×

ภูมิรัฐศาสตร์ระอุ ดัน ‘ราคาโภคภัณฑ์-น้ำมัน-ทองคำ’ พุ่ง อาจชะลอการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ

15.04.2024
  • LOADING...

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้อนระอุในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกรณีอิหร่าน-อิสราเอลที่เกิดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ พุ่งทะยาน รวมถึงน้ำมัน ทองคำ และทองแดง โดยภาวะดังกล่าวอาจทำให้การตัดสินใจลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ล่าช้าออกไป

 

แม้ก่อนที่อิหร่านจะโจมตีอิสราเอลเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้วตั้งแต่ต้นปี โดย ณ วันนี้ (15 เมษายน) ราคาน้ำมันดิบ Brent ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานโลก (Global Benchmark) ก็ปรับตัวขึ้นกว่า 17.5% แล้ว (YTD) โดยอยู่ที่ระดับราว 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

เมื่อประกอบกับการพุ่งทะยานอย่างรวดเร็วในตลาดโลหะมีค่าและวัตถุดิบอื่นๆ เช่น ทองคำ และทองแดง ดัชนี Bloomberg Commodity Spot Index จึงขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 7 เดือน

 

การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันย่อมทำให้น้ำมันเบนซินมีราคาแพงขึ้น ขณะที่ทองแดงซึ่งเป็นวัตถุจำเป็นสำหรับการเดินสายไฟ ประปา และเครื่องจักรอุตสาหกรรม ก็เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคากาแฟ ขณะที่ราคาโกโก้ที่พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก็ทำให้อุตสาหกรรมช็อกโกแลตตกอยู่ในความระส่ำระสาย

 

ย้อนกลับไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกินคาด ส่งผลให้ตลาดคาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะล่าช้าออกไปอีก เนื่องมาจากปัจจัยขับเคลื่อนที่ใหญ่ที่สุด 2 ประการคือ ราคาน้ำมัน และไฟฟ้า

 

“การปรับตัวขึ้นของราคา (สินค้าโภคภัณฑ์) ครั้งล่าสุดนี้ ทำให้ธนาคารกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ยากขึ้นมาก” Trevor Woods ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ Northern Trace Capital LLC ซึ่งทำธุรกิจโภคภัณฑ์มาอย่างยาวนาน กล่าว

 

“Fed อาจต้องใช้เวลาก่อนลดดอกเบี้ย และหาก Fed คงอัตราดอกเบี้ยไว้นานขึ้น เราอาจจะได้เห็นธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลกปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก่อน” J.D. Joyce ประธานบริษัท Joyce Wealth Management LLC ในเมืองฮูสตัน กล่าว

 

ทั้งนี้ แนวโน้มการ ‘ชะลอ’ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ช้าออกไปไม่ได้เกิดขึ้นกับ Fed เท่านั้น แต่ผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษฐศาสตร์บางคนก็เริ่มมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีแนวโน้มที่จะเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรกของวงจรนี้ ‘ช้าออกไป’ หลังสัปดาห์ก่อนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปี

 

กรุงศรีมอง กนง. แนวโน้มที่จะ ‘ตรึงดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้’

 

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ท่าทีของ กนง. ในการประชุมรอบล่าสุดมีแนวโน้มที่จะ ‘ตรึงดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้’

 

“คณะกรรมการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันเอื้อต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน และมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาโครงสร้าง แม้ว่ายังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของการส่งออก การเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นทางการคลัง”

 

อย่างไรก็ตาม กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ยังคงมองว่า มีความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายราว 2 ครั้งภายในปีนี้ โดยประเมินว่าอัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปีอาจอยู่ที่ 2% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่กระทบแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

 

กสิกรมอง กนง. มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยเหลือเพียงครั้งเดียวในปีนี้

 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กนง. ยังมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 1-2 ครั้งในเดือนมิถุนายนและสิงหาคม จากก่อนหน้านี้ประเมินว่ามีโอกาสลด 2 ครั้งในปีนี้

 

พร้อมทั้งมองว่า ทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้ายังขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ โดยยังคงต้องติดตามแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นทางการคลังที่อาจมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้

 

ไทยพาณิชย์-กรุงไทยยังคงมุมมอง กนง. จะลดดอกเบี้ยในปีนี้ 2 ครั้ง

 

อย่างไรก็ดี SCB EIC ยังระบุในบทความบนเว็บไซต์ โดยยังเชื่อว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยในปีนี้ 2 ครั้ง ตั้งแต่การประชุมรอบเดือนมิถุนายน เนื่องจากมติ กนง. ที่ไม่เป็นเอกฉันท์ต่อเนื่องในรอบนี้ และศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาวที่ลดลง จึงคาดว่า กนง. มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ 2 ครั้ง

 

สอดคล้องกับมุมมองจาก Krungthai COMPASS ซึ่งคาดว่า กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจำนวน 2 ครั้งในปีนี้ (ครั้งละ 25 bps) สู่ระดับ 2% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยได้กระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการผลิต อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่ปัจจัยกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวสูงกว่ากรอบเป้าหมายมีแนวโน้มผ่อนคลายลง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising