×

ชัชชาติย้ำ ไม่ให้เดินเช็ดกระจกรถกลางสี่แยก ใช้เทคโนโลยีดูแลความปลอดภัยพนักงาน กทม.

โดย THE STANDARD TEAM
15.08.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (15 สิงหาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีที่ในโลกออนไลน์แชร์ภาพเด็กหญิงอายุประมาณ 4-5 ปีเช็ดกระจกรถ ที่สี่แยกของถนนย่านลาดพร้าว ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยาก ขณะนี้มีเพียงเขตคลองเตยที่ได้ทดลองโมเดลการจัดการปัญหา และผลคือทำได้สำเร็จ

 

ลักษณะคือการให้เจ้าหน้าที่ไปพูดคุยตามบ้านครอบครัวของเด็กที่ออกมาทำงานลักษณะดังกล่าวโดยตรงและพยายามดึงออกจากระบบ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ต้องมองถึงการแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาว วิธีแก้ไม่ใช่การให้เจ้าหน้าที่ไปข่มขู่เด็ก สุดท้ายแล้วเด็กเหล่านี้ก็จะย้ายไปทำในพื้นที่อื่น

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ปัญหาเรื่องนี้ส่วนหนึ่งอยู่ที่ผู้ปกครองด้วยต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล ตั้งแต่เรื่องความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ แต่ต้องใช้ความละมุนละม่อม รวมทั้งต้องประสานกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้มาทำงานร่วมกัน

 

ส่วนกรณีที่เป็นผู้ใหญ่มาทำอาชีพดังกล่าว ตามหลักการของ กทม. ได้ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่มีการอนุญาตเด็ดขาด เพราะการทำลักษณะนี้เหมือนการข่มขู่สร้างความไม่สบายใจ

 

ส่วนกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนรถฉีดน้ำของ กทม. ที่กำลังรดน้ำต้นไม้อยู่บริเวณเกาะกลางถนน บริเวณถนนรัชดาภิเษกฝั่งขาเข้า หน้ากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมื่อคืนที่ผ่านมา (14 สิงหาคม) ชัชชาติกล่าวว่า น่าจะเกิดจากผิวทางและอุปกรณ์ป้องกัน ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในแผนที่จะมีการดำเนินการจะปรับปรุง 

 

ทั้งนี้บริเวณโค้งถนนรัชดาภิเษกจัดเป็น 1 ใน 14 จุดเสี่ยงของกรุงเทพฯ ที่ต้องเร่งดำเนินการ ปรับปรุงสภาพพื้นผิวการจราจรให้ดีขึ้น ซึ่งได้ประสานความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลนำข้อมูลมาทำ Risk Map หรือแผนที่จุดเสี่ยงแล้ว รวมถึงข้อมูลของประกันภัยด้วย โดยมีข้อมูลทั้งหมด 100 จุดที่มีปัญหาอุบัติเหตุในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้จะต้องไปกำชับเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครให้ระมัดระวังการปฏิบัติหน้าที่ในจุดที่มีความเสี่ยงอันตรายให้มากขึ้นด้วย 

 

ชัชชาติยังกล่าวกรณีการเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ของลูกจ้างประจำตำแหน่งพนักงานสวนสาธารณะ กทม. ว่า โดยพื้นฐาน กทม. ต้องเตรียมพร้อมเรื่องอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย เช่น เสื้อกั๊กสะท้อนแสง แต่กรณีเสียชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นหตุกึ่งสุดวิสัยในระดับหนึ่ง เพราะเป็นรถที่เสียหลักจากการหลบแล้วขึ้นไปบนเนิน และพนักงานคนดังกล่าวถือว่าอยู่ในจุดเสี่ยงพื้นที่อันตราย 

 

ทั้งนี้ การทำงานในจุดเสี่ยงสำหรับพนักงานกวาดอาจจะให้รถดูดฝุ่นของ กทม. เข้าไปทำแทนบ้าง ส่วนกลุ่มพนักงานเก็บขยะที่ต้องยืนเก็บขยะริมถนน เพราะถนนไม่มีพื้นที่สำหรับเก็บขยะโดยเฉพาะ อาจก่อให้เกิดการเสียชีวิตเพราะมีรถพุ่งมาชนนั้น ก็อาจให้มีการตั้งกรวยเว้นระยะห่างเพื่อเตือนว่ามีคนทำงานอยู่ข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีส่วนของสำนักการระบายอาจจะต้องมีตะแกรงอัตโนมัติ ซึ่งได้สั่งการให้คิดมาตรการละเอียดขึ้นไป ซึ่งจริงๆ แล้วก็เสมือนมาตรการแก้ไขจากสภาพหน้างาน 

 

ส่วนมาตรการดูแลลูกจ้างผู้เสียชีวิต กทม. เองมีสวัสดิการและเงินบำเหน็จให้ค่อนข้างสูง อาจมีการทำเรื่องประกันภัยเพิ่มและเพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัยด้วย ควบคู่ไปกับการลดความเสี่ยงด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ไขปัญหาระยะกลางและยาวให้มากขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising