×

นานาชาติอาจต้องเพิ่มความพยายามลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีก 3 เท่า หากต้องการบรรลุเป้าความตกลงปารีส

23.09.2019
  • LOADING...
การปล่อยก๊าซเรือนกระจก

จากรายงานล่าสุดของ United in Science ที่เผยแพร่ออกมาในช่วงการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า 

 

สภาพภูมิอากาศโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ แผนการที่เคยได้วางไว้อาจใช้ไม่ได้ผล นานาชาติอาจต้องเพิ่มความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีก 3 เท่า หากต้องการบรรลุเป้าความตกลงปารีสที่ตั้งไว้เมื่อปี 2015

 

ความตกลงปารีสเป็นความพยายามครั้งสำคัญที่นานาชาติต่างตั้งเป้าหมายขั้นพื้นฐานร่วมกันที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับอุณหภูมิช่วงยุคก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันก็กำหนดเป้าหมายที่สูงขึ้นไว้ควบคู่กันว่าจะพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้น้อยลงไปอีกจนถึงต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส หากสามารถกระทำได้ 

 

โดยรายงานดังกล่าวระบุว่าแผนการของแต่ละประเทศในขณะนี้อาจปรับตัวไม่ทันสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก หากยังคงใช้แผนการนี้ต่อไป อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจเพิ่มสูงขึ้น 2.9-3.4 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 โดยนับตั้งแต่ปี 2015-2019 ขณะนี้อุณหภูมิโลกได้เพิ่มขึ้นมาเกินครึ่งทางแล้วราว 1.1 องศาเซลเซียส

 

การประเมินในรายงานล่าสุดเป็นไปตามวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนที่ปกคลุมพื้นที่ต่างๆ มากยิ่งขึ้นและนานยิ่งขึ้น วิกฤตไฟป่าในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะผืนป่าแอมะซอน น้ำแข็งและธารน้ำแข็งที่ละลายลงอย่างรวดเร็ว ไซโคลน ภาวะภัยแล้งและภาวะน้ำท่วมที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

 

ทางด้าน อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้นานาชาติช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 45% ภายในปี 2030 ยุติการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและแบนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ภายในปี 2020 โดยประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศยุโรปตะวันตก ต่างมีขีดความสามารถที่จะยุติการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินได้ภายในปี 2031 ในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็อาจจะต้องตั้งเป้ายุติการใช้พลังงานดังกล่าวในอีกทศวรรษถัดไป

 

แต่อย่างไรก็ตาม มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกจากความตกลงปารีสแล้ว ส่งผลให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่เดินทางเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติในครั้งนี้ และผู้นำออสเตรเลียอย่างนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว แม้ขณะนี้จะอยู่ในระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาก็ตาม โดยได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาริส เพย์น เข้าร่วมการประชุมแทน

 

ภาพ: Ritesh Chaudhary / Shutterstock

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising