×

เปิดเกมแก้ รธน. พีระพันธุ์ อดีต ปชป. นั่งประธานตามคาด จับตาฝ่ายค้านไปได้ไกลแค่ไหน

24.12.2019
  • LOADING...
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ในที่สุดเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างเปิดหน้าเสนอทิศทางของตนเอง ถึงขนาดออกตัวว่าเป็น ‘นโยบายเร่งด่วน’ ของแต่ละขั้ว แต่ทว่าในความเป็นจริง หากติดตามการเมืองจะรับรู้มาตลอดว่า เป็นเรื่องที่พรรคฝ่ายค้านชูธงเป็นนโยบายหาเสียง เพื่อเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เป็นฉบับที่เรียกว่ามาจากประชาชนมากที่สุด

 

ที่ประชุมวันนี้ (24 ธันวาคม) ณ สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีนัดประชุมครั้งแรกของ ‘คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560’ วาระร้อนตามหน้าสื่อคือ การถกหาตัวประธานและตั้งตำแหน่งต่างๆ 

 

ก่อนเริ่มการประชุมเพื่อเลือกประธานและตำแหน่งต่างๆ ผู้ที่ทำหน้าที่ในฐานะประธานชั่วคราวคือ บัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส. ประชาธิปัตย์ ในฐานะที่มีอาวุโสมากที่สุด

 

และในที่สุดที่ประชุม ซึ่งประกอบด้วยกรรมาธิการ (กมธ.) จำนวน 49 คน แต่วันนี้มาประชุมเพียง 48 คน ขาด ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. อนาคตใหม่ คนเดียว ได้ลงมติเสียงข้างมาก ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 25 เสียง ให้ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ และอดีตสมาชิกประชาธิปัตย์ เป็นประธานและเห็นชอบให้ โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาจากซีกฝ่ายค้าน 19 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ทำให้พีระพันธุ์ได้นั่งเก้าอี้ประธานกรรมาธิการตามคาด

 

เมื่อย้อนกับมาดูตัวเลขกรรมาธิการจำนวน 49 คน จะพบว่าสัดส่วนของรัฐบาลมี 30 คน ขณะที่ฝ่ายค้านมีเพียง 19 เสียง ซึ่งอาจกลายเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามประเด็นที่ฝ่ายค้านต้องการศึกษาแก้ไข โดยเฉพาะหลายประเด็นที่มาจากพรรคอนาคตใหม่ เหมือนจะมีแรงต้านมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว อาจยิ่งทำให้ยากขึ้นไปอีก 

 

อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการ และ ส.ส. เพื่อไทย มองว่า ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะ การนำเสนอประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของเหตุและผล เป็นเรื่องที่อธิบายสังคม และสาธารณชนรับรู้มาโดยตลอด การมีเสียงจำนวนที่น้อยกว่าก็เป็นไปตามกลไกการคำนวณสัดส่วน แต่อย่างไรต้องคำนึงถึงความรอบด้านและประเด็นที่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนด้วย 

 

ขณะที่ สุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม และประธานวิปฝ่ายค้าน ไม่ปฏิเสธว่ามีความกังวล ในเรื่องการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ แต่ก็จะพยายามทำอย่างเต็มที่ 

 

ด้าน อุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการด้วย กล่าวถึงเหตุผลเข้าร่วมครั้งนี้ว่า ได้มีหารือกับ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เห็นว่าควรเข้าร่วมเพื่อแสดงความเห็นในฐานะอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มา

 

โดยมีความตั้งใจจะอธิบายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ฝ่ายที่ต้องการแก้ไขได้รับทราบ ยืนยันว่ากรรมาธิการชุดนี้หน้าที่เพียงศึกษาเพื่อหาวิธีการในการแก้ไขเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นต้องลงรายละเอียดว่าจะแก้ไขมาตราใด และการแก้ไขเกี่ยวกับเงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นยืนยันว่าตามรัฐธรรมนูญนอกจากต้องผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ยังต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชนด้วยจึงจะสามารถแก้รายมาตรา หรือตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ได้

 

สำหรับตำแหน่งอื่นๆ ที่น่าสนใจใน กมธ. ชุดนี้ ได้แก่

 

  • ไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นรองประธานกรรมาธิการคนที่ 1
  • วัฒนา เมืองสุข เป็นรองประธานกรรมาธิการคนที่ 2
  • ชำนาญ จันทร์เรือง เป็นรองประธานกรรมาธิการคนที่ 3
  • ชินวรณ์ บุณยเกียรติ เป็นรองประธานกรรมาธิการคนที่ 4
  • วิเชียร ชวลิต เป็นรองประธานกรรมาธิการคนที่ 5
  • สมชัย ศรีสุทธิยากร เป็นรองประธานกรรมาธิการคนที่ 6
  • ศุภชัย ใจสมุทร เป็นรองประธานกรรมาธิการคนที่ 7 

 

ทั้งนี้ภายหลังที่พีระพันธุ์ได้รับเลือกเป็นประธานกรรมาธิการฯ ก็ได้กล่าวกับที่ประชุม ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการทำงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และเกิดประโยชน์กับประชาชน และส่วนตัวก็มั่นใจในความสามารถของแต่ละคน เนื่องจากหลายคนมีประสบการณ์ทางการเมืองมานาน 

 

ขณะที่การประชุมกรรมาธิการชุดดังกล่าวคาดว่าจะเลือกวันประชุมในวันที่ไม่ตรงกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising