ถ้าจุดประสงค์ของงานออกแบบคือการส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์สื่อสารกับลูกค้าได้อย่างตรงเป้าหมาย ความตั้งใจของ ป้อง-ชวณัฐ สุวรรณ ก็เช่นเดียวกัน ด้วยหน้าที่ที่เป็นซีเนียร์กราฟิกดีไซเนอร์ บริษัท คัดสรรดีมาก ที่ทำงานออกแบบเอกลักษณ์องค์กร แต่เพราะความสนใจส่วนตัว เขายังทำงานออกแบบในนาม Wonderwhale ที่รับออกแบบปกหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ ด้วยความผูกพันกับหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ Wonderwhale กลายเป็นนักออกแบบที่มีเอกลักษณ์น่าจับตา เพราะการสื่อสารให้ปกหนังสือดูเป็นมิตร ร่วมสมัย น่าหยิบจับ นิสัยรักการอ่านเลยดูเหมือนจะมีส่วนสำคัญในการประกอบอาชีพไม่น้อย
ชวณัฐยืนยันกับเราว่า ในฐานะคนชอบอ่านมากตั้งแต่เด็ก หนังสือไม่เพียงเพิ่มทักษะอย่างตรงไปตรงมา แต่คือการเก็บเล็กผสมน้อยที่สุดท้ายจะกลายมาเป็นทักษะเชิงความคิด ตีความ และการสื่อสารอย่างที่หลายครั้งก็ปรากฏในกระบวนการทำงาน และองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ที่บางครั้งยากจะอธิบาย
ด้วยอาชีพกราฟิกดีไซเนอร์ที่ถนัดทำหลายอย่าง ทำไมงานสิ่งพิมพ์ถึงเป็นหนึ่งในความสนใจของคุณด้วย
ผมสนใจสิ่งพิมพ์เป็นพิเศษตั้งแต่สมัยเรียนเลยครับ อาจเพราะพื้นฐานผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก มันเริ่มจากการ์ตูน นิยายภาพ พอโตขึ้นก็ขยับไปอ่านนวนิยายโดยเริ่มจาก เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เพราะมันเป็นเรื่องสืบสวนสนุกๆ จากนั้นก็เริ่มอ่านวรรณกรรมไทยสร้างสรรค์ ซึ่งการอ่านบวกกับความสนใจศิลปะที่มีอยู่เป็นทุนเดิม ทำให้เราเลือกเรียนกราฟิกดีไซน์ ได้ทำปกหนังสือ โปสเตอร์ ปกซีดี
ทำไมตอนนั้นคุณถึงเลือกอ่านหนังสือทั้งที่เด็กผู้ชายน่าจะมีกิจกรรมให้เล่นสนุกมากมาย
มันเริ่มตั้งแต่อ่านหนังสือออกเลยครับ เริ่มจากอ่านการ์ตูน ทั้ง Doraemon, Dragon Ball อาจเพราะว่าผมเป็นลูกคนเดียวมั้งครับ ไม่มีพี่น้องให้เล่นด้วย กว่าจะได้เล่นกับเพื่อนอีกทีคือตอนไปโรงเรียน พออยู่ที่บ้านมันไม่มีอะไรจะทำ พ่อแม่เลยซื้อหนังสือการ์ตูนให้ อะ เอาการ์ตูนไป เพื่อนข้างบ้านก็ไม่มี เพราะว่าตอนนั้นผมอยู่บ้านอาม่า ซึ่งเป็นตึกแถว ไม่มีเด็กที่รุ่นราวคราวเดียวกัน การ์ตูนมันเลยเป็นเหมือนเพื่อนของเรา และที่ขยับขยายไปหนังสือประเภทอื่นๆ ได้เพราะมีเรื่องที่เชื่อมโยงกัน เช่นเราเริ่มจาก ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ซึ่งมันมีความสืบๆ แถมในนั้นก็มีพูดถึง เชอร์ล็อก โฮล์มส์ บ่อยจังวะ เขาเป็นใคร เราก็เลยไปหามาอ่าน เลยพบว่ามันไม่ได้เป็นการ์ตูนแต่คือวรรณกรรม เราเลยลองอ่านดู อ่านไปอ่านมาก็เกือบครบเซต
ทีนี้พอไปโรงเรียน อาจารย์ที่สอนวิชาภาษาไทยก็ชอบให้เราหาหนังสืออ่านนอกเวลา หรือหนังสือที่ได้ซีไรต์มาอ่าน ซึ่งตอนนั้นผมเลือกหนังสือของ วินทร์ เลียววาริณ ปรากฏว่าอ่านจบแฮะ หนังสือเล่มหนาๆ มันไม่ได้ดูโหดหินขนาดที่เราคิด ความรู้สึกมันเลยเปลี่ยนไปว่านวนิยายมันไม่ได้ดูเหมือนงานวิชาการหรืออ่านยาก หนังสือเล่มนั้นที่ผมหยิบมาอ่านคือ ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ปกมันดูซีเรียสมาก ซึ่งไม่เหมือนปกเวอร์ชันพื้นขาวอันใหม่ที่ดูเป็นมิตรกว่าและเข้าถึงง่ายกว่า แต่สุดท้ายพออ่านจบก็รู้สึกว่ามันอ่านได้นี่หว่า ก็เลยค่อยๆ เขยิบไปเรื่อยๆ
ด้วยพื้นฐานที่คุณเป็นคนรักการอ่าน การอ่านหนังสือมันส่งเสริมอาชีพกราฟิกดีไซน์ที่คุณทำอยู่ทุกวันนี้อย่างไรบ้าง
ผมคิดว่ามันทำให้เรามีชุดความรู้เรื่องอื่นนอกเหนือจากเรื่องที่เราทำ เช่น ผมทำงานดีไซน์แล้วต้องเอางานไปขายลูกค้า เวลาเราต้องสื่อสารถึงงานที่ทำ เราก็จะไม่ได้พูดถึงมันแค่เรื่องความงามว่าสวยหรือไม่ เราออกแบบแบบนี้เพราะอะไร และการคุยกับลูกค้าบางครั้งมันต้องคุยนอกเหนือธุรกิจที่เราถนัด รวมไปถึงความสนใจด้านอื่นๆ อาจไลฟ์สไตล์ที่คลิกกัน ผมรู้สึกว่าการอ่านหนังสือมันเลยช่วยให้เราเห็นไลฟ์สไตล์และวิธีคิดที่หลากหลาย ช่วยพัฒนาความคิด และอย่างเบสิกที่สุดหนังสือมันช่วยให้เรามีไดอะล็อกและชุดคำในหัวมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนั้นมันทำให้เราไม่กลัวที่จะสื่อสารหรือพูดความรู้สึกของตัวเอง
ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าผมไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับการตลาดมา มันก็ช่วยให้เราเข้าใจมุมของลูกค้ามากขึ้นว่าเขาคิดเห็นอย่างไร บางครั้งลูกค้าเห็นงานเราแล้วอาจไม่ได้อินกับรูปร่าง รูปทรง หรือสีสัน หรือเห็นว่าโลโก้บางมุมมันอาจทำหน้าที่ขายของให้เขาได้ไม่ดีเท่าไร ถ้าเราไม่มีแบ็กกราวด์เรื่องการตลาดในหัวอยู่บ้าง เราก็จะไม่เข้าใจลูกค้าในมุมนี้เลย แต่พอเรามีชุดความรู้เรื่องการตลาด เราก็จะทำให้เข้าใจลูกค้ามากขึ้น
อย่างการออกแบบฟอนต์ให้ Readery เราเองก็เป็นลูกค้า Readery มาก่อน เลยรู้ว่าเขาเน้นการขายออนไลน์ การที่คนเข้าไปในเว็บไซต์ เขาต้องการหาสิ่งที่จะซื้อ ข้อมูลที่อธิบายต้องอ่านง่าย แค่นั้นยังไม่พอ จะต้องเป็นฟอนต์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและต่างจากที่อื่น ดูส่งเสริมบุคลิกผู้พูด นั่นก็คือ Readery เราเลยต้องมานั่งคิดต่อว่า Readery เป็นคนแบบไหน เราจะทำตัวอักษรในเว็บไซต์อย่างไรให้ทั้งอ่านง่ายและให้ข้อมูล ทั้งหมด มันเลยเป็นเงื่อนไขของผมว่าต้องคำนึงถึงการอ่านบนจอ ซึ่งต่างกับการอ่านบนกระดาษ มันเลยเชื่อมโยงไปถึงการออกแบบเส้น รูปร่าง นอกจากนี้ยังต้องศึกษาลูกค้า มองให้ออกว่า Readery เป็นคนแบบไหน เราก็เอาข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาแปลงเป็นวิชวล ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการอ่านหนังสือมันช่วยอย่างไรบ้าง เพราะมันเหมือนการเก็บเล็กผสมน้อยและปะติดปะต่อทักษะจนเป็นเรา แต่อย่างน้อยการอ่านวรรณกรรมมันช่วยให้เราเข้าใจคน มีชุดความคิดที่จะเข้าใจและตีความต่างๆ เพราะหลายครั้งลูกค้าไม่ได้บอกเราตรงๆ ทักษะตรงนี้เรียกว่าได้มาจากการอ่านก็ได้ เพราะหลายครั้งมันคือการตีความว่าสิ่งที่เขาพูดอย่างนี้ ‘น่าจะ’ หมายความว่าอะไร และความต้องการที่แท้จริงของเขาคืออะไร
แล้วพอได้มาออกแบบปกหนังสือจริงๆ คุณก็ใช้วิธีการทำงานแบบนี้ด้วยใช่ไหม
ใช่ครับ อย่างแรกก็ต้องอ่านเรื่องก่อน ซึ่งผมจะอ่านจนจบ บางทีผมก็เจอเล่มที่อ่านยากแต่ก็เปิดโลกผมมากอย่าง ออร์แลนโด: ชีวประวัติ ของสำนักพิมพ์ Library House ปกติผมชอบอ่านหนังสือขณะเดินทางไปด้วย แต่เล่มนี้ผมไม่สามารถทำอย่างนั้น มันต้องการสมาธิสูงมาก เพราะภาษามันไหลไปไหลมาไม่หยุดอยู่กับที่ และพร้อมจะพาเราไปที่อื่นได้ทุกเมื่อ กลายเป็นว่าก่อนทำปกหนังสือเล่มนี้เลยต้องหาที่เงียบๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือร้านกาแฟเพื่ออ่านมันให้จบ อ่านไปด้วย โน้ตไปด้วยว่าประโยคนี้เขาต้องการจะบอกอะไร มันต่างจากการเอาสนุก เพราะอย่างนั้นมันก็อ่านจบรวดเดียวแล้วก็ฟินไป แต่การอ่านเพื่อเอามาทำปกมันต้องจับคีย์เวิร์ดหรือประเด็นสำคัญที่เราต้องสกัดเพื่อเอาสิ่งนั้นมาประกอบเป็นภาพอีกที
แล้วกลายมาเป็นสีม่วงนี้ได้อย่างไร
หลังจากอ่านจบ ผมก็เอาสิ่งที่จับคีย์เวิร์ดได้มาแปลงเป็นภาพ แต่การทำให้เป็นภาพนั้นผมก็ไม่ได้อยากให้ปกเฉลยทุกอย่างในเล่ม เลยมีการบอกใบ้ไว้ แต่เซนส์บางอย่างมันต้องออกมา เพราะ ออร์แลนโด: ชีวิตประวัติ มันเล่าถึงเพศสภาพที่ข้ามกันไปกันมา แต่ไม่ได้เชิดชูฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ มันมีการยักแย่ยักยันกันระหว่างชายกับหญิง มันมีบาลานซ์ของตรงนี้อยู่ ฉะนั้นผมคิดว่าแม้ปกจะใช้สีม่วง แต่ความรู้สึกของคนดูที่นอกจากจะได้รับความรู้สึกไม่แน่ใจว่าเป็นหญิงหรือชายกันแน่แล้ว สีม่วงยังให้ความรู้สึกถึงขุนนาง ชนชั้นสูง เซนส์พวกนี้ต้องแสดงออกมาไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม
มันอธิบายยากเหมือนกันครับว่าวิธีการมันทำอย่างไร เพราะบางครั้งก็ใช้วิธีการจับเซนส์แล้วแสดงออกมา ผ่านภาพ ตัวอักษร คู่สี ทั้งหมดมันคือการตีความ ซึ่งก็อาศัยทักษะการอ่านที่สะสมมา
มีงานที่ชอบและรู้สึกท้าทายอีกไหม
จริงๆ ปกหนังสือเล่มล่าสุดที่ทำก็ชอบมากครับ หนังสือชื่อ อีธาน โฟรม กับ เดย์ซี มิลเลอร์ ทั้ง 2 เล่มเป็นงานเขียนซีรีส์ The 19th C. Story, #1 การออกแบบปกทั้งหมดที่ผ่านมาผมจะทำภาพเอง แต่เซตนี้ผมได้โจทย์จากสำนักพิมพ์ว่า อยากใช้ภาพปกเป็นงานถักของศิลปินฟินแลนด์ ฉะนั้นผมต้องคิดว่าจะใช้ภาพของศิลปินคนนี้อย่างไร พอองค์ประกอบของปกเราไม่ได้สร้างเองทั้งหมด แต่มีภาพประกอบบังคับอยู่ โจทย์ของผมเลยคือทำอย่างไรให้ปกหนังสือที่มีภาพงานถักไม่ดูเหมือนหนังสืองานฝีมือ ต้องได้เซนส์ของความเป็นวรรณกรรม และต้องเป็นวรรณกรรมของศตวรรษที่ 19 ด้วย ขณะเดียวกันก็ยังต้องมีความนุ่มนวลเพื่อเปลี่ยนการรับรู้ของคนที่มีต่อวรรณกรรมคลาสสิก ที่เคยดูยากหรือสูงส่ง อยากให้กลับมาดูจับต้องได้มากขึ้น ผมตั้งโจทย์ให้ตัวเองอย่างนี้เลยหยิบภาพของเขามาปรุงอีกทีหนึ่งได้อย่างที่ต้องการ
ในฐานะที่คุณเป็นทั้งนักอ่านและนักออกแบบ มีหนังสือเล่มไหนที่คุณชอบหรือตอบโจทย์ทั้ง 2 ด้านนี้
ผมชอบ ร่างของปรารถนา ครับ เป็นนวนิยายไทยที่ผมชอบมากในช่วง 2-3 ปีมานี้ เพราะผมรู้สึกว่ามันพูดถึงการเมืองผ่านเรื่องเพศและการร่วมเพศ มีการเมืองหลายระดับ ทั้งระดับประเทศ สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่ระดับความสัมพันธ์ของคน 2 คน ผมคิดว่าภาษาในเล่มนี้ไม่ธรรมดา ไม่รู้พี่ม่อน (อุทิศ เหมะมูล) เขียนได้อย่างไร ทั้งการใช้คำหรือการเล่าเรื่อง หรือแม้แต่ความคิดของตัวละครมันมีมิติ อีกอย่างที่ชอบมากคือเป็นหนังสือดีไซน์ทั้งรูปเล่ม มีการออกแบบตัวอักษรขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ในเล่มแทนอีกเสียงหนึ่งที่แสดงการควบคุม ผมรู้สึกว่ามันไปไกลกว่านวนิยายทั่วไป มันเหมือนงานอาร์ตชิ้นหนึ่งที่ทุกองค์ประกอบในนั้นมีเหตุและผลว่าทำขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์อะไร มันลงไปในรายละเอียดทุกอย่าง ทั้งที่เราต้องฉีกมันออกก่อนอ่านหรือการโชว์สันเปลือย แถมมันยังถูกสปินไปเป็นหลายอย่างทั้งนิทรรศการหรือละครเวที
แล้วคุณเห็นการออกแบบปกหนังสือทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ผมมองว่ามันน่าสนใจกว่าตอนที่ผมเป็นเด็กมาก ผมเริ่มเห็นปกหนังสือกลุ่มความรู้หรือ Non-Fiction เขาทำปกได้น่าอ่าน เพราะเมื่อก่อนหนังสือประวัติศาสตร์ ปรัชญา สารคดี หรืองานวิชาการที่จริงจังมากๆ มันก็จะดูวิชาการสุดๆ จนวัยรุ่นหรือใครหลายคนอาจรู้สึกไม่เป็นมิตร ทั้งที่หนังสือเหล่านั้นเขาอาจจะอ่านได้และเป็นหนังสือที่ดี เพียงแค่ปกมันไม่ได้พูดกับเขาว่า ‘อ่านเราสิ อ่านได้นะ มันคูล’ แต่ปัจจุบันหนังสือกลุ่มนี้ถูกออกแบบมาดีขึ้นมาก เราเองยังกล้าหยิบจับหนังสือบางเล่มที่ดูยากเลย เพราะผมรู้สึกว่าหลักของการดีไซน์เลยคือ มันต้องสื่อสาร ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นวงกว้างหรือไม่ แต่อย่างน้อยเมื่อคนเห็นแล้วรู้สึกอยากทำความรู้จักมัน
เสน่ห์ของการออกแบบงานพิมพ์ที่สัมผัสได้คืออะไร ทำไมคุณถึงรักมันอยู่
จริงๆ ธรรมชาติของงานออนไลน์กับงานสิ่งพิมพ์มันก็ไม่เหมือนกันนะครับ เวลาอ่านออนไลน์เราไม่ได้อ่านอะไรที่ยาวมาก ใช้อ่านเร็วๆ เพื่อหาเลื่อนสิ่งถัดไป แต่สำหรับหนังสือหรือสิ่งพิมพ์มันมีเสน่ห์ตรงที่มีบางอย่างที่เราควบคุมมันไม่ได้ทั้งหมด อย่างเรื่องสีที่เราสเปกไป มันอาจไม่ได้ตรงกับในจอร้อยเปอร์เซ็น มีความคลาดเคลื่อน ซึ่งตรงนี้แหละมันก็คือเสน่ห์อย่างหนึ่ง
มันไม่ถือเป็นความผิดพลาดหรือ
ผมว่ามันทำให้เราได้ลุ้นว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร งานออนไลน์มันรู้ว่าถ้าเราเซตค่าสีไว้ประมาณนี้แล้วอัพขึ้นไปบนเว็บไซต์ มันก็จะเป็นแบบเดียวกับที่เราเห็น หรือถ้าเราอยากจะแก้ไขมัน เราก็แค่ลบแล้วก็แทนที่ใหม่ แต่งานสิ่งพิมพ์มันมีช่วงเวลาให้เรารอ ส่งไฟล์ไปแล้ว ได้ดิจิทัลปรู๊ฟมาแล้วไม่เจอที่ผิดก็ต้องไปที่หน้าแท่นพิมพ์ ถึงตรงนั้นก็ต้องไปลุ้นว่าสีหน้าแท่นพิมพ์จะออกมาตรงไหม ผมรู้สึกว่ากระบวนการนี้มันสนุก
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
- LIT Fest เทศกาลหนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ! ลงทะเบียนเข้างาน LIT Fest @LITFest2019 ได้ที่ www.zipeventapp.com/e/LIT-Fest-2019 หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน ZipEvent โชว์ QR CODE ที่บูธ Registration เพื่อรับสายรัดข้อมือ สมุดโน้ต และโปสเตอร์ฟรี
- LIT Fest คือเทศกาลหนังสือสุดสนุกครั้งแรกของเมืองไทย อารมณ์ประมาณงานสัปดาห์หนังสือแต่งงานกับเทศกาลดนตรี แล้วมีลูกเป็นงาน LIT Fest
- เทศกาลหนังสือ ดนตรี ศิลปะ ในสวนที่คุณจะได้พบกับไอเดียบรรเจิดจากกว่า 30 สำนักพิมพ์ กระทบไหล่ชนแก้วปิกนิกกับนักเขียน นักแปล บรรณาธิการกว่า 100 คน เต้นรำชิลๆ กับ 15 วงดนตรี เอ็นจอยกับ Book Club ลับสมองจนไฟลุก สนุกกับหนัง ละครเวที แสงสีกลางแจ้งเคล้าลมหนาว ในบรรยากาศสบายๆ อิ่มอร่อยกับอาหารที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ
- งานจัดวันที่ 18-20 มกราคม 2019 เวลา: งานภายในอาคารเริ่ม 13.00 น. / งานกลางสนามเริ่ม 16.00-22.00 น. ที่มิวเซียมสยาม
- ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ m.facebook.com/LITFest.th/