×

จันทบุรีนำร่องใช้ปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทยจับกุมคนร้าย

17.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และหน่วยงานตำรวจจันทบุรี เริ่มต้นพัฒนาระบบติดตามอาชญากรด้วยกล้องวงจรปิดในชื่อ ‘เมืองอัจฉริยะและปลอดภัยด้วยกล้องวงจรปิดแบบอัจฉริยะด้วยระบบเตือนภัยและระบบสร้างโมเดลวัตถุต้องสงสัยเพื่อตรวจจับ’ (Smart City Surveillance CCTV)
  • ระบบอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่าง กล้องวงจรปิด, ปัญญาประดิษฐ์​ Machine Learning และ Deep Learning ที่ช่วยรู้จำและแยกแยะบุคคลที่มีแนวโน้มจะก่อเหตุอาชญากรรม
  • ตั้งเป้าว่าจะนำร่องใช้จริงที่จันทบุรีเป็นแห่งแรกในปี 2561 นี้ ก่อนจะขยายพื้นที่ใช้งานไปอีก 7 จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ตราด, นครนายก และ 3 จังหวัดระเบียงเศรษฐกิจ EEC ระยอง, ชลบุรี,​ ฉะเชิงเทรา

ถ้าเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Furious 7 ก็น่าจะพอรู้จัก ‘ตาเทพ’ หรือ God’s Eye เทคโนโลยีติดตามบุคคลที่ตัวละครในเรื่องออกตามหาและต้องการมีไว้ในครอบครองกันให้ควั่ก เพราะผู้ที่เป็นเจ้าของตาเทพจะสามารถแฮกเข้าระบบกล้องวงจรปิดได้ทั่วโลกเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลติดตามทุกสิ่งสรรพที่ต้องการพิกัดได้แบบเรียลไทม์

 

ปลายปีที่ผ่านมา จีนในฐานะผู้ผลิตกล้องวงจรปิดและฮาร์ดแวร์เบอร์ต้นๆ ของโลกสามารถพัฒนานวัตกรรมที่มีรูปแบบการใช้งานและฟีเจอร์ใกล้เคียงกับตาเทพได้แล้วในชื่อ ‘เครือข่ายระวังภัยด้วยกล้องวงจรปิด’ (Surveillance Network) ที่อาศัยการทำงานควบคู่กันระหว่างปัญญาประดิษฐ์ กล้องวงจรปิดจำนวน 170 ล้านตัวทั่วประเทศ และระบบตรวจจับใบหน้าเพื่อใช้ติดตามตัวอาชญากร ซึ่งจากการสาธิตการใช้งานเบื้องต้น ระบบสามารถติดตามตัว จอห์น ซัดเวิร์ธ ผู้ประกาศข่าวจาก BBC ได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 7 นาที!

 

ส่วนประเทศไทย แม้จะอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา แต่ก็ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และหน่วยงานตำรวจจันทบุรี ได้เริ่มต้นพัฒนาระบบติดตามอาชญากรด้วยกล้องวงจรปิดแล้วในชื่อ ‘เมืองอัจฉริยะและปลอดภัยด้วยกล้องวงจรปิดแบบอัจฉริยะด้วยระบบเตือนภัยและระบบสร้างโมเดลวัตถุต้องสงสัยเพื่อตรวจจับ’ (Smart City Surveillance CCTV)

 

THE STANDARD ชวนคุณมาทำความรู้จักนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อจับกุมคนร้ายโดยกล้องวงจรปิดนี้ว่ามีจุดเริ่มต้น-ที่มาที่ไปในการพัฒนาอย่างไร และจะสามารถต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์กับประเทศในอนาคตในรูปแบบใดได้บ้าง

 

 

จุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการเปลี่ยนแฟ้มเอกสารอาชญากรออฟไลน์เป็นคลาวด์ข้อมูลออนไลน์

หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยในปัจจุบันไม่ราบรื่นคือไฟล์เอกสารและข้อมูลทำคดีส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปแบบของกระดาษ หรือไฟล์ไมโครซอฟต์เวิร์ด ซึ่งไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเอกสารออนไลน์ถึงกันได้

 

พ.ต.ท. พีรพล เสลารัตน์ สารวัตรสืบสวน กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจันทบุรี บอกกับทีมข่าว THE STANDARD ว่า เขามีความคิดจะพัฒนาระบบคลาวด์ข้อมูลออนไลน์สำหรับตำรวจเพื่อใช้ในการทำงานมาตั้งแต่ปี 2556 หรือเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว “ผมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนในพื้นที่จันทบุรี และทราบถึงปัญหาการทำงานลงพื้นที่เป็นอย่างดี ปกติเวลาตำรวจจับกุมคนร้ายหรือผู้ต้องหาก็จะเก็บข้อมูลและถ่ายรูปลงแฟ้มบันทึกข้อมูลหรือไฟล์คอมพิวเตอร์ ทำให้การค้นข้อมูลแต่ละครั้งทำได้ยาก

 

“แต่เราก็มีอินเทอร์เน็ตใช้กันทุกคน ผมเลยคิดว่าน่าจะประยุกต์ทำเป็นระบบฐานข้อมูลกลุ่มอาชญากรคนร้ายและกลุ่มบุคคลที่สุ่มเสี่ยงแบบออนไลน์ไปเลย เลยทดลองเขียนโปรแกรมฐานข้อมูล ย้ายข้อมูลทั้งหมดมาอยู่บนคลาวด์เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อผ่านสมาร์ทโฟนได้ เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลภาพถ่ายคนร้าย, ยานพาหนะ, สถานที่ก่อเหตุ หรือสถานที่ที่คนร้ายมั่วสุมได้ทันทีผ่านโทรศัพท์มือถือ”

 

หลังพัฒนาคลาวด์เก็บข้อมูลขึ้นมาใช้ได้จริงในหนึ่งโรงพัก ผู้บังคับบัญชาและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ก็เริ่มเห็นประโยชน์ของการเก็บข้อมูลออนไลน์รูปแบบนี้จนตัวระบบถูกนำไปใช้ในโรงพักเกือบทุกแห่งในจันทบุรี “ตอนนั้นผมเริ่มคิดว่าเราคงเก็บข้อมูลต่อไปเรื่อยๆ แบบนี้ไม่ได้ เมื่อฐานข้อมูลมันขยายใหญ่ขึ้นก็เลยคิดว่ามันควรจะนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้มากกว่านี้”

 

กระทั่งปี 2559 พ.ต.ท. พีรพล มีโอกาสได้พบกับ ผศ.ดร.มหศักดิ์ เกตุฉ่ำ อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่งานประชุมแห่งหนึ่งโดยบังเอิญ ทั้งคู่จึงได้ลองปรึกษาและแลกเปลี่ยนไอเดียกันว่าต่างฝ่ายจะพัฒนาฐานข้อมูลอาชญากรในพื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร

 

 

‘Big Data’ ข้อมูลยิ่งเยอะ ย่ิงมีลู่ทางประยุกต์ให้เกิดนวัตกรรมสร้างประโยชน์ได้มาก

เมื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองซึ่งกันและกัน ทั้งอาจารย์และนายตำรวจก็เห็นพ้องต้องกันว่าฐานข้อมูลออนไลน์ที่มีอยู่มหาศาลน่าจะนำมาต่อยอดทำประโยชน์ได้อีกมาก โดยเฉพาะการทำเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์เฝ้าระวังการก่อเหตุอาชญากรรม

 

ผศ.ดร.มหศักดิ์ บอกว่าตอนนั้นข้อมูลที่มีอยู่คือข้อมูลดิบ เมื่อจัดเก็บในรูปแบบสารสนเทศตามสมาร์ทโฟนหรือระบบออนไลน์ ข้อมูลก็จะขยายขนาดกลายเป็น Big Data ซึ่งตนรู้สึกว่าน่าจะสามารถประยุกต์ไปทำ Data Analytic ได้

 

 

“ผมนำข้อมูลทั้งหมดมาวิจัยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลใบหน้าอาชญากร สถานที่เกิดเหตุว่ามีแนวโน้มจะเกิดเหตุอาชญากรในสถานที่ใดได้บ้าง เรานำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยเรียนรู้และวิเคราะห์บุคคลในภาพกล้องวงจรปิดว่าเป็นคนร้ายหรือเปล่า รูปพรรณสันฐานเป็นอย่างไร พาหนะที่ใช้ก่อเหตุเป็นแบบไหน พอข้อมูลมันเยอะ เราก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย

 

“โดยตัวระบบของเราจะใช้การเรียนรู้เชิงลึก หรือ Deep Learning วิเคราะห์ข้อมูลคนร้าย ซึ่งก็จะอิงข้อมูลพื้นฐานจาก Database ที่ตำรวจเป็นผู้เก็บข้อมูล ก่อนที่ปัญญาประดิษฐ์ของเราจะนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์อัตลักษณ์คนร้าย แล้วนำโมเดล Matchine Learning มาสร้างข้อมูล จำแนกวัตถุต่างๆ ที่ปรากฏในภาพ”

 

เมื่อไอเดียพัฒนาฐานข้อมูลขนาดมหาศาลเป็นนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อจับกุมคนร้ายเริ่มก่อตัวเป็นรูปร่าง ทั้งคู่จึงนำโปรเจกต์พัฒนาและส่งเข้าประกวดในโครงการ Innovation Hubs Smart City ที่ทาง ทปอ. (ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) จัดขึ้นเพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรม จนผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายและได้รับงบประมาณพัฒนาโครงการให้เกิดขึ้นจริงเป็นเงินกว่า 3 ล้านบาท

 

 

เตรียมนำร่องใช้จริงแล้วที่จันทบุรีและอีก 7 จังหวัด

เป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปีเต็มที่พวกเขาทุ่มเทเวลาศึกษาและปรับปรุงแก้ไขจนสามารถพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อจับกุมคนร้ายขึ้นมาใช้งานได้จริง ซึ่งถึงแม้ว่าตัวระบบยังไม่เสถียร 100% แต่การใช้งานโดยรวมก็ถือว่าทำได้ในระดับที่น่าพึงพอใจเลยทีเดียว โดยตัวโปรแกรมยังสามารถเพิ่มจำนวนกล้องวงจรปิดที่ต้องการเชื่อมต่อได้เป็นจำนวนมาก (ขึ้นอยู่กับขนาดเซิร์ฟเวอร์ที่รองรับ)

 

พ.ต.ท. พีรพล บอกกับเราว่า ในปี 2561 นี้ ทางหน่วยงานตำรวจตั้งใจจะนำระบบปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวมาใช้ที่จันทบุรีเป็นแห่งแรก ก่อนขยายบริเวณการใช้งานไปอีก 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ตราด, นครนายก และอีก 3 จังหวัดระเบียงเศรษฐกิจ EEC ระยอง, ชลบุรี,​ ฉะเชิงเทรา

 

“ปีนี้จะเริ่มใช้จริงที่จันทบุรีแล้ว แต่ยังไม่ได้เต็มรูปแบบ 100% นอกจากนี้ผมยังได้รับทุนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาพัฒนานวัตกรรมป้องกันรถหายอีกด้วย แต่อาจจะใช้แค่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีก่อน ผมเชื่อว่าฐานข้อมูลตรงนี้ เมื่อนำไปรวมกับนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ของอาจารย์ก็จะสามารถต่อยอดได้อีกเยอะ และจะส่งผลต่อการป้องกันเหตุอาชญากรรมในประเทศ ช่วยให้การทำงานของตำรวจมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

 

ด้าน ผศ.ดร.มหศักดิ์ บอกเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงพัฒนาโครงการว่า “ปัญหาอันดับแรกคือการลงพื้นที่จริง เราต้องลงไปสำรวจพื้นที่ว่าสถานที่แต่ละแห่งมีไฟฟ้าเข้าถึงไหม สภาพแสง-สภาพอากาศเป็นอย่างไร เพราะการใช้ระบบตรวจจับใบหน้า ถ้าอยู่ในห้องแล็บที่เราควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ ระบบมันก็จะตรวจจับได้ง่าย แต่พอเราไปลงพื้นที่จริงๆ ส่ิงแวดล้อมมันแตกต่างกัน เราจึงต้องพยายามเซตอุปกรณ์ของเราให้เหมาะกับสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ด้วย”

 

 

แต่ถึงอย่างนั้น ฟากอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือก็ยังแย้มว่า ฟีเจอร์พิเศษ Deep Learning จะช่วยระบุตัวตนบุคคลได้ชัดเจนถึงขนาดที่มองผ่านหน้ากากอนามัยและแว่นตาอำพรางใบหน้าได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

 

ต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์กับทั้งประเทศ และเป็นเครื่องมือกำหนดแผนกลยุทธ์ธุรกิจ

โมเดลตัวอย่างการใช้งานระบบเครือข่ายระวังภัยด้วยกล้องวงจรปิดและปัญญาประดิษฐ์มีให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วที่ประเทศจีน ซึ่งในอีก 3 ปีข้างหน้า จีนตั้งใจจะเพิ่มกล้องวงจรปิดในระบบให้ครอบคลุมกว่า 570 ล้านตัว (จุด) ให้ได้ (คลิกดูคลิปสาธิตการใช้งานที่นี่)

 

 

ขณะที่ความเป็นไปได้ของการนำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อจับกุมคนร้ายเวอร์ชันไทยมาใช้กับบ้านเราทั้งประเทศ แม้จะยังห่างไกลจากสถานการณ์ในปัจจุบันพอสมควร แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย

 

พ.ต.ท. พีรพล บอกว่า “ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละจังหวัดได้เรียนรู้การใช้โปรแกรมนี้ก็จะช่วยให้จับกุมคนร้ายและทำงานได้ง่ายขึ้น ความเสียหายของทรัพย์สินก็จะลดน้อยลง ทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ที่สำคัญ ถ้ามีการนำไปใช้กับทั้งประเทศ ผมว่าอย่างน้อย อาชญากรที่คิดจะก่อเหตุก็คงต้องฉุกคิดกันบ้าง เพราะเมื่อรู้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีนวัตกรรมแบบนี้ เขาก็คงไม่กล้าก่อเหตุ”

 

นอกเหนือจากประโยชน์ด้านความปลอดภัยและการปราบปรามอาชญากร ผศ.ดร.มหศักดิ์ ยังมองไปไกลถึงการต่อยอดพัฒนาเป็นเครื่องมือด้านธุรกิจ เช่น ใช้ในการสำรวจพฤติกรรมผู้ซื้อ พฤติกรรมลูกค้า เพื่อพัฒนาแผนกลยุทธ์ธุรกิจและการทำ CSR

 

“จริงๆ ตอนนี้ปัญญาประดิษฐ์มันสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกด้านแล้ว ผมเองก็มีโครงการปัญญาประดิษฐ์ที่นำไปใช้กับการรีเสิร์ชด้านการแพทย์และการเกษตรอยู่ แต่ช่วงนี้คอนเซปต์การทำงานของเราคือการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ เราจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อจับกุมคนร้ายเป็นลำดับแรกก่อน”

 

ความน่าสนใจของโปรเจกต์พัฒนานี้ นอกเหนือจากความล้ำด้านวัตกรรมปราบอาชญากร ยังอยู่ที่การทำงานร่วมกันที่ใกล้ชิดระหว่างสถานศึกษาและหน่วยงานตำรวจจันทบุรี ซึ่งในอนาคตหากระบบนี้พัฒนาจนเกิดเสถียรภาพขึ้นมาเมื่อไร การขยายบริเวณใช้งานเครื่องมือสกัดกั้นอาชญากรทั่วประเทศโดยตำรวจก็คงจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising