×

จีนสั่งนักเศรษฐศาสตร์แดนมังกรเลี่ยงแสดงความเห็นเชิงลบต่อเศรษฐกิจ หวังฟื้นความเชื่อมั่น

07.08.2023
  • LOADING...
นักเศรษฐศาสตร์

ทางการจีนกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน เกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด จึงสั่งให้นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์เลี่ยงการเอ่ยถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนจะเผชิญ รวมไปถึงภาวะเงินฝืด แม้ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีน (PMI) ปรับตัวลดลงเป็นเวลา 8 เดือนติดต่อกัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคประจำปีแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี

 

Financial Times รายงานว่า ทางการจีนได้มีคำสั่งส่งตรงถึงบรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์จากสถาบันและมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศให้หลีกเลี่ยงการแสดงมุมมองหรือความคิดเห็นเชิงลบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน เช่น ภาวะเงินฝืด

 

คำสั่งดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลจีนที่เร่งหาแนวทางฟื้นความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวเติบโตของจีนหลังเผชิญวิกฤตจากการระบาดของโควิดในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา

 

รายงานระบุว่า บรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักสัญชาติจีนกำลังเจอทางการจีนกดดันให้หลีกเลี่ยงการพูดถึงแนวโน้มเชิงลบทางเศรษฐกิจจีน ซึ่งเหล่านักวิเคราะห์และโบรกเกอร์ทั้งหลาย ตลอดจนนักวิจัยจากคลังสมองของรัฐ ต่างก็ยอมรับเช่นเดียวกันว่า ได้รับข้อความจากทางการจีนที่ระบุชัดเจนว่าให้หลีกเลี่ยงการพูดเชิงลบเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้ ตั้งแต่ความกังวลเรื่องการไหลออกของเงินทุน และสัญญาณเงินฝืด

 

โดย Financial Times ได้รับการยืนยันจากนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของจีน 7 ราย ซึ่งระบุว่า เหล่านายจ้างของตนบอกให้งดเว้นการอภิปรายหรือแสดงความเห็นต่อสาธารณะในบางหัวข้อ

 

ขณะที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และระเบียบข้อบังคับของจีน (China Securities and Regulatory Commission) ก็ติติงนักวิเคราะห์ของบริษัทโบรกเกอร์ว่า ความเห็นของพวกเขาสร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของผู้บริโภคที่อ่อนแอ การส่งออกที่ลดลง และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทรุดโทรมอยู่แล้ว

 

นอกจากนี้ นักวิชาการของจากสถาบันคลังสมอง 2 ราย และนักเศรษฐศาสตร์สังกัดโบรกเกอร์อีก 2 คน ซึ่งทั้งหมดล้วนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล กล่าวว่า มีแรงกดดันให้นำเสนอข่าวเศรษฐกิจในเชิงบวก เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชน โดยที่ปรึกษาธนาคารกลางจีน (PBOC) รายหนึ่งยอมรับว่า ทางหน่วยงานกำกับดูแลไม่ต้องการฟังความคิดเห็นเชิงลบเกี่ยวกับเศรษฐกิจในที่สาธารณะ และต้องการให้บรรดากูรูทั้งหลายตีความข่าวร้ายในแง่บวก

 

ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์มองว่า การเซ็นเซอร์ตัวเอง (Self-Censorship) ที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ซึ่งนักลงทุนมักจะพึ่งพาในฐานะแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือเพื่อคาดการณ์ทิศทางแนวโน้มของตลาด ได้ตอกย้ำความพยายามของรัฐบาลกรุงปักกิ่งในการควบคุมทิศทางของข้อมูลข่าวสาร

 

Andrew Collier กรรมการผู้จัดการของ Orient Capital บริษัทวิจัยในฮ่องกง กล่าวว่า สถานการณ์ของจีนขณะนี้ คือการเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวซึ่งสร้างความกังวลให้กับทุกประเทศ แต่ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่า จีนชอบที่จะแสดงท่าทีห้าวหาญต่อโลก และเป็นผู้นำที่ใส่ใจในภาพลักษณ์เป็นพิเศษ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ในช่วงที่ผ่านมา จะทำให้รายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนดูไม่โปร่งใส และสร้างความกังขาให้กับนักลงทุน

 

รายงานระบุว่า การเริ่มเข้ามาควบคุมการวิจารณ์ทางเศรษฐกิจของทางการจีนเกิดขึ้นหลังจากมีรายงานข้อมูลที่น่าผิดหวัง ซึ่งทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนและขัดขวางความพยายามของรัฐบาลจีนในการกระตุ้นการฟื้นตัวหลังวิกฤตการระบาดของโควิด โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ขยายตัวเพียง 0.8% ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ขณะที่เมื่อเดือนที่แล้ว โปลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์ยอมรับว่า การฟื้นตัวมีความคืบหน้าที่ค่อนข้างคดเคี้ยว (Tortuous Progress)

 

อย่างไรก็ตาม ขณะที่จีนพยายามฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้วยมาตรการกระตุ้นที่จำกัด และห้ามกูรูแตะประเด็นเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีน (PMI) ปรับตัวลดลงเป็นเวลา 8 เดือนติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนตุลาคม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคประจำปีแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีในเดือนมิถุนายน 

 

โดยนักเศรษฐศาสตร์ของ Citi กล่าวว่า ราคาสินค้าหลักซึ่งตัดต้นทุนอาหารและพลังงานที่ผันผวนได้เข้าสู่ ‘ขอบเขตเงินฝืด’ แล้ว เนื่องจากอุปสงค์ของผู้บริโภคที่อ่อนแอ

 

กระนั้น Fu Linghui โฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติ กลับยืนยันเมื่อเดือนที่แล้วว่า จีนไม่มีทางเผชิญกับภาวะเงินฝืดโดยเด็ดขาด

 

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ในเซี่ยงไฮ้คนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ที่สถาบันการเงินรายใหญ่แห่งหนึ่งกล่าวว่า เครือข่ายโทรทัศน์ท้องถิ่นระบุชัดเจนว่า จะยอมรับเฉพาะความคิดเห็นทางเศรษฐกิจในเชิงบวกเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว การกล่าวถึงภาวะเงินฝืดหรือความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่มีปัญหาใดๆ แต่ตอนนี้ความคิดเห็นดังกล่าวจะไม่สามารถปรากฏบนทีวีเลย แม้ว่าตนเองจะให้สัมภาษณ์ไว้ล่วงหน้าก็ตาม

 

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์บางคนแสดงความเห็นว่า รัฐบาลจีนกำลังพยายามควบคุมการแสดงความเห็นเชิงลบอย่างเข้มงวด เพื่อพยายามกระตุ้นความเชื่อมั่น ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเริ่มต้นการฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดด โดย Dan Wang หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Hang Seng Bank China กล่าวว่า ในมุมมองของนักลงทุน ความเชื่อมั่นมีบทบาทมากกว่าการกระตุ้นของรัฐบาลในการช่วยเหลือเศรษฐกิจจีน

 

ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนมิถุนายน ทางสำนักงานกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งเซินเจิ้น (Shenzhen Securities Regulatory Bureau) ได้ออกจดหมายเตือนไปยัง China Merchants Securities ซึ่งเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหลักทรัพย์ในเซินเจิ้น พร้อมกล่าวหาว่าโบรกเกอร์ดังกล่าวล้มเหลวในการดำเนินการ ‘วิเคราะห์อย่างเข้มงวด’ ในรายงานเดือนกุมภาพันธ์ที่คาดการณ์ว่าตลาดหุ้นของจีนจะสูญเสียโมเมนตัมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

รายงานระบุว่า แรงกดดันทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นกระตุ้นให้นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากละเว้นจากหัวข้อที่ละเอียดอ่อน หรือหันไปใช้ถ้อยคำที่สละสลวย เช่น อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง (Subdued Inflation) แทนภาวะเงินฝืด (Deflation) ในรายงานการวิจัยหลายฉบับที่ส่งตรงถึงนักลงทุน

 

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงรายหนึ่งกล่าวในการประชุมแบบปิดในกรุงปักกิ่งเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด โดยระบุว่า ต่อให้เป็นเรื่องที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่า ไม่อาจเอ่ยถึงสิ่งที่เรียกว่าภาวะเงินฝืดในตลาดจีนได้ แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ยังพูดคุยเกี่ยวกับความเสี่ยงของการพูดคุยเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญในขณะนี้ก็คือ ความระมัดระวังในการเลือกใช้คำเพื่อแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ

 

ขณะนี้ แม้จะถูกห้ามไม่ให้แสดงความเห็นในพื้นที่สาธารณะ แต่โดยส่วนตัวแล้ว เหล่านักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก รวมถึงกลุ่มที่ทำงานให้กับภาครัฐก็อดตั้งคำถามถึงแนวทางต่อไปของรัฐบาลจีนไม่ได้

 

ทั้งนี้ Financial Times รายงานอ้างอิงจากแหล่งข่าววงในซึ่งระบุว่า ไม่นานหลังจากที่ทางการจีนเปิดเผยตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 Fan Jianping อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของศูนย์ข้อมูลแห่งรัฐ (State Information Center) ซึ่งเป็นคลังความคิดชั้นนำของรัฐบาล ได้กล่าวในการประชุมแบบปิดว่า เจ้าตัวไม่เชื่อถือสถิติของทางการ และเตือนว่าจีนกำลังมุ่งหน้าสู่ภาวะเงินฝืด ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมตกใจอย่างมาก

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising