×

เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ มองวิกฤตโควิดจะสร้างแผลเป็นในระบบเศรษฐกิจไทยอีกยาว ชี้ต้องปฏิรูปใหญ่ระดับโครงสร้าง

11.08.2021
  • LOADING...
วิกฤตโควิด

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 51 ปีการสถาปนาคณะ ในหัวข้อ ‘24 ปี จากวิกฤตต้มยำกุ้ง สู่วิกฤตโควิด (2540-2564)’ โดยเชิญศิษย์เก่าและผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อทั้งสองวิกฤตใหญ่ทางเศรษฐกิจของไทย

 

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า วิกฤตโรคระบาดโควิดมีความรุนแรงเป็นวงกว้างยิ่งกว่าสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักคือผู้มีรายได้น้อย ที่มีความเปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เปรียบเสมือนคนอ่อนแอ เมื่อติดเชื้อก็จะทรุดหนักและใช้เวลาฟื้นนาน 

 

สมประวิณกล่าวอีกว่า ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้ คนทำนโยบายต้องไม่เพิ่มความไม่แน่นอนเข้าไปอีก โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร ขณะนี้ต้องไม่ใช้เวลายาวนานเกินไปในการเลือกนโยบายที่ดีสุด ที่อาจกีดกันคนที่มาเอาเปรียบจากนโยบายได้ แต่กลายเป็นสายเกินไปสำหรับคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เพราะหลักพื้นฐานสำคัญของเศรษฐศาสตร์ คือ ให้ประชาชนเห็นทางเลือก แม้จะไม่สามารถทำนโยบายที่ช่วยทุกคนได้ แต่อย่างน้อยควรแจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลมีเครื่องมืออะไรบ้างอยู่ในมือ ใช้ได้เมื่อไร และความคาดหวังของการใช้เครื่องมือแต่ละอย่างคืออะไร 

 

“เวลานี้คนทำตัวไม่ถูก เลือดยังไม่หยุดไหล คือ เงินยังไหลออกจากกระเป๋า ในขณะที่กระแสเงินสดขาเข้าหายไป การมีหลักประกันทางสังคม (Social Safety Net) มีความสำคัญมาก เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้คนตกหลุมลึก และควรมองไปถึงการสร้างพื้นที่ให้คนมีโอกาสดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อีกครั้งหลังโควิด การสร้างภาวะเศรษฐกิจที่ดีคือภาวะที่ไม่สร้างเงื่อนไขให้กับคนในการเลือกใช้ชีวิต อาจไม่จำเป็นต้องรวยล้นฟ้า แต่มีทางเลือกพอที่จะทำอะไรในชีวิตให้ดีขึ้น ไทยเรามีระเบิดเวลามานานมากกว่า 30 ปีแล้วคือปัญหาเชิงโครงสร้าง และวันนี้มันได้ระเบิดขึ้นแล้ว กลายเป็นแผลเป็นในระบบเศรษฐกิจที่จะอยู่ไปอีกยาวนานแม้โควิดจบไป” สมประวิณระบุ

 

ขณะที่ กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ Professor of Economics, School of Global Policy and Strategy, University of California San Diego มองว่า ประเทศไทยยังคงมีทรัพยากรที่นำมากู้วิกฤตได้ แต่ขาดการจัดการที่ดี โดยความท้าทายอย่างหนึ่งคือเศรษฐกิจไทยมีแรงงานนอกระบบ (Informal Sector) ที่ใหญ่มาก เราไม่ทราบว่าคนที่ลำบากอยู่ตรงไหนกันบ้าง แต่ก็เป็นโอกาสให้นำคนเหล่านี้เข้าระบบ เพื่อวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น การจัดการที่ดียังรวมไปถึงความร่วมมือกัน (Policy Coordination) ภาครัฐมีสถานะทางการเงินการคลังแข็งแกร่ง ภาคเอกชนภาคประชาสังคมมีทั้งไอเดีย ทุน ความมุ่งมั่นตั้งใจเต็มเปี่ยมที่อยากยื่นมือช่วย แต่ติดเรื่องระเบียบภาครัฐทำให้เข้ามาไม่ได้ 

 

กฤษฎ์เลิศกล่าวว่า หากย้อนไปสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยถูกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้ามาควบคุมอย่างเข้มงวด มองในแง่ดีคือเกิดการดำเนินโยบายไปในทิศทางเดียวกัน เพราะทุกคนต้องทำตามเงื่อนไข แต่ตอนนี้เราไม่เห็นเลย ยิ่งเจอวิกฤตเศรษฐกิจซ้อนวิกฤตสาธารณสุข ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกัน มิเช่นนั้นความเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจและการศึกษาจะยิ่งถ่างออกไป หรือที่เรียกว่า K-shape Recovery คนจะกลับไปดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจพร้อมแบกภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น มิติการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังจากนี้ไม่ใช่การโตด้วยตัวเลข แต่ต้องมี 3 ด้าน คือ โตอย่างมีประสิทธิภาพ (Productivity & Efficiency) ล้มแล้วลุกให้เร็ว (Resiliency) และโตแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusivity)

 

ด้าน พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ในยามวิกฤตตั้งแต่สมัยสงครามโลกหรือต้มยำกุ้งก็ตาม เกิดการปฏิรูปสถาบันทางกฎหมายและเศรษฐกิจอย่างมโหฬาร รัฐบาลต้องออกกฎหมายฉุกเฉิน เพราะกฎหมายในยามปกติใช้ช่วยเหลือคนหมู่มากในคราวเดียวไม่ได้ 

 

“ในสมัยต้มยำกุ้ง ธุรกิจล้มละลายจำนวนมาก ทางออกเดียวของกฎหมายในขณะนั้นคือยึดทรัพย์แล้วขายทอดตลาด ยิ่งทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ถูกเทกระจาด จากคนที่ยังไม่ล้มก็ล้มไปด้วย จึงกลายเป็นที่มาของแนวคิดปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือคนก่อนที่จะล้มละลายและกระทบกันเป็นโดมิโน นำไปสู่ความเข้มแข็งของสถาบันการเงินไทยในปัจจุบัน” พงศ์ศักดิ์กล่าว

 

พงศ์ศักดิ์ยังกล่าวด้วยว่า การจะพาประเทศให้มีอัตราการเติบโตที่มากกว่านี้ ไม่ใช่แค่เรื่องทุนมนุษย์หรือทุนเทคโนโลยี เพราะมีงานวิจัยระดับโลกชี้ว่ารากฐานของเศรษฐกิจที่ดีคือสถาบันที่แข็งแกร่ง จากเหตุการณ์ของไทยครั้งนี้เป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสถาบัน (Institutional Reform) โดยเฉพาะสถาบันทางการเมือง ในอดีตการปฏิรูปเกิดจากข้างบนลงมา (Top Down) เช่น กระแสโลกเปลี่ยนไป ผู้บริหารประเทศกลัวจะตามไม่ทันก็ปฏิรูปบ้านเมือง ตอนนี้ปัญหาคือภาคเอกชนเก่งมาก แต่ภาครัฐอ่อนแอ คนเก่งในภาครัฐยังมีอยู่และอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่พลังไม่พอ วิกฤตครั้งนี้ยิ่งชี้ชัดว่าการจัดการทางเศรษฐกิจอยู่ในมือของภาคการเมือง ประชาชนกำลังอัดอั้นตันใจ คลางแคลงใจในความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสของรัฐบาล เมื่อใดก็ตามที่เกิดการเปลี่ยนผ่านจากข้างล่างขึ้นมา (Bottom Up) ย่อมไม่ราบรื่น อาจเกิดการปะทะกันได้ ความกังวลที่สุดคือ แม้จะจบโควิดแล้ว แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงอยู่

 

“ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง แบงก์ชาติเคยเป็นสถาบันที่หมดความน่าเชื่อถือโดยสิ้นเชิง ถึงขั้นที่ว่า เรียกแท็กซี่ไปแบงก์ชาติ แท็กซี่ไม่ไป เพราะมองว่าเป็นผู้ร้ายทำลายเศรษฐกิจพังพินาศ แบงก์ชาติจึงต้องปฏิรูปตนเองมโหฬาร สร้างความชอบธรรมกลับมาใหม่ด้วยการทำงานอย่างโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนเข้าถึงได้ จนปัจจุบันได้รับการจัดอันดับความโปร่งใสติดอันดับท็อปของเอเชีย ในวิกฤตโควิดนี้ การแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบ (Accountability) ของรัฐบาลกำลังตกต่ำอย่างมาก หากจะเรียกกลับคืนมาได้ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่ดี ให้ผู้จัดการทางเศรษฐกิจมีความน่าเชื่อถือ พอจะเปลี่ยนแปลง คนก็ร่วมด้วย ยิ่งเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น” พงศ์ศักดิ์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising