×

ชีวิตคนเมือง 2017 ปีที่รถเมล์เปลี่ยนสี รถไฟฟ้าเสียบ่อย น้ำท่วมครึ่งแข้ง แต่สายไฟเริ่มมุดลงดินแล้วนะ

14.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins read
  • ผ่านพ้นไปอีกศักราช THE STANDARD รวบรวมข่าวและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ระหว่างปี 2560 มาให้คุณได้ทบทวนความทรงจำ ทั้งน้ำท่วม รถไฟฟ้าเสียบ่อย รถเมล์เปลี่ยนสี หรือสายไฟที่มุดลงดินไปแล้ว!

ในฐานะคนกรุงเราพบว่าตลอดระยะเวลาสามร้อยกว่าวันที่ผ่านมาของปีพุทธศักราช 2560 นั้นมีหลายสิ่งเกิดขึ้นและส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเรามากมายทุกวัน จนเรานั้นตามข่าวแทบไม่ทัน โดยเฉพาะเรื่องราวที่ใกล้ตัวคนกรุงมากที่สุดอย่างเรื่องการเดินทาง คมนาคม และสาธารณูปโภคต่างๆ

 

THE STANDARD จึงขอพาคุณไปย้อนเรื่องฟื้นฝอยหาร่องรอยของสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนเมืองในปี 2560 ที่ผ่านมา ทั้งรถเมล์เปลี่ยนสี รถไฟฟ้าเสียบ่อย สายไฟมุดลงดิน น้ำท่วมครึ่งแข้ง เอ๊ะ แต่เดี๋ยวก่อน แล้วบัตรแมงมุมที่บอกจะแจกปีนี้ หายไปไหนล่ะ?!

 

 

ไม่เวิร์กก็เอาออก: โบกมือลาเก้าอี้รถไฟฟ้า และตู้หยอดเหรียญรถเมล์

มีหลายสิ่งที่บางทีเราก็ยังไม่รู้ตัวเลยว่ามันหายไปตอนไหนกันนะ? เริ่มต้นจากเก้าอี้รถไฟฟ้าที่หายไปของรถไฟฟ้าใต้ดินที่เริ่มนำร่องไปแล้วเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุผลก็เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้ผู้โดยสารสามารถร่วมเส้นทางไปด้วยกันได้มากขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วน โดยทาง รฟม. จะค่อยๆ ทยอยนำเก้าอี้ออกให้ครบทั้ง 19 ขบวน ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปีหน้านี้

 

อีกหนึ่งเรื่องที่เพิ่งเป็นประเด็นกันไปคงหนีไม่พ้น ‘ตู้หยอดเหรียญรถเมล์’ ที่หลังจากการจัดติดตั้งและให้บริการตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาพบว่า ‘มันไม่เวิร์ก’ ทำให้นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. สั่งยุติการติดตั้งเครื่อง Cash Box ดังกล่าวบนรถเมล์ 1,800 คัน นั่นก็ด้วยเพราะมีข้อจำกัดในการใช้งาน โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนที่ตัวตู้หยอดเหรียญไม่สามารถรองรับปริมาณผู้ใช้งานจำนวนมากได้

 

เชื่อมโยง ว่องไว เติมเต็มทุกการเดินทางอย่างแท้จริง (เหรอ?)

ทางเลือกที่มีไม่มากนักให้กับคนกรุงเทพฯ ในการเดินทางไปไหนมาไหนทำให้ ‘รถไฟฟ้า’ ยังคงเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่สะดวก รวดเร็ว และฉับไวแก่ผู้เดินทางเสมอ ปี 2560 ที่ผ่านมาเรายังคงมีรถไฟฟ้าจำนวนมากมายหลายสายที่กำลังก่อสร้างอย่างเร่งด่วนอยู่ บางสายก็เริ่มขึ้นเสาขึ้นโครง หรือบางสายก็จวนจะเปิดให้บริการเต็มที เราขออนุญาตพาคุณไปทบทวนสักหน่อยว่า เสาโทงๆ หรือหลุมขุดยักษ์ที่อยู่ถนนหน้าบ้านของคุณนั้น เขาสร้างอะไรกันอยู่ และสร้างไปถึงไหนแล้ว?

 

เขียวเหนือ ใกล้ครึ่งทาง!

หนุ่มสาวชาวพหลโยธินที่ปวดหัวกับปัญหารถติดคงต้องอดทนกันต่อไปอีก 1-2 ปีอย่างแน่นอน เพราะโครงการส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต กำลังอยู่ในช่วงของงานโครงสร้างเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่เส้นพหลโยธินบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ยาวเลยเถิดตามเส้นถนนพหลโยธินไปจนถึงคูคต แต่ข่าวดีเล็กๆ ที่น่าสนใจก็คือ จากการรายงานความก้าวหน้าของงานโยธาจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าโครงการนี้มีภาพรวมของความคืบหน้าที่ดีเพราะดำเนินไปแล้วกว่า 48.56 เปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่าเข้าใกล้ครึ่งทางแล้ว แถมการดำเนินงานนั้นเร็วกว่าแผนราว 1.08 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2563

 

แต่ข่าวดีกว่าคือสถานีห้าแยกลาดพร้าวจะเปิดให้บริการก่อนภายในต้นปี 2562 อย่างแน่นอน ช้อปมิดไนต์เซลที่เซ็นทรัลและไม่พลาดรถไฟฟ้าชัวร์!

 

เขียวใต้ พร้อมแล้ว

ส่วนผู้โดยสารทางด้านฝั่งใต้ของส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส เส้นทางแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ จากระยะเวลาการก่อสร้างร่วม 6 ปีเต็ม รถไฟฟ้าสายนี้จะเปิดให้บริการภายในปี 2561 แน่นอน! และจะเป็นรถไฟฟ้าสายแรกที่มองเห็นวิวทะเลลิบๆ อีกด้วย อีกอย่างยัยวัลภาก็ไม่ต้องง้อพี่แดงให้พาไปบางปู เพราะรถไฟฟ้าพาไปถึงแล้วย่ะ!

 

ภาพการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายบริเวณแยกบางพลัด

Photo: เพจข่าวรถไฟ

 

น้ำเงินส่วนต่อขยาย ก้าวสู่ปีที่ 7 ของการก่อสร้าง

อีกสายรถไฟฟ้าในตำนานที่เซ็นสัญญาก่อสร้างกันมาตั้งแต่ปี 2554 จนชาวเพชรเกษมและจรัญสนิทวงศ์เริ่มเอือมระอา เพราะโช้กรถจะพังเอาจากพื้นผิวถนนขรุขระที่เป็นผลมาจากการก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเดิมจากเส้นทางของรถไฟฟ้าใต้ดินเส้นปัจจุบัน ปัจจุบันภาพรวมของโครงการดำเนินงานไปแล้วกว่า 96.42 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งล่าช้ากว่าแผนอยู่ราว 0.24 เปอร์เซ็นต์ โดยขณะนี้อยู่ในช่วงระหว่างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและการตกแต่งภายใน ในส่วนต่อขยายฝั่งหัวลำโพง-บางแคนั้นทาง รฟม. กำลังเร่งดำเนินการให้เปิดบริการให้ทันปลายปีหน้าที่จะถึงนี้ ส่วนช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีแผนจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2563

 

 

บีทีเอสเจ้ากรรม: 2 เดือนขัดข้อง 11 ครั้ง

นอกเหนือจากรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างและเริ่มแผนการก่อสร้าง เราขอวกกลับมาดูรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการมานานนมอย่าง รถไฟฟ้าบีทีเอส เส้นเลือดใหญ่ในการเดินทางของคนไม่ใช้รถ ซึ่งเพียงในระยะเวลาสองเดือนที่ผ่านมานั้น (ตุลาคม- พฤศจิกายน) ทางทวิตเตอร์ทางการของบีทีเอสก็ได้แจ้งว่าระบบขัดข้องถึง 11 ครั้ง!

 

หลายๆ คนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติของระบบการเดินทางทั่วโลกอยู่แล้ว ที่จะต้องมีการผิดพลาดทางเทคนิคเกิดขึ้นบ้าง แต่สิ่งที่ชาวกรุงมองว่าเป็นปัญหาจริงๆ แล้วนั้นคือราคาโดยสารที่แพงเกินไปไม่สมกับบริการที่ได้รับ รวมไปถึงระบบการจัดการที่ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมานั้น เรายังคงต้องเดินไปต่อแถวแลกเหรียญและนำมาหยอดตู้ซื้อตั๋วอยู่เลย! นี่ยังไม่นับช่วงเวลาเร่งด่วนที่ผู้ใช้บริการล้นสถานี หรือช่วงเวลาที่รถไฟฟ้าขัดข้องอีกนะ! ชีวิตลิขิตมาให้อยู่ในกรุงเทพฯ ก็เหนื่อยหน่อยนะ

 

ภาพจำลองโครงการการขยายสถานีสะพานตากสินเมื่อแล้วเสร็จ

 

แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข่าวแย่ๆ เพราะบีทีเอสและกรุงเทพมหานครเตรียมควักกระเป๋าสตางค์แก้ไขปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้นบริเวณสถานีสะพานตากสิน กับการประกาศเบี่ยงสะพานตากสินและเพิ่มพื้นที่ชานชาลา เพื่อให้การเดินรถคล่องตัวกว่าเดิมด้วยงบประมาณกว่า 1,100 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นเงินจากกระเป๋าสตางค์ใครนะ?

 

 

B21E R44 G21: ปฏิรูปสายรถเมล์ เปลี่ยนสี เปลี่ยนเลข น่าปวดหัว

อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่วาระระดับกรุงเทพฯ คือการลุกขึ้นมาปฏิรูประบบสายรถเมล์ ของกรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ด้วยการเปลี่ยนเลขสายรถเมล์พ่วงตัวอักษรภาษาอังกฤษ และทาสีใหม่ทับหน้ารถคันเดิมไปเฉยๆ อย่างนั้นแหละ! สายเก่าก็เข้าใจดีอยู่แล้ว จะทำให้งงขึ้นไปอีกทำไม?

 

ไม่ใช่ว่าคนกรุงไม่ปรับตัว แต่บังเอิญว่าการเปลี่ยนสายรถเมล์ครั้งนี้ดูจะไม่ค่อยเข้าที่เข้าทางเท่าไร จากการประชาสัมพันธ์ที่ไม่มากพอ และความ ‘เข้าใจยาก’ ของการเรียกชื่อสายรถเมล์ ถึงแม้จะมีการแบ่งโซนสีอย่างชัดเจนแล้วก็ตาม

 

 

ซึ่งเบื้องต้นได้มีการทดลองเดินรถเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม-15 กันยายน 2560 ที่ผ่านมาเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนมาประเมินและพัฒนาการเดินรถรูปแบบใหม่ 269 เส้นทาง และเสียงสะท้อนที่กลับมาก็คงจะดังมากพอจน นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ยอมรับว่า การทดสอบเดินรถเมล์ ขสมก. ตามแผนการปฏิรูป ทั้งในเรื่องเส้นทาง และหมายเลขสายรถเมล์ ยังไม่ตอบโจทย์การใช้บริการของประชาชน และมีผู้โดยสารเกิดความสับสนในส่วนของหมายเลขสายรถเมล์เป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงยุติการทดสอบ และกลับไปเดินรถตามเส้นทางเดิม

เราอาจต้องให้เวลาคณะทำงานมากขึ้นอีกสักหน่อย เพราะเราก็ยังคงคาดหวังถึงระบบการเดินรถเมล์ที่เป็นระบบระเบียบและน่าใช้บริการ ซึ่งมีแผนจะเริ่มการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์อย่างจริงจังอีกครั้งในปี 2562

 

 

เสาไฟที่หายไป: ของขวัญคนกรุง

การที่เสาไฟและสายไฟรกหูรกตานั้นกำลังค่อยๆ ทยอยหายไปทีละกิโลเมตร ทีละกิโลเมตร ทั่วกรุงเทพฯ คงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราจะได้เมืองที่น่ามองกลับคืนมา ถ้าจะพูดให้ยิ่งโรแมนติกหน่อย เราคงได้เห็นท้องฟ้าแจ่มชัดกว่าครั้งไหนๆ โดยไม่มีอะไรบังตา ซึ่งการไฟฟ้านครหลวงตั้งใจจะมอบถนนไร้สายเหล่านี้เป็นของขวัญให้กับคนกรุงต้อนรับศักราชใหม่

 

 

ตามข้อมูลของเอกสารแผนงาน เปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ของการไฟฟ้านครหลวง ระบุว่าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ (เสาไฟ) เป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ในพื้นที่สำคัญนั้นริเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 หรือ กว่า 33 ปีที่แล้วโน่น! แต่ก็เรียกได้ว่าคุ้มการรอคอย เพราะกรุงเทพฯ แปลกตาไปมาก

 

 

โดยข้อมูลล่าสุด (พ.ศ. 2560) กฟน. ระบุว่า สามารถนำสายไฟฟ้าลงดินได้แล้วทั้งหมด 41.9 กิโลเมตร จากแผนเดิมโครงการที่ครอบคลุมระยะทางทั้งหมด 261 กิโลเมตร งบประมาณรวมกว่า 140,000 ล้านบาท โดยในปีหน้าจะเริ่มแผนระยะแรกครอบคลุมระยะทาง 127 กิโลเมตร รวม 39 เส้นทาง งบประมาณดำเนินการประมาณ 48,000 ล้านบาทก่อน…บ๊ายบายจ้าเสาไฟ

 

 

น้ำท่วมครึ่งแข้ง: โทนาฟอาจเป็นไอเท็มใหม่ของคนหนุ่มสาว

อาจเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าไว้เลยว่า โทนาฟ สำหรับแก้ฮ่องกงฟุตอาจเป็นไอเท็มเด็ดสุดจำเป็นของชาวกรุงในฤดูฝนปีหน้า ถึงแม้ปีนี้มวลน้ำมหาศาลจะไม่ได้ทะลักเข้ามาในกรุงเทพฯ เหมือนคราวน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แต่ปี 2560 ที่ผ่านมาก็ใช่ว่าคนกรุงจะไม่เจอวิบากกรรม ถกขากางเกง สละถุงเท้า เคล้าน้ำตา เพราะสถานการณ์น้ำท่วมในเขตต่างๆ ของกรุงเทพฯ นั้นมีน้ำท่วมขังทั้งสิ้น 512 ครั้ง ใน 59 ถนน โดยมี 14 ถนน และ 31 เขตที่เป็นพื้นที่เสี่ยงและมีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

 

 

โดยแนวทางแก้ไขที่คนกรุงจะได้รับคือทางกรุงเทพมหานครจะทำการลอกคลองทั้ง 83 คลอง รวมถึงลอกท่อในพื้นที่ 3,285 ซอยเพื่อการระบายน้ำที่คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2561 ส่วนในเรื่องที่คนกรุงถกเถียงกันอยู่บ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องการทิ้งขยะหรือน้ำเสียลงตามท่อระบายน้ำ ที่ส่งผลให้เกิดการอุดตันและทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดลง ต้องมาคอยดูว่าทางกรุงเทพมหานครจะมีนโยบายแก้ไขปัญหานี้อย่างไร?

 

 

แมงมุม: บัตรแมงมุมใบนั้น ฉันเห็นมันซมซานเหลือทน

จากข่าวการร่วมให้ประชาชนทั่วไปมีสิทธิ์คิดคอนเซปต์และชื่อของบัตรโดยสารร่วมใบแรกของประเทศไทย ก่อนจะสรุปมาที่ชื่อ ‘แมงมุม’ ซึ่งไม่รู้ตอนนี้ไปสร้างใยทำรังอยู่ที่ไหน เพราะเกือบ 3 ปีเต็มแล้วที่เรายังคงไม่ได้บัตรดังกล่าวมาใช้งานกันสักที

 

ประโยชน์ของมันที่เรารู้กันดีคือบัตรแมงมุม จะเป็นบัตรที่ใช้สำหรับระบบตั๋วร่วมขนส่งมวลชนทั้งบนฟ้า บนดิน บนน้ำ ใต้ดิน เหมือนรวมบัตรหลายๆ ประเภทเข้าไว้ด้วยกันในบัตรใบเดียว ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ก็สามารถใช้ซื้อของในร้านค้าต่างๆ ได้เช่นกัน สะดวกประหนึ่งบัตร Suica ของญี่ปุ่นเชียวละ!

 

แต่จนแล้วจนรอด หลังจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ประกาศว่าจะแจกจ่ายบัตรแมงมุมให้กับประชาชนทั่วไปได้ใช้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าเต็มไปด้วยปัญหาและความล่าช้าของการทำงาน จึงไม่สามารถแจกจ่ายให้ใช้ได้ แต่ล่าสุดทางนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ออกมาเปิดเผยว่าบัตรแมงมุมดังกล่าวจะพร้อมให้บริการจริงในช่วงกลางปี 2561 แน่นอน รีบออกมาขยุ้มหัวใจคนกรุงเสียทีเถิด!

 

ปีหน้าฟ้าใหม่เราคงทำได้แค่ภาวนาและรอคอยจะได้เห็นวิถีการใช้ชีวิตในเมืองของเราๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ตอนนี้ก็ทำได้เพียงแค่รอคอยนโยบายใหม่ๆ จากทางรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องการคมนาคมและสาธารณูปโภคว่า จะมีอะไรออกมาให้เรารู้สึกว้าวกันบ้าง ต้องติดตาม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising