×

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อ จีนสามารถหลีกเลี่ยง ‘Lost Decades’ ได้ หากเดินตามรอยเกาหลี

12.09.2024
  • LOADING...
Lost Decades

ประเทศจีนอาจกำลังเข้าสู่ Lost Decades เหมือนกับที่ประเทศญี่ปุ่นเคยเผชิญมาแล้ว โดยเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนพยายามอย่างหนักเพื่อควบคุมความตกต่ำของมูลค่าทรัพย์สินทั่วประเทศ และนักเศรษฐศาสตร์เองก็เปรียบเทียบสถานการณ์นี้กับประเทศญี่ปุ่น

 

ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าจีนมีการปล่อยสินเชื่อของธนาคารให้กับธุรกิจและครัวเรือนหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ยอดขายปลีกอ่อนแอมาหลายเดือน สิ่งนี้ดูเหมือนจะยืนยันว่าจีนกำลังเกิด ‘ภาวะถดถอยทางงบดุล’ (Balance Sheet Recession) แบบญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่ผู้บริโภคและบริษัทให้ความสำคัญกับการชำระหนี้มากกว่าการใช้จ่ายและการลงทุน ส่งผลให้การเติบโตถูกจำกัด

 

และยังมีความคล้ายคลึงอีกประการหนึ่งที่น่ากังวลระหว่างเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด 2 แห่งของเอเชีย คือ ในจีน ตัวชี้วัดราคาของเศรษฐกิจในวงกว้างที่เรียกว่า ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP Deflator) ลดลงถึง 5 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นภาวะเงินฝืดที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 หุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงสูญเสียมูลค่าตลาดรวมกัน 5 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

 

ขณะที่ญี่ปุ่นเคยเผชิญกับฟองสบู่ด้านอสังหาริมทรัพย์แตกในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือ ‘ทศวรรษที่สาบสูญ (The Lost Decades)’ ที่ราคาสินทรัพย์ตกต่ำ และการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว

 

อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งนี้มีข้อจำกัดใหญ่ประการหนึ่ง นั่นคือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per capita) และระดับการขยายตัวของเมืองในจีนอยู่ต่ำกว่าของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1990 มาก เมื่อพิจารณาจากตัวชี้วัดหลายอย่างพบว่า จีนดูคล้ายกับเกาหลีใต้มากกว่า ซึ่งเป็นประเทศที่ประสบกับความสูญเสียในช่วงเปลี่ยนศตวรรษในรูปแบบของวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย และผ่านพ้นมาได้อย่างแข็งแกร่งกว่าเดิม

 

ความท้าทายที่เร่งด่วนที่สุดสำหรับผู้กำหนดนโยบายของจีนในขณะนี้คือ การค้นหากลไกขับเคลื่อนการเติบโตเพื่อชดเชยแรงฉุดทางเศรษฐกิจจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีปัญหา ซึ่งโมเดลของเกาหลีใต้อาจเป็นแนวทางให้กับจีนได้

 

โดยเกาหลีใต้นั้น เมื่อการเติบโตที่ร้อนแรงมาหลายทศวรรษสิ้นสุดลง ผู้นำของเกาหลีใต้หลังวิกฤตได้เปลี่ยนแนวทางหลายอย่าง เช่น ในด้านการเงิน เกาหลีใต้ปรับโครงสร้างธุรกิจที่ล้มละลาย และปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความล้มเหลวในอนาคต ซึ่งเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น กลับพบว่าทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม โดยญี่ปุ่นเลือกที่จะประคับประคองบริษัทซอมบี้ในประเทศให้ยังคงยืนหยัดได้ ซึ่งผลที่ตามมาคือการผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง

 

ผู้นำของเกาหลีเริ่มดำเนินการผลักดันการสร้างอุตสาหกรรมบริการและความรู้ ผู้ผลิตตอบสนองด้วยการเปลี่ยนไปผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงและส่งเสริมการส่งออก ในทางตรงกันข้าม ญี่ปุ่นกลับต้องพยายามอย่างหนักเพื่อให้บรรลุผลที่คล้ายคลึงกัน

 

ปัจจุบันนี้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนยกย่องนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าเป็น ‘พลังการผลิตใหม่ที่มีคุณภาพ’ ที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศ จีนก้าวมาเร็วในการยอมรับรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ประเทศกลายเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และผลักดันให้ผู้ผลิตรถยนต์ขยายตัวไปทั่วโลก การลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดยังช่วยให้จีนครองตลาดในด้านต่างๆ เช่น แผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนอีกด้วย

 

หลุยส์ คูอิจส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ S&P Global Ratings เป็นหนึ่งในผู้ที่มองเห็นความคล้ายคลึงระหว่างเกาหลีหลังวิกฤตและจีนในปัจจุบัน โดยกล่าวว่าจีนค่อนข้างจะอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ การคาดการณ์การเติบโตและผลผลิตในระยะยาวสำหรับจีนนั้นใช้แนวทางของเกาหลีและไต้หวันเป็นเกณฑ์อ้างอิงมากกว่าญี่ปุ่น

 

หยาน คุน รองหัวหน้าสถาบันญี่ปุ่นศึกษาแห่งสถาบันสังคมศาสตร์จีน ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่สังกัดรัฐบาล คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของจีนจะอยู่ที่ 4-6% ซึ่งดีกว่าของญี่ปุ่นมาก ซึ่งญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่ำกว่า 0.8% ตั้งแต่ปี 2000 ญี่ปุ่นล้มเหลวในการคว้าโอกาสจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1990 โดยเฉพาะการนำอินเทอร์เน็ตมาใช้อย่างแพร่หลาย ปักกิ่งตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงชะตากรรมที่คล้ายกันนี้เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ความเป็นผู้นำของจีนในด้านต่างๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า แสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนจากการมองการณ์ไกลดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม แลร์รี ฮู หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจจีนของ Macquarie Group Ltd. แย้งว่า การเปรียบเทียบเศรษฐกิจระหว่างจีนและเกาหลีนั้นเป็นปัญหา เนื่องจากจีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าเกาหลีมาก โลกจึงปรับตัวรับการเติบโตของเกาหลีได้ง่ายกว่าการเติบโตของจีนมาก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising