×

ประวัติศาสตร์โคโรนาไวรัส: เรารู้จักไวรัสชนิดนี้มาตั้งแต่เมื่อไร และใครคือผู้ค้นพบ

30.07.2021
  • LOADING...
ประวัติศาสตร์โคโรนาไวรัส

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ถ้าไล่ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์แล้ว เราจะพบว่านักวิทยาศาสตร์ค้นพบไวรัสใหม่สามชนิดด้วยกัน คือ IBV, JHM และ MHV ซึ่งทั้งสามล้วนเกี่ยวข้องกันเพราะเป็นโคโรนาไวรัสเหมือนกัน แต่ในตอนนั้นยังไม่มีใครรู้เลยว่ามันเกี่ยวข้องกัน 
  • ในปี 1965 เดวิด ไทเรลล์ (David Tyrrell) นักไวรัสวิทยาชาวอังกฤษ กับเพื่อนร่วมงานคือ มัลคอล์ม ไบโน (Malcolm Bynoe) รายงานการค้นพบไวรัสที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจในมนุษย์ที่มีชื่อว่า B814 ในวารสาร British Medical Journal และนั่นเองที่ถือว่าเป็นหมุดหมายในในการค้นพบ ‘โคโรนาไวรัสในมนุษย์’ เป็นครั้งแรก
  • โลกจึงรู้จักโคโรนาไวรัสมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แต่ได้ ‘รู้ซึ้ง’ ถึงฤทธิ์เดชของมันในอีกกว่าครึ่งศตวรรษถัดมา

เราพิศดูรูปลักษณ์ของไวรัสชนิดใหม่อย่างใกล้ชิด และสังเกตว่ามันมีลักษณะคล้ายรัศมีแผ่ออกไปรอบตัว เมื่อหันไปพึ่งพจนานุกรมเพื่อหาศัพท์ละตินที่เทียบเท่า ก็ได้คำว่า ‘โคโรนา’ และนั่นเอง ชื่อของ ‘โคโรนาไวรัส’ จึงได้บังเกิดขึ้น

 

ตอนหนึ่งจากหนังสือ Cold Wars: The Fight Against the Common Cold

โดย เดวิด ไทเรลล์ ผู้ค้นพบโคโรนาไวรัสในมนุษย์เป็นครั้งแรก

 

เราอาจคิดว่าโคโรนาไวรัสเป็นเชื้อโรคอุบัติใหม่ แต่ที่จริงแล้วเจ้าโคโรนาไวรัสที่สร้างปัญหาปั่นป่วนให้กับโลกเราในขณะนี้มีการค้นพบกันมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1920 หรือเกือบๆ หนึ่งร้อยปีเต็มมาแล้ว

 

แต่ว่าโคโรนาไวรัสที่พบตั้งแต่เกือบร้อยปีที่แล้วนั้น เราพบในสัตว์ ไม่ได้พบในมนุษย์ โดยสัตว์ที่พบก็คือไก่ กับโรคติดเชื้อเฉียบพลันที่ทางเดินหายใจของไก่เลี้ยง และพบในอเมริกาเหนือเป็นที่แรก (ซึ่งไม่ได้แปลว่าเจ้าไวรัสชนิดนี้จะไม่มีอยู่ในที่อื่นนะครับ เพียงแต่มีการ ‘พบ’ ครั้งแรกที่นี่) ทำให้ไก่มีอาการต่างๆ และตายในอัตรา 40-90% โดยในระยะแรกนักวิทยาศาสตร์เรียกไวรัสนี้ว่า IBV หรือ Infectious Bronchitis Virus คือไวรัสที่ติดเชื้อที่บริเวณหลอดลม

 

พอถึงราวๆ ทศวรรษ 1940 มีการค้นพบโคโรนาไวรัสอีกสองสายพันธุ์ คือ JHM หรือในตอนหลังเรียกว่า Murine Coronavirus ที่ติดเชื้อในหนู ทำให้เกิดโรคทางสมอง กับ MHV หรือ Mouse Hepatitis Virus ที่ทำให้เกิดโรคในหนูเช่นกัน แต่เกิดอาการที่ตับ

 

เป็นอันว่า ถ้าไล่ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์แล้ว เราจะพบว่านักวิทยาศาสตร์ค้นพบไวรัสใหม่สามชนิดด้วยกัน คือ IBV, JHM และ MHV ซึ่งทั้งสามล้วนเกี่ยวข้องกันเพราะเป็นโคโรนาไวรัสเหมือนกัน แต่ในตอนนั้นยังไม่มีใครรู้เลยว่ามันเกี่ยวข้องกัน เอาเข้าจริงก็คือ ไม่มีใคร ‘เห็น’ ด้วยซ้ำ ว่าหน้าตาของมันเป็นอย่างไร เพราะเทคโนโลยียังไม่ดีพอ ประกอบกับโลกก็วุ่นวายไปด้วยสงครามโลกและเศรษฐกิจตกต่ำ จนไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในสัตว์อย่างหนูหรือไก่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนหรือเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอะไรเลย

 

มองในอีกแง่หนึ่ง มนุษย์เราเสียเวลาไปกับ ‘เรื่องไม่เป็นเรื่อง’ ยาวนานเหลือเกิน

 

จนกระทั่งโลกเริ่มสงบลงแล้ว นั่นคือในช่วงทศวรรษ 1960 ยุคที่บุปผาชนกำลังสะพรั่งบาน และผู้คนบอกให้ Make Love Not War นั่นเอง จึงมีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งหันมาสนใจเรื่องที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว (อยู่ดี)

 

เรื่องขี้ปะติ๋ว (แต่ที่จริงแล้วยิ่งใหญ่มาก) ที่ว่าก็คือการทำวิจัยเพื่อพัฒนาระบบที่จะ ‘แยกแยะ’ (Categorising) ไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดธรรมดา (Common Cold) ขึ้นมา

 

ในยุคนั้นการเป็น ‘ไข้หวัด’ ถือเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วเอามากๆ ไม่มีใครคิดหรอกว่ามนุษย์เราจะสามารถ ‘ตาย’ เพราะไข้หวัดได้ เคยมีขุนนางคนหนึ่งของอังกฤษที่ไม่เคยป่วยเป็นอะไรเลยตลอดทั้งชีวิตเพราะรักษาความสะอาดดีมาก แต่สุดท้ายเมื่อป่วยเป็นไข้หวัด (ซึ่งคนถือว่าเป็นอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ) ปรากฏว่าถึงแก่เสียชีวิตลงไป ผู้คนในแวดวงจึง ‘เมาท์’ กันว่าเป็นเพราะเขารักษาความสะอาดมากเกินไป ทำให้ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ไม่มีใครคิดว่าไวรัสไข้หวัดจะทำให้คนล้มตายข้างถนนได้ วิธีคิดแบบนี้จะเรียกว่าเป็นมายาคติอย่างหนึ่งที่ทำให้เราตั้งมั่นอยู่ในความประมาทก็ว่าได้

 

ด้วยเหตุนี้ งานของนักวิทยาศาสตร์คนนี้ที่พยายามจะแยกแยะไวรัสไข้หวัดออกมา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนไม่ค่อยสนใจมากเท่าไรนัก เป็นงานที่ฮือฮาอยู่ในแวดวงแคบๆ มีแต่นักวิชาการด้านไวรัสด้วยกันเท่านั้นที่สนใจ

 

นักวิทยาศาสตร์คนนี้มีชื่อว่า เดวิด ไทเรลล์ (David Tyrrell) เขาเป็นนักไวรัสวิทยาชาวอังกฤษที่เกิดในปี 1925 และทำงานเป็นผู้อำนวยการของหน่วยงานที่ชื่อ Common Cold Unit (หรือ CCU) ซึ่งคือหน่วยงานหนึ่งของอังกฤษที่ทำงานวิจัยเรื่องไข้หวัดธรรมดาๆ และมีการทำวิจัยต่างๆ ในช่วงปี 1946-1989

 

ไทเรลล์เริ่มต้นงานวิจัยนี้ตั้งแต่มาร่วมงานกับ CCU ใหม่ๆ ต้องบอกคุณก่อนว่า วิธีแยกแยะไวรัสในสมัยโบราณนั้น นักวิทยาศาสตร์จะแยกแยะตาม ‘น้ำเลี้ยง’ หรือ Culture ที่ใช้เลี้ยงไวรัส

 

คำว่า Culture นั้น ถ้าเราเอาไปเลี้ยงแบคทีเรีย เราอาจพอแปลว่าเป็น ‘อาหารเลี้ยงเชื้อ’ ได้ เพราะแบคทีเรียมีการ ‘กิน’ อาหารนั้น คือนำอาหารนั้นๆ ไปใช้ให้พลังงานกับเซลล์ตัวเองเพื่อจะแบ่งเซลล์หรือทำกิจกรรมอื่นๆ แต่กับไวรัสไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไวรัสไม่ต้อง ‘กิน’ อะไร เพราะในตัวมันแทบไม่มีอะไรเลยนอกจากเปลือกและสารพันธุกรรม มันไม่ได้ใช้พลังงานในตัวเอง แต่ใช้พลังงานของเซลล์โฮสต์ที่มันไปอาศัยอยู่ ดังนั้น เวลาพูดถึงคำว่า Culture ที่ใช้เลี้ยงไวรัส (หรือ Viral Culture) นักวิทยาศาสตร์ก็จะดูว่ามันเป็น Culture ที่ทำมาจากอะไร เช่น

 

Human-Embryo-Kidney Cell Culture ก็คือ Culture ที่ทำมาจากเซลล์ไตของตัวอ่อนมนุษย์ เป็นต้น โดยดูว่าพอเอาไวรัสใส่เข้าไปในน้ำเลี้ยงนั้นๆ แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงใน ‘โครงสร้าง’ ของเซลล์ของ Culture หรือเปล่า เช่น ไวรัสทำให้เซลล์จากไตของตัวอ่อนมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลง (เรียกว่า Cytopathogenic Effect) ไหม ไวรัสปล่อยสารพันธุกรรมเข้าไปในเซลล์ ทำให้เซลล์สร้างโปรตีนที่แตกต่างออกมา ไวรัสแต่ละสายพันธุ์ก็จะจำเพาะเจาะจงกับ ‘น้ำเลี้ยง’ แบบหนึ่ง จึงแยกแยะได้ว่าเป็นไวรัสคนละชนิดกัน

 

งานของไทเรลล์ก็คือเรื่องแบบนี้นี่แหละครับ เขาจะดูว่ามีไวรัสกี่ชนิดกันหนอที่ทำให้มนุษย์เราเป็นไข้หวัดขึ้นมาได้ โดยในระยะแรกมีการพบไวรัสสายพันธุ์ H กับสายพันธุ์ M ที่เลี้ยงในน้ำเลี้ยงต่างกันเพียงสองชนิดเท่านั้น แต่ต่อมาในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1961 มีการค้นพบเชื้อโรคอีกชนิดหนึ่งที่ไม่อาจใช้น้ำเลี้ยงสองอย่างนี้มาเลี้ยงได้ เชื้อโรคชนิดนี้ถูกตั้งชื่อว่า B814

 

แต่ปัญหาในตอนนั้นก็คือ ไทเรลล์ไม่รู้น่ะสิครับว่า B814 เป็นอะไร มันอาจจะเป็นไวรัสก็ได้ หรืออาจเป็นแบคทีเรียก็ได้อีกเหมือนกัน นั่นทำให้เขา ‘ทิ้ง’ เจ้า B814 เอาไว้นานถึงสี่ปี

 

หลังจากนั้นไทเรลล์ได้พบกับแพทย์ชาวสวีเดนอีกคนหนึ่งชื่อ เบอร์ทิล ฮูร์น (Bertil Hoorn) ซึ่งได้พัฒนา ‘น้ำเลี้ยง’ แบบใหม่ขึ้นมา คราวนี้เป็นน้ำเลี้ยงที่ทำจากเนื้อเยื่อของหลอดลมมนุษย์ ซึ่งพบว่าเจ้า B814 เข้ากันกับน้ำเลี้ยงชนิดใหม่นี้ได้ จึง ‘คอนเฟิร์ม’ ได้ว่า B814 เป็นไวรัส

 

แต่มันไม่ใช่ไวรัสธรรมดา เพราะมีลักษณะเฉพาะหลายอย่างแตกต่างไปจากไวรัสไข้หวัดที่พบกันในยุคนั้น ไม่ว่าจะด้วยคุณสมบัติทางแอนติเจนของมันหรืออาการป่วยที่เกิดขึ้นก็ตามที แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ มันเป็นไวรัสที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจในมนุษย์

 

ไทเรลล์กับเพื่อนร่วมงานคือ มัลคอล์ม ไบโน รายงานการค้นพบนี้ในวารสาร British Medical Journal ในเดือนมิถุนายน 1965 และนั่นเองที่ถือว่าเป็นหมุดหมายในในการค้นพบ ‘โคโรนาไวรัสในมนุษย์’ เป็นครั้งแรก

 

แต่ก็อีกนั่นแหละ ในตอนนั้นคำว่าโคโรนาไวรัสยังไม่ถือกำเนิดขึ้นมา เพราะเอาเข้าจริงก็คือ เรารู้จักไวรัสจากน้ำเลี้ยงที่มันอยู่เท่านั้น เรายังมองไม่เห็นหน้าตารูปร่างของมันเลยเพราะมันตัวเล็กจิ๋วมาก จนกระทั่งในปี 1966 ไทเรลล์ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่ง คือ จูน อัลมีดา (June Almeida) ซึ่งเป็นนักกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (Electron Microscopist) และได้พัฒนาการศึกษาไวรัสโดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนขึ้นมา

 

ตอนแรกอัลมีดาศึกษาไวรัสเก่าแก่อย่าง IBV และ MHV ก่อน และพบว่ามันมีรูปร่างเป็นรัศมีอย่างที่ว่า ต่อมาไทเรลล์ส่งไวรัสที่พบในมนุษย์ไปให้ศึกษา ซึ่งก็มีทั้ง B814 ที่เขาค้นพบ กับอีกตัวหนึ่งคือ 229E อันเป็นไวรัสที่นักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งจากชิคาโกคนพบ

 

ปรากฏว่าเมื่ออัลมีดาส่องกล้องดู – เธอพบว่ามันคือไวรัสเดียวกัน

 

ใช่ – มันคือโคโรนาไวรัส!

 

นี่คือการค้นพบที่ในตอนนั้นไม่มีใครคิดหรอกว่าโคโรนาไวรัสอีกหลายๆ สายพันธุ์ที่จะค้นพบในอนาคต, จะส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นถึงขั้น ‘หยุดโลก’ ได้ขนาดนี้

 

ในปลายทศวรรษ 1960 ไทเรลล์เป็นผู้นำกลุ่มนักไวรัสวิทยาที่ศึกษาสายพันธุ์ไวรัสต่างๆ ทั้งในมนุษย์และในสัตว์ โดยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ ‘เล่น’ อีกหลายอย่าง เช่น Serologic Technique (หรือ Serology) ซึ่งคือเทคนิคการศึกษาจาก ‘เซรั่ม’ อันเป็นของเหลวในร่างกาย และพบอะไรต่างๆ มากมาย เช่น โคโรนาไวรัสจะติดต่อได้บ่อยกว่าในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ ส่วนในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงจะติดต่อได้น้อยลง และโคโรนาไวรัสเป็นสาเหตุของอาการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจราว 35% เป็นต้น

 

ตลอดเวลาหลายสิบปีหลังการค้นพบโคโรนาไวรัส มีการศึกษาเพิ่มเติมในหลายด้าน ทั้งในแง่ระบาดวิทยาและพยาธิวิทยา เพราะนักวิทยาศาสตร์ตระหนักดีมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าไวรัสนี้ทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์หลายสปีชีส์ ตั้งแต่หนู ไก่ ไก่งวง วัว สุนัข แมว กระต่าย หรือหมู แล้วเวลาไปติดในสัตว์แต่ละอย่างก็จะก่อให้เกิดอาการได้หลากหลายที่แตกต่างกันไป อาจจะเกิดอาการตับอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ฯลฯ ตามแต่ว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ไหนที่ไปติดกับสัตว์อะไร

 

ต่อมาภายหลังไทเรลล์เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า Cold Wars: The Fight Against the Common Cold และบันทึกไว้ว่าเป็นเขาและอัลมีดานั่นเองที่ร่วมกันตั้งชื่อไวรัสชนิดนี้ว่า – โคโรนาไวรัส

 

โลกจึงรู้จักโคโรนาไวรัสมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แต่ได้ ‘รู้ซึ้ง’ ถึงฤทธิ์เดชของมันในอีกกว่าครึ่งศตวรรษถัดมา

 

ว่ามันร้ายกาจเพียงใด

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising