×

ผู้หญิงสีชมพู ผู้ชายสีฟ้า? เมื่อการเป็นตัวเองมาจากการรับรู้เรื่องเพศในวัยเด็ก

โดย THE STANDARD TEAM
19.08.2021
  • LOADING...
การรับรู้เรื่องเพศ

ผู้หญิงต้องสีชมพู ผู้ชายต้องสีฟ้า

ผู้ชายต้องเป็นตำรวจ ผู้หญิงต้องเป็นพยาบาล

ผู้หญิงเล่นตุ๊กตา ผู้ชายเล่นหุ่นยนต์

เป็นผู้ชายอย่าร้องไห้สิ

เป็นผู้หญิงทำตัวให้เรียบร้อยหน่อย

 

เชื่อว่าหลายคนเติบโตมาพร้อมกับ ‘ความเชื่อ’ ดังกล่าว ความเชื่อที่ว่าบนโลกนี้มีเพียงแค่ 2 เพศ และเพศของเราถูกกำหนดไว้ด้วยสี อาชีพ งานอดิเรก หรือเสื้อผ้าแค่บางประเภทเท่านั้น หากข้ามไปทำหรือชื่นชอบอะไรที่เป็นของอีกเพศหนึ่งก็จะถูกมองเป็น ‘บุคคลข้ามเพศ’ ที่สังคมไม่เปิดรับ ซ้ำยังผลักไปเป็นกลุ่มคนชายขอบไปโดยปริยาย

 

ความเชื่อเหล่านี้นอกจากจะยากต่อการเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง ยังถือเป็นการมองข้ามธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความลื่นไหลทางเพศ (Gender Fluid) ได้เป็นเรื่องปกติ แต่ทุกวันนี้สังคมได้ตระหนักมากขึ้นว่าบนโลกนี้มีความหลากหลายทางเพศมากกว่าแค่หญิงกับชาย ซึ่งการเปิดใจต่อความเปลี่ยนแปลงที่ว่าก็ได้ส่งผลให้หลายคนค้นพบอัตลักษณ์ ความชอบ และเส้นทางชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเองมากขึ้น 

 

พวกเขาสามารถชอบสีอะไรก็ได้ รักใครก็ได้ แต่งตัวอย่างไรก็ได้ อยากเป็นอะไรก็ได้ที่พวกเขาอยากจะเป็น โดยไม่ควรมีข้อจำกัดทางเพศเข้ามาเป็นอุปสรรค ซึ่งถ้าหากได้รับการปลูกฝังในเรื่องนี้มาตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากจะทำให้เด็กหลายคนมีการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศที่เปิดกว้าง ได้เรียนรู้ว่าตัวเองเป็นใคร และได้เติบโตมาอย่างมีอิสระ ยังเป็นอีกวิธีที่เราจะช่วยกันสร้างโลกนี้ให้เกิดความเสรีและความยุติธรรมมากขึ้นอีกด้วย

 

หยุดตีกรอบให้กับเพศ

สังคมตีกรอบเรื่องเพศสภาพมานานจนเกินไป ทำให้ชีวิตหลายคนเหมือนติดอยู่ใน ‘กล่อง’ ใบหนึ่งตลอดเวลา โดยเฉพาะกล่องที่ไม่พอดีกับพวกเขาเอาเสียเลย จนเกิดความรู้สึกราวกับถูกกักขังไม่ให้สัมผัสกับความสุขสมที่เกิดจากมีอิสระในการเป็นตัวของตัวเอง

 

“เยาวชนกลุ่มหลากหลายทางเพศหรือกลุ่มคนที่ไม่ใช่ไบนารี (เพศหญิงและเพศชาย) ยังคงเผชิญกับบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่เป็นมิตร แม้แต่วันแรกของเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็น Pride Month รัฐฟลอริดายังคงห้ามนักเรียนกลุ่มหลากหลายทางเพศลงเล่นกีฬาของโรงเรียนอยู่เลย และการร่างกฎหมายต่อต้าน LGBTQ+ อีกหลายฉบับ ก็ยังคงถูกผลักดันไปทั่วประเทศ” อามิต พาเลย์ (Amit Paley) ซีอีโอและผู้อำนวยการบริหารของ The Trevor Project องค์การป้องกันการฆ่าตัวตายและการแทรกแซงสถานการณ์วิกฤตสำหรับเยาวชน LGBTQ+ กล่าว

 

นอกเหนือจากการถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงกีฬาหรือได้รับความเท่าเทียมอื่นๆ ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งแล้ว จากการศึกษาหลายชิ้นที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Pediatrics ยังเผยอีกว่า เยาวชนกลุ่มหลากหลายทางเพศก็มักเผชิญกับการกลั่นแกล้ง ภาวะซึมเศร้า และความคิดฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง อันเนื่องมาจากการถูกปฏิเสธทางสังคม ยิ่งไปกว่านั้น ปีนี้ยังพบสถิติการถูกโจมตีบนท้องถนนของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์อีกด้วย

 

ความบอบช้ำดังกล่าวไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ แต่พวกเขาถูกควบคุมเพศมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก ผ่านเสื้อผ้า สี และของเล่นที่ได้รับมอบหมาย แม้แต่อากัปกิริยาที่กำหนดว่าเด็กผู้ชายต้องไม่อ่อนแอ เด็กผู้หญิงต้องไม่ดื้อรั้น หรือการกำหนดว่าเด็กผู้ชายเหมาะกับกีฬาอะไร เด็กผู้หญิงเหมาะกับอาชีพไหน ทำให้พวกเขายึดติดอยู่กับบทบาทที่เต็มไปด้วยการห้ามปราม ข้อจำกัด ซึ่งจะแย่กว่านั้นหากพวกเขาลงเอยด้วยการเป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่ไบนารี เพราะนั่นแปลว่าพวกเขาไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

 

เคซี คิดด์ (Kacie Kidd) กุมารแพทย์และวัยรุ่น UPMC Children’s Hospital of Pittsburgh กล่าวว่า อัตลักษณ์ที่หลากหลายทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ของมนุษย์ ซึ่งคนที่อยู่ในวัยเยาว์จะมีความเข้าใจโลก การเรียนรู้ด้านภาษา และความกล้าหาญมากขึ้น ผ่านการแสดงออกทางตัวตนของพวกเขา 

 

ฉะนั้นแล้ว การสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่แบ่งแยกเพศจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก และเยาวชนที่มีความหลากลายทางเพศจะสามารถเติบโตได้ ก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง โรงเรียน และชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่

 

สร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนตัวตน

สิ่งที่ผู้ปกครองทำได้เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการค้นหาตัวตนของเด็กๆ คือ ‘การสนับสนุน’ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเพศอะไรก็ตาม

 

“พวกเรามีหน้าที่ต้องฟังเด็กๆ และยอมรับว่าพวกเขาคือผู้เชี่ยวชาญที่สุดในเรื่องนี้ จากประสบการณ์ชีวิตของพวกเขาเอง เพื่อให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยในการเป็นตัวเอง หรือปลอดภัยที่จะสำรวจว่าตัวเองเป็นใครมากที่สุด” คิดด์กล่าว 

 

กล่าวคือ ผู้ปกครองต้องปล่อยให้พวกเขาได้นิยามหรือระบุเพศของตัวเอง ไม่เข้าไปกำหนด ตีกรอบ หรือบอกว่าพวกเขากำลังสับสนอยู่ เพราะพวกเขานี่แหละคือคนที่มี Sense of self หรือการรับรู้เกี่ยวกับตนเองมากที่สุดแล้ว

 

ผู้ปกครองควรเข้าใจความแตกต่างระหว่างอัตลักษณ์ทางเพศกับการแสดงออกทางเพศ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องตรงกับเพศที่เรามอบหมายให้พวกเขาตั้งแต่กำเนิด หรือเพศที่เราอยากให้พวกเขาเป็นเสมอไป พร้อมทั้งตระหนักว่าพวกเขากำลังอยู่ในขั้นตอนของการสำรวจตนเอง ซึ่งความรู้สึกหรือการแสดงออกของพวกเขาก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวันหรือปีต่อปีได้ เพราะนั่นคือกระบวนการเรียนรู้เพื่อหาตัวตนไปเรื่อยๆ

 

นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรสนับสนุนอิสรภาพของพวกเขาด้วยการให้ลองสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นของเล่น หนังสือ เกม กีฬา หรือเสื้อผ้า แม้ว่ามันจะค้านกับความคาดหวังหรือการรับรู้ที่ผ่านมาของเราไปบ้างก็ตาม หรือหากพบเจอเด็กคนอื่นๆ ที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากจากการตีกรอบของสังคม

 

รวมถึงการให้ความรู้พวกเขาผ่านสื่อที่เปิดรับ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนหรือภาพยนตร์ที่มีตัวละครเป็น LGBTQ+ แนะนำให้พวกเขารู้ว่าเพศไม่ได้มีแค่หญิงกับชายเท่านั้น การเป็นเพศอื่นๆ ไม่ได้แปลว่าจะต้องมีความผิดปกติอะไร หรือถ้าพวกเขาจะมีเพื่อนที่เป็นเพศหลากหลายก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเช่นกัน และพวกเขาควรจะปฏิบัติกับคนทุกเพศอย่างเท่าเทียมด้วย

 

เพราะบางครั้งการสนับสนุนที่ดีอาจไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการอยู่ข้างๆ คอยให้ความรัก ให้กำลังใจ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเองออกมาอย่างเต็มที่

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising