ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) คาดการณ์สถานการณ์สินเชื่อใหม่จะฟื้นตัวต้องใช้เวลา ไปจนถึงครึ่งหลังปี 2564 สินเชื่อใหม่ถึงฟื้น เร่งเครื่องสินเชื่อดิจิทัลและลีสซิ่งรถยนต์มือสองเจาะกลุ่มลูกค้าความเสี่ยงต่ำ
ตัน คีท จิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย หรือ CIMBT กล่าวว่า หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก พบว่าเศรษฐกิจมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยเดือนกันยายน-ตุลาคม 2563 การหดตัวสินเชื่อใหม่ของธนาคารหดตัวน้อยลงในทุกประเภท (สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบุคคล และรถยนต์) เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ที่ยอดสินเชื่อใหม่ลดลง 40% ขณะที่มีช่วงมาตรการช่วยเหลือเฟสสองสินเชื่อใหม่หดตัวน้อยลงมาสู่ระดับ 20%
“ทิศทางสินเชื่อใหม่เริ่มจะเห็นการกลับมาเติบโตได้ในไตรมาส 3-4 ปีหน้า จากเศรษฐกิจที่เคยได้รับผลกระทบมาจากธุรกิจโรงแรมและสายการบิน ซึ่งเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้บ้าง ดังนั้นแบงก์เลยต้องกลับมาดูการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น โดยต้องปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง โดยสินเชื่อที่จะมุ่งปล่อยกู้จากนี้ไปคือ ดิจิทัลเลนดิ้ง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสอง และสินเชื่อส่วนบุคคล”
แม้ว่าเศรษฐกิจมีทิศทางฟื้นตัวชัดขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงหลัก 2 ปัจจัย ได้แก่ ความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 และสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งแม้ปัจจุบันยังไม่กระทบเศรษฐกิจ แต่หากยืดเยื้ออาจกระทบต่อเศรษฐกิจได้ ดังนั้นท่ามกลางความเสี่ยงที่สูงขึ้น ธนาคารมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง และเน้นกลุ่มลูกค้าความเสี่ยงต่ำ ผ่านการศึกษาข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงินเท่านั้น
ทั้งนี้ ทางธนาคารยังมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อดิจิทัล โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งจากการคัดเลือกลูกค้าที่มีพฤติกรรมดี และจากความเชี่ยวชาญจากพันธมิตรที่ช่วยบริหารความเสี่ยง โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ กลุ่มมิลเลนเนียล มนุษย์เงินเดือน และกลุ่มคนที่ยังไม่มีเครดิตหรือสินเชื่ออื่นๆ มากนัก ขณะเดียวกันมองว่าอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสุดที่ 9% ถือว่าแข่งขันกับตลาดได้ดี
นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นสินเชื่อรถยนต์มือสอง ที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่ารถยนต์ใหม่ โดยยังปล่อยสินเชื่อแต่ยังต้องระมัดระวังอยู่
อย่างไรก็ตามด้านกระบวนการทำสินเชื่อให้เป็นรูปแบบดิจิทัล 100% คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 1/63 โดยจะเริ่มจากสินเชื่อส่วนบุคคลก่อน และจะปรับใช้กับสินเชื่อประเภทอื่นในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายภาย 1-3 ปีข้างหน้า จะมีสัดส่วนสินเชื่อรูปแบบดิจิทัลเป็น 40% จากสินเชื่อใหม่ทั้งหมด โดยจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ราว 5-10% ของสินเชื่อใหม่
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์