×
SCB Omnibus Fund 2024

เศรษฐกิจทรุดจากพิษโควิด ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นแทบทุกตัวทุบสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

12.08.2021
  • LOADING...

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศที่ยังมีความรุนแรง มียอดผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการยกระดับความเข้มข้นมาตรการควบคุมของภาครัฐด้วยการล็อกดาวน์ในเขตพื้นที่สีแดง 29 จังหวัด รวมถึงแผนกระจายวัคซีนที่ล่าช้ากว่าเป้าหมาย ได้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของคนไทยที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจในเวลานี้อยู่ในจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

 

สะท้อนได้จาก ‘ดัชนีชี้วัด’ ที่ถูกจัดทำโดยหลายๆ หน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่ล้วนบ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่าความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของคนไทยได้ปรับตัวลดลงทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มลดลงได้อีกในอนาคตหากวิกฤตการแพร่ระบาดยังไม่สามารถคลี่คลายโดยเร็ว ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH พาไปดูว่ามีดัชนีใดบ้างที่ทรุดตัวลงไป

 

เริ่มจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เมื่อเร็วๆ นี้ได้เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค หรือ Consumer Confidence Index (CCI) ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยพบว่าดัชนีปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 40.9 จาก 43.1 ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดัชนีแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 10 เดือน นับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา

 

ขณะเดียวกันยังพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 35.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมลดลงอยู่ที่ระดับ 38.0 จุด และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตลดลงอยู่ที่ระดับ 49.6 จุด โดยดัชนีเกือบทุกรายการปรับลดลงเมื่อเทียบกับในเดือนมิถุนายน 2564 และแตะระดับต่ำสุดนับตั้งเริ่มทำการสำรวจมาเช่นกัน

 

ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนกรกฎาคมของกระทรวงพาณิชย์ ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 36.7 เทียบกับระดับ 42.7 ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต 

 

โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 34.4 มาอยู่ที่ระดับ 29.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตปรับลดลงจากระดับ 48.1 มาอยู่ที่ระดับ 41.3 

 

ในมุมนักลงทุน ผลสำรวจ ‘ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน’ (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ประจำเดือนกรกฎาคม 2564 ของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย พบว่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 64.37 จุด ปรับตัวลดลง 39.3% จากเกณฑ์ทรงตัวเดือนก่อน มาอยู่ในเกณฑ์ ‘ซบเซา’ ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

 

โดยปัจจัยลบที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด คือ การระบาดของโควิดทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น แต่หลายประเทศยังโชคดีที่สามารถฉีดวัคซีนได้มากแล้ว ขณะที่ประเทศไทยยังคงกระจายฉีดวัคซีนได้ไม่มากนัก ซึ่งยังไม่เห็นแนวโน้มที่รัฐบาลจะสามารถควบคุมการระบาดได้ จึงยกระดับมาตรการล็อกดาวน์ และเพิ่มจังหวัดควบคุมเข้มข้นหรือสีแดงเข้มเป็น 29 จังหวัด ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีมากขึ้น ส่วนปัจจัยบวกที่คาดหวังคือ การเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นเร็วที่สุด และนโยบายของภาครัฐ

 

ขณะที่ผลการสำรวจความเชื่อมั่นค้าปลีกในเดือนกรกฎาคมของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย พบว่า ‘ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก’ (Retail Sentiment Index: RSI) อยู่ที่ระดับ 16.4 ลดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน คิดเป็นความเชื่อมั่นติดลบ 70% และการลดลงของยอดขายสาขาเดิมเดือนกรกฎาคมปีนี้ (Same Store Sale Growth: SSSG) เกิดจากทั้ง Spending Per Bill หรือ Per Basket Size และความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) ลดลงพร้อมกันทั้งคู่ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก สะท้อนถึงการฟื้นตัวต้องใช้เวลา 

 

ผลจากการสำรวจทำให้สมาคมฯ คาดว่าภาคการค้าปลีกและบริการครึ่งปีหลังจะทรุดหนัก การเติบโตโดยรวมปีนี้มีแนวโน้มจะติดลบทั้งปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้ายืนอยู่ที่ระดับ 27.6 ต่ำกว่าดัชนีเดือนเมษายนปี 2563 ที่ระดับ 32.1 สะท้อนถึงความวิตกกังวลในความไม่ชัดเจนต่อแนวทางการกระจายการฉีดวัคซีนที่ภาครัฐยังมีความล่าช้า และมาตรการการเยียวยาที่ไม่เข้มข้นมากพอ รวมทั้งการกระตุ้นกำลังซื้อที่ภาครัฐประกาศที่จะอัดฉีดเพิ่มเติมไม่ตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยผลสำรวจ ‘ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ’ (BSI) เฉพาะกิจ ระหว่างวันที่ 1-22 กรกฎาคม 2564 โดยพบว่าในเดือนกรกฎาคม ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมปรับลดลงจากเดือนก่อนในทุกภาคธุรกิจ ตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศในวงกว้าง และผลของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่กลับมาเข้มงวดอีกครั้ง

 

นอกจากความเชื่อมั่นของคนไทยที่ลดลงแล้ว ล่าสุดสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังได้เปิดเผย ‘ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติ’ ในไทย (Foreign Business Confidence Index: FBCI) และผลสำรวจความเห็น ‘ดัชนีนักธุรกิจต่างชาติในไทย’ ประจำไตรมาส 2/64 ซึ่งสำรวจความเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย 35 ประเทศ จำนวน 70 ราย ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2564 โดยพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติโดยรวมอยู่ที่ระดับ 27.7 ลดลงจาก 33.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นระดับต่ำสุดนับจากเริ่มต้นสำรวจ

 

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยโดยรวมของนักธุรกิจต่างชาติอยู่ที่ 28.5 ลดลงจาก 34.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจโดยรวมของนักธุรกิจต่างชาติอยู่ที่ 26.8 ลดลงจาก 34.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีทุกตัวยังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติที่ 50 สะท้อนมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยที่แย่ของนักธุรกิจต่างชาติ

 

นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจต่างชาติถึงปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน พบว่า อันดับแรกคือ วัคซีนที่ไม่เพียงพอ (42.68%) รองลงมาคือ การแพร่ระบาดของโควิดที่ยังควบคุมไม่ได้ (13.41%) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (12.20%) และการว่างงานจากสถานการณ์โควิดที่ส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ (10.98%)

 

ขณะที่การสำรวจความเห็นถึงปัญหาทางธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติกำลังเผชิญอยู่พบว่า อันดับแรกคือ คำสั่งซื้อที่ลดลงจากเศรษฐกิจที่ซบเซา (23.54%) รองลงมาคือ ธุรกิจขาดสภาพคล่องและเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยา (18.31%) และผู้บริหารและพนักงานเข้าไม่ถึงวัคซีน (12.33%)

 

การสำรวจความเห็นของนักธุรกิจต่างชาติยังพบด้วยว่า 70% มีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสเติบโตติดลบ 42.50% มีความเชื่อมั่นต่อมาตรการควบคุมโควิดของภาครัฐน้อย และ 35.70% ไม่เชื่อมั่นเลย 57% มองว่ามาตรการของรัฐบาลในเวลานี้ไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา และ 27% ยังไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงใด โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าอย่างเร็วที่สุดคือไตรมาสแรกของปีหน้า

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในประเทศที่ยังมีความรุนแรง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะที่แผนกระจายวัคซีนยังล่าช้า ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH พาไปสำรวจดูว่ามีดัชนีใดบ้างที่ทรุดตัวลงบ้าง

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising