×

เปิดส่วนผสมแห่งความสำเร็จของ แอรอน เกร็นดอน Chivas Master Global คนแรกของประเทศไทย

19.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • แอรอน-อภิมุข เกร็นดอน หนุ่มลูกครึ่งไทย-อังกฤษวัย 21 ปี ตัวแทนคนแรกจากประเทศไทยที่สามารถคว้าชัยชนะจาก Chivas Master Global 2018 เอาชนะคู่แข่ง 21 คนทั่วโลก  
  • การที่ใครคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ ต้องเกิดจากองค์ประกอบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นผู้นำ ไหวพริบ ทีมเวิร์ก และการจัดการ

 

หลังสิ้นเสียงประกาศผลว่า แชมป์บาร์เทนเดอร์จากรายการใหญ่อย่าง Chivas Master Global ประจำปี 2018 ได้แก่ แอรอน-อภิมุข เกร็นดอน ตัวแทนคนแรกจากประเทศไทย ชื่อเสียงของแอรอน บาร์เทนเดอร์หนุ่มจากร้าน Tropic City ก็กลายเป็นที่รู้จักเพียงชั่วข้ามคืน ในฐานะที่เป็นตัวแทนคนแรกของสยามประเทศที่ส่งผู้เข้าแข่งขันเป็นครั้งแรก ก็สามารถคว้าชัยชนะได้อย่างชนะใจกรรมการ และเหนือความคาดหมาย เมื่อเทียบกับผู้เข้าแข่งขันที่เจนสนาม  

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราย้อนกลับไปดูเส้นทางสายนี้ของแอรอน จะเห็นว่าค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบบาร์เทนเดอร์คนอื่นๆ ในการแข่งขันระดับใหญ่ขนาดนี้ สิ่งที่น่าสนใจในตัวแอรอนจึงไม่ใช่แค่คนไทยคนแรกที่คว้าชัยชนะ หากแต่เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของความสำเร็จที่ทำให้หนุ่มลูกครึ่งไทย-อังกฤษวัย 21 ปี สามารถเอาชนะคู่แข่ง 21 คนจากทั่วโลก  

 

ความสำเร็จอยู่ที่การเรียนรู้

แอรอนเติบโตที่ฮ่องกงร่วมสิบปี ก่อนบินตามคุณพ่อซึ่งเป็นชาวอังกฤษมาทำงานที่ภูเก็ต งานแรกของเขาคือการเป็นเด็กฝึกงานในโรงแรมแห่งหนึ่ง ทุกอย่างดำเนินมาอย่างราบเรียบ จนกระทั่งค่ำวันหนึ่งที่เขารู้จักกับคำว่า ‘บาร์เทนเดอร์ระดับมือโปร’

“ผมเริ่มจากการเป็นเด็กฝึกงานในแผนก Recreation จากนั้นพอพ้นจากช่วงฤดูท่องเที่ยวก็ไม่มีตำแหน่งว่างให้ผม เขาเลยให้ไปเป็น management trainee มีโอกาสได้ฝึกงานกับแผนกอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งระหว่างนั้นมีบาร์เทนเดอร์สองคนบินมาจากสิงคโปร์ ทำงานที่ 28 Hongkong Street ซึ่งเป็นบาร์ที่ดังมากในเอเชีย คืนนั้นผมเป็นเด็กเสิร์ฟที่บาร์ มีโอกาสได้เห็นการทำงานของสองคนนี้ ชอบ อยากเป็นอย่างเขา เลยขอย้ายไปทำงานที่บาร์เดือนหนึ่ง พอไปเทรนครบเดือนเขาก็บรรจุให้เป็นบาร์เทนเดอร์เลย เพราะเห็นเราขยัน เรียนรู้ด้วยตัวเอง”  

 

 

อย่ารอโอกาสที่สอง

เมื่อเข้าสู่วงการบาร์เทนเดอร์ แอรอนรู้ว่าหากอยากไปไกลกว่านี้ ภูเก็ตอาจไม่ใช่จุดหมายปลายทาง เมื่อมีคนชักชวนให้ลงแข่งขันเพื่อชิงที่นั่งเข้าสู่วงการค็อกเทลระดับประเทศ แอรอนจึงไม่รีรอ เพราะไม่รู้ว่าโอกาสที่สองที่เวียนมาถึงเมื่อไร

 

“หลังจากทำงานที่บาร์ได้ปีหนึ่ง ผมสมัครเข้าแข่งขัน Diplomatical World  Tournament ซึ่งจัดโดยบริษัทผลิตและจำหน่ายรัมจากเวเนซุเอลา รายการนั้นผมติด 1 ใน 20 ของภาคใต้ จากนั้นแข่งต่อเพื่อคัดออก ซึ่งผมติดสองคนสุดท้ายเลยได้ตั๋วไปแข่งที่กรุงเทพฯ รอบชิงเขาเลือก 4 คนจากรุงเทพฯ และสองคนจากภาคใต้ ปรากฏว่าผมชนะรายการนั้น เจ้าของร้าน Tropic City ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเลยชวนผมมาทำงานที่นี่ ซึ่งผมคิดไว้แล้วว่าถ้าเราอยากโตขึ้นในวงการบาร์ ต้องย้ายมาทำงานที่กรุงเทพฯ”

 

แอรอนเสริมว่า เขาไม่ได้เป็นคนมีพรสวรรค์ แต่สิ่งที่เขามีคือพรแสวงที่เกิดจากการฝึกฝน ทุ่มเท เรียนรู้ และเจอคนให้มากที่สุด   

 

เจอคนใหม่ๆ ให้มากสุดเท่าที่จะทำได้

หลังทำงานที่ Tropic City ย่านเจริญกรุงได้ไม่นาน เมื่อมีคนชวนสมัคร Chivas Master Global แอรอนจึงแทบไม่ปฏิเสธ เพราะเขามองว่า ธุรกิจนี้ต่อให้คุณแพ้แต่คู่แข่งจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่ช่วยเหลาและคัดเกลาให้คุณกลายเป็นบาร์เทนเดอร์ที่ดี หากเริ่มต้นคุยและรับฟังผู้อื่น

 

“ผมได้ยินจากเพื่อนว่าปีนี้จะมี Chivas Master Global ครั้งแรกในไทย ผมอยากทำมาก เพราะถ้าเราชนะ เราจะได้เป็นคนแรกที่ชนะรายการนี้ในไทย คนจะจำเราได้ ผมชอบแข่ง เพราะเวลาแข่งได้เจอคนเยอะมาก เวลาเจอบาร์เทนเดอร์คนอื่นๆ หลังแข่งเสร็จ เราจะกลายเป็นพี่เป็นน้องกัน นี่เป็นวิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดีมาก”

 

 

คิดให้ต่างจากคนอื่น

แม้จะเป็นการแข่งขันที่เฟ้นหาสุดยอดบาร์เทนเดอร์ แต่สิ่งที่ Chivas Master Global 2018 มองหากลับไม่ใช่แค่ทักษะในการชงค็อกเทลหรือประสาทรับรสชั้นเลิศ เพราะการใครคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ต้องเกิดจากองค์ประกอบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นผู้นำ ไหวพริบ ทีมเวิร์ก และการจัดการ

 

“เมื่อไปถึง Oval Space กรุงลอนดอน การแข่งขันแรกคือทำค็อกเทลที่แข่งชนะในเมืองไทย ส่วนการแข่งขันที่สองอิงตามโซเชียลมีเดีย เริ่มจากแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ให้เข้าไปในห้องหนึ่ง มีเวลาให้ 30 นาทีในการทำเครื่องดื่ม ถ่ายรูปลงอินสตาแกรม เขียนแคปชัน และใส่แฮชแท็ก #chivasmaster2018 โดยมีพร็อปและฉากหลังให้เลือก แก้วนี้ผมถามก่อนเลยว่าจะชิมค็อกเทลไหม พอเขาบอกไม่ชิม ผมแทบไม่ทำอะไรเลย ทำแค่วิสกี้โซดาแล้วแต่งให้ดูดี แต่ใส่แคปชันให้เหมือนว่ามีส่วนผสมอื่นด้วย เพราะเราต้องทำแข่งกับเวลา กรรมการตัดสินจากรูปในอินสตาแกรมว่าออกมาดีแค่ไหน เรียบง่ายหรือมากไป แคปชันใช้ได้ไหม (เข้าไปชมผลงานชิ้นนี้ได้ที่อินสตาแกรมส่วนตัว @arron_grendon)

 

 

“ไอเดียของผมได้มาจากช่วง Master Class ที่เขาโชว์รูปค็อกเทลแก้วต่างๆ ส่วนใหญ่คล้ายกันๆ แต่จะมีรูปหนึ่งที่มีมือยื่นเข้ามา ทำให้เตะตากว่าภาพอื่น ผมเลยอยากทำ highball กำลังเทโซดาลงแก้ว จะได้มีมือผมอยู่ในรูปด้วย มีฟองขึ้นมา ทำให้ภาพน่าสนใจขึ้น

 

“การแข่งขันถัดไปได้แก่ No Waste ที่ให้ครีเอตค็อกเทลจากวัตถุดิบเหลือใช้ กรรมการชื่อ แมต ไวเลย์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านค็อกเทลและเป็นเจ้าของบาร์ในอังกฤษ เขาต้องการให้เราใช้ส่วนผสมที่เหลือของโรงแรมหรือบาร์ให้ได้มากที่สุด โดยแบ่งเป็นทีม 7 ทีม ทีมละ 3 คน แก้วนั้นผมใช้น้ำเปล่าที่อีกคนในทีมหิ้วมาจากทะเลสาบที่เราไปเยือน น้ำนั้นสะอาดและรสชาติดีมาก ถือเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย เพราะไม่เสียอะไรเลย จากนั้นนำมาอัดแก๊สเป็นโซดาเพื่อให้แก้วนี้มีความซ่า ใส่เชอร์รีโยเกิร์ตและเชอรีไวน์ น้ำหวานจากต้นไม้กับน้ำเชื่อมจากมดที่มีความเปรี้ยว แก้วนี้เลยได้ความครีมมีจากโยเกิร์ต มีความซ่า และได้รสเชอร์รี ที่เราเลือกทำแก้วนี้เพราะตอนนั้นที่ลอนดอนร้อนมาก ทีมอื่นทำเหล้าหนักๆ สไตล์โอลด์แฟชั่น แต่ผมอยากได้แก้วที่ดื่มแล้วสดชื่น”

 

การตระเวนหาวัตถุดิบชั้นเลิศ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมกระชับมิตร

credit: Chivas

 

อย่ามองจุดด้อยของตัวเอง

ตลอดการแข่งขัน คณะกรรมการจะบันทึกคะแนนของบาร์เทนเดอร์แต่ละคนไว้ โดยไม่บอกให้รู้ว่าใครมีคะแนนอยู่อันดับที่เท่าไร แอรอนจัดเป็นผู้เข้าแข่งขันที่อายุยังน้อยและชั่วโมงบินไม่สูงเท่าคนอื่น แต่คณะกรรมการได้มองเห็นอะไรบางอย่างที่ส่งผลให้เขาติด 1 ใน 3 ของผู้เข้าชิงรอบสุดท้ายด้วย ‘คะแนนสูงที่สุด’  

 

“การแข่งขันสุดท้ายผมต้องเลือกลูกทีม 6 คน เขาประกาศว่าคนที่ได้คะแนนเยอะสุดมีสิทธิ์เลือกก่อน ปรากฏว่าเขาให้ผมเลือกเป็นคนแรก ตอนนั้นก็งงว่าตัวเองคะแนนเยอะสุดเลยหรอ”

 

โจทย์การแข่งขันสุดท้าย ได้แก่ การสร้างบาร์ป๊อปอัปขึ้นมาจริงๆ ภายใต้งบประมาณ 110,000 บาท โดยมีเวลาให้ 24 ชั่วโมงในการระดมความคิด ออกแบบ และทำให้เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งบาร์ที่แอรอนสร้าง ได้แก่ One Night in Bangkok     

 

“คนแรกที่ผมเลือกคือ ลูอิส จากออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ทีมเดียวกับผมเมื่อการแข่งขันที่แล้ว คือผมรู้ว่าจุดแข่งของแต่ละคนเป็นอย่างไร ผมเลือกคนที่ฟิตกับคอนเซปต์ที่เราวางไว้มากที่สุด คนที่จะเป็นประโยชน์กับทีม ทีมของผมมีทั้งคนเอ็นเตอร์เทนเก่ง สามารถดึงคนมาที่บาร์เราได้ คนที่ชงค็อกเทลเก่ง เพราะเราก็ยังต้องขายเครื่องดื่ม ผมไม่เคยมองว่าใครจะมาแก้จุดอ่อนของผม คุณอย่าไปมองที่จุดอ่อนของตัวเอง  

 

 

“บาร์ที่ผมคิดไว้ต้องมีความเป็นไทย ผมอยากทำให้เหมือนบาร์ในตลาดรถไฟ เป็นบูธแบบนั้น แต่หาที่ลอนดอนไม่ได้ ในฐานะหัวหน้าทีมผมตั้งกรุ๊ปใน WhatsApp แจกจ่ายงานให้ลูกทีม แบ่งเป็นหน่วยหาพร็อป หาวัสดุมาทำโครงสร้างบาร์ หาวัตถุดิบสำหรับค็อกเทล ฯลฯ บางอย่างซื้อ บางอย่างยืมร้านอาหารไทยที่โน่น มีเสื้อยืดมือสองประดับร้าน มีกล่องใส่แผ่นดีวีดีเก่าๆ เชยๆ แทนเมนูร้าน

 

“ส่วนเครื่องดื่มยังไงก็ต้องมีกลิ่นอายไทย ผมอยากให้ทั่วโลกรู้จักเครื่องดื่มไทยผ่านวัตถุดิบจากเมืองไทยจริงๆ ไม่ใช่นำเข้า เพราะมันไม่ยั่งยืน แก้วแรก Maya Bay ผมเลือก Chivas Regal 12 ผสมน้ำมะพร้าวกับน้ำลิ้นจี่และโซดา

 

Maya Bay (350 บาท) และ Ratchada (390 บาท) ทั้งสองแก้วนี้อยู่ในเมนูชั่วคราวที่ Tropic City ด้วย

 

“แก้วที่สอง Ratchada ผมอยากนำเสนอแก้วที่ใช้ชา เพราะเมืองไทยมีชาเยอะ ผมเลยชู ‘ชาชัก’ ที่เห็นตามตลาดรถไฟ โดยใช้น้ำเชื่อม Spiced Tea และ Chivas Extra พิเศษตรงการชงที่ทำเหมือนชาชัก เพราะดูเจ๋งดี ทำให้คนอยากเข้ามาในบาร์

 

ลีลาการชงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชาชัก

 

“จะเห็นว่าทั้งสองแก้วเรียบง่ายมาก เพราะเราต้องทำเสิร์ฟ 250 คน ไม่ใช่แค่คณะกรรมการ แต่คนทั่วไปก็สามารถเข้ามาชิมเครื่องดื่มของเราได้ ดังนั้นเราต้องทำแก้วที่ไม่ซับซ้อนและรสชาติดี ซึ่งการสร้างองค์ประกอบทั้งหมดเหล่านี้คนในทีมผมมีครบ”

 

เหล่าลูกทีมและบาร์ One Night in Bangkok

credit: Chivas

 

 

 

ลูกค้าต้องรู้สึกดีกับตัวเอง ไม่ใช่บาร์เทนเดอร์

แม้แอรอนไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นบาร์เทนเดอร์ที่เจ๋งหรือเก่งที่สุด แต่การที่เขาคว้าแชมป์ Chivas Master Global มาได้ก็น่าจะทำให้เราเรียนรู้บทเรียนบางประการของการเป็นบาร์เทนเดอร์ที่ดี

 

“บาร์เทนเดอร์สมัยนี้คิดว่าตัวเองเก่งที่สุด อยากดูเจ๋ง อยากทำให้สาวๆ หน้าบาร์ประทับใจ แต่สำหรับผม คุณต้องทำให้ทุกคนที่มารู้สึกเวลคัม รู้สึกเหมือนบ้าน มีคนเคยบอกผมว่า “อย่าให้แขกกลับไปพร้อมความรู้สึกดีๆ กับบาร์เทนเดอร์ ​แต่คุณต้องทำให้แขกมีความสุข รู้สึกดีกับตัวเอง” เพราะสุดท้ายเครื่องดื่มที่ดีเป็นเพียงเชอร์รีออนท็อป คนมาที่บาร์เพราะต้องการความสนุก เอ็นจอยไลฟ์ ผมเลยไม่อยากเย่อหยิ่งหรือวางตัวว่าเก่ง เพราะคนที่รู้สึกอย่างนั้นมักไม่คุยกับแขก”

 

 

 

 

Photo: สลัก แก้วเชื้อ และ Courtesy of Chivas

FYI
  • ค็อกเทลที่ทำให้เขาเป็นผู้ชนะจากเมืองไทย ได้แก่ The Grind ที่หมายความว่าการทำงานหนักเพื่อความสำเร็จ ซึ่งเปรียบเสมือนชาวนาไทย เขาจึงใช้ข้าวเหนียวดำเพื่อชูเรื่องชุมชน รวมถึงส่วนผสมจากเมืองไทยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นน้ำมะพร้าว น้ำอ้อย น้ำเชื่อมจากกล้วย และข้าวเหนียวดำที่เอาข้าวเหนียวมูนไปปั่นกับกะทิทำเองของ Tropic City เพิ่มแล็กติกแอซิดให้ได้รสเหมือนโยเกิร์ตที่มีความเป็นข้าวเหนียวดำชัดเจน
  • เครื่องดื่มแก้วโปรดของเขา ได้แก่ ไดคิวรี ในยามที่ต้องการความสดชื่นและ โอลด์แฟชั่น หากว่าไปวิสกี้บาร์
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising