัทก็ได้ชี้แจงว่าไม่มีพัฒนาการสำคัญใดๆ นอกเหนือจากที่ได้เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ 

 

ไม่เพียงแค่หุ้น CPH เท่านั้น แต่หุ้นไซส์เล็กที่ก่อนหน้านี้แทบไม่อยู่ในเรดาร์ของนักลงทุนหรือนักเก็งกำไร ก็ถูกไล่ราคาขึ้นมาตามๆ กัน หลังจากที่ราคา CPH วิ่งขึ้นหลายเท่าตัวในเวลาอันสั้น ได้แก่ VARO, ABICO, CPL, TCJ, NC, AFC, MOONG, CPR และ TRU หุ้นเหล่านี้ส่วนมากใช้เวลาเพียง 2-3 วันในการวิ่งขึ้นกว่า 50% 

 

โดยหุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีจุดร่วมที่คล้ายๆ กัน คือ ผลประกอบการไตรมาสแรกมีกำไร ขณะที่ก่อนหน้านี้ยังมี P/E ต่ำกว่า 10 เท่า หรือมี P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า 

 

เบญจพล สุทธิ์วนิช รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า ตลาดในช่วงนี้ไม่มีหุ้นให้เลือกซื้อมากนัก หลังจากที่กระแสเงินทุนต่างชาติเริ่มชะลอ ทำให้หุ้นขนาดใหญ่น่าสนใจลดลง และทำให้นักลงทุนรายย่อยหันมาลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-เล็กมากขึ้นอีกครั้ง 

 

ส่วนการคัดเลือกหุ้นโดยใช้ค่า P/E เป็นหนึ่งในตัววัด โดยปกติแล้วไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อยหรือสถาบันก็มักจะใช้ประกอบ และเมื่อ Valuation ของตลาดโดยรวมเริ่มตัน หุ้นที่มี P/E ต่ำๆ ก็มักจะถูกเก็งกำไรขึ้นมาได้ 

 

“โดยปกติแล้วช่วงเวลาของการเก็งกำไรในหุ้นเล็กอาจจะไปได้ถึง 2-3 เดือน หรือบางครั้งอาจจะแค่ไม่กี่สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์แต่ละช่วง แต่อย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ หากภาพใหญ่ของตลาดเริ่มเสี่ยงมากขึ้น และหุ้นใหญ่ถูกเล่นขึ้นมาก่อนหน้านี้ การเก็งกำไรในหุ้นเล็กมักจะอยู่แค่ประมาณ 1-2 สัปดาห์” 

 

ทั้งนี้ หากภาพของตลาดแย่ลงหลังจากนี้ หุ้นที่ถูกไล่เก็งกำไรขึ้นมามักจะถูกเทขายก่อน ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มเข้าสู่โซนที่อันตรายและตลาดเริ่มมี Upside จำกัดแล้ว 

 

ด้าน เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า การเก็งกำไรในหุ้นขนาดเล็กเป็นกระแสปกติที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ปริมาณการซื้อขายของตลาดชะลอ และหุ้นใหญ่ปรับขึ้นต่อไม่ได้ ทำให้เงินลงทุนบางส่วนหันมาเก็งกำไรในหุ้นขนาดเล็ก 

 

“ถามว่าความเสี่ยงสูงไหม เป็นธรรมชาติเลยที่การเก็งกำไรในหุ้นเล็กความเสี่ยงจะสูง นักลงทุนที่จะเข้าไปเก็งกำไรต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าเป็นการเก็งกำไร และกำหนดจุดตัดขาดทุนให้ดี”

 

ทั้งนี้ ภาวะเก็งกำไรจะต่อเนื่องแค่ไหนขึ้นอยู่กับภาวะตลาด หากไม่ใช่ช่วงที่เงินลงทุนไหลเข้า หุ้นขนาดใหญ่ยังปรับขึ้นไม่ไหว และไม่ได้มีเทศกาลสำคัญ เช่น ช่วงประกาศผลประกอบการ ก็มักจะเปิดช่องให้เกิดการเก็งกำไรได้ต่อเนื่อง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising