×

เช็กสภาพคล่อง ธ.ก.ส. กับแผนธุรกิจปล่อยสินเชื่อใหม่ – พักหนี้เกษตรกรเฟส 2 – ระดมเงินฝาก 3.2 แสนล้าน

06.05.2024
  • LOADING...
ธ.ก.ส.

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ถือเป็นธนาคารที่เป็นความหวังของอาชีพการเกษตร ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดัน พัฒนา ยกระดับรายได้ ที่ให้บริการรับฝากเงินเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป โดยในแต่ละปี ธ.ก.ส. มีแผนธุรกิจหลายโครงการ รวมถึงมาตรการรัฐบาล

 

โดยปีบัญชี 2567/2568 ภารกิจหลักจะมุ่งตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นล้านบาท พร้อมเดินหน้าระดมเงินฝาก 3.2 แสนล้านบาท กด NPL ให้เหลือ 3.69% ลุยสานต่อโครงการพักหนี้เกษตรกรเฟส 2

 

พงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า แผนธุรกิจของ ธ.ก.ส. ในปีบัญชี 2567/2568 (ระหว่างเดือนเมษายน 2567 – มีนาคม 2568) ตั้งเป้าวงเงินปล่อยสินเชื่อใหม่ 9 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 5.13% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน

 

ส่วนเงินฝากตั้งเป้าที่จะระดมเงินฝากปีนี้เพิ่มอีกประมาณ 1.2 แสนล้านบาท หรือ เติบโต 7% จากงวดปีก่อน โดย ณ สิ้นปีบัญชี 2566/2567 (1 เมษายน 2566 – 31 มีนาคม 2567) ปัจจุบันธนาคารมียอดสินเชื่ออยู่ 1.69 ล้านล้านบาท และเงินฝาก 1.89 ล้านล้านบาท หรือมีเงินฝากมากกว่าสินเชื่อประมาณ 2 แสนล้านบาท ถือเป็นการดำรงสภาพคล่องเพื่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีสภาพคล่องที่ดี

 

พงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

 

คาดระดมเงินปีนี้รวม 3.2 แสนล้านบาท

 

นอกจากนี้ยังมีโครงการ ‘สลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส. ชุดมั่งมีทวีโชค’ และ ‘เงินฝากเกษียณมั่งคั่ง’ ที่จะครบกำหนดอีกประมาณ 2 แสนล้านบาทในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ รวมถึงโครงการล้านละร้อย เฟส 2 หลังจากเฟสแรกประสบความสำเร็จ สามารถปล่อยกู้ได้แล้ว 3 หมื่นล้านบาทจากวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ส่วนเฟส 2 เพิ่งเริ่มโครงการ ปล่อยกู้ได้แล้ว 5.8 พันล้านบาท เหลือวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท

 

โครงการนี้ดอกเบี้ยถูก ทุกกลุ่มเกษตรกรต้องการยื่นขอกู้ไม่น้อย เพราะให้ยอดเงินกู้ 3-5 ล้านบาทต่อราย สูงสุด 100 ล้านบาทต่อกลุ่ม และโครงการนี้เองเราก็ต้องการยกระดับชุมชนผ่านเกษตรกรหัวขบวน เพื่อนำเงินไปลงทุนการผลิต เช่น ล่าสุดได้พาเกษตรกรหัวขบวนไปชมกระบวนการขายส่งดอกไม้ที่ตลาด FloraHolland Aalsmeer ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มาเป็นแนวทางพัฒนาชุมชน ตลอดจนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างเป็นระบบ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยกันผลักดันการลงทุนในพื้นที่ให้มากขึ้นด้วย โดยจะให้เกษตรกรสามารถขอสินเชื่อได้ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2568

 

ดังนั้นรวมจากแผนดังกล่าวแล้ว ธ.ก.ส. จะต้องระดมเงินใหม่ปีนี้รวม 3.2 แสนล้านบาท

 

“แต่ละปีเงินฝากของเกษตรกร ข้าราชการ และประชาชนอยู่กับ ธ.ก.ส. ไม่น้อย เรียกว่าเราเป็นธนาคารที่มีเงินฝากต้นทุนต่ำ (CASA) ประมาณ 55% เป็นสถาบันการเงินของรัฐที่รัฐบาลค้ำประกัน 100% จึงมาฝากกับเราเยอะ เช่น เราออกสลาก ธ.ก.ส. ชุดถุงทอง ใช้เวลาแค่ประมาณ 5 เดือน สามารถระดมเงินใหม่เข้ามาได้แสนล้านบาท” พงษ์พันธ์กล่าว

 

ลดหนี้ NPL ให้เหลือ 3.69% – สานต่อพักหนี้เกษตรกรเฟส 2

 

พงษ์พันธ์ระบุอีกว่า ส่วนแผนการดำเนินการสำหรับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ สิ้นปีบัญชี 2566/2567 มีสัดส่วน 5.41% มูลหนี้ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ปีบัญชี 2567/2568 เราตั้งเป้าหมายลดหนี้ให้เหลือ 3.69% เชื่อว่าปีนี้จะมีผลผลิตของเกษตรกรที่ดีแม้จะเผชิญสภาพอากาศแปรปรวนไปบ้าง เชื่อว่าปีนี้จะทำให้หนี้ลดลงได้อีกแน่นอน

 

นอกจากนี้ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้จะมีการประชุมคณะทำงานโครงการพักหนี้เกษตรกรที่กระทรวงการคลัง เพื่อหารือถึงแนวทางในการดำเนินโครงการเฟสที่ 2 ว่าจะต้องใช้วงเงินเท่าไร และจะมีการปรับเงื่อนไขเพิ่มเติมจากเฟส 1 อย่างไรบ้าง เพื่อจะสรุปให้เร็วที่สุดและนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือนตุลาคมนี้

 

โดยหลังจากโครงการเฟสแรกที่เข้าไปช่วยพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขที่มีหนี้สินคงค้างไม่เกิน 3 แสนบาท จำนวน 2.1 ล้านราย วงเงินรวม 2.8 แสนล้านบาท ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีเกษตรกรแสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการ 1.8 ล้านราย คิดเป็นวงเงินรวมทั้งหมด 2.5 แสนล้านบาท

 

ซึ่งเป็นจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพักหนี้แบบสมบูรณ์ ด้วยการทำข้อตกลงขยายเวลาประมาณ 1.4 ล้านราย หรือคิดเป็น 80% ของกลุ่มเป้าหมาย เป็นกลุ่มที่ถือว่า ธ.ก.ส. ช่วยเหลือสำเร็จแล้ว และหากมองอีกด้าน จากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันถือว่า ธ.ก.ส. ช่วยป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบได้เยอะมาก

 

มั่นใจสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์

 

ขณะเดียวกันจำนวนเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการต่างๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการของรัฐบาลอย่างดิจิทัลวอลเล็ตที่จะเกิดขึ้น โครงการประกันรายได้ใดๆ ก็ตามที่ผ่านมา ต้องเรียนว่าทุกโครงการขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละปี เป็นไปตามนโยบาย อยู่ที่ว่าจะเป็นภารกิจลักษณะใด ที่ผ่านมาหลายๆ โครงการรัฐเราก็ชำระตามกำหนด

 

ท้ายที่สุดพงษ์พันธ์กล่าวว่า “โดยปกติทุกแบงก์เงินฝากจะมากกว่าเงินกู้ เป็นฐานของทุกแบงก์เพื่อความมั่นคง และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของเราก็ถือว่าเป็นไปตามเกณฑ์ของแบงก์ชาติ ซึ่ง ธ.ก.ส. เป็นแบงก์รัฐที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่น การดำเนินงานทุกอย่างเป็นไปตามแผนธุรกิจ ซึ่งภารกิจของรัฐบาลก็เป็นภารกิจที่ ธ.ก.ส. ดูแลมาโดยตลอด 58 ปี ตั้งแต่ปี 2509 จนถึงปัจจุบัน”

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X