×

ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ เมื่อทริปที่เตรียมตัวเป็นปีถูกไวรัสโคโรนา 2019 พาล่ม

20.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ถ้าจุดหมายปลายทางที่คุณปักหมุดอยู่ในลิสต์รายชื่อที่ติดเชื้อในวงกว้าง เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเก๊า เราแนะนำให้ยกเลิกเถอะ!
  • หลังเมษายนเป็นต้นไปล่ะ จะเดินทางได้ไหม คำตอบคือ ให้รอดูสถานการณ์

“ฉันสมควรยกเลิกทริปเที่ยวหรือเปล่า”

“มันยังปลอดภัยอยู่ไหม ถ้าจะเดินทาง”

“ไฟลต์ยกเลิกเต็มเลย สมควรทิ้งตั๋วเลยหรือว่าเลื่อนดี”

 

เสียงแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันดังไม่ขาดสาย พร้อมกับข้อความถามไถ่ตามช่องทางต่างๆ ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่แสดงความกังวลกับทริปที่ตัวเองแพลนไว้ดิบดี แต่ต้องมาเป๋เพราะกระทรวงสาธารณสุขประกาศเตือนชาวไทยให้หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกประเทศในช่วงนี้ โดยเฉพาะสิงคโปร์และญี่ปุ่น หลังจากทั้งสองประเทศเพิ่มสถานะการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นระยะที่ 3 ซึ่งหมายความว่าประเทศกำลังอยู่ในระยะที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการระบาดในวงกว้าง ความลังเลในจิตใจเลยผุดขึ้นมาทันควัน ไปดีไม่ไปดี แต่วางแผนทริปมาแล้ว เงินก็จ่ายแล้ว จะยกเลิกก็ใช่ที่ ครั้นจะเดินหน้าต่อก็กลัวติดโรคระบาด เอาอย่างไรดี คำตอบคือ ให้ลองพิจารณาตามปัจจัย

 

 

จุดหมายปลายทางที่ปักหมุดร้ายแรงขนาดไหน

เราไม่ได้สนับสนุนให้คุณไป แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านคัดค้านให้ฝันคุณสลาย ถ้าจุดหมายปลายทางที่คุณปักหมุดอยู่ในลิสต์รายชื่อที่ติดเชื้อในวงกว้าง เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเก๊า และคุณไม่มีเหตุคอขาดบาดตายต้องไป ไม่มีการงานหรือดีลพันล้านต้องเซ็นสัญญา เราแนะนำให้ยกเลิกเถอะ! ยอมเสียน้อยดีกว่าเสียมาก เสียแต่ต้นดีกว่าเสียเงินเพื่อสุขชั่วครู่แล้วกลับบ้านมาพร้อมกับโรคภัย แถมยังต้องโดนกักตัวอยู่ 14 วันอีก ถ้าป่วยก็ต้องเข้าโรงพยาบาลรักษาอย่างต่อเนื่อง แถมยังไม่รู้ว่าตนเองกลายเป็นต้นตอพาเชื้อไปติดเพื่อนร่วมทางอีกเท่าไร

 

แต่ถ้าจุดหมายปลายทางของคุณเป็นประเทศที่การระบาดเบาบางอย่างแถบยุโรป หรือประเทศอื่นๆ ที่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยพลุกพล่าน เราแนะนำให้คุณ Go On ปักหมุดไปเที่ยวได้ แต่ต้องระวังตัวเป็นพิเศษ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัสใบหน้าหรือหยิบอาหารเข้าปาก ใช้ทิชชู่เปียกเช็ดทำความสะอาดที่นั่งและกระจกหน้าต่างทุกครั้งที่โดยสารเครื่องบิน เพราะคุณไม่รู้หรอกว่าเครื่องบินที่โดยสารอยู่รับผู้โดยสารแบบใดมาบ้าง กี่คน กี่ชนชาติ กี่เที่ยวต่อวัน กันไว้ดีกว่าแก้ อย่างไรก็ไม่เสียหาย 

 

 

วัน-เวลาที่เดินทาง

นอกจากจุดหมายปลายทางแล้ว วัน-เวลาเดินทางก็สำคัญ หากวันเดินทางในระยะอันใกล้ เช่น ปลายเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายนที่กำลังจะถึง และเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง แนะนำให้ยกเลิกทริป อย่าคิดเยอะ อย่าเสียดายเงิน ชีวิตและความปลอดภัยต้องมาก่อน ถ้าทนไม่ไหวจริงๆ อยากเที่ยวมาก เปลี่ยนเส้นทางไปยังสถานที่ที่ผู้คนไม่พลุกพล่าน และมั่นใจว่าปลอดภัยในระดับหนึ่ง ทว่าทางที่ดีควรงดเดินทางก่อนดีที่สุด เพราะไม่ใช่แค่คุณที่กลัวจะติดเชื้อ แต่หลายชาติในยุโรป ตะวันออกกลาง หรือชนชาติอื่นก็กลัวติดเชื้อจากคนเอเชียเช่นกัน แน่นอนว่าการต้อนรับย่อมไม่เป็นมิตรอย่างที่วาดฝันไว้ (ถึงขนาดมีข่าวว่าโดนทำร้ายหรือ Bully) เผลอๆ อาจโดนปฏิเสธการเข้าประเทศด้วย

 

แล้วถ้าหลังเมษายนเป็นต้นไปล่ะ จะเดินทางได้ไหม คำตอบคือ ให้รอดูสถานการณ์ อย่าเพิ่งรีบแคลเซิลทริป ถ้าสายการบินมีนโยบายให้เลื่อนตั๋วได้ แนะนำให้เปลี่ยนไปปลายปีหลังช่วงฤดูร้อนหรือช่วงฤดูใบไม้ร่วง คาดว่าช่วงนั้นสถานการณ์น่าจะสงบแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟู เลื่อนตั๋วแล้วก็อย่าลืมแคนเซิลห้องพักที่จองไว้ด้วย บางแห่งสามารถยกเลิกได้เต็มจำนวน ดูเงื่อนไขการยกเลิกให้ละเอียด จะได้ไม่ขาดทุนมากเกินไป

 

 

หมั่นสอดส่องข้อมูลจากหน่วยงานน่าเชื่อถือ

ไวรัสแพร่กระจายในวงกว้างเท่าไร ข่าวลือก็ยิ่งแพร่เร็วตามเท่านั้น ด้วยสถานการณ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และยังไม่มีข้อมูลออฟฟิเชียลมากนัก ทำให้เสียงลือเสียงเล่าอ้างต่างๆ มีน้ำหนัก และดูเหมือนจะหนักแน่นกว่าข้อมูลความเป็นจริงอีกบางที ทางที่ดี พยายามอย่าเชื่อข่าวส่งต่อ ข่าวแชร์ตามโซเชียลที่แหล่งอ้างอิงไม่น่าเชื่อถือ เราแนะนำให้คุณติดตามข่าวสารจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก และสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือเท่านั้น จากนั้นนำมาคิด วิเคราะห์ และรวมปัจจัยดูว่าทริปสมควรไปต่อหรือพอแค่นี้

 

ว่ามาถึงตรงนี้ ไม่ได้คัดค้านหรือสนับสนุนให้เดินทาง แต่ถ้าการเดินทางครั้งนี้ทำให้คุณเป็นกังวลและเสี่ยงต่อโรคระบาดที่อาจส่งเชื้อต่อผู้อื่นได้โดยง่าย ก็อย่าเอาชีวิตไปเสี่ยงกับเงินไม่กี่บาทและความสุขเพียงไม่กี่วัน เงินหาเมื่อไรก็หาได้ แต่สุขภาพและชีวิตรักษาเอาไว้ให้แข็งแรงดีที่สุด

 

 

 

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X