×

กูรูชี้ ‘จีน’ ยังเผชิญความเสี่ยงในภาคการเงินจากนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และกำลังซื้อในประเทศที่ยังเปราะบาง

24.05.2021
  • LOADING...
นโยบายการเงิน

เว็บไซต์ข่าว Global Times ของทางการจีนรายงาน ผลสรุปการศึกษาของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญที่นำเสนอในงานประชุมเสวนา Tsinghua PBCSF Global Finance Forum ที่กรุงปักกิ่งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าภาคการเงินของจีนยังคงเผชิญกับความเสี่ยง โดยเป็นผลข้างเคียงจากนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของทางรัฐบาลสหรัฐฯ บวกกับกำลังการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงเปราะบาง

 

ทั้งนี้สำหรับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นของสหรัฐฯ อาจทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง โดยขณะนี้ตัวเลขการคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วง 5 ปีของสหรัฐฯ ขณะนี้อยู่ในระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2005 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้เชี่ยวชาญอดเตือนไม่ได้ว่าจะมีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนและสภาพคล่องโดยรวมของเศรษฐกิจจริง

 

หลายฝ่ายเชื่อว่าเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องปรับนโยบายจากผ่อนคลายเป็นเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

 

นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งยังชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของกำลังการบริโภคภายในของประเทศจีน เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ได้รับความบอบช้ำจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ชาวจีนต้องวางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น รัฐบาลจีนไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่อาจต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้จีนสามารถปรับตัวโดยไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากนัก

 

ขณะเดียวกันในที่ประชุมเสวนาครั้งนี้ยังได้ให้ความสำคัญกับการเดินหน้าเข้าสู่โลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยผู้เชี่ยวชาญได้ใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งรัดกระบวนการปรับเปลี่ยนจีนให้ก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ มีนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์การใช้งาน ซึ่งหมายรวมถึงสกุลเงินหยวนดิจิทัล

 

ที่ประชุมต่างเห็นตรงกันว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไป โดยในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจดิจิทัลกลายเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักและมีผลทำให้ GDP ของจีนสามารถขยายตัวได้ราว 10% เมื่อปีที่แล้ว  

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising