×

‘ภาวะฉุกเฉินทางอากาศ’ เกมชิงอำนาจใหม่บนเวทีโลก ที่ใครไม่ลงสังเวียนถือว่า ‘ตกขบวน’

09.12.2020
  • LOADING...
ภาวะฉุกเฉินทางอากาศ

HIGHLIGHTS

  • นิวซีแลนด์เป็นประเทศลำดับที่ 33 ที่ประกาศ Climate Emergency หรือ ภาวะฉุกเฉินทางอากาศ
  • นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ประกาศจะนำประเทศปลอดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030
  • นานาชาติตื่นตัวและทยอยประกาศเป้าหมายบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์มากขึ้น
  • ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยืนกรานนำสหรัฐฯ กลับสู่ข้อตกลงปารีส
  • นักวิทยาศาสตร์และผู้สังเกตการณ์จับตาการประชุมโลกร้อนในเมืองกลาสโกว์ ปลายปี 2021 อาจบรรลุข้อตกลงที่ยิ่งใหญ่กว่าความตกลงปารีส

“การประกาศภาวะฉุกเฉินทางอากาศ เป็นการยอมรับถึงภาระอันหนักอึ้งที่จะตกอยู่บนบ่าของคนรุ่นต่อไปหากเราไม่แก้ไขวิกฤตนี้ และไม่ดำเนินการในทันที” 

 

นี่คือส่วนหนึ่งของถ้อยปราศรัยที่จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีแห่งนิวซีแลนด์ กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภา หลังลงมติอนุมัติการประกาศภาวะฉุกเฉินทางอากาศ หรือ Climate Emergency 

 

นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 และอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ย้ำว่า ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงสำหรับชาวนิวซีแลนด์แล้ว นั่นหมายถึง “สภาพอากาศที่เปราะบางและสุดโต่ง…กระทบต่ออุตสาหกรรมหลักของเรา แหล่งน้ำ และสาธารณสุขจากปัญหาน้ำท่วม น้ำทะเลหนุนสูง และไฟป่า”

 

นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ 33 ที่ประกาศภาวะฉุกเฉินทางอากาศ ต่อจาก ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ แคนาดา ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ตอกย้ำและกดดันประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่ประกาศ Climate Emergency ว่า ‘คุณกำลังจะตกเทรนด์’

 

ภาวะฉุกเฉินทางอากาศ

ธรรมชาติที่งดงามของนิวซีแลนด์

 

ดูเหมือนการแข่งขันเชิงอำนาจของโลก ได้เพิ่มอีกหนึ่งประเภท ‘กีฬา’ นอกเหนือจาก การเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง นั่นคือการแก้ปัญหาโลกร้อน ที่มีอนาคตของคนรุ่นใหม่เป็นเดิมพัน

 

วิถีสีเขียวแดนนกกีวี

 

รัฐบาลนิวซีแลนด์ให้คำมั่นว่าจะบรรลุ ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ ให้ได้ภายในปี 2025 ซึ่งถือว่าเร็วกว่าประเทศที่ประกาศ Climate Emergency อื่นๆ ซึ่งกำหนดเส้นตายในปี 2050-2060 

 

ก๊าซเรือนกระจกเกือบครึ่งของนิวซีแลนด์มาจากภาคเกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน ซึ่งส่วนที่นิวซีแลนด์ไม่สามารถลดได้นั้น รัฐบาลจะหามาตรการเพื่อชดเชยแทน 

 

โดยเบื้องต้นรัฐบาลจะอัดฉีดงบสนับสนุน 141 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นกว่า 4,200 ล้านบาท สำหรับการแทนที่เตาเผาถ่านหิน และเป็นเงินอุดหนุนประชาชนให้ซื้อรถยนต์ขับเคลื่อนพลังไฟฟ้า หรือรถยนต์ไฮบริด 

 

อันที่จริง เมื่อปี 2019 นิวซีแลนด์ได้ผ่านกฎหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Zero Carbon Act 2019 ที่กำหนดพันธกิจว่ารัฐบาลต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงให้เหลือศูนย์ ภายในปี 2050 ทำให้นิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ใช้กฎหมายเป็นตัวควบคุมเป้าหมาย Zero Emission 

 

ภาวะฉุกเฉินทางอากาศ

การประชุมรัฐสภานิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2020

 

“นิวซีแลนด์เลือกอยู่ฝั่งที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์โลก ฉันเชื่ออย่างยิ่ง และจะยืนหยัดกับคำประกาศว่าปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นความท้าทายที่สุดแห่งยุคสมัย” อาเดิร์น กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภา

 

แม้เป้าหมายจะเด่นชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า นิวซีแลนด์ยัง ‘ไปไม่ถึงไหน’ ต่อการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิ โรเบิร์ต แม็กลัคแลน ศาสตราจารย์สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยแมสซีย์ ชี้ว่า นิวซีแลนด์อยู่ลำดับที่ 12 จาก 43 ประเทศอุตสาหกรรมที่พบว่าอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิได้เพิ่มขึ้นในช่วงปี 1990-2018

 

แม้นิวซีแลนด์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 0.17% ของทั้งโลก แต่ถือว่าค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับขนาดประเทศ จัดอันดับแล้วเป็นประเทศในกลุ่ม OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดอันดับที่ 17 จาก 32 ประเทศสมาชิก อีกทั้งในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นิวซีแลนด์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึง 60%

 

ฝ่ายค้านนิวซีแลนด์วิจารณ์คำประกาศของอาร์เดิร์นว่า เป็นแค่การเรียกคะแนนเสียง และ “การแสดงสัญญาณด้านคุณธรรม” (Virtue Signalling) เท่านั้น 

 

“เราคิดว่าการประกาศภาวะฉุกเฉิน (ทางอากาศ) เป็นเรื่องที่ดี แต่รัฐบาลยังไม่มีแผนรองรับที่เหมาะสมในการดำเนินนโยบาย” จูดิธ คอลลินส์ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์กับ Radio New Zealand พร้อมยกตัวอย่าง รถยนต์ที่ภาครัฐใช้มากกว่า 15,000 คัน มีเพียง 10% ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า  

 

เทรนด์รักสิ่งแวดล้อมกับการช่วงชิงอิทธิพลโลก

 

การประกาศ Climate Emergency ของนิวซีแลนด์อาจดูย้อนแย้งกับตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยังพุ่งสูง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พาดหัวข่าวนี้ได้เพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลอื่นทั่วโลกที่ลงนามเป็นภาคีข้อตกลงปารีสแล้ว แต่กลับไร้ความคืบหน้า และยังไม่มีแผนจะประกาศเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ 

 

และไม่ใช่แค่ชาติตะวันตกเท่านั้น ประเทศในเอเชียเองเริ่มตื่นตัวกับ ‘ภารกิจพิทักษ์โลก’ นี้เช่นกัน เมื่อพี่ใหญ่อย่างจีน ลั่นวาจากลางที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่าจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ก่อนปี 2060 ไม่นับรวมญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ประกาศเป้าหมายไปเมื่อไม่นานมานี้

 

แม้จะช้ากว่านิวซีแลนด์ที่ตั้งเป้าไว้ที่ปี 2030 และประเทศส่วนใหญ่ที่กำหนดไว้ก่อนปี 2050 แต่หากจีนประสบความสำเร็จ จะช่วยให้อุณหภูมิโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เรียกว่า เป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้พุ่งสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส ไม่ได้เป็นเพียงความฝันลมลมแล้งแล้งอีกต่อไป

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Climate Emergency Declaration อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 4 ธันวาคม ระบุว่า จากทั้งหมด 33 ประเทศที่ประกาศภาวะฉุกเฉินทางอากาศ มีรัฐบาลท้องถิ่นของเมืองและจังหวัดที่ประกาศดำเนินตามเป้าหมายของรัฐบาลกลาง รวมแล้ว 1,855 แห่ง 

 

ประเทศที่ประกาศเป้าหมายฯ ไปแล้วก็ไม่ได้หยุดนิ่ง พยายามขับเคลื่อนนโยบายและตั้งเป้าหมายใหม่ๆ เพื่อแสดงถึงความตั้งใจจริงว่า สิ่งที่พูดไปนั้นไม่ใช่แค่ ‘สัญญาปากเปล่า’ THE STANDARD รวบรวมความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมา ดังนี้

 

  • สหราชอาณาจักรประกาศลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 68% ภายในปี 2030 พร้อมกับสร้างงานเพิ่ม 250,000 ตำแหน่ง ด้วยงบประมาณกว่า 1.6 ล้านล้านบาท ลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี การคมนาคม และอาคารอัจฉริยะ
  • รัฐสภาเดนมาร์กลงมติข้อตกลงเพิ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือไฮบริดให้ได้อย่างน้อย 775,000 คัน ภายในปี 2030 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 70% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ปัจจุบันมีรถยนต์ไฟฟ้าในเดนมาร์กเพียง 2 หมื่นคัน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณรถยนต์บนท้องถนนกว่า 2.5 ล้านคัน
  • รัฐบาลโปแลนด์เปิดตัวแผนสร้างระบบพลังงานปลอดก๊าซเรือนกระจกให้สำเร็จใน 20 ปี เป็นระบบที่ยึดกับพลังงานนิวเคลียร์ แหล่งพลังงานทดแทน และกังหันลมนอกชายฝั่งเป็นหลัก โดยโปแลนด์มีแผนสร้างโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 6 แห่ง โดยโรงงานแห่งแรกจะพร้อมเริ่มใช้งานในปี 2033 ส่วนกังหันลมนอกชายฝั่ง จะติดตั้งสำเร็จภายในปี 2040

 

แต่ประเทศที่ ‘ควร’ แต่กลับ ‘ไม่ได้อยู่’ ในลิสต์ 33 ประเทศ และกำลังเผชิญแรงกดดันมากที่สุดจากนานาชาติ คือ สหรัฐอเมริกา ที่ได้ถอนตัวออกจากความตกลงปารีสไปเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

 

ถอนตัวแล้ว…ก็กลับเข้าไปได้

 

แรงกดดันนี้เองเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะขึ้นสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมปีหน้า ประกาศแผนรับมือปัญหาโลกร้อนที่เขาระบุว่า ‘ทะเยอทะยานมากที่สุด’ และสิ่งแรกๆ ที่เขาจะทำคือนำสหรัฐฯ กลับเข้าเป็นชาติภาคีข้อตกลงปารีสอีกครั้ง

 

รัฐบาลไบเดนต้องเข็นนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกออกมาอย่างเร่งด่วน เพื่อฟื้นความน่าเชื่อถือและสถานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงโลกที่ถูกทรัมป์ทำลายไปภายใต้นโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’

 

ภาวะฉุกเฉินทางอากาศ

โจ ไบเดน จะนำสหรัฐฯ กลับสู่ผู้นำการแก้ปัญหาโลกร้อนได้หรือไม่

 

“ผมเชื่อมั่นว่าชาวอเมริกันจะพยายามนำประเทศกลับสู่การเป็นผู้นำโลก ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ” อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติปราศรัยที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน

 

แมตต์ แม็กเกรธ ผู้สื่อข่าวด้านสิ่งแวดล้อมของ BBC คาดการณ์ถึงสิ่งที่รัฐบาลไบเดนจะทำ ดังนี้:

 

ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตามนโยบาย Biden Climate Plan รัฐบาลจะขับเคลื่อนการผลิตไฟฟ้าของสหรัฐฯ ให้ปลอดคาร์บอนภายในปี 2035 และบรรลุ Zero Emission ก่อนกลางศตวรรษที่ 21 โดยก๊าซเรือนกระจกส่วนที่ลดไม่ได้นั้น จะใช้วิธีชดเชยด้วยวิธีอย่างการปลูกต้นไม้ 

 

ตลอดเวลา 4 ปีในทำเนียบขาว ไบเดนจะทุ่มเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 70 ล้านล้านบาท เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการปรับปรุงอาคาร 4 ล้านแห่งให้ใช้พลังงานไฟฟ้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า สถานีเติมพลังงาน และเงินอุดหนุนให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ที่รักโลกมากขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นว่า อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้น จะสร้างงานให้ประชาชนไปด้วย 

 

บรรลุเป้าหมายคุมอุณหภูมิโลก เป้าหมายหลักของความตกลงปารีส คือ คุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส (เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม) และหากทำให้ นานาชาติจะพยายามควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยนักวิทยาศาสตร์องค์การสหประชาชาติระบุว่า หากทำได้จะช่วยป้องกันไม่ให้ประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็กจมใต้ทะเล ประชาชนหลายล้านคนไม่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่รุนแรง และยับยั้งไม่ให้ทวีปอาร์กติกต้องปราศจากน้ำแข็งในช่วงฤดูร้อน

 

นักวิทยาศาสตร์มองว่าแผนของไบเดน จะช่วยให้การควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ทะลุเพดาน 1.5 องศาฯ มีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้น เพราะนั่นจะหมายความว่า มหาอำนาจที่มีเศรษฐกิจรวมกันแล้วมีขนาดคิดเป็น 50% ของโลก และเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันกว่าครึ่งของโลก คือ จีน สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะดำเนินการแก้ปัญหาโลกร้อนไปในทิศทางเดียวกัน

 

ประนีประนอมทางการเมืองมากขึ้น เดโมแครตชนะการเลือกตั้งก็จริง แต่พรรครีพับลิกันยังครองเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาอยู่ ทำให้การอัดฉีดงบประมาณไปดำเนินนโยบาย Biden Blimate Plan อาจต้องสะดุด แต่คาดการณ์ว่า พรรครีพับลิกันอาจเปิดใจยอมประนีประนอมต่อแผนแก้ปัญหาโลกร้อนมากขึ้น สังเกตได้จากท่าทีของสมาชิกพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยจะลงรอยกับวาทกรรมของทรัมป์ว่า “โลกร้อนเป็นเรื่องโกหก”

 

กลาสโกว์…ปารีสใหม่?

 

การกลับสู่ข้อตกลงของสหรัฐฯ และการที่นานาประเทศทยอยประกาศเป้าหมาย Zero Emission ส่งผลให้การประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงของสหประชาชาติ (COP) ที่เรียกติดปากว่า “การประชุมโลกร้อน” ครั้งต่อไป เป็นที่จับตามากขึ้นไม่เพียงในมิติสิ่งแวดล้อม แต่รวมถึงทางการเมืองด้วย 

 

ภาวะฉุกเฉินทางอากาศ

สตรีทอาร์ตในเมืองกลาสโกว์ของสหราชอาณาจักร

 

สหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COP26 ในเมืองกลาสโกว์ แคว้นสกอตแลนด์ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 ท่ามกลางความคาดหวังว่า ด้วยพัฒนาการเชิงบวกเหล่านี้ และการกลับมาของสหรัฐฯ อาจช่วยให้ที่ประชุมบรรลุข้อตกลง หรือการประกาศเป้าหมายร่วมกันที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ข้อตกลงปารีสเลยทีเดียว

 

สำหรับจุดยืนของเจ้าภาพอย่างสหราชอาณาจักรนั้น ต้องการให้ทุกประเทศรายงานความคืบหน้าของแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ พร้อมเสนอเป้าหมายที่เข้มงวดมากกว่าที่เคยยื่นต่อที่ประชุมโลกร้อนในกรุงปารีสของฝรั่งเศส เมื่อปี 2015 และแน่นอนว่า ที่ประชุมต้องการให้มีประเทศประกาศเป้าหมาย Zero Emission ภายในปี 2050 ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

 

ดังนั้น ต้องจับตาว่าปี 2021 จนถึงวันเปิดฉากการประชุมโลกร้อนในเมืองกลาสโกว์ พลวัตของการกดดันทางการเมือง และการช่วงชิงจุดยืน ‘ผู้ปกป้องโลก’ ของแต่ละประเทศ จะกดดันให้ประเทศที่เมินเฉย หรือยังไม่รู้สึกรู้สา เริ่มตื่นตัวและประกาศภาวะฉุกเฉินทางอากาศได้มากน้อยแค่ไหน 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising