×

วิกฤตโควิด-19 ดันคนรวยสหรัฐฯ รวยเพิ่มขึ้น อานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
18.01.2021
  • LOADING...
วิกฤตโควิด-19 ดันคนรวยสหรัฐฯ รวยเพิ่มขึ้น อานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ท่ามกลางวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา ขณะที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับสภาวะยากลำบาก หิวโหย ตกงาน และไร้ที่อยู่อาศัย กลับมีชาวอเมริกันอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนน้อยของสังคม ที่นอกจากจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แล้ว ยังได้รับประโยชน์จากสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น

รายงานระบุว่า คนกลุ่มนี้คือคนร่ำรวย หรือผู้มีรายได้ระดับสูง 20% ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมาตรการของภาครัฐไม่เพียงทำให้ต้องทำงานจากบ้านเท่านั้น แต่ยังส่งผลช่วยเพิ่มพูนทรัพย์สินในความครอบครองของตนเอง

 

ยกตัวอย่างเช่น กรณีนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำติดลบของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ทำให้คนรวยเหล่านี้ได้โอกาสในการรีไฟแนนซ์อสังหาริมทรัพย์ อย่างบ้านและที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ หรือได้โอกาสซื้อบ้านมือสองนอกเมืองราคาถูก เพื่อนั่งดูราคาหุ้น และพันธบัตรในบัญชีที่ตนเองลงทุนไว้ขยับปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

เห็นได้จากกราฟแรก ที่แสดงให้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่าการยิงกระสุนบาซูก้าของเฟด ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง แต่หุ้นในตลาดกลับขยับปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 60,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมีการลงทุนในตลาดหุ้น สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว

 

ชีวิตแสนดีข้างต้นกลับสวนทางกับคนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ต้องตกงาน โดยที่ตัวเลขล่าสุดพบชาวอเมริกันมากกว่า 10 ล้านคนยังไม่มีงานทำ และ 3 เท่าของจำนวนดังกล่าว ต้องอดอยากหิวโหยไร้ที่ซุกหัวนอนในยามค่ำคืน

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมแสดงความวิตกว่า สถานการณ์ที่คนมีมีมากขึ้น และคนไม่มีคือไม่มีหรือไม่เหลืออะไรเลย กลายเป็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงอย่างมาก และจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศในระยะยาวอย่างไม่ต้องสงสัย โดยขณะนี้ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงสุดในรอบกว่า 50 ปีแล้ว 

 

โดยกราฟที่สองแสดงให้เห็นว่า บรรดาผู้มีรายได้สูง 20% เป็นเจ้าของหุ้นเกือบทั้งหมด ที่บรรดาครัวเรือนในสหรัฐฯ ถือครองอยู่ ดังนั้น เมื่อหุ้นในตลาดขยับปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เพราะได้รับแรงกระตุ้นจากเฟด มูลค่าทรัพย์สินของชาวอเมริกันกลุ่มนี้ย่อมขยับปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าวิตกยิ่งกว่าก็คือ ความเหลื่อมล้ำในเรื่องของรายได้และทรัพย์สินดังกล่าว ยังส่งผลให้เกิดช่องว่างในการฟื้นตัว ซึ่งหมายความว่าจะมีชาวอเมริกันส่วนหนึ่งฟื้นตัวได้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมีแนวโน้มถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผลสำรวจของสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ พบว่า มีพลเรือนชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่เกือบ 30 ล้านคนอาศัยอยู่ในบ้านที่มีอาหารไม่เพียงพอต่อจำนวนสมาชิกภายในบ้าน

 

จากแผนภาพแสดงให้เห็นความไม่เท่าเทียมของการฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตอย่างชัดเจน โดยจะเห็นได้ว่าการจ้างงานของบรรดาลูกจ้างค่าแรงน้อย ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ถึง 21% ซึ่งลูกจ้างค่าแรงน้อยคือกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่า 27,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 812,308 บาท)

 

บลูมเบิร์กรายงานต่อว่า ขณะนี้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ต่างคิดหาหนทางที่จะรักษาบ้านที่ตนอยู่อาศัยไว้ กระนั้น มากกว่า 1 ใน 3 ของพลเรือนสหรัฐฯ ในขณะนี้ เสี่ยงโดนยึดบ้านหรือถูกฟ้องขับไล่ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินกู้ภายในสองเดือนข้างหน้า

 

แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามหามาตรการเยียวยาฟื้นฟูอย่างเต็มที่ แต่แผนการทั้งหมดเป็นเพียงการช่วยเหลือเพียงชั่วคราวเท่านั้น และต้องมีวันหมดไป ดังนั้น ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่สามารถหาหนทางให้ผู้คนยืนหยัดอยู่ในสังคมได้อย่างทัดเทียมได้ ไม่ว่าจะมีแผนกระตุ้นเยียวยาอีกกี่แผนก็ไม่เพียงพอ

 

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งก็ออกโรงเตือนว่า ประเทศไม่สามารถที่จะมีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ และระบบการเมืองที่เข้มแข็งได้ ตราบใดที่ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศรู้สึกว่าตนเองไร้ตัวตนและพ่ายแพ้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising